"ชวน" ตอกฝ่ายค้านระวังเจอข้อหาแจ้งความเท็จ ชี้บรรจุญัตติเป็นสิทธิ์ประธานวินิจฉัย ขอหารือฝ่ายกฎหมายรู้ผลสัปดาห์หน้า "เสรี" ขู่กลับส่อเจตนาล้มล้างการปกครอง "เนติบริกร" แจง คสช.สรรหา ส.ว.ไม่ใช่บริหารราชการแผ่นดิน "สุทิน" เสียงอ่อยปัดข่มขู่ อ้างพึ่งกระบวนการยุติธรรมหาคำตอบให้สังคม
ที่รัฐสภาแห่งใหม่ ย่านเกียกกาย เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานพิธีคล้ายวันสถาปนารัฐสภาไทยครบ 87 ปี โดยได้กล่าวตอนหนึ่งในงานมอบโล่ให้แก่หน่วยงานที่มีผลปฏิบัติราชการดีเด่นว่า รัฐสภาเป็นหน่วยงานด้านนิติบัญญัติ ถือเป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตยที่ต้องมีฝ่ายบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติ ซึ่งได้ย้ำกับ ส.ส.ตั้งแต่เข้าปฏิบัติหน้าที่ว่า ต้องเป็นตัวอย่างต่อการปฏิบัติหน้าที่ และเคารพกฎหมาย ขณะที่ข้าราชการของรัฐสภา ขอให้ทำหน้าที่ตามกฎหมายและกฎระเบียบ รวมถึงไม่ยอมรับคำสั่งของบุคคลที่สั่งให้ทำผิดกฎหมาย
“ท่านไม่ต้องกลัวใคร หากเขามาสั่งให้ทำอะไรที่เป็นเรื่องผิด ขออย่าทำ เพราะวันข้างหน้าเรื่องที่ทำอาจกลับมากระทบทำให้ติดคุกได้ ผมขอทุกคนอย่าทำผิดพลาดอันมีเหตุมาจากความเกรงกลัวและเกรงใจ เพราะเมื่อถึงเวลาต้องติดคุก คนสั่งเขาไม่ต้องมารับผิดชอบอะไร แต่คนปฏิบัติคือคนที่ต้องรับกรรม” นายชวนระบุ
ประธานรัฐสภากล่าวถึงความคืบหน้าการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ว่า คาดว่าประมาณ 1 เดือน ห้องประชุมจันทราจะแล้วเสร็จและเข้าใช้ได้ ส่วนห้องประชุมสุริยัน ไม่สามารถทำให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ ทั้งนี้มีงานบางอย่างที่ล่าช้า จึงได้บอกกับนายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเร็วและโดยตรง บางเรื่องอาจต้องบอกรัฐบาลให้ช่วยเหลือเพื่อทำให้งานรวดเร็ว
นายชวนยังกล่าวถึงกรณี 7 พรรคฝ่ายค้านเตรียมแจ้งความประธานสภาฯ และนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 กรณีไม่บรรจุญัตติตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญตรวจสอบที่มาของ ส.ว. ว่า ประธานสภาฯ ก็อยู่ภายใต้กฎหมาย ถ้าประธานทำผิด ทุกฝ่ายมีสิทธิ์จัดการตามกฎหมายได้ ซึ่งไม่มีปัญหาอะไร แต่ระวังเรื่องที่ไปร้องอย่าให้เป็นเท็จ เดี๋ยวโดนข้อหาแจ้งความเท็จ
อย่างไรก็ตาม ญัตตินี้ได้ผ่านกระบวนการของเจ้าหน้าที่มาถึงรองประธานสภาฯ คนที่ 2 เพื่อวินิจฉัยแล้ว แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ จึงขอเชิญเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายทั้งหมดมาหารือก่อน โดยเราจะดูให้ดีที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องที่ประธานและรองประธานจะหารือกัน เรื่องใดที่ไม่มีปัญหารองประธานสั่งแล้วก็ผ่านไปได้เลย แต่เรื่องใดที่คิดว่าอาจจะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนหรือเป็นปัญหาตนจะขอมาดู และหากไม่แน่ใจจะเชิญฝ่ายกฎหมายทั้งหมด รวมถึงที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายและเจ้าหน้าที่มาช่วยกันดู ซึ่งกรณีดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนพอสมควร ดังนั้นเราจึงต้องช่วยกันดู
บรรจุญัตติสิทธิ์ปธ.สภา
“แต่ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะคนทำหน้าที่ประธานจะต้องตรงไปตรงมา และไม่มีประโยชน์ที่จะไปขู่ว่าจะดำเนินคดี ถ้าทำผิดก็ไปจัดการได้เลย เรื่องนี้ไม่มีปัญหา เพราะประธานและรองประธานสภาฯ ต่างก็อยู่ภายใต้กฎหมายเหมือนกัน ทั้งนี้ ฝ่ายกฎหมายที่เชิญมาได้มีการหารือกันไปบ้างแล้ว รวมถึงมีข้อยุติกันบางประเด็น คิดว่าตอนออกระเบียบวาระก็สามารถวินิจฉัยได้ว่าจะบรรจุลงระเบียบวาระหรือไม่ บังเอิญเรื่องดังกล่าวนี้รองประธานสภาคนที่ 2 ไปพูดก่อนเลยทำให้เป็นประเด็นขึ้นมา ซึ่งการบรรจุญัตติไม่ใช่เรื่องที่จะไปขู่ว่าจะต้องบรรจุหรือไม่บรรจุ เรื่องนี้เป็นสิทธิ์ของประธานสภาที่วินิจฉัยได้ โดยจะมีความชัดเจนในสัปดาห์หน้า” ประธานสภาฯ กล่าว
ส่วนที่ 7 พรรคฝ่ายค้านอยากได้คำตอบภายในวันที่ 1 ก.ค.นั้น เรื่องทั้งหมดอยู่ที่สภา จะยื่นเงื่อนไขต่อรองหรือขู่อะไรก็ไม่มีผลอะไร เพราะคนเป็นประธานไม่ว่าใครหรือตนก็ตาม โดยทั่วไปต่างก็วางตัวเป็นกลางและวินิจฉัยโดยยึดความถูกต้อง ไม่ยึดเอาตามความอำเภอใจ ความจริงเรื่องนี้ตนก็แปลกใจ ว่าทำไมถึงโวยวาย ทำไมถึงไม่ฟังเหตุฟังผล รีบร้อนไปขู่เสียก่อน โดยยังไม่รู้ว่าเขาตัดสินอย่างไร อาจจะคิดว่าถ้ากลัวแล้วจะต้องบรรจุ หรือไม่กลัวก็ไม่บรรจุ ก็อย่าไปพะวง เพราะเรื่องดังกล่าวประธานสภาฯ ต้องวินิจฉัยตรงไปตรงมา
ประธานสภาฯ กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีพรรคพลังประชารัฐยื่นเรื่องให้ตรวจสอบกรณี 33 ส.ส.ของพรรคฝ่ายค้านถือหุ้นสื่อว่า ฝ่ายเลขาฯ จะตรวจสอบความถูกต้องแบบเดียวกับที่ยื่นมาครั้งก่อน เบื้องต้นคือตรวจสอบลายเซ็นผู้รับรองว่าตรงกับลายมือชื่อที่เซ็นไว้กับสภาหรือไม่ ซึ่งคงจะส่งมาถึงตนสัปดาห์
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎร ไม่เกี่ยวกับวุฒิสภา จึงไม่สามารถแสดงความเห็นได้ ทั้งนี้ ทุกอย่างต้องพิจารณาตามหลักกฎหมาย กระบวนการสรรหา ส.ว.ที่ผ่านมาได้ดำเนินการตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดแล้ว ดังนั้นเรื่องนี้อยู่ที่ดุลพินิจของแต่ละบุคคล ส่วนการที่ ส.ส.จะแก้กฎหมายไม่ให้ ส.ว.มามีส่วนร่วมในเรื่องการปฏิรูปนั้น เมื่อ ส.ว.เป็นสมาชิกรัฐสภา ต้องทำหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด จะละเว้นไม่ได้ เรื่องใดที่เป็นการประชุมร่วมรัฐสภาก็ต้องดำเนินการ
ส่วนที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบคุณสมบัติของ ส.ว. กรณีการถือครองหุ้นและทำธุรกิจสื่อสารมวลชนว่า เป็นเรื่องของ กกต.ที่จะต้องทำตาม แต่ส่วนตัวเห็นว่าการสรรหา ส.ว.มีที่มาแตกต่างจาก ส.ส. เพราะมาจากการเเต่งตั้ง ดังนั้น หากจะนับเวลาที่สิ้นสุดการถือครองหุ้น จะต้องนับก่อนที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย
นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. เปิดเผยว่า วันที่ 1 ก.ค. ตนและ ส.ว.บางส่วนจะเข้าหารือกับนายพรเพชร เพื่อหารือต่อประเด็นที่มีหลายฝ่ายยื่นตรวจสอบกระบวนการสรรหา ส.ว. ทั้งกรณีของ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านที่ยื่นญัตติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบการสรรหา ส.ว. รวมถึงการที่นายเรืองไกร ยื่นเรื่องต่ออัยการสูงสุดให้ตรวจสอบกระบวนการและที่มาของ ส.ว.
เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง
ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าทั้ง 2 กรณีนั้นเข้าข่ายเป็นพฤติกรรมล้มล้างการปกครองตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 เนื่องจากกระบวนการสรรหา ส.ว.นั้น ตามรัฐธรรมนูญกำหนดวิธีและขั้นตอนไว้ชัดเจนว่ามีกระบวนการอย่างไร และ ส.ว.ถือเป็น 1 ใน 3 อำนาจอธิปไตย ดังนั้นหากพรรคฝ่ายค้านและตัวบุคคลพยายามทำเรื่องดังกล่าวโดยมีเจตนาที่ชัดเจนว่าต้องการให้การสรรหา ส.ว.เป็นโมฆะ เท่ากับเป็นการล้มล้าง ส.ว. ฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ จึงเข้าข่ายล้มล้างการปกครองด้วยเช่นกัน ซึ่งตามกฎหมายพรรคการเมืองกำหนดโทษไว้สูงสุดคือการยุบพรรค
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การบรรจุญัตติเป็นอำนาจของประธานสภาฯ เองจะสั่งรับหรือไม่รับ ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่าส.ส.มีสิทธิ์ยื่นญัตติตรวจสอบอะไรก็ตามที่เป็นการบริหารราชการแผ่นดิน หรือกระทำกิจการอื่นๆ ที่สภามอบหมายภายในอำนาจหน้าที่ ตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน ที่แบ่งอำนาจเป็นสามส่วน โดยให้รัฐบาลทำหน้าที่บริหาร และสภาทำหน้าที่ตรวจสอบการบริหารราชแผ่นดินของรัฐบาล แม้แต่ข้าราชการประจำสภาก็ตรวจสอบไม่ได้ เว้นแต่ตรวจสอบผู้บังคับบัญชาของข้าราชการประจำที่เป็นนักการเมือง ดังนั้นปัญหาจึงอยู่ที่ว่าการที่เขาจะตรวจสอบนั้น จะตรวจสอบใคร ถ้าตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินนั้นทำได้
เมื่อถามว่า กระบวนการสรรหา ส.ว. ถือเป็นการบริหารราชการแผ่นดินหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่เป็น เมื่อถามย้ำว่า หากเป็นการตรวจสอบ คสช.ที่ตั้งกรรมการสรรหา ส.ว.นั้นทำได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า คสช.ตั้งขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ใช่ผู้บริหารราชการแผ่นดิน ส่วนกลไกตรวจสอบ คสช.นอกสภานั้น ไม่มี และนึกไม่ออกว่ามีกลไกอื่นหรือไม่ จากนี้ต้องรอดูว่าจะมีเวทีใดที่เขาอยากให้ชี้แจงหรือไม่ ตนก็ยินดี แต่ไม่ใช่การท้าทาย
ด้านนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนและฝ่ายค้านมิได้มีเจตนาจะข่มขู่ เพราะตระหนักดีว่าประธานสภาฯ เป็นผู้ใหญ่ที่ควรให้ความเคารพท่านหนึ่ง ไม่อยากให้มองอย่างนั้น อยากให้ทุกฝ่ายมองว่าเรื่องที่พวกตนกำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่มีผลต่อการสร้างบรรทัดฐานทางการเมือง บรรทัดฐานทางสังคม ที่ประชาชนสนใจและมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง แต่ผู้เกี่ยวข้องปฏิเสธที่จะให้สังคมรับรู้ ในฐานะตัวแทนประชาชนจึงได้พยายามหาช่องทางให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลเรื่องนี้ เราทำมาแล้วทุกช่องทาง แต่ไม่เป็นผล จึงหวังพึ่งกลไกรัฐสภา
ทั้งนี้ ได้ยื่นญัตติเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ตามข้อบังคับสภาผู้แทนฯ กำหนดว่าอยู่ในดุลยพินิจของประธานสภาฯ ซึ่งประธานต้องแจ้งผลการพิจารณาว่าเป็นญัตติด่วนหรือไม่ภายใน 5 วัน และแจ้งการบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระหรือไม่ภายใน 7 วัน พวกเราก็รอฟังผลการพิจารณาด้วยความสงบ ให้เกียรติเป็นอย่างดี แต่เมื่อล่วงเลยเข้าวันที่ 9 ยังไม่ได้รับการประสานแจ้งผลใดๆ แต่ได้รับทราบจากสื่อว่า รองประธานสภาฯบอกว่าไม่สามารถบรรจุได้ เพราะสภาไม่สามารถตรวจสอบคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดังนั้นจึงมาหารือใน 7 พรรคฝ่ายค้านว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ทางสุดท้ายที่เหลือของพวกเราคือ ขอพึ่งกลไกกระบวนยุติธรรมคือ ตำรวจ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือศาลรัฐธรรมนูญ จึงมีความจำเป็นต้องนำเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนดังกล่าวโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกระทบกับตัวประธานและรองประธานในฐานะผู้ตัดสินใจเรื่องนี้
"การจะดำเนินคดีกับท่านมิใช่การข่มขู่ แต่เป็นความจำเป็นที่พวกเราต้องแสวงหาช่องทางหาคำตอบให้กับประชาชน ขอให้เห็นใจพวกเราและประชาชนบ้าง พวกเรารู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมมาหลายกรณีซ้ำแล้วซ้ำเล่า คราวนี้เมื่อเวลามันล่วงเลยตามกรอบข้อบังคับแล้วเราจะนิ่งเฉยอยู่ได้อย่างไร หากประธานสภาฯ บอกว่าเรื่องนี้ยังไม่มีข้อยุติ กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาอยู่ พวกเราก็พร้อมจะรอฟัง และจะดำเนินการใดๆ ต่อไปก็จะเป็นหลังทราบข้อยุติแล้ว" นายสุทินระบุ
นายวิชิต ปลั่งศรีสกุล คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ตอบโต้กรณีที่นายเสรีระบุว่า 7 พรรคฝ่ายค้านเสนอญัตติด่วนให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบการสรรหา ส.ว.เข้าข่ายล้มล้างการปกครองว่า ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นแนวคิดของผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น ส.ว. ซึ่งข้อสงสัยในความไม่โปร่งใสของสรรหา ส.ว.มิใช่เกิดขึ้นแต่เฉพาะพรรคร่วมฝ่ายค้านเท่านั้น แม้กระทั่งสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปก็เกิดข้อข้องใจสงสัยเช่นเดียวกัน หากคนเหล่านี้ต้องการที่จะทราบความจริงว่าการสรรหาดำเนินไปอย่างไรในแต่ละขั้นตอน จะถือว่าพวกเขาล้มล้างการปกครองหรือไม่ นายเสรีอยากจะปล่อยให้ความสงสัยข้องใจของสังคมที่เปรียบเสมือนอยู่ในท่ามกลางความมืดมิดไปเช่นนี้ตลอด 5 ปีหรืออย่างไร อย่างไรก็ตาม อยากจะบอกนายเสรีว่าผู้ที่ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่แท้จริงไม่ใช่ใครที่ไหน นั่นคือ คสช.นั่นเองที่เข้ามายึดอำนาจและฉีกรัฐธรรมนูญ 2550.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |