หลังจากที่รัฐสภาได้มีการออกเสียงเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี โดยผลปรากฏออกมาว่า นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ถูกเสนอชื่อโดยพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีจากขั้วการเมืองเดิมก่อนการเลือกตั้ง
เป็นที่แน่นอนว่าการได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ทำให้ความไม่แน่นอนทางการเมืองลดลงได้บางส่วน เนื่องจากเป็นสัญญาณที่ดีว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อเข้ามาบริหารประเทศได้ในไม่ช้า จึงมีแนวโน้มส่งผลให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้นอย่างน้อยในระยะสั้น โดยหากพิจารณาสถานการณ์ในตลาดหุ้นพบว่า ดัชนีจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีการปรับเพิ่มขึ้นถึง 33.19 จุด โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความชัดเจนของสถานการณ์การเมืองที่มีมากขึ้น
ทั้งนี้ นายพนันดร อรุณีนิรมาน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส สถาบันอีไอซี ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวถึงผลการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ว่า มีโอกาสทำให้การสานต่อนโยบายมีความต่อเนื่องมากขึ้น โดยนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ได้แก่ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศ ที่เน้นลงทุนด้านระบบขนส่ง รวมถึงโครงการสร้างและพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ที่จะเป็นความหวังของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
อย่างไรก็ดี แม้จะได้นายกฯ คนใหม่จากขั้วการเมืองเดิม แต่สถานการณ์ด้านการเมืองในระยะข้างหน้าก็ยังมีความท้าทายอยู่อีกหลายประการ ได้แก่ เสียง ส.ส. ระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านมีจำนวนใกล้เคียงกัน สะท้อนจากเสียงในการเลือกนายกฯ ซึ่งการที่ทั้ง 2 ฝ่ายมีเสียงใกล้เคียงกัน อาจจะทำให้การผลักดันนโยบายหรือการผ่านร่างกฎหมายของฝ่ายรัฐบาลมีความยากลำบาก
อีกทั้งการที่ฝ่ายรัฐบาลเป็นรัฐบาลผสมจากหลายพรรคการเมือง ก็อาจทำให้การประสานผลประโยชน์ระหว่างพรรคทำได้ยาก จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลอาจไม่มั่นคงในระยะข้างหน้า โดยจากการสำรวจของสวนดุสิตโพลพบว่า ประชาชนที่ตอบคำถามกว่า 73.65% เชื่อว่ารัฐบาลจะอยู่ไม่ครบวาระ 4 ปี และมากถึง 34.07% คิดว่ารัฐบาลจะมีอายุไม่เกิน 1 ปี
ขณะที่การประสานแนวนโยบายต่างๆ ของพรรคร่วมรัฐบาลก็จะเป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำคัญ เนื่องจากแต่ละพรรคมีนโยบายที่ต่างกันในช่วงการรณรงค์หาเสียง หรือในบางนโยบาย แม้ว่าจะมีจุดประสงค์คล้ายกัน แต่วิธีการในการดำเนินนโยบายก็มีความแตกต่างกัน ดังนั้นการคัดเลือกและประสานผลประโยชน์ของนโยบายจากหลายพรรคจึงไม่ใช่งานที่ง่าย
ทั้งนี้ จากโครงสร้างและสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน อีไอซีประเมินแนวนโยบายสำคัญที่รัฐบาลใหม่อาจพิจารณาดำเนินการได้ ได้แก่ 1.หากรัฐบาลใหม่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ควรเป็นนโยบายที่ผสมผสานระหว่างการช่วยเหลือผู้ที่กำลังประสบปัญหาและการกระตุ้นการใช้จ่ายในภาพรวม 2.รัฐบาลใหม่ควรเร่งรัดการเบิกจ่ายด้านก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ให้เป็นไปตามแผน ทั้งในส่วนของโปรเจ็กต์ที่กำลังดำเนินการและโปรเจ็กต์ในแผนงานที่ยังไม่ได้มีการประมูล
3.ปฏิรูปการศึกษาให้มีคุณภาพและเพิ่มความสามารถของแรงงานในปัจจุบัน เนื่องจากในปัจจุบันสังคมไทยมีกำลังแรงงานลดลง ขณะที่มีประชากรวัยชรามากขึ้น ดังนั้นหนึ่งในทางออกที่ยั่งยืนต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะต่อไปก็คือ การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน และ 4.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเอสเอ็มอี
ดังนั้นรัฐบาลใหม่จึงควรมีนโยบายเพิ่มขีดความสามารถของเอสเอ็มอี เนื่องจากเป็นภาคธุรกิจที่มีการจ้างงานในระดับสูง โดยควรพิจารณาส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีแก่เอสเอ็มอีเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ และมีการส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม ลดการกระจุกตัวของตลาด.
ศรยุทธ เทียนสี
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |