จ.ลพบุรี / พอช.-ปฏิรูปที่ดิน จ.ลพบุรี รองผู้ว่าฯ และเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดลพบุรี ร่วมยกเสาเอกสร้างบ้านมั่นคงในที่ดิน ส.ป.ก.อำเภอบ้านหมี่ 3 แปลง รวม 64 หลังคาเรือน โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณสร้างบ้าน สาธารณูปโภค และพัฒนาคุณภาพชีวิต รวม 2.8 ล้านบาท ตั้งเป้าแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ พร้อมพัฒนาความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนเพื่อพัฒนาชุมชนและช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนกลุ่มอื่นๆ ต่อไป
ตามที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดลพบุรีได้จัดสรรที่ดินให้เกษตรกรที่มีความเดือดร้อน ไม่มีที่ดินทำกิน โดยจัดสรรที่ดิน ส.ป.ก.อำเภอบ้านหมี่ จ.ลพบุรี ให้ครอบครัวละ 15 ไร่ มีเกษตรกรเข้าทำกินและปลูกสร้างบ้านเรือนแล้วตั้งแต่ปี 2555 จำนวน 2 แปลง คือ แปลง ส.ป.ก.ตำบลดงพลับ และแปลง ส.ป.ก.ตำบลดอนดึง นอกจากนี้ในปี 2561 มีที่ดิน ส.ป.ก.ตำบลดอนดึงที่จัดสรรให้เกษตรกรรุ่นใหม่อีก 24 ครัวเรือนๆ ละ 5 ไร่ รวมทั้งหมด 235 ครัวเรือน แต่ส่วนใหญ่ยังมีรายได้ไม่เพียงพอ สร้างบ้านตามกำลังที่มี สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานปฏิรูปที่ดิน พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดลพบุรี (พมจ.) จึงมีแผนงานสนับสนุนการสร้างบ้านใหม่ให้แก่เกษตรกรชุดแรกรวม 64 ครัวเรือน รวมทั้งส่งเสริมอาชีพ และพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรกลุ่มนี้ด้วย
พิธีลงนามความร่วมมือพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิต
ล่าสุดวันนี้ (29 มิถุนายน) มีพิธีลงนามบันทึกความร่วมเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตชาวชุมชนที่เข้าอยู่อาศัยในที่ดินสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตร (ส.ป.ก.) อำเภอบ้านหมี่ จ.ลพบุรี ระหว่างผู้แทนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กับกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ เกษตรกรในที่ดิน ส.ป.ก.ดอนดึง เกษตรกรในที่ดิน ส.ป.ก.ดงพลับ ผู้แทนสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดลพบุรี และ พมจ.ลพบุรี โดยมีนายบำรุง รื่นบันเทิง รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรีเป็นสักขีพยาน นอกจากนี้ยังมีพิธียกเสาเอกเพื่อก่อสร้างบ้านใหม่จำนวน 1 หลัง จากทั้งหมดจำนวน 64 หลัง (ครัวเรือน) โดยมีผู้แทนหน่วยงานต่างๆ และเครือข่ายประชาชนเข้าร่วมงานประมาณ 200 คน
นายบำรุง รื่นบันเทิง รอง ผวจ.ลพบุรี กล่าวว่า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยของประชาชนที่มีรายได้น้อย จึงมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเรื่องที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย ซึ่งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ก็เป็นหน่วยงานหนึ่งในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ในส่วนของจังหวัดลพบุรีก็มีการจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้ที่มีรายได้น้อย โดย พมจ.ลพบุรีเป็นหน่วยงานหลัก
รอง ผวจ.ลพบุรี (ขวา)
“จากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นมีประชาชนที่มีความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยในจังหวัดลพบุรีประมาณ 1,000 ครอบครัว แต่จะต้องสำรวจข้อมูลใหม่ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน และเพื่อให้รู้ว่าเดือดร้อนอย่างไร อยู่ในที่ดินของใคร จะได้นำไปแก้ไขปัญหา เช่น จัดหาที่ดินมารองรับ หาเงินทุนมาสนับสนุน ทั้งจากภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้องค์กรชุมชนจะต้องรวมกัน และสร้างองค์กรให้เข้มแข็ง เพื่อเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย และพัฒนาชุมชนตนเองในเรื่องอื่นๆ ต่อไป รวมทั้งเมื่อเข้มแข็งแล้ว ต้องไปช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนกลุ่มอื่นๆ ต่อไป” รอง ผวจ.ลพบุรีกล่าว
นายธีรพล สุวรรณรุ่งเรือง รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า พอช.ได้สนับสนุนกลุ่มเกษตรกรที่เข้าอยู่อาศัยในที่ดิน ส.ป.ก.อำเภอบ้านหมี่ ตามโครงการบ้านมั่นคงชนบทของ พอช. เพื่อก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ ให้แก่เกษตรกรชุดแรกในที่ดินทั้ง 3 แปลง รวม 64 ครัวเรือน คือ แปลง ส.ป.ก.ตำบลดงพลับ 28 ครัวเรือน แปลง ส.ป.ก.ตำบลดอนดึง 16 ครัวเรือน และแปลง ส.ป.ก.ตำบลดอนดึงที่จัดสรรให้เกษตรกรรุ่นใหม่ 20 ครัวเรือน
ทั้งนี้ พอช.ได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยครัวเรือนละ 40,000 บาท พัฒนากลุ่มและความเข้มแข็งของชุมชน ครัวเรือนละ 5,000 บาท รวมทั้งหมดครัวเรือนละ 45,000 บาท โดยแยกเป็นเกษตรกรแปลงดงพลับ 1,260,000 บาท แปลงดอนดึง 720,000 บาท และเกษตรกรรุ่นใหม่ 900,000 บาท รวมงบประมาณที่ พอช.สนับสนุนทั้งหมด 2,880,000 บาท ส่วนรูปแบบบ้านจะมีขนาด 4x5 และ 4x6 ตารางเมตร เป็นบ้านชั้นเดียว โครงสร้างเหล็ก ก่อด้วยอิฐบล็อคและวัสดุอื่นๆ ตามที่ครอบครัวมีอยู่ ตามแผนงานการก่อสร้างบ้านทั้ง 64 หลังจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้
นายธีรพล รอง ผอ.พอช. (ขวา)
อย่างไรก็ตาม นอกจากเกษตรกรที่ พอช.สนับสนุนการก่อสร้างบ้านจำนวน 64 หลังแล้ว ยังมีเกษตรกรในที่ดิน ส.ป.ก.ในที่ดินทั้ง 3 แปลงที่ยังไม่เข้าร่วมโครงการอีก 171 ราย ซึ่งทาง พอช.และหน่วยงานในท้องถิ่นจะร่วมกันสร้างความเข้าใจ และหากจะเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคง ทาง พอช.ก็พร้อมจะให้การสนับสนุนต่อไป
ส่วนการก่อสร้างบ้านนั้น เกษตรกรในที่ดิน ส.ป.ก.ทั้ง 3 แปลง มีข้อตกลงร่วมกัน เช่น 1.กรณีผู้ด้อยโอกาส พิการ ยากไร้ สมาชิกจะช่วยกันสร้างบ้าน บริจาควัสดุก่อสร้าง สมทบก่อสร้าง ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมดูแล ภายใต้แนวคิด “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
2.ผู้ที่เดือดร้อนที่สุด ผู้ที่มีความจำเป็น ผู้ที่มีความเร่งด่วน ให้ก่อสร้างบ้านก่อน 3.สมาชิกในกลุ่มจะมาช่วยกันก่อสร้าง เพื่อลดค่าแรงงาน และทำให้ก่อสร้างได้เร็ว 4.ช่วยกันสร้างบ้านทีละหลัง เมื่อใกล้แล้วเสร็จ ให้สร้างหลังต่อไป ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม นอกจากการก่อสร้างบ้านแล้ว เกษตรกรในที่ดินแต่ละแปลงต่างก็มีแผนงานในการส่งเสริมอาชีพและพัฒนาชุมชน เช่น เกษตรกรในที่ดิน ส.ป.ก.ดงพลับ มีแผนจะส่งเสริมอาชีพกลุ่ม พัฒนาโรงสีข้าวชุมชน รวมกลุ่มทำตลาดนัด ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ทำสวนสุขภาพ ฯลฯ
เกษตรกรในที่ดิน ส.ป.ก.ดอนดึง ส่งเสริมการปลูกผักสวนครัว เกษตรอินทรีย์ พัฒนาโรงสีข้าวชุมชนขนาดเล็ก เลี้ยงไก่ เพาะเห็ด ร้านค้าชุมชน จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ และกองทุนสวัสดิการชุมชน
เกษตรกรรุ่นใหม่ จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ กองทุนสวัสดิการชุมชน สนับสนุนการศึกษาบุตรหลาน ทำแนวกันไฟ ทำท่อระบายน้ำป้องกันน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก ระบบจัดการขยะในชุมชน ฯลฯ
สภาพบ้านของปรินทร
นางปรินทร หนูใจหาญ อายุ 37 ปี เกษตรกรรุ่นใหม่ในที่ดิน ส.ป.ก. เล่าว่า ตนสมัครเข้าร่วมโครงการเกษตรกรรุ่นใหม่กับ ส.ป.ก.เมื่อปี 2560 หลังจากนั้น ส.ป.ก.จึงจัดอบรมให้ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ เกษตรทฤษฎีใหม่ ฯลฯ ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2561 ตนจึงได้รับการคัดเลือกให้เข้ามาอยู่อาศัยในที่ดิน ส.ป.ก. ตำบลดอนดึง อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี โดยได้รับจัดสรรที่ดินทำกิน 5 ไร่ สร้างบ้านด้วยสังกะสี ขนาดประมาณ 4x8 ตารางเมตร อยู่กับลูกชายอายุ 14 ปี (เรียนจบชั้น ป.6 ไม่ได้เรียนต่อ เพราะไม่มีเงินส่งเรียน)
“ตอนนี้หนูปลูกกระเจี๊ยบแดงขาย นอกจากนี้ยังทำเห็ดแหนม ข้าวเกรียบแหนม และน้ำพริกแหนมขาย มีรายได้ประมาณเดือนละ 9,000 บาท ก็พออยู่ได้ แต่ยังไม่มีเงินที่จะสร้างบ้านใหม่ พอมี พอช.และหน่วยงานต่างๆ เข้ามาช่วยก็รู้สึกดีใจที่จะได้บ้านใหม่ เพราะบ้านหลังเก่าเป็นสังกะสี ผุพัง เวลาฝนตก ฝนจะสาดเข้าบ้าน อากาศในบ้านก็ร้อนและอบอ้าว ถ้าสร้างบ้านเสร็จแล้ว ก็มีแผนเรื่องอาชีพที่จะทำต่อไปๆ คือจะเลี้ยงไก่บ้านขาย ประมาณ 200 ตัว เลี้ยงหมูแม่พันธุ์อีก 3 แม่ ถ้ามีรายได้พอก็จะให้ลูกชายเรียนต่อ” เกษตรกรรุ่นใหม่รายนี้พูดถึงอนาคตที่วางเอาไว้
ทั้งนี้โครงการบ้านมั่นคงในที่ดิน ส.ป.ก.ที่ พอช.สนับสนุน เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2561) โดย พอช.มีเป้าหมายสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยประชาชนที่มีรายได้น้อยทั้งในเมืองและชนบท เช่น โครงการบ้านมั่นคง การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว-คลองบางซื่อ โครงการบ้านพอเพียงชนบท การฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้าน โดยก่อสร้างศูนย์รองรับ เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น กรุงเทพฯ
นอกจากนี้ตั้งแต่ปี 2546 ถึงปัจจุบัน พอช. ได้สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท ครอบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัด จำนวน 4,911 โครงการ รวม 154,452 ครัวเรือน ใช้งบประมาณรวมทั้งหมด 6,577 ล้านบาทเศษ
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |