กระทรวง พม.และหน่วยงานในสังกัดจัดงานใหญ่ ‘Thailand  Social Expo 2019’      


เพิ่มเพื่อน    

                                              

‘พอช.’ ชูชุมชนต้นแบบด้านการพัฒนาและแก้ไขปัญหาชุมชน
    กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และหน่วยงานในสังกัดจัดงานใหญ่‘Thailand  Social Expo 2019’ ถือเป็นการจัดงานมหกรรมทางสังคมครั้งที่ 2 ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีหน่วยงานต่างๆ ร่วมจัดนิทรรศการและออกบูธกว่า 140 บูธ  แสดงผลงานและนิทรรศการ  การพัฒนาสังคม  นวัตกรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ  สร้างความเป็นธรรมในสังคม  
    ขณะที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ชวนเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศร่วมแสดงผลงาน  ชูชุมชนต้นแบบด้านการพัฒนาและแก้ไขปัญหาชุมชน ระหว่างวันที่ 5-7 กรกฎาคมนี้ ที่ศูนย์การประชุมเมืองทองธานี 

(ปรเมธี  วิมลศิริ)

    นายปรเมธี  วิมลศิริ  ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  กล่าวว่า  ปัจจุบันสถานการณ์ของสังคมโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายในทุกช่วงวัย  กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ  ในฐานะองค์กรด้านการพัฒนาสังคมของประเทศ  จึงจำเป็นต้องดำเนินการผลักดันและขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาสังคมอย่างเป็นระบบ  ด้วยการบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน  ทั้งภาครัฐ เอกชน   และภาคประชาสังคมในการขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาสังคมไทยอย่างมั่นคง  มั่งคั่ง  และยั่งยืน  
    ดังนั้นกระทรวง พม.  หน่วยงานในสังกัด  และภาคีเครือข่าย  จึงร่วมกันจัดงานแสดงผลงานและนวัตกรรมในการพัฒนาสังคมครั้งที่ 2 ขึ้นมา  ถือเป็นงานมหกรรมด้านสังคมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย  คืองาน  “Thailand Social Expo 2019” ภายใต้แนวคิด “ร่วมมือ ร่วมใจ สังคมไทยยั่งยืน – Partnership for Sustainable”  กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 – 7 กรกฎาคมนี้   ที่อาคารชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 2 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี 
    “ในปีนี้  งาน Thailand Social Expo 2019  จัดขึ้นเป็นปีที่ 2  เพื่อเป็นการต่อยอดและขยายผลของการรวบรวมผลงานนวัตกรรมทางสังคมและเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาสังคมและกลุ่มเป้าหมาย  รวมทั้งผลการคิดค้นและการดำเนินงานสำคัญในด้านสังคมของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน  โดยผนึกกำลังบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมและการบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่ดำเนินงานด้านสังคมของประเทศไทย”  ปลัดกระทรวง พม.กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงาน
    งาน Thailand Social Expo 2019 แบ่งกิจกรรมออกเป็น 4 โซน  ประกอบด้วย 1.การเสวนาทางวิชาการเกี่ยวกับประชาชนกลุ่มเป้าหมายในทุกช่วงวัย  เช่น  สมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ, วาระแห่งชาติ Active Aging สูงวัยอย่างมีคุณค่า ชราอย่างมีความสุข, สื่อสารสร้างสรรค์ป้องกันปัญหาความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก และการยกระดับ CSR สู่พลังจิตสาธารณะ ลดความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน  เป็นต้น
    2.บริการทางสังคม  เช่น  บริการตรวจวัดสายตา, ประมูลทรัพย์หลุดจำนำ, สาธิตการพัฒนาฝีมือแรงงานและการฝึกอาชีพ, ตัวอย่างแบบบ้านประหยัดพลังงาน, การทำบัตรประชาชน  และการให้บริการจัดหางาน  เป็นต้น
    3.การแสดงและนวัตกรรมทางสังคม บริเวณ Pavilion กลาง การแสดงผลงานการพัฒนาคนทุกช่วงวัย ได้แก่ ปฐมวัย วัยรุ่น วัยแรงงาน และวัยสูงอายุ, นวัตกรรมและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ, การแสดง Application งานด้านสังคม และการแสดงดนตรีของคนพิการ Fight for Dream เป็นต้น
    4.การออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าและร้านอาหาร  อาทิ  ผลิตภัณฑ์ ทอฝัน by พม., ผลิตภัณฑ์ OTOP  ร้านค้า  ร้านอาหาร  เครื่องดื่ม และเบเกอรี่

(สมชาติ  ภาระสุวรรณ)

    นายสมชาติ  ภาระสุวรรณ  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กล่าวว่า พอช.ทำงานกับประชาชนทั่วประเทศ  โดยเฉพาะประชาชนที่มีรายได้น้อย  เช่น  สนับสนุนส่งเสริมให้ประชาชนที่มีความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยให้รวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหาตามโครงการ ‘บ้านมั่นคง’  การส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นได้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เช่น จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ หรือสถาบันการเงินชุมชนเพื่อเป็นทุนของชุมชนเอง  ส่งเสริมการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน เพื่อนำเงินกองทุนมาช่วยเหลือกัน  รวมทั้งส่งเสริมด้านคุณภาพชีวิต เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นต้น
    “การจัดงาน ‘Thailand  Social  Expo 2019’ ครั้งที่ 2 นี้  พอช.มีคอนเซ็ปท์ในการจัดงาน  คือ  ‘บ้านมั่นคงของมนุษย์  สู่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง’  เพราะนอกจาก พอช.จะสนับสนุนให้ชุมชนได้แก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของมนุษย์แล้ว ยังส่งเสริมให้ชุมชนแก้ไขปัญหาและพัฒนาในด้านต่างๆ ด้วย โดยได้ชวนพี่น้อง ชุมชน และตำบลต่างๆ  ทั่วประเทศที่มีความโดดเด่นในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาชุมชนมาร่วมจัดแสดงนิทรรศการในครั้งนี้”  ผอ.พอช.กล่าว
    นอกจากนี้ในงานครั้งนี้ยังมีการประชุมเชิงวิชาการ  มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ  รวมทั้งมีผู้แทนจากประเทศเพื่อนบ้าน  เช่น  กัมพูชา  พม่า  ศรีลังกา  และบังคลาเทศ  มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาเมืองและที่อยู่อาศัยด้วย
    ทั้งนี้ชุมชนต้นแบบที่จะมาร่วมแสดงผลงานและนิทรรศการการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น  ประกอบด้วยตัวแทนจาก 5 ภาค  คือ ภาคเหนือ  ตำบลลำประดา  อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร ภาคอีสาน  ตำบลกุดหว้า  อ.กุฉินารายณ์  จ.กาฬสินธุ์  ภาคกลางและตะวันตก ตำบลหนองโรง อ.พนมทวน  จ.กาญจนบุรี  กรุงเทพฯ และตะวันออก สถาบันการเงินชุมชนบ้านขอนขว้าง  อ.เมือง  จ.ปราจีนบุรี และภาคใต้ ตำบลเขาแก้ว อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช

คนเขาแก้ว อ.ลานสกา ฟื้นวิกฤตยางฯสร้างเศรษฐกิจและทุนชุมชน เปิดตลาดสวนสร้างบุญ หนุน ‘สวนพ่อเฒ่า’ ปลูกไม้เศรษฐกิจเงินล้าน
    อำเภอลานสกา จ.นครศรีธรรมราช พื้นที่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในหุบเขา  มีเทือกเขาที่สำคัญคือ ‘เขาหลวง’  ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของลำคลองหลายสาย มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งป่าไม้และสายน้ำ เรียกว่ามองไปทางไหนก็เห็นแต่ความร่มรื่นเขียวขจี อากาศบริสุทธิ์และเย็นสบายเกือบตลอดทั้งปี  
ประชาชนส่วนใหญ่ในอำเภอลานสกามีอาชีพเกษตรกรรม ทำสวนยางพาราและสวนผลไม้ เช่น มังคุด ทุเรียน  จำปาดะ ฯลฯ แต่เมื่อยางพาราที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลักมีราคาตกต่ำต่อเนื่องมานานหลายปี  เกิดผลกระทบต่อปากต่อท้อง  คนลานสกาจึงพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส  หาช่องทางที่จะสร้างเศรษฐกิจและทุนชุมชนขึ้นมา  ไม่ต้องหวังพึ่งยางพาราแต่เพียงอย่างเดียว  ดังตัวอย่างที่ตำบลเขาแก้ว
เส้นทางการพัฒนาชุมชนคนเขาแก้ว ใช้ ‘สภาองค์กรชุมชนฯ’เป็นกลไกขับเคลื่อน
    สาโรจน์ สินธู แกนนำพัฒนาตำบลเขาแก้ว เล่าว่า ตำบลเขาแก้ว อ.ลานสกา มี 6 หมู่บ้าน มีจำนวนประชากร (ที่อาศัยอยู่จริง) ประมาณ 4,700 คน พื้นที่ทั้งหมดประมาณ 42,000 ไร่ ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวนยางฯ และปลูกไม้ผลต่างๆ ส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน (ประมาณ 70 %) เริ่มกิจกรรมรวมกลุ่มกันพัฒนาตำบลตั้งแต่ปี 2553 โดยจัดตั้ง ‘กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเขาแก้ว’ ขึ้นมา เพื่อเป็นกองทุนในการช่วยเหลือดูแลสมาชิกในตำบล มีสมาชิกเริ่มแรกจำนวน 278  คน  โดยสมาชิกจะต้องสมทบเงินเข้ากองทุนเดือนละ 30 บาทเพื่อนำมาช่วยเหลือสวัสดิการสมาชิก  
    เช่น เจ็บป่วยนอนโรงพยาบาล ช่วยเหลือคืนละ 200 บาท ปีหนึ่งไม่เกิน 15 คืน เสียชีวิตช่วยเหลือตามอายุการเป็นสมาชิก ตั้งแต่ 2,000-30,000 บาท นอกจากนี้ยังช่วยเรื่องคลอดบุตร ผู้สูงอายุ ฯลฯ ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 3,600 คน  (ประมาณ  80 % ของประชากรทั้งตำบล)  มีเงินกองทุนประมาณ  3 ล้านบาทเศษ

(สาโรจน์ สินธู)

    สภาองค์กรชุมชนตำบลเขาแก้ว  จัดตั้งขึ้นในปี 2553 เช่นกัน  ซึ่งตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนให้ชุมชนและประชาชนเข้ามามีการส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและประเทศ โดยให้ประชาชนรวมกลุ่มกันจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลขึ้นมา เพื่อใช้สภาฯ เป็นกลไกในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ ในตำบล โดยมีกลุ่มต่างๆ ในตำบลเขาแก้วเข้าร่วมจัดตั้งสภาฯ รวม 18 กลุ่ม มีตัวแทนสมาชิกฯ เป็นคณะกรรมการสภาฯ จำนวน  33 คน  
    เมื่อสภาองค์กรชุมชนตำบลเขาแก้วดำเนินงานมาได้ 5 ปี ในปี 2558 คณะกรรมการสภาฯ จึงได้จัดประชุมเพื่อทบทวนการทำงานของสภาฯ และร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูลในตำบล  ช่วยกันหาจุดแข็ง  จุดอ่อน  และปัญหาต่างๆ  เพื่อนำข้อมูลมาจัดทำแผนพัฒนาตำบลในด้านต่างๆ  ทั้งเศรษฐกิจ  สังคม  และสิ่งแวดล้อม  โดยเฉพาะปัญหายางพาราที่ดำดิ่งลงเรื่อยๆ จากราคายาง (ยางถ้วย) ที่เคยพุ่งขึ้นสูงถึงกิโลกรัมละ 60 บาทในช่วงปี 2553-2554  แต่ในปี 2555-2558  ลดเหลือ ก.ก.ละ 18 บาท
    “ช่วงปี 2558 เกิดปัญหายางพาราราคาตกต่ำทั่วประเทศ คนตำบลเขาแก้วที่ปลูกยางฯ เป็นพืชหลักได้รับผลกระทบไปทั่ว หลายครอบครัวต้องกู้หนี้ยืมสิน บางคนกู้เงินนอกระบบต้องจ่ายดอกเบี้ยเป็นรายวัน ร้อยละยี่สิบต่อวัน คณะกรรมการสภาองค์กรชุมชนตำบลเขาแก้ว จึงวางแผนแก้ไขปัญหา โดยจะรวมตัวกันรับซื้อและขายยางฯ เอง ใช้เงินจากกองทุนสวัสดิการชุมชนมารับซื้อ ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง มีการตั้งคณะทำงานลงไปสำรวจข้อมูลเรื่องปริมาณและผลผลิตในตำบลเพื่อจะรวบรวมยางฯ ไปขายเอง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะค่าขนส่งไปขายโรงงานมีต้นทุนสูง ไม่คุ้มทุน และที่สำคัญก็คือปัญหายางฯ เป็นปัญหาระดับประเทศ ชุมชนแก้ไขเองไม่ได้” สาโรจน์เล่าความพยายามในการแก้ไขปัญหาราคายางฯ 
    แม้ว่าชุมชนจะแก้ไขปัญหาราคายางพาราไม่สำเร็จ แต่การวิเคราะห์ข้อมูลตำบลในครั้งนั้นพบว่า คนในตำบลเขาแก้วส่วนใหญ่ไม่มีเงินออม และขาดแคลนเงินทุนในการประกอบอาชีพเสริม เมื่อราคายางฯ ตกต่ำจึงต้องกู้หนี้ยืมสิน เพื่อนำเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ  
    นอกจากนี้ที่ดินที่ปลูกยางฯ และผลไม้ทั้งตำบล ประมาณ 70 % ไม่มีเอกสารสิทธิ์ เพราะทับซ้อนกับเขตอุทยานแห่งชาติเขาหลวงและอุทยานฯ น้ำตกโยง จึงไม่สามารถนำที่ดินไปจำนองกับสถาบันการเงินได้ ต้องกู้ยืมเงินนอกระบบ   คณะกรรมการสภาองค์กรชุมชนฯ จึงคิดเรื่องการสร้างแหล่งทุนในตำบล โดยการจัดตั้งสถาบันการเงินชุมชนตำบลเขาแก้วขึ้นมา เพื่อส่งเสริมการออมและแก้ไขหนี้นอกระบบ โดยใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลเขาแก้วเป็นกลไกขับเคลื่อน ใช้คณะกรรมการสภาฯ ชี้แจงสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านเพื่อชวนมาเป็นสมาชิก
    สถาบันการเงินชุมชนตำบลเขาแก้ว เริ่มจัดตั้งในเดือนตุลาคม 2558 มีสมาชิกเริ่มแรกจำนวน 223 คน สมาชิกจะต้องฝากเงินเข้าสถาบันฯ เดือนละ 1 ครั้ง  อย่างน้อยคนละ 100 บาท ใครมีมากก็ฝากมาก มีเงินสะสมรวมกันในช่วง 6 เดือนแรกประมาณ 385,000 บาท สมาชิกสามารถกู้เงินเพื่อประกอบอาชีพ  การศึกษาของบุตรหลาน  รักษาพยาบาล  หรือปลดหนี้สิน หนี้นอกระบบ ได้สูงสุด 100,000 บาท คิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1 บาทต่อเดือน และผ่อนชำระเงินกู้ได้ตามความจำเป็น  จึงช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านได้มาก เพราะหนี้นอกระบบคิดดอกเบี้ยมหาโหดถึงร้อยละ 20 บาท/วัน  หากไม่มีจ่ายก็จะทบต้นทบดอก  เหมือนดินพอกหางหมู  สลัดอย่างไรก็ไม่หลุด  
    ปัจจุบันสถาบันการเงินชุมชนฯ มีสมาชิกจำนวน 440 คน มีเงินทุนประมาณ  3.6 ล้านบาท และตั้งเป้าว่าภายในปี 2562 จะเพิ่มสมาชิกเป็น 600 คน โดยมีคณะกรรมการบริหารสถาบันฯ รวม 21 คน แบ่งหน้าที่ทำงานเป็นฝ่ายต่างๆ เช่น  ผู้จัดการ เหรัญญิก ฝ่ายสินเชื่อ ฝ่ายสะสมทรัพย์ ฝ่ายส่งเสริม ฝ่ายตรวจสอบบัญชี ฯลฯ ถือเป็นธนาคารเพื่อชุมชนที่ชาวบ้านบริหารจัดการเอง  ไม่ต้องพึ่งธนาคารพาณิชย์  หรือเป็นหนี้นอกระบบอีกต่อไป
ตลาดสวนสร้างบุญ  ‘คนกินอิ่มอร่อย-อาหารปลอดภัย  คนขายอิ่มบุญ’
    ‘ตลาดสวนสร้างบุญ’ ตั้งอยู่ริมถนนสายหลักของตำบล (อ.ลานสกา-จันดี อ.ฉวาง) เกิดจากแนวคิดของคณะกรรมการสภาองค์กรชุมชนตำบลเขาแก้วที่อยากจะให้คนในตำบลมีอาชีพเสริม  โดยนำผลผลิตจากไร่จากสวนมาวางขาย  หรือปรุงเป็นอาหารพื้นบ้านและขนมต่างๆ  รวมทั้งมีการแสดงศิลปะ  วัฒนธรรมท้องถิ่น  เริ่มเปิดตลาดในช่วงปลายปี 2559  บนเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่  ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่  อากาศเย็นสบาย  เพราะมีลำคลองเขาแก้วไหลผ่าน  เปิดขายเฉพาะวันเสาร์  ตั้งแต่เวลา 8 โมงเช้า - 6 โมงเย็น  ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ตามโครงการส่งเสริมเศรษฐกิจและทุนชุมชน  จำนวน 100,000 บาท, กรมการพัฒนาชุมชน, มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ฯลฯ  

    สาโรจน์ บอกว่า  ตลาดสวนสร้างบุญจะเน้นให้ชาวบ้านเอาผลผลิตของตัวเองมาวางขาย หากเป็นพืช ผัก และผลไม้  จะปลูกโดยไม่ใช้สารเคมี มีผักพื้นบ้านต่างๆ เช่น ผักกูด สะตอ เนียง ผักหนาม ผักโขม ลูกประ ส้มแขก ฯลฯ ผลไม้ตามฤดูกาล  เช่น ทุเรียน มังคุด จำปาดะ ลองกอง ลางสาด มะม่วง ฯลฯ อาหารต่างๆ เช่น ขนมจีน ก๋วยเตี๋ยวกะลา ขนมถ้วย ทองม้วน ขนมจาก ข้าวเหนียวสองดัง น้ำพริกลูกประ ฯลฯ น้ำผลไม้ น้ำสมุนไพร ผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น ไวน์มังคุด แชมพู สบู่สมุนไพร ฯลฯ
    “อาหาร ผัก ผลไม้ ที่ชาวบ้านเอามาขาย เราเน้นว่าจะต้องเป็นอาหารที่ปลอดภัย ต้องปลูกเอง ไม่ใช้สารเคมี คนที่มาซื้อก็จะได้กินอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และดีต่อสุขภาพ เพราะวัตถุดิบมาจากธรรมชาติ ไม่ต้องปรุงแต่งมากนัก ราคาก็ไม่แพง คือกินอิ่มและราคาถูก ส่วนคนขายก็มีความสุข เพราะเอาอาหารที่สะอาดปลอดภัยมาให้คนซื้อได้กิน และมีรายได้เสริมไปใช้จ่ายในครอบครัว เป็นค่าเล่าเรียนของลูกหลาน ทำให้อิ่มใจ อิ่มบุญทั้งคนซื้อและคนขาย” สาโรจน์ฉายภาพตลาด 

    ตลาดสวนสร้างบุญสามารถสร้างรายได้เสริมให้ชาวบ้านได้ไม่น้อยกว่า 40-50 ครอบครัวใน 1 สัปดาห์ สัปดาห์ ละ 1,000-2,000 บาท แม้ว่าจะเป็นเงินที่ไม่มากมายนัก แต่ก็ทำให้ชาวบ้านมีช่องทางการค้าขาย นำรายได้มาจุนเจือครอบครัว  คนซื้อก็ได้กินอาหารที่ปลอดภัย

‘สวนพ่อเฒ่า’ ปลูกไม้เศรษฐกิจเพิ่มสีเขียวสร้างเงินล้าน
    ‘สวนพ่อเฒ่า’ หรือ ‘สวนสมรม’ เป็นการปลูกพืชหลายชนิดลงในที่ดินแปลงเดียวกัน ทั้งไม้ผลที่กินได้และไม้ใช้สอยต่างๆ รวมทั้งพืชผักสวนครัว ตามวิถีที่บรรพบุรุษหรือ ‘พ่อเฒ่า’ เคยปลูกกันมานานหลายชั่วคน ไม่ใช่ปลูกแต่ ‘พืชเชิงเดี่ยว’ หรือชนิดเดียว เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มังคุด ทุเรียน ฯลฯ เหมือนในปัจจุบัน เพราะหากช่วงไหนพืชเหล่านี้ราคาไม่ดีคนปลูกก็จะเดือดร้อน เช่น ยางพาราที่ราคาตกต่ำต่อเนื่องมานานหลายปี 
    วิเชียร กองโล่ คณะกรรมการกลุ่มออมต้นไม้ เล่าว่า จากปัญหาการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ต้องอิงกับราคาตลาด  คณะกรรมการสภาองค์กรชุมชนตำบลเขาแก้วจึงนำแนวคิดเรื่องการจัดตั้งสถาบันการเงินชุมชนมาปรับใช้ แต่เปลี่ยนจากการออมเงินมาเป็น ‘ออมต้นไม้’ โดยจัดตั้ง ‘กลุ่มออมต้นไม้’ ในปี 2560 ใช้งบประมาณสนับสนุนจากกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเขาแก้ว จำนวน 10,000 บาท เพื่อนำมาซื้อกล้าไม้เศรษฐกิจ เช่น ตะเคียนทอง จำปาทอง สะเดาเทียม  ฯลฯ  จำนวน 1,000 ต้น แจกจ่ายให้สมาชิกปลูกในปีนั้น เมื่อต้นไม้เติบโตก็จะมีราคา รวมทั้งส่งเสริมให้ปลูกพืชกินได้ชนิดต่างๆ เพื่อลดรายจ่าย สร้างรายได้ นอกจากนี้ยังเป็นการเติมพื้นที่สีเขียวให้แก่ตำบลด้วย 
    “ก่อนที่จะมีการจัดตั้งกลุ่มออมต้นไม้ ชาวบ้านส่วนใหญ่จะปลูกพืชชนิดเดียวในแปลงเดียวกัน เพราะเชื่อว่าถ้าปลูกรวมกันต้นไม้จะไม่โตเพราะว่าแย่งอาหารกัน แต่สวนของผมปลูกผสมกันแบบสวนสมรมหรือสวนพ่อเฒ่ามานานหลายสิบปีแล้ว  และต้นไม้ทุกชนิดก็งามทุกอย่าง เก็บกินก็ได้ ขายก็ดี ทางกลุ่มออมต้นไม้จึงยกให้สวนของผมเป็นต้นแบบ ให้สมาชิกกลุ่มมาดู มาเรียนรู้เพื่อเอาไปปลูกตามอย่าง” ลุงวิเชียรเล่าความเป็นมาของกลุ่ม
    ลุงวิเชียรมีที่ดิน 5 แปลง เนื้อที่รวมประมาณ 50 ไร่ แบ่งพื้นที่ปลูกสวนยาง 1 แปลง เนื้อที่ 10 ไร่  ส่วนอีก 4 แปลงปลูกแบบสมรมหรือผสมผสาน มีพืชกินได้ เช่น จำปาดะ ทุเรียน มังคุด ลองกอง หมาก มะพร้าว กล้วย สะตอ เหรียง เนียง ฯลฯ ไม้ใช้สอย เช่น ตะเคียนทอง จำปาทอง สะเดาเทียม พะยูง ไผ่ ฯลฯ 
พืชเหล่านี้เมื่อปลูกรวมกันจะมีสภาพคล้ายป่าธรรมชาติ ไม่แย่งอาหารหรือแย่งแสงแดดกัน แต่จะเกื้อกูลกัน แบ่งเป็นไม้เรือนยอดชั้นบน เช่น ตะเคียนทอง สะเดาเทียม จำปาทอง ฯลฯ ไม้เรือนยอดชั้นกลาง เช่น ทุเรียน มังคุด ลองกอง จำปาดะ  ฯลฯ ไม้ชั้นล่าง เช่น ผักต่างๆ กระทือ กระชาย ขิง ข่า ตะไคร้ พริก ฯลฯ ส่วนใบไม้ที่ร่วงหล่นจะเปื่อยสลายกลายเป็นปุ๋ย บำรุงด้วยปุ๋ยหมัก หรือน้ำหมักชีวภาพก็จะทำให้พืชผลเหล่านี้เติบโตงดงาม  สร้างรายได้ตลอดทั้งปี  
    เช่น จำปาดะ (คล้ายขนุน) ผลสุกนำไปชุบแป้งทอดหรือกินสุก ต้นหนึ่งจะมีประมาณ 50-60 ลูกๆ ละ 3  กิโลกรัม ขายราคา ก.ก.ละ 12-60 บาท (ตามฤดูกาล) ต้นหนึ่งจะทำรายได้ไม่น้อยกว่าปีละ 4,000-5,000 บาท หากปลูก 10 ต้นจะมีรายได้ปีละ 40,000-50,000 บาท นอกจากนี้ยังมีทุเรียน มังคุด ลองกอง สะตอ ฯลฯ พืชผักต่างๆ ที่ทำรายได้ตลอดทั้งปี รวมทั้งลุงวิเชียรยังเลี้ยงไก่และปลา  อาหารจึงแทบจะไม่ต้องซื้อหา  ยกเว้นข้าวที่ปลูกไม่ได้
    ขณะที่ไม้เศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น ตะเคียนทอง ใช้สร้างบ้านเรือน ทำเรือแข่ง ลุงวิเชียรปลูกเอาไว้เมื่อ 30 ปีที่แล้ว  จำนวน 60 ต้น ตอนนี้มีขนาดเส้นรอบวงเกือบ 2 เมตร มีคนมาเสนอซื้อราคาต้นละ 18,000 บาท แต่ลุงวิเชียรไม่ขาย จะเก็บเอาไว้เป็นสมบัติของแผ่นดินและลูกหลาน แต่หากขาย 60 ต้น จะทำเงินได้มากกว่า 1 ล้านบาท ไม่รวมไม้อื่นๆ เช่น จำปาทองและพะยูงที่กำลังแข่งกันโต และเพิ่มราคา เพิ่มมูลค่าขึ้นทุกวัน !!

(ลุงวิเชียรกับต้นตะเคียนทอง)

    สาโรจน์ เล่าเสริมว่า  ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มออมต้นไม้ในตำบลเขาแก้ว  รวม 53 ครอบครัว  ส่งเสริมให้สมาชิกปลูกไม้แบบสวนสมรม และปลูกต้นไม้เศรษฐกิจซึ่งเป็นไม้ยืนต้นไปแล้วปีละ 1,000 ต้น ตั้งเป้าว่าภายในปี 2565 จะปลูกไม้เศรษฐกิจทั้งตำบลได้ 5,000 ต้น  
    “นอกจากจะเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างความชุ่มชื้นให้ผืนดิน และเติมอากาศให้บริสุทธิ์แล้ว ผู้ที่ปลูกยังสามารถเอาต้นไม้เศรษฐกิจมาเป็นหลักทรัพย์ ใช้ค้ำประกันหรือกู้เงินจากสถาบันการเงินชุมชนได้ โดยกำหนดว่าต้นไม้ที่มีเส้นรอบวง 1 เซนติเมตร จะมีมูลค่า 100 บาท หากมีเส้นรอบวง 100 เซนฯ หรือ 1 เมตร จะมีมูลค่า 10,000 บาท ถ้ามี 10 ต้นสามารถนำมาเป็นหลักทรัพย์หรือกู้เงินจากสถาบันฯ ได้ถึง 100,000 บาท ตั้งเป้าว่าภายในปี 2565 จะดำเนินงานได้”  สาโรจน์ในฐานะที่ปรึกษาสถาบันการเงินชุมชนตำบลเขาแก้วพูดถึงแนวคิดการแปลงต้นไม้เป็นทุนเหมือนกับ ‘ธนาคารต้นไม้’ ที่ ธ.ก.ส. กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ 
นี่คือตัวอย่างของคนตำบลเขาแก้วที่ใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นกลไกแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน  โดยร่วมกันพลิกฟื้นวิกฤตยางพาราที่มีราคาตกต่ำ  นำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจและทุนของชุมชนขึ้นมา


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"