คณะนักวิจัยใช้เทคโนโลยีทันสมัยสนับสนุนการบูรณะโบราณสถานอุทยานฯพระนครศรีอยุธยา
เมื่อประเทศไทยต้องการเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการบูรณะโบราณสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์มากมายทั่วประเทศ ด้วยโครงสร้างเจดีย์ วัด วังโบราณที่สร้างมาหลายร้อยปีเสื่อมสภาพ ขาดความมั่นคงแข็งแรง หลายแห่งพังทลายแตกร้าวหรือไม่ก็ทรุดเอียง ชาวบ้านหวั่นอันตรายอาจจะถล่มลงมา งานวิจัยบูรณะโบราณสถานจึงถือเป็นเครื่องมือใหม่ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลและบูรณะปฏิสังขรณ์โบราณสถานสมบัติล้ำค่าของชาติ
เหตุนี้ คณะนักวิจัยคุณภาพ ประกอบด้วย รศ.ดร.นคร ภู่วโรดม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รศ.ดร.สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, ศ.ดร.อมร พิมานมาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ผศ.ดร.ภาสกร ปนานนท์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ จึงทุ่มเทศึกษาวิจัยโครงการ การบูรณะโบราณสถานเพื่อรากฐานการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สนับสนุนทุนวิจัย ปัจจุบันเปลี่ยนสู่บทบาทใหม่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
รูปทรง 3 มิติ วัดใหญ่ชัยมงคล ก่อนเดินหน้าซ่อมแซมอย่างมีประสิทธิภาพ
วัดใหญ่ชัยมงคล โบราณสถานที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่สุดและมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาไหว้พระขอพรอันดับต้นๆ ใน จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นกรณีศึกษาหลักภายใต้โครงการนี้นำเทคนิคที่ทันสมัยประเมินและติดตามสภาพโครงสร้างโบราณสถานของวัด ซึ่งที่ผ่านมาเกิดปัญหาการเอียงตัว นอกจากนี้ ยังมีกรณีศึกษาเพิ่มเติมที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ใช้เทคโนโลยีการสแกนวัตถุ 3 มิติด้วยแสงเลเซอร์ ประเมินความมั่นคงโครงสร้าง ที่น่าสนใจ มีการสร้างความร่วมมือระหว่างคณะนักวิจัย กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม และ UNESCO เพื่อนำผลงานวิจัยไปแก้ปัญหา ลดความเสียหายของโบราณสถาน
โครงการ การบูรณะโบราณสถานเพื่อรากฐานการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน ได้รับการยกย่องเป็น 1 ใน 13 ผลงานวิจัยเด่น สกว. ประจำปี 2561 ด้านสาธารณะ คณะนักวิจัยเข้ารับมอบโล่เกียรติยศผลงานวิจัยเด่น ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล ราชประสงค์ จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เมื่อวันก่อน โดยมี ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการนโยบายกองทุนสนับสนุนการวิจัย ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีและมอบรางวัล
คณะนักวิจัยโครงการการบูรณะโบราณสถานเพื่อรากฐานการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน รับรางวัลงานวิจัยเด่นประจำปี 2561
รศ.ดร.นคร ภู่วโรดม กล่าวภายหลังขึ้นรับมอบรางวัลร่วมกับคณะนักวิจัยว่า โบราณสถานมีความสำคัญทั้งด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และอยู่คู่กับชุมชน ปัญหาหลักด้านอนุรักษ์โบราณสถานคือ ขาดข้อมูลหลายๆ ด้านที่ช่วยในการตัดสินใจ วางแผนบำรุงรักษาให้โบราณสถานมีความมั่นคง งานวิจัยนี้ใช้เทคนิคสมัยใหม่เก็บข้อมูลทางวิศวกรรมของโบราณสถาน ประกอบด้วยข้อมูลรูปทรงโบราณสถานเป็นสภาพข้อมูลจริง ข้อมูลคุณสมบัติของวัสดุโบราณ ข้อมูลทางเทคนิคธรณี รวบรวมข้อมูลในแบบฐานข้อมูลดิจิทัล เพื่อนำมาประมวลและใช้ในการตัดสินวางแผนอนุรักษ์อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบ
" เทคโนโลยีทันสมัยที่ใช้มีการสแกนวัตถุ 3 มิติ สำหรับวิเคราะห์โครงสร้างเทคนิคการสำรวจรูปทรง 3 มิติด้วยการถ่ายภาพ โดยใช้โดรนตรวจสอบโครงสร้าง สามารถหาความเอียงของเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล และใช้ข้อมูลนี้ติดตามการเอียงที่อาจมีเพิ่มขึ้นในอนาคต หรือใช้หลักการวิเคราะห์ทางวิศวกรรมที่ใช้ประเมินอาคารสมัยใหม่ นำมาประยุกต์ใช้กับงานโบราณสถานเพื่อดูกำลังรับน้ำหนักของโบราณสถานว่าสามารถแบกรับน้ำหนักอาคารโบราณสถานได้หรือไม่ วิธีธรณีเรดาร์และวิธีวัดสภาพต้านทานไฟฟ้า วัดสนามแม่เหล็กวิเคราะห์โครงสร้าง กรมศิลปากรยังขาดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถทางวิศวกรรมโบราณสถาน ในฐานะนักวิจัยจึงนำความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่มาร่วมมือกับกรมฯ เพื่อให้การบูรณะมีความยั่งยืน ที่สำคัญ ฐานข้อมูลที่ได้นี้ยังจะนำไปใช้ประโยชน์สนับสนุนข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพื่อเสนอ UNESCO ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมต่อไป" รศ.ดร.นคร กล่าว
แสกนวัตถุ 3 มิติ สำรวจ เก็บข้อมูลพิกัด วัดไชยวัฒนาราม วัดเก่าแก่สมัยอยุธยา
พื้นที่หลักของการวิจัยนี้ก็คือ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า กรณีวัดใหญ่ชัยมงคล พื้นที่ใหญ่และมีโบราณสถานจำนวนมาก ช่วงที่ถูกทิ้งร้างมีความเสื่อมถอยของกำลังโบราณวัตถุมาก ปัจจุบันกรมศิลปากรเริ่มบูรณะ พบว่ามีความเอียงของเจดีย์ มองเห็นชัดเจนด้วยตาเปล่า ยังขาดข้อมูลว่ามีการเอียงตัวเท่าไหร่ และอนาคตจะเอียงเพิ่มหรือไม่ ขณะนี้งานวิจัยมีการเก็บข้อมูลการเอียงแล้ว พบเอียง 3 องศา ข้อมูลจะเป็นประโยชน์ใช้เปรียบเทียบกับข้อมูลในอนาคตได้ อีกกรณีตัวอย่าง วัดไชยวัฒนาราม วัดเก่าแก่สมัยอยุธยาตอนปลาย คณะนักวิจัยได้เก็บข้อมูล 3 มิติไว้ จะเป็นประโยชน์ในการอนุรักษ์โบราณสถานให้สวยงามและมั่นคงต่อไปได้ ที่อยุธยา นักวิจัยได้เข้าไปเก็บข้อมูลแล้ว 9 วัด แต่ละกรณีใช้ความรู้ที่เป็นมาตรฐานสากลมาประยุกต์ใช้ ซึ่งสามารถปรับใช้กับโบราณสถานที่มีอยู่มากมายในประเทศไทย
การอนุรักษ์วัดราชบพิธฯ ด้วยเทคนิคเก็บข้อมูลกลุ่มจุดภาพ 3 มิติสุดล้ำ
จากการทำงานคลุกคลีอนุรักษ์โบราณสถาน รศ.ดร.นคร เผยถึงสถานการณ์โบราณสถานว่า โบราณสถานในประเทศไทยซึ่งมีจำนวนมาก ขาดการบูรณะอย่างเหมาะสม และมีโบราณสถานอีกมากจำเป็นต้องเร่งบูรณะซ่อมแซม สร้างความมั่นคงของโครงสร้าง เมื่อเทียบกับเมียนมาหรือเนปาลที่มีโบราณสถานสำคัญจำนวนมาก แต่ทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชุมชนร่วมอนุรักษ์โบราณสถาน ทำให้สภาพโบราณสถานค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับประเทศไทย
"งานวิจัยนี้เป็นจุดเริ่มต้นการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ และสามารถใช้ข้อมูลเปรียบเทียบ ตรวจติดตามสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากมีการเผยแพร่ความรู้การใช้เทคโนโลยีทันสมัยในงานอนุรักษ์โบราณสถานอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง เราจะสามารถรักษาโบราณสถาน มรดกของชาติให้คงอยู่ตลอดไป เวลานี้คณะนักวิจัยมีความร่วมมือกับกรมศิลปากร ล่าสุดกรณีหอระฆังโบราณ วัดพระยาทำถล่ม กรมได้ร้องขอให้นักวิจัยไปทำการสำรวจและประเมินพฤติกรรมของเจดีย์ดังกล่าวก่อนเริ่มต้นการอนุรักษ์ โจทย์แบบนี้งานวิจัยช่วยได้ และมีแผนจะส่งมอบข้อมูลและต้นแบบฐานข้อมูลดิจิทัลทางวิศวกรรมให้แก่กรมศิลปากรนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์ งานวิจัยต่อไปจะทำในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จ.สุโขทัย สนับสนุนให้เป็นมรดกโลกอย่างยั่งยืน และจะต่อยอดพัฒนาให้เทคโนโลยีดีขึ้น" รศ.ดร.นคร เผยถึงการเดินหน้างานวิจัยต่อ โดยคณะนักวิจัยขอเป็นส่วนหนึ่งสร้างจิตสำนึกรักโบราณสถานให้เพิ่มขึ้น ช่วยขับเคลื่อนการรักษามรดกไทย
นอกจากคณาจารย์ มีนักศึกษา 3 สถาบันร่วมเก็บข้อมูลประเมินความมั่นคงโบราณสถานสู่งานวิจัยสุดโดดเด่น
เพื่อให้งานวิจัยใช้ประโยชน์โดยไม่อยู่แค่บนหิ้ง คณะนักวิจัยจึงได้จัดกิจกรรมฝึกอบรมสร้างสมรรถนะบุคลากรทำงานด้านโบราณคดี ในโครงการแผนอนุรักษ์และแบบบูรณะโบราณสถานที่ดำเนินการโดยกรมศิลปากร ซึ่งมีผู้เข้าร่วมอบรมจากทั้งภาครัฐและเอกชน ยังไม่รวมถึงสร้างนิสิตนักศึกษารุ่นใหม่ซึ่งเป็นลูกมือช่วยคณะนักวิจัยจาก 3 มหาวิทยาลัย กันตภณ จินทารคำ นักศึกษาชั้นปี 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งมาร่วมงานมอบรางวัลผลงานวิจัยเด่นด้วย กล่าวว่า ก่อนทำวิจัยภาคสนามที่อยุธยา จะมองโบราณสถานเรื่องความสวยงามและเก่าแก่ เมื่อได้ร่วมทำงานกับ รศ.ดร.สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์ ได้ตรวจสอบ ประเมินความมั่นคง มุมมองต่อโบราณสถานเปลี่ยนไป ตระหนักถึงความสำคัญมากขึ้น โบราณสถานพังง่าย แต่ซ่อมแซมยาก การบูรณะที่ดีต้องอยู่บนฐานข้อมูลที่ครบถ้วน
เช่นเดียวกับ ณิชภัทร ธีรัธวัชวงศ์ เพื่อนนักศึกษาจากสถาบันเดียวกัน บอกว่า โบราณสถานหลายแห่งมีนักท่องเที่ยวเข้าชมมากมาย มีความทรุดโทรม หลายแห่งถูกทิ้งร้างไร้การดูแลรักษา อยากให้รัฐบาลสนับสนุนการอนุรักษ์โบราณสถานมากกว่านี้ และเห็นว่าทุกคนมีบทบาทดูแลมรดกชาติได้โดยการท่องเที่ยวอย่างรู้คุณค่า รู้สึกภูมิใจที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในผลงานวิจัยเด่นนี้
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |