ปชต.แบบไทยท้าทาย"บิ๊กตู่" "แย่งชามข้าว-กลุ่มต้าน"รุมเร้าผู้นำ


เพิ่มเพื่อน    

 

ยังไม่ทันจะคลอดรายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ภายใต้นายกรัฐมนตรีคนเดิม ก็ปรากฏเหล่าบรรดานักการเมืองในฝ่ายที่รวมตัวจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งคาดว่าจะหลุดโผ ครม.ประยุทธ์ภาค 2 ต่างออกมาให้สัมภาษณ์ ตั้งโต๊ะแถลงกระจองงองแง-ฟูมฟาย กลายเป็นคำสัพยอก "หวงชามข้าว" ให้ประชาชนเกิดอาการเอือมระอาในพฤติกรรมเดิมๆ ที่เคยเจอมาในอดีต และที่สำคัญคือ นักการเมืองที่แสดงปฏิกิริยาเหล่านั้นคือนักการเมืองหน้าเดิม ที่เพิ่มเติมคือรอยตีนกาที่บ่งบอกถึงอายุที่มากขึ้น

                หากมองเข้าไปยังนักการเมืองเหล่านี้ก็พอเข้าใจได้ว่า ได้เลือกไพ่ที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการเขียนแผนที่ชีวิตทางการเมืองให้ตนเองหลังการเลือกตั้ง ด้วยหวังว่า "ชายชาติทหาร" ตามที่มีนักการเมืองเอ่ยถึง คือ พล.อ.ประยุทธ์ เลยไปถึง "ผู้ใหญ่" ที่น่าจะหนีไม่พ้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะบริหารจัดการแบ่งเค้ก หรือจัดสรรโควตาเก้าอี้รัฐมนตรีไว้ตามที่สัญญา

                แก๊งสามมิตร นำโดย “เสี่ยแฮงค์” นายอนุชา นาคาศัย แคนดิเดต รมช.คลัง ออกอาการทันทีเมื่อมีข่าวหลุดโผจากการเฉือนโควตาไปจัดสรรโควตาให้พรรคชาติพัฒนาได้ที่นั่งกลับคืนมา ตามคำสัมภาษณ์ของนายเทวัญ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา  ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันก่อนว่า "เป็นข้อตกลงเดิมที่พูดคุยกันไว้นานแล้ว"

                รวมถึง นายสุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ ก็มีแนวโน้มหลุดโผ รมว.แรงงาน เพราะถูกเฉือนไปให้พรรครวมพลังประชาชาติไทย โดยมีชื่อนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศคนปัจจุบันมาคุมแทน อีกทั้ง นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะพลิกกลับมานั่ง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แทนโควตานายอัครา พรหมเผ่า น้องชาย "ธรรมนัส พรหมเผ่า" มือดีลพรรคพลังประชารัฐที่หลุดวงโคจรไป

                นอกจากนั้นยังมีกระแสข่าวสลับตำแหน่ง รมว.พลังงานของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำกลุ่มสามมิตร กับเก้าอี้ รมว.อุตสาหกรรมของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคด้วย กลายเป็นนิยายเรื่อง "ลูกรัก-ลูกชัง" ให้นักการเมืองฝ่ายเดียวกันตะขิดตะขวงใจ

                ไม่มีคำว่า "โลกสวย" ในแวดวงการเมืองเรื่องของผลประโยชน์ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ก็เคยพูดเสมอเรื่องการทำอย่างไรให้ "ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย" เกิดความพอใจ ซึ่งจะลดแรงกดดันในประเด็นที่เกิดขึ้นในสังคม

                แต่ก็ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายในสถานการณ์รัฐบาล "เสียงปริ่มน้ำ" แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะมี "กระดูกสันหลัง" ที่แข็งแรงทั้งในส่วนของกองทัพที่เกือบเสมือนร่างเดียวกัน และได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทุนและพลังอำนาจอื่น

                "การเป็นรัฐมนตรีไม่อยากให้มองว่ากระทรวงใหญ่ หรือ กระทรวงเล็ก กระทรวงเอ กระทรวงบี เพราะว่าไม่ใช่บริษัท ทุกกระทรวงมีความสำคัญเท่ากันหมด เพราะถูกเลือกมาด้วยปวงชนชาวไทย ดังนั้นการเป็นรัฐมนตรีอยากให้ดูความเหมาะสม ถึงแม้ว่าโควตาของแต่ละพรรคการเมือง แต่ถ้าทำไม่ดีก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ ไม่ต้องกังวล แต่วันนี้อยากให้ทุกอย่างเดินหน้า และการปฏิรูปการเมือง นายกฯ ปฏิรูปเองไม่ได้ นักการเมืองทุกคนทุกพรรค ต้องมุ่งหวังที่จะทำหน้าที่ให้กับประชาชนอย่างแท้จริง เพราะคณะรัฐมนตรีเป็นของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่ของจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง...

                ...แต่ทั้งหมดต้องสามารถตอบความต้องการของประชาชนได้ และต้องเป็นรัฐบาลของคนทั้งประเทศให้ได้ จึงขอให้หยุดการเคลื่อนไหวโดยเฉพาะทางโซเชียลมีเดีย เพราะผมมีหน้าที่รับผิดชอบในการตัดสินใจแล้ว ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ขอให้พรรคร่วมรัฐบาลอยู่ร่วมกันไปก่อน เพราะมาถึงขนาดนี้แล้วจะถอยกลับไม่ได้" พล.อ.ประยุทธ์พูดถึงการจัด ครม.ชุดใหม่

                กระนั้น ความพยามยามในการปรับโทนตัวเองให้ลดความแข็งกร้าวลง เพื่อให้สอดคล้องกับการเข้ามาเป็นผู้นำหลังการเลือกตั้ง จะสามารถยืนระยะต่อไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ เพราะปรากฏการณ์ "หางโผล่" ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นชั่วครู่ชั่วยามเฉพาะช่วงจัดโผ ครม.เท่านั้น แต่เมื่อเข้ามาบริหารประเทศแล้วยังต้องเจอกับการต่อรองผลประโยชน์โครงการของพรรคร่วมรัฐบาลในหลายๆ เรื่อง

                ยังไม่นับการเล่นเกมใต้ดินที่เกิดขึ้นเป็นปกติ ทั้งการปล่อยข่าว เอกสารปลิว แซะคนขวางผลประโยชน์ เพื่อนำไปสู่การเจรจา-ต่อรอง อันเป็นเรื่องการเมืองแบบไทยๆ ที่คนเป็นผู้นำทางทหารมาทั้งชีวิตไม่คุ้นเคย ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่าจะอดทนต่อสภาวการณ์เหล่านี้ได้แค่ไหน

                อีกทั้งไม่มีหลักประกันว่าเมื่อถึงจุดที่รัฐบาลเข้าสู่ "ลูป" ของ "กระแสลง" การบริหารผลประโยชน์กลุ่มต่างๆ ในทฤษฎีที่ พล.อ.ประยุทธ์เชื่อว่าจะลดแรงกดดันได้ จะยังใช้ได้ผลต่อไปอีกหรือไม่

                เพราะเอาเข้าจริง "กระสุน" ก็อาจพ่ายแพ้ต่อ "กระแส" ในยามที่ผู้เสียประโยชน์และผู้ที่ถูกกระทำจากอำนาจรัฐออกมาเป็น "แนวร่วม" ในการถล่มรัฐบาลในอนาคต ยิ่งปมปัญหาที่สุ่มเสี่ยงต่อการนำไปขยายผลจากการเคลื่อนไหวรัฐบาลจากกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตย

                เพราะอย่าลืมว่า พรรคการเมืองที่โหนกระแสนักเคลื่อนไหวในการออกมาโจมตีรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีอยู่ตลอด

                บรรยากาศในช่วงเลือกตั้ง มาจนถึงการจัดตั้งรัฐบาล ปรากฏว่ามีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกทำร้ายอย่างต่อเนื่อง แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ ไม่สามารถจับผู้ลงมือกระทำได้แม้แต่ครั้งเดียว และครั้งสุดท้ายที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงเช้าวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว ถูกรุมทำร้ายร่างกายโดยบาดเจ็บบริเวณศีรษะและเบ้าตา 

                มีข้อสันนิษฐานมากมายถึงผู้ลงมือทำ "จำเลยสังคม" ย่อมหนีไม่พ้นฝ่ายรัฐ เพราะเป็นผู้ที่ถูก "จ่านิว" วิพากษ์วิจารณ์มาตลอด ซึ่งมีการมองไปที่ "ลูกน้อง" ที่ทำเกินสั่ง หวังที่จะสั่งสอนให้ "สงบปากสงบคำ" แต่ก็มีข้อวิเคราะห์ว่าอาจเป็นฝีมือของ "มือที่สาม" ซึ่งต้องการกวนน้ำให้ขุ่น ปลุกกระแสต่อต้าน "รัฐบาล" ให้ฟูขึ้นมาอีกรอบ แต่เหนืออื่นใด ข้อกังขาทั้งหมดจะยุติลงได้ก็ต่อเมื่อจับผู้ลงมือกระทำ "ตัวจริง" และมีการดำเนินการตามกระบวนยุติธรรมอย่างโปร่งใส และหนีไม่พ้นที่คำถามจะพุ่งเป้า กดดัน พล.อ.ประยุทธ์ให้หา "มือมืด" ให้เจอให้ได้

                ในแง่ของเกมความเคลื่อนไหวที่หวัง "จุดไฟ" ให้การเมืองลงสู่ท้องถนน โดยใช้เจตนาของนักเคลื่อนไหวในหลักการประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือซึ่งก็ยังมีอยู่ เพราะเป็นเรื่องยากที่จะใช้กลไกตรวจสอบปกติล้มรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ลงได้ง่ายๆ 

                ระเบิดเวลาอีกลูกที่ถือได้ว่าจะมีผลทำให้สถานการณ์การเมืองร้อนขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยสัญญาณแรงจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) วงในอย่าง "สมชาย แสวงการ" โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กกรณีการถือหุ้นสื่อของ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" โดยมีเนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า ที่คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเอกฉันท์ว่าขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามในการถือหุ้นบริษัทวีลัคมีเดีย และให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น ก็จะชัดเจนในเร็ววันนี้

                "แต่ผลจะแตกต่างกันเพราะชัดเจนว่านายธนาธรถือหุ้นในบริษัทวีลัคที่ประกอบกิจการสื่อแน่นอน100% เพราะมีหลักฐานรายรับรายจ่ายในงบดุลในการผลิตนิตยสาร Who นิตยสาร JIB JIB และอื่นๆ เฉพาะกรณีของนายธนาธรจึงเหลือทางสู้เพียงประเด็นเดียวว่า การโอนหุ้นวันที่อ้างนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจะเชื่อหรือไม่ว่าได้โอนกันจริงก่อนวันสมัคร ส.ส. หรือเป็นการโอนหุ้นย้อนหลัง และคำวินิจฉัยจะออกมาชัดเจนตรงไปตรงมาแน่นอนไม่นานนี้ แต่ว่าถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ และเชื่อว่ามีการโอนหุ้นย้อนหลัง คงต้องตามดูคดีอาญาที่จะตามมา และวันนั้นคงมีคนติดคุกติดตะรางเสียอนาคตการเมืองใหม่กันหลายคน"

                ซึ่งหากเป็นไปตามที่ ส.ว.วงในคาดการณ์ และมีใครต้องติดคุกขึ้นมาจริงๆ การปลุกกระแสในโลกโซเชียลให้เลยเถิด ไปถึงขั้นปั่นสถานการณ์ลงมาต่อสู้บนถนนตาม "โมเดล" ที่กำลังเป็นที่นิยมในต่างประเทศก็มีความเป็นไปได้สูง

                ในสถานการณ์ขณะนี้ แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะผ่านไปได้เพราะมีพันธมิตรที่ได้รับประโยชน์พอสมควร แต่ในระยะยาวปัญหาอันเกิดจากแรงกดดันของกลุ่มการเมืองที่มุ่งหวังเข้ามา "โกย" ในวินาทีทอง พร้อมจะปฏิบัติการเป็น "กบฏ-วางยา-เกลือเป็นหนอน" ได้ตลอด ไม่นับฝ่ายตรงข้ามที่ยังสะสมสรรพกำลังสร้างแนวร่วมแนวรบในการรอจังหวะ

                ล้วนแล้วแต่เป็นปมประเด็นที่ท้าทายนายกรัฐมนตรี ที่เคยเป็น "ผู้นำทหาร" และเข้ามาบริหารประเทศร่วมกับนักการเมือง ซึ่งมัก "จบไม่สวย" ทุกรายไป!!.

                                                                                                                                ทีมข่าวการเมือง 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"