มติที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันพุธที่ 26มิ.ย.ที่ผ่านมา กับคำร้องที่อยู่ในความสนใจของแวดวงการเมือง สุดท้ายที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้อง กรณีชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ยื่นขอให้ศาลวินิจฉัยว่า 41 ส.ส. ซึ่งทั้งหมดเป็น ส.ส.ขั้วพรรคร่วมรัฐบาล ที่ถูกร้องว่าถือครองหุ้นสื่อก่อนลงสมัครรับเลือกตั้ง เข้าข่ายทำให้ขาดคุณสมบัติดำรงตำแหน่ง ส.ส.หรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3)
อันเป็นคำร้องที่แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลต่างก็หนักใจ เพราะด้วยความเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ มีเสียง ส.ส.เกินกึ่งหนึ่งมาแค่ 3 เสียง ไม่นับประธานสภาฯ จึงทำให้ฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลเกรงว่า หากศาลรับคำร้องและมีคำสั่งให้ส.ส.หยุดพักการปฏิบัติหน้าที่เหมือนเช่นธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จะทำให้จำนวนเสียง ส.ส.รัฐบาลในห้องประชุมสภาฯ หายไป จนส่งผลต่อเสถียรภาพรัฐบาล
ผลที่ออกมาตามเอกสารแถลงข่าวอย่างเป็นทางการของศาลรัฐธรรมนูญ สรุปได้ว่า ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ปรึกษากันแล้วเห็นว่า รธน.มาตรา 98 (3) บัญญัติลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไว้ว่า “เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ” ซึ่งก่อนที่จะรับคำร้องไว้พิจารณาต่อไปได้ ยังจำเป็นต้องตรวจสอบวัตถุประสงค์ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่ผู้ถูกร้องทั้ง 41 คน ถือหุ้นอยู่ ว่าเป็นวัตถุประสงค์ที่จะประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ หรือไม่
เอกสารแถลงข่าวศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า เมื่อตรวจสอบจากเอกสารประกอบคำร้องของผู้ร้องแล้ว ปรากฏว่าหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งออกให้แก่ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทของนายศาสตรา ศรีปาน, นายสุรศักดิ์ ชิงนวรรณ์, น.ส.ภริม พูลเจริญ, น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์, ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ และจักรพันธ์ พรนิมิต ตามคำร้องที่หนึ่ง และกรณ์ จาติกวณิช, ประมวล พงศ์ถาวราเดช และอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ตามคำร้องที่สอง
ปรากฏว่ามีวัตถุประสงค์ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ที่จะเป็นลักษณะเข้าข่าย อันเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของ ส.ส. ของผู้ถูกร้อง จำนวน 9 คน ต้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ แต่อย่างใด จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องในส่วนของผู้ถูกร้อง จำนวน 9 คน ไว้พิจารณาวินิจฉัย
สำหรับคำร้องของผู้ร้องในส่วนของผู้ถูกร้องที่เหลือ คือ 32 คน ศาลเห็นว่า เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฯ ประกอบ พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญฯ แล้ว ศาลจึงสั่งรับคำร้องของผู้ถูกร้อง 32 คน ไว้วินิจฉัย
ส่วนประเด็นที่หลายคนลุ้นกันว่า จะมีการสั่งให้ ส.ส.ที่ศาล รธน.สั่งให้รับคำร้อง ต้องหยุดพักการปฏิบัติหน้าที่ เหมือนกับกรณีของธนาธรหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ฝ่ายพรรคอนาคตใหม่ บางรายแสดงอาการ กดดันศาล รธน. มาตลอด
ประเด็นดังกล่าวมีคำอธิบายตามเอกสารข่าวของศาล รธน. โดยสรุปสาระสำคัญได้ว่า เนื่องจากเห็นว่าตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสอง กำหนดเงื่อนไว้ว่า ต้องปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่า ส.ส.ผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง แต่คดีนี้ประธานสภาฯ ไม่ได้ตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง มีเพียงเอกสารประกอบคำร้องเป็นหนังสือรับรองห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทระบุรายละเอียดวัตถุประสงค์ กับสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นเท่านั้น ไม่ปรากฏแบบแสดงรายการเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของห้างหุ้นส่วนบริษัท (แบบ สสช.1) และแบบนำส่งงบการเงินของห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทว่ามีรายได้จากการประกอบกิจการใด
“จึงยังไม่มีความชัดเจนว่า ส.ส.ทั้ง 32 คนประกอบธุรกิจใด ซึ่งศาลต้องดำเนินการไต่สวนหาข้อเท็จจริงให้ยุติต่อไป เมื่อยังไม่ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่า ส.ส.ทั้ง 32 คน มีกรณีตามที่ถูกร้องจึงยังไม่เข้าเงื่อนไขที่จะสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่
อนึ่ง คดีที่ กกต.ยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยสมาชิกภาพของนายธนาธร ได้ผ่านการสอบสวนของ กกต. ซึ่งมีการสืบสวนหาข้อเท็จจริงมาก่อนยื่นคำร้องต่อศาล รธน.ฯ โดยมีเอกสารประกอบคำร้อง เช่น แบบสสช.1 ระบุสินค้า หรือบริการ ที่ประกอบการว่า ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ โรงพิมพ์ รับพิมพ์หนังสือ พิมพ์หนังสือจำหน่าย ประกอบกับแบบนำส่งงบการเงินที่บริษัทของนายธนาธร ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า 2554-2558 ระบุไว้ชัดเจนว่า มีรายได้จากการขายนิตยสาร และรายได้จากการให้บริการโฆษณา จึงมีเหตุอันควรสงสัยว่านายธนาธรมีกรณีตามที่ถูกร้อง ศาลจึงสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตาม รธน.มาตรา 82 วรรคสอง” สาระสำคัญของมติที่ประชุมตุลาการศาลฯเมื่อ 26 มิ.ย.ระบุไว้
ซึ่งประเด็นดังกล่าวก็จะเป็นบรรทัดฐานต่อไป สำหรับการพิจารณาคำร้องเรื่อง หุ้นสื่อ ที่จะมีการร้องเข้ามายังศาลฯ อีกหลายชื่อ ทั้งในส่วนของ ส.ส.ฝ่ายค้าน-รัฐบาลและสมาชิกวุฒิสภา โดยเฉพาะการที่จะไม่ต้องมีการหยุดพักการปฏิบัติหน้าที่หลังศาลรับคำร้อง หากว่ามีการยื่นผ่านช่องทางประธานสภาฯ เข้ามา เพราะเป็นการยื่นโดยไม่ได้ผ่านช่องทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง อันแตกต่าง จากกรณีของธนาธร ที่ยื่นผ่าน กกต. อันเป็นช่องทางที่ทำให้ธนาธรยังมีโอกาสได้เคลียร์ตัวเอง ทั้งการทำเอกสารและเข้าชี้แจงต่ออนุกรรมการไต่สวนของ กกต.ด้วยตัวเอง จึงทำให้ เมื่อคำร้องจาก กกต.ส่งไปยังศาลฯ ทางศาลจึงให้หยุดพักการปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่คำร้องของ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ เป็นการยื่นผ่านประธานสภาฯ โดยคนที่ถูกร้องยังไม่เคยได้ใช้สิทธิ์เคลียร์ตัวเอง ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลที่ศาลไม่สั่งให้ ส.ส. 32 คน หยุดพักการปฏิบัติหน้าที่
บรรทัดฐานดังกล่าว ก็ทำให้ประเมินได้ว่า หากคำร้องที่เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยื่นคำร้องให้ กกต.ตรวจสอบการถือครองหุ้นสื่อของ 21 ส.ว. ทาง กกต.มีการรับเรื่องไว้แล้วตั้งอนุกรรมการไต่สวนฯ พร้อมกับเรียก ส.ว.ที่ถูกร้องมาชี้แจง ก็เป็นไปได้ ที่หากสุดท้าย กกต.ส่งคำร้องไปให้ศาลวินิจฉัย ส.ว.คนไหนที่ถูกเรื่องไป ศาล รธน.ก็อาจใช้บรรทัดฐานแบบกรณีของธนาธร ไม่ใช่แบบ 32 ส.ส. คือสั่ง ส.ว.ที่เห็นว่าคำร้องมีมูล ให้หยุดพักการปฏิบัติหน้าที่
ขณะที่กระบวนการสู้คดี ของ 32 ส.ส. ทั้งหมดก็จะต้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาล รธน.ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้องที่ศาลจะส่งไปยังประธานสภาฯ ต่อจากนี้ ทั้งนี้ 32 ส.ส.ดังกล่าว ประกอบด้วยรายชื่อแยกตามพรรคการเมืองได้ดังนี้
พรรคพลังประชารัฐ 21 คน
1.ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ 2.นางพิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ 3.อรรถกร ศิริลัทธยากร 4.กษิดิ์เดช ชุติมันต์ 5.นางกุลวลี นพอมรบดี 6.ชาญวิทย์ วิภูศิริ 7.ฐานิสร์ เทียนทอง 8.ฐาปกรณ์ กุลเจริญ 9.น.ส.ตรีนุช เทียนทอง 10.ทวิรัฐ รัตนเศรษฐ 11.นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา 12.ปฐมพงศ์ สูญจันทร์ 13.ภิญโญ นิโรจน์ 14.วีระกร คำประกอบ 15.พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ 16. สมเกียรติ วอนเพียร 17.สัมพันธ์ มะซูโซ๊ะ 18.สิระ เจนจาคะ 19.สุชาติ ชมกลิ่น 20.อนุชา น้อยวงศ์ 21 น.ส.ภาดา วรกานนท์
พรรคประชาธิปัตย์ 8 คน
1.น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร 2.อัศวิน วิภูศิริ 3.นางกันตวรรณ ตันเถียร กุลจรรยาวิวัฒน์ 4.ภานุ ศรีบุศยกาญจน์ 5.น.ส.วชิราภรณ์ กาญจนะ 6.สมชาติ ประดิษฐพร 7.สาคร เกี่ยวข้อง 8.สาธิต ปิตุเตชะ
ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลที่เป็นพรรคเล็กที่มีชื่อด้วยก็คือ พรรคชาติพัฒนา 1 ราย ได้แก่ เทวัญ ลิปตพัลลภ, พรรครวมพลังประชาชาติไทย คือ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล, พรรคประชาภิวัฒน์ สมเกียรติ ศรลัมพ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
อันจะพบว่าหลายคน มีชื่อตามโผ ว่าที่รัฐมนตรี ในครม. ประยุทธ์ 2/1 ไม่ว่าจะเป็น ณัฏฐพล ทีปสุวรรณสุชาติ ชมกลิ่น-ทวิรัฐ รัตนเศรษฐ-สาธิต ปิตุเตชะ-ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รวมถึงเทวัญ ลิปตพัลลภ หากชาติพัฒนาได้โควตา รมช.อุตสาหกรรม
จึงเป็นงานหนักที่ฝ่ายกฎหมายของแต่ละพรรค จะต้องช่วยทำคำชี้แจงข้อกล่าวหาให้ทั้ง 32 ส.ส. หลุดพ้นปมถือหุ้นสื่อก่อนเลือกตั้งไปให้ได้
เพราะหากใน 32 ชื่อรอดไปได้น้อย หรือแย่สุด โดนศาลสอยหมด! ก็จะทำให้กระเทือนเสียง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล จนอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เช่น กลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย จนต้องยุบสภาฯ ตามมาทันที เว้นเสียแต่ ส.ส.ฝ่ายค้าน ที่ข่าวว่า พลังประชารัฐจะยื่นให้ศาล รธน.พิจารณาเช่นกันรวม 55 ชื่อ ก็มีสิทธิ์โดนศาลฯ สอยเหมือนกัน ถ้าแบบนี้ อุณหภูมิการเมืองก็ถึงจุดพีก จนกระดานการเมือง ออกผลตามมาแบบหลายคนไม่คาดคิด.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |