9 ส.ส.เฮ! ศาล รธน.ยกคำร้องคดีหุ้นสื่อชี้หนังสือรับรองจดทะเบียนไม่เกี่ยวข้องกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน ส่วนอีก 32 รายรับวินิจฉัยแต่ไม่สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่เนื่องจากยังไม่ปรากฏเหตุอันควรสงสัยตามที่ถูกร้อง พร้อมสั่งยื่นคำชี้แจงภายใน 15 วัน ยืนยันแตกต่าง "ธนาธร" ที่ผ่านการสอบสวนของ กกต.และระบุชัดว่ามีรายได้จากการขายนิตยสาร-การโฆษณา ขณะที่ "ดร.ปิยบุตร" ยังต้องการให้ใช้มาตรฐาน 2 ผู้สมัคร ส.ส.ที่ถูกศาลฎีกาตัดสิทธิ์ ด้านพปชร.ให้ 21 ส.ส.รวบรวมเอกสารฟ้องกลับ 32 ส.ส.ฝ่ายค้าน
เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องกรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 32 คนใน 41 คน ที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งความเห็นของ 66 ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการที่ ส.ส.เหล่านี้ถือครองหุ้นสื่อมวลชน ทำให้ขาดคุณสมบัติการดำรงตำแหน่ง ส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ ไว้พิจารณาวินิจฉัย พร้อมกับไม่รับคำร้องในส่วนของ ส.ส. 9 คน ที่ถูกร้องไว้พิจารณา
โดยศาลเห็นว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) บัญญัติลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ไว้ว่า "เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ" มิใช่เพียงเจตนาหรือความประสงค์จะทำกิจการดังกล่าวเท่านั้น ถึงแม้การถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่มีวัตถุประสงค์จะประกอบธุรกิจพอที่จะใช้เป็นเหตุให้มีการยื่นคำร้องต่อศาลได้ แต่ก่อนที่จะรับคำร้องไว้พิจารณาต่อไปได้ยังจำเป็นต้องตรวจสอบวัตถุประสงค์ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่ผู้ถูกร้องทั้ง 41 คน ถือหุ้นอยู่ว่าเป็นวัตถุประสงค์ที่จะประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ หรือไม่
ซึ่งเมื่อตรวจสอบจากเอกสารประกอบคำร้องของผู้ร้องแล้ว ปรากฏว่าหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งออกให้แก่ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทของนาย ศาสตรา ศรีปาน ส.ส.สงขลา เขต 1, นายสุรศักดิ์ ชิงนวรรณ์ ส.ส.สระแก้ว เขต 3, น.ส.ภริม พูลเจริญ ส.ส.สมุทรปราการ เขต 3, น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี เขต 3, นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายจักรพันธ์ พรนิมิตร ส.ส.กทม.เขต 30 พรรคพลังประชารัฐ, นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายประมวล พงศ์ถาวราเดช ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ เขต 3, นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี เขต 4 พรรคประชาธิปัตย์
โดยมีข้อความระบุรายละเอียดวัตถุประสงค์ไว้ทำนองเดียวกันว่า "การประกอบกิจการค้ากระดาษ เครื่องเขียน แบบเรียน แบบพิมพ์ หนังสือ อุปกรณ์การเรียนการสอน อุปกรณ์ถ่ายภาพและภาพยนตร์ เครื่องคำนวณ เครื่องพิมพ์ อุปกรณ์การพิมพ์ สิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ ตู้เก็บเอกสาร และเครื่องใช้สำนักงานทุกชนิด เครื่องมื่อสื่อสาร คอมพิวเตอร์ รวมทั้งอุปกรณ์และอะไหล่ของสินค้าดังกล่าว" ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ที่จะเป็นลักษณะเข้าข่ายอันเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของ ส.ส.ผู้ถูกร้อง จำนวน 9 คน ต้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) แต่อย่างใด จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องในส่วนของผู้ถูกร้อง จำนวน 9 คน ไว้พิจารณาวินิจฉัย
สำหรับคำร้องของผู้ร้องในส่วนของผู้ถูกร้องที่เหลือจำนวน 32 คน เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 7 (5) แล้วศาลจึงสั่งรับคำร้องของผู้ถูกร้อง จำนวน 32 คนไว้พิจารณาวินิจฉัย และแจ้งให้ผู้ร้องทราบพร้อมส่งสำเนาคำร้องให้ผู้ถูกร้องทั้งหมดยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหากต่อศาล ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง
แตกต่าง"ธนาธร"ที่สอบสวนแล้ว
สำหรับคำขอให้ผู้ถูกร้องทั้ง 32 คนหยุดปฏิบัติหน้าที่นั้น รัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสอง บัญญัติเงื่อนไขไว้ว่าจะต้อง "ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าสมาชิกผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง" แต่ในคดีนี้ผู้ร้องไม่ได้ตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง คงมีเอกสารประกอบคำร้องเพียงหนังสือรับรองห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทระบุรายละเอียดวัตถุประสงค์กับสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นเท่านั้น ไม่ปรากฏแบบแสดงรายการเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของห้างหุ้นส่วนบริษัท (แบบ สสช.1) และแบบนำส่งงบการเงินของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทว่ามีรายได้จากการประกอบกิจการใด กรณีจึงยังไม่มีความชัดเจนว่าผู้ถูกร้องประกอบธุรกิจใด ซึ่งศาลจะต้องดำเนินการไต่สวนเพื่อหาข้อเท็จจริงให้ยุติต่อไป เมื่อยังไม่ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกร้องจำนวน 32 คน มีกรณีตามที่ถูกร้องในชั้นนี้ จึงยังไม่เข้าเงื่อนไขที่จะสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้ง 32 คนหยุดปฏิบัติหน้าที่
อนึ่ง คดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ร้อง ยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ได้ผ่านการสอบสวนของ กกต. ซึ่งมีการสืบสวนหาข้อเท็จจริงมาก่อนยื่นคำร้อง โดยมีเอกสารประกอบคำร้อง เช่น แบบ สสช.1 ระบุสินค้าหรือบริการที่ประกอบการว่า ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ โรงพิมพ์ รับพิมพ์หนังสือ พิมพ์หนังสือจำหน่าย ประกอบกับแบบนำส่งงบการเงินที่บริษัทของนายธนาธร ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า 54-58 ระบุไว้ชัดเจนว่ามีรายได้จากการขายนิตยสาร และรายได้จากการให้บริการโฆษณา กรณีจึงมีเหตุอันควรสงสัยว่า นายธนาธรมีกรณีตามที่ถูกร้อง ศาลรัฐธรรมนูญจึงได้มีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรค 2
สำหรับ 32 ส.ส.ที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้วินิจฉัยประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ 21 คนคือ 1.นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ 2.นางพิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ 3.นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 4.นายกษิดิ์เดช ชุติมันต์ ส.ส.กทม. เขต 8 5.นางกุลวลี นพอมรบดี ส.ส.ราชบุรี เขต 1 6.นายชาญวิทย์ วิภูศิริ ส.ส.กทม. เขต 15 7.นายฐานิสร์ เทียนทอง ส.ส.สระแก้ว เขต 1 8.นายฐาปกรณ์ กุลเจริญ ส.ส.สมุทรปราการ เขต 6 9.น.ส.ตรีนุช เทียนทอง ส.ส.สระแก้ว เขต 2 10.นายทวิรัฐ รัตนเศรษฐ ส.ส.นครราชสีมา เขต 4 11.นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา ส.ส.ราชบุรี เขต 2 12.นายปฐมพงศ์ สูญจันทร์ ส.ส.นครปฐม เขต 4 13.นายภิญโญ นิโรจน์ ส.ส.นครสวรรค์ เขต 1 14.นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ เขต 2 15.พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ ส.ส.กำแพงเพชร เขต 2 16.นายสมเกียรติ วอนเพียร ส.ส.กาญจนบุรี เขต 2 17.นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ ส.ส.นราธิวาส เขต 2 18.นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. เขต 9 19.นายสุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.ชลบุรี เขต 1 20. นายอนุชา น้อยวงศ์ ส.ส.พิษณุโลก เขต 3 21.น.ส.ภาดา วรกานนท์ ส.ส.กทม.เขต 6
พรรคประชาธิปัตย์ 8 คนคือ 1.น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2.นายอัศวิน วิภูศิริ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 3.นางกันตวรรณ ตันเถียร กุลจรรยาวิวัฒน์ ส.ส.พังงา เขต 1 4.นายภานุ ศรีบุศยกาญจน์ ส.ส.สุราษฎร์ธานี เขต 1 5.น.ส.วชิราภรณ์ กาญจนะ ส.ส.สุราษฎร์ธานี เขต 3 6.นายสมชาติ ประดิษฐพร ส.ส.สุราษฎร์ธานี เขต 4 7.นายสาคร เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ เขต 1 8.นายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง เขต 1
ส่วนพรรคเล็กอื่นๆ คือ พรรครวมพลังประชาชาติไทย 1 ราย ได้แก่ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติพัฒนา 1 ราย ได้แก่ นายเทวัญ ลิปตพัลลภ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, พรรคประชาภิวัฒน์ 1 ราย ได้แก่ นายสมเกียรติ ศรลัมพ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
ยึดมาตรฐาน 2 อดีตผู้สมัคร ส.ส.
ขณะที่ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ 1 ใน 9 ส.ส.ที่ศาลยกคำร้องโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กภายหลังศาลยกคำร้องว่า “กราบเรียนพี่น้องทุกท่านให้สบายใจได้แล้ว ปารีณาไม่ได้ถือหุ้นสื่อ ปารีณาเลี้ยงไก่จริงๆ ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง ปารีณาถือหุ้นสื่อวันนี้ค่ะ”
นายเทวัญ ลิปตพัลลภ 1 ใน 32 ส.ส.ที่ศาลรับคำร้อง กล่าวว่า บริษัท เอส.ซี.เค.แลนด์ จำกัด ซึ่งมีชื่อตนถือหุ้นอยู่นั้นเป็นของมารดา ที่มีจดทะเบียนมาเกือบ 30 ปีแล้ว ซึ่งมารดาคงเป็นห่วง จึงยกหุ้นให้ตนด้วย โดยเป็นบริษัทประกอบกิจการค้าที่ดิน ไม่ได้ประกอบกิจการสื่อแต่อย่างใด จึงไม่ได้กังวลอะไร คงชี้แจงศาลรัฐธรรมนูญไปตามข้อเท็จจริง เพราะกรณีดังกล่าวถือเป็นจดทะเบียนตามแบบฟอร์มทั่วไปของกระทรวงพาณิชย์ตามปกติเท่านั้น ส่วนจะกระทบต่อการทำหน้าที่รัฐมนตรีที่ล่าสุดเป็น 1 ใน 36 คนที่มีชื่อร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือไม่นั้น ตนไม่ทราบข่าวเรื่องการเป็นรัฐมนตรีจริงๆ แต่เบื้องต้นในเรื่องหุ้นก็ต้องหาวิธีเอาหุ้นออกไปจากตัวเราก่อนโดยจะนัดหารือกับฝ่ายกฎหมาย และจะทำทุกอย่างให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 27 มิถุนายนนี้
ด้านนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ แถลงถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้อง ส.ส.ถือหุ้นสื่อ 32 ราย และไม่รับคำร้อง 9 ราย ว่า เราตั้งข้อสังเกตว่าดูเหมือนศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เกณฑ์ในการพิจารณาที่แตกต่างจากแนวทางของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งที่พิจารณาแต่เพียงหนังสือบริคณห์สนธิ ดูวัตถุประสงค์เรียงข้อ และมีการตัดสิทธิ์เลือกตั้งไปแล้ว 2 ราย ดังนั้นแนวแบบนี้ตนยังไม่แน่ใจว่าท้ายที่สุดแล้วศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินแบบใด แต่จากเอกสารที่ออกมานั้น ดูเหมือนศาลรัฐธรรมนูญจะบอกว่าไม่ได้ดูแต่เหตุผลในหนังสือบริคณห์สนธิ และความประสงค์จะทำกิจการเท่านั้น แต่ดูว่าประกอบกิจการจริงๆ หรือไม่ ท้ายที่สุดแล้วเมื่อมีการวินิจฉัยลงไปในเนื้อถึงคดีศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาหรือไม่ ถ้าหากไม่เหมือน แสดงว่า 2 รายที่ถูกศาลพิจารณาตัดสิทธิ์เลือกตั้งไปแล้ว เขาจะกลายเป็น 2 รายเท่านั้นที่ถูกตัดสิทธิ์ ส่วนรายอื่นใช้เกณฑ์อื่น ต้องฝากให้พิจารณาต่อไป
นายปิยบุตรกล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องเอาไว้ 32 ราย โดยไม่สั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ โดยให้เหตุผลว่ากรณี 41 รายที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นไปเป็นการยื่นโดย ส.ส.เข้าชื่อ ไม่ได้มีการตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง ในขณะที่คดีของนายธนาธร ผ่านกกต.มา ขอชี้แจงว่ากรณีของนายธนาธรแม้จะผ่าน กกต.และมีการไต่สวนข้อเท็จจริง แต่การไต่สวนข้อเท็จจริงนั้นมีปัญหาเรื่องมาตรฐานและการไม่ให้สิทธิ์แก่ผู้ถูกกล่าวหาอย่างเพียงพอ เช่น การเปิดโอกาสให้นายธนาธรไปชี้แจงเพียง 1 ครั้ง มีหนังสือเรียกให้นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดาของนายธนาธรไปสอบสวน เรียกตอนเช้าแต่หนังสือถึงบ่าย เป็นต้น
ศาลรัฐธรรมนูญยังให้เกณฑ์เพิ่มเติมว่า เราจะดูจากใบ บอจ.อย่างเดียวไม่ได้ จำเป็นที่ต้องดูแบบแสดงรายการการประกอบธุรกิจของห้างหุ้นส่วนบริษัท (สสช.1) หรือต้องดูแบบนำส่งงบการเงินของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทด้วยว่ามีรายได้จากการประกอบกิจการใด ซึ่งเรื่องร้องนายธนาธรได้มีการส่งเอกสารเหล่านี้ไปที่ กกต.ด้วย ในขณะที่ 41 รายชื่อที่ ส.ส.อนาคตใหม่ร้องไปนั้น มีเพียงใบ บอจ. จึงไม่เป็นเหตุอันควรสงสัยได้ว่าผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้องจริง ก็เลยไม่ได้สั่งยุติการปฏิบัติหน้าที่
“เป็นที่น่าเสียดายว่าเรื่องนี้ไม่ได้มีการชี้แจงในกรณีการสั่งให้นายธนาธรยุติการปฏิบัติหน้าที่ต้องมีแบบ สสช.1 แบบงบการเงินประกอบ ถ้าพูดเอาไว้ตั้งแต่เมื่อมีมติกรณีนายธนาธร เราก็จะได้รู้ว่าท่านใช้มาตรฐานนี้ในการดู เราจะได้เตรียมแบบ สสช.1 และงบการเงินไปด้วย ดังนั้นจึงอยากเรียนไปยังท่านอื่นๆ ที่อยากจะยื่นคำร้องในเรื่องนี้ ถ้าร้องโดย ส.ส.จะไม่มีการไต่สวน จึงต้องไปร้องที่ กกต. แล้วให้ กกต.ส่ง ซึ่งต้องจับตาดูในส่วนที่มีบุคคลจำนวนมากไปร้องรายชื่อซ้ำๆ กับ 41 รายชื่อนี้ที่ กกต.ว่าจะมีการไต่สวนอย่างไร และใช้ระยะเวลาเท่าใด จะใช้เวลา 57 วันเหมือนกรณีนายธนาธรหรือไม่ นอกจากนั้นหากจะร้องขอให้แนบแบบ สสช. 1 และแบบงบการเงินไปด้วย เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้วางมาตรฐานไว้ให้เราแล้ว อย่างไรก็ตามในกรณี 32 ราย เราหวังว่าศาลรัฐธรรมนูญจะใช้มาตรฐานเทียบเคียงกับกรณี 2 อดีตผู้สมัคร ส.ส.ที่ถูกตัดสิทธิ์ไปก่อนหน้านี้ด้วย” นายปิยบุตรกล่าว
พปชร.จ่อฟ้อง 32 สส.ฝ่ายค้าน
ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายทศพล เพ็งส้ม หัวหน้าทีมต่อสู้คดีกรณี 27 ส.ส.พรรค พปชร.ถูกร้องถือครองหุ้นและเป็นเจ้าของกิจการสื่อ แถลงภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้อง 32 ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ถือครองหุ้นและเป็นเจ้าของกิจการสื่อว่า จากนี้จะให้ ส.ส. 21 คนของพรรค พปชร.ทำการรวบรวมเอกสาร โดยเฉพาะในส่วนของงบดุลของบริษัทเพื่อมาพิจารณา เพราะได้เห็นแล้วว่าศาลรับฟังข้อเท็จจริง ทั้งจากที่ไม่รับคำร้อง 6 คน และที่รับคำร้อง 21 คน ของพรรค พปชร. ทำให้เห็นสิ่งที่เราจะต้องดำเนินการต่อไป เพื่อทำข้อเท็จจริงให้ปรากฏ ให้ศาลเห็นได้มากที่สุดว่า ในส่วนของ ส.ส.ของพรรค พปชร.ไม่มีการประกอบกิจการสื่อตามมาตรา 98 (3) และคงต้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญนำคำพิพากษาของศาลฎีกา 2 คดีก่อนหน้านี้ มาเปรียบเทียบว่า คดีดังกล่าวกับคดีของเราเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร และขอคัดสำนวนของศาลฎีกาที่ส่งมาศาลรัฐธรรมนูญเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นถึงความแตกต่างว่า ทั้ง 2 คดีไม่เหมือนของทั้ง 21 คนที่ศาลรับคำร้องไว้
อย่างไรก็ดี ต้องกราบขอบคุณศาลที่ให้โอกาส ส.ส.ของพรรค พปชร.และฝ่ายรัฐบาลได้ทำหน้าที่ต่อ ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ถือว่าได้ให้โอกาสที่ให้เรายื่นหลักฐาน
นายทศพลกล่าวว่า ในส่วนของพรรค พปชร.ที่จะยื่นฟ้อง ส.ส.ของ 7 พรรคการเมืองฝ่ายค้านนั้น จากผลของศาลรัฐธรรมนูญ ทางทีมทนายต้องมาปรับกลยุทธ์ เพราะจากที่ศาลมีคำสั่งไม่รับพิจารณาบางราย ทำให้เราต้องตัด ส.ส.ที่ข่ายเดียวกับที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องออก ทำให้การตรวจสอบจากเดิม 55 คน เหลือ 32 คนที่เข้าข่าย โดยพบว่าบางคนมีการประกอบธุรกิจสื่อมวลชนจริง ซึ่งในจำนวนดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นของพรรคเพื่อไทย รวมถึงบางคนเป็นถึงระดับหัวหน้าพรรค จึงเป็นเหตุผลที่ตนไม่ตัดสินใจบอกก่อนหน้านี้ว่าเป็นใครบ้าง เพื่อต้องการให้การทำงานรอบคอบ ให้ศาลพิจารณาง่ายขึ้น
"จะใช้วิธีการเดียวกันกับอีกฝ่าย คือยื่นผ่านนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา แต่จะยื่นคำร้องขอให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ โดยจะนำรายชื่อทั้ง 32 คนรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคก่อนไปยื่นต่อประธานสภาฯ คาดว่าจะยื่นอย่างเร็วที่สุดภายในสัปดาห์นี้ หรืออย่างช้าต้นสัปดาห์หน้า" นายทศพลกล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |