แจงจม.ลาตายเข้าใจผิดระบบขนส่ง


เพิ่มเพื่อน    

    ลูกชาย "สล้าง" เปรยพ่อเคยบอกจะฆ่าตัวตายค้านสร้างรถไฟรางคู่ ยันไม่ถึงกับเป็นโรคซึมเศร้าเพราะกินยาตลอด ขณะที่เพจโลจิสติกส์แจงละเอียดยิบ จดหมายลาตายอาจสร้างความเข้าใจผิดด้านระบบขนส่งของประเทศได้  
    เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 26 ก.พ.61 ที่สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ นายวันจักร  บุนนาค และ พ.ต.ท.เหมจักร บุนนาค สวป.สน.ดินแดง บุตรชายคนโตและคนสุดท้องของ พล.ต.อ.สล้าง  บุนนาค อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ ที่เสียชีวิตจากการกระโดดจากชั้น 7 ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ เดินทางมาเซ็นเอกสารรับศพบิดาที่สถาบันนิติเวช รพ.ตร. ท่ามกลางบรรยากาศโศกเศร้า
    นายวันจักรเปิดเผยว่า อยากจะบอกเจตนารมณ์ที่ พล.ต.อ.สล้างมีความตั้งใจมาตลอดทั้งชีวิต เป็นเรื่องเกี่ยวกับการคัดค้านระบบขนส่งมวลชนการสร้างรางรถไฟรางคู่ขนาด 1 ม. ที่ท่านได้ทุ่มเทมาตลอด  กว่า 20 ปี ท่านมองว่าพื้นฐานที่ดีจะส่งผลต่อประเทศชาติ ลูกหลานทุกคนจะสบาย แต่ถ้าทำอะไรผิดตั้งแต่ต้นมันก็จะผิดตลอดไป แค่นี้แหละที่พ่อต้องการสื่อออกไป
    ส่วนเหตุผลที่คุณพ่อคัดค้านเรื่องนี้ ตั้งแต่ท่านรับราชการอยู่ได้มีโอกาสรับผิดชอบด้านจราจร และได้ศึกษาดูงานด้านจราจรมาตลอด และได้คัดค้านสร้างรางรถไฟรางคู่ 1 ม.และรถไฟยกระดับ เพราะมองว่าเป็นสิ่งที่ประเทศชาติไม่ควรที่จะได้รับ สิ่งที่ประเทศชาติควรได้รับคือได้ใช้ของที่ดีๆ ระบบที่ดีๆ  คุณพ่อมีอาการเครียดเกี่ยวกับเรื่องนี้มาเรื่อยๆ เพราะท่านต่อสู้มาตลอด 
    ผู้สื่อข่าวถามว่า พล.ต.อ.สล้างเคยพูดเกี่ยวกับจะฆ่าตัวตายหรือไม่ นายวันจักรเปิดเผยว่าเคยพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้เพื่อจะผลักดัน ที่ผ่านมาคนในครอบครัวสังเกตอาการมาตลอดก็พอทราบ ก็ได้แต่ปลอบใจบอกว่าพอแล้ว ไปทำอย่างอื่นกันเถอะพักผ่อนดีกว่า  เรื่องนี้เป็นเรื่องที่อยู่ในสมองของท่านตลอด ก่อนเกิดเหตุปกติจะมีคนคอยดูแล แต่วันที่เกิดเหตุคนดูแล ไปทำธุระ มาทราบอีกทีหลังจากที่ท่านเสียชีวิตแล้วช่วงเที่ยงๆ เมื่อทราบเหตุการณ์ทุกคนก็เสียใจ
    ถามว่าสรุปแล้ว พล.ต.อ.สล้างเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ นายวันจักรตอบว่าก็มีบ้าง แต่ก็มีการรักษามาตลอดทานยาตลอด ไม่ถึงขนาดเป็นซึมเศร้า เป็นโรคของคนที่มีอายุมากแล้ว โดยมีการรักษาตัวมาตลอดประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมาที่โรงพยาบาลตำรวจ
    ถามว่าติดใจหรือไม่กรณีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยนำร่างของ พล.ต.อ.สล้างออกมาจากที่เกิดเหตุ ที่กำลังเป็นกระแสในโลกโซเชียลมีเดียว่าอาจจะเป็นสาเหตุในการเสียชีวิตด้วย เขาตอบว่าไม่ติดใจ  หลังจากรับศพจะนำไปประกอบพิธีทางศาสนาที่ศาลากลางน้ำ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร โดยรดน้ำศพวันนี้เวลา 17.00 น. และสวดพระอภิธรรมต่อจนถึงวันที่ 5 มี.ค. ยกเว้นวันที่ 1 มี.ค.
    พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก สตช.กล่าวถึงขั้นตอนการทำสำนวนการเสียชีวิตของ  พล.ต.อ.สล้างว่า การเสียชีวิตในลักษณะนี้ในการทำสำนวนเรียกว่าการเสียชีวิตผิดธรรมชาติ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.ก็ไม่ได้กำชับอะไรเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นการดำเนินการตามสำนวนชันสูตรพลิกศพที่พนักงานสอบสวนต้องดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่เกิดเหตุ เท่าที่ได้รับรายงานสถาบันนิติเวชโรงพยาบาลตำรวจรับศพของ พล.ต.อ.สล้าง ดำเนินการชันสูตรเรียบร้อยแล้ว 
    ส่วนกรณีจดหมายลาตายที่พบในที่เกิดเหตุ เนื้อความที่ปรากฏไม่ว่าท่านจะเขียนเรื่องอะไรก็แล้วแต่ จะเป็นเรื่องส่วนตัวหรือการทำงาน นำเรียนว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของท่าน ไม่เกี่ยวข้องกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติแต่อย่างใด ส่วนญาติจะติดใจการเสียชีวิตครั้งนี้หรือไม่ยังไม่ได้รับการประสานมา    
     ขณะที่เพจ Logistics & Development Thailand Forum  เพจที่นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ตั้งข้อสังเกตจดหมายลาตายของ พล.ต.อ.สล้างที่ให้คัดค้านระบบขนส่งมวลชนการสร้างรางรถไฟรางคู่ขนาด 1 ม. รวมทั้งสนับสนุนให้สร้างถนนออโตบาห์น 
    เพจดังกล่าวระบุว่า....เรื่องที่กำลังจะเป็นประเด็นในไม่ช้านี้ก็คงไม่พ้น 3 เรื่องหลัก ที่ได้ถูกเขียนไว้ในจดหมายของท่าน ได้แก่ การคัดค้านการสร้างรถไฟฟ้ายกระดับหลายสายในกรุงเทพมหานคร คัดค้านการสร้างรถไฟทางคู่ขนาดเมเตอร์เกจ และการสนับสนุนการสร้างซูเปอร์ไฮเวย์หรือ ออโตบาห์น 
        ในประเด็นที่ 1 "รถไฟทางคู่ขนาด 1 เมตรไม่เหมาะสม สมควรเปลี่ยนเป็นราง 1.435 หรือที่เรียกว่า  standard gauge" โดยได้กล่าวถึงความไม่เหมาะสมของรูปแบบโครงการรถไฟทางคู่ขนาด 1 เมตร ที่ปัจจุบันกำลังก่อสร้างอยู่หลายสายรวมระยะทางเกือบ 900 กม. 
        1.ราง standard gauge เป็นเพียงชื่อสั้นๆ ของคำว่า European standard gauge เท่านั้น เพราะเป็นมาตรฐานที่ได้รับความนิยมในแถบยุโรปตะวันตก มิได้หมายถึงขนาดรางมาตรฐานสากลแต่อย่างใด  ในประเทศอื่นๆ ก็มีขนาดเกจแตกต่างกันมากกว่านี้อีก เช่น broad gauge 1.676 ของแถบเอเชียใต้  Three foot six inch gauge 1.067 ในญี่ปุ่น และไต้หวัน และ meter gauge 1.000 ของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งไทย 
        2.ราง meter gauge มีประสิทธิภาพทัดเทียมรางเกจอื่นๆ ถ้ามีการดูแลรักษาอย่างดีพอ ราง standard gauge ในหลายๆ ประเทศสามารถทำความเร็วได้เพียง 50 กม.ต่อชั่วโมงเท่านั้นเนื่องจากขาดการดูแลรักษา ในขณะที่ราง 1 เมตร 6 เซนติเมตรของญี่ปุ่นสามารถให้บริการรถไฟด่วนด้วยความเร็ว 140 กม.ต่อชั่วโมงได้ ถ้าหากประเทศไทยดำเนินโครงการรถไฟทางคู่บนเส้นทางสายหลัก รวมถึงการจัดหารถไฟดีเซลรางใหม่เสร็จ รถไฟทางคู่ไทยนั้นจะสามารถรองรับความเร็วสูงสุดได้ถึง 160 กม.ต่อชม. โดยให้บริการเฉลี่ยที่ 130 กม.ต่อชั่วโมง ถึงประเทศไทยจะลงทุนมหาศาลเปลี่ยนไปใช้ราง standard gauge ก็จะทำความเร็วได้ไม่ถึง 180 กม.ต่อชั่วโมงอยู่ดี เนื่องจากหลายๆ ปัจจัย
        3.รางเมตเตอร์เกจ สามารถทำให้ประเทศไทยเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านได้ เนื่องจากทุกประเทศรอบประเทศไทยนั้นใช้ราง 1 เมตรเหมือนกันทั้งสิ้น สามารถโอนถ่ายสินค้าและผู้โดยสารข้ามชายแดนโดยไม่ต้องเปลี่ยนขบวน ถ้าจู่ๆ ประเทศไทยใช้ราง 1.435 เมตรขึ้นมา โครงการที่จะให้รถไฟด่วน ETS ของมาเลเซียวิ่งขึ้นมาถึงหาดใหญ่ก็คงไม่มีวันเกิดขึ้นได้ เพราะใช้คนละเกจกัน 4.ขบวนรถไฟและอุปกรณ์แทบทุกอย่างสําหรับราง 1 เมตรยังมีการผลิตขึ้นในสายการผลิตต่างๆ ทั่วโลก โดยยืนยันได้จากหัวรถจักรและตู้โดยสารใหม่จากประเทศจีน รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงจากประเทศญี่ปุ่น 5.ในปัจจุบันประเทศไทยมีการพัฒนารถไฟทางคู่ขนาด 1.435 อยู่เช่นกัน แต่ไม่ใช่รถไฟทางคู่ธรรมดา แต่เป็นทางคู่แบบพิเศษรองรับรถไฟความเร็วสูงนั่นเอง (250 กม.ต่อชั่วโมง) โดยจะสร้างขนานไปกับทางคู่เดิม โดยมี 1 โครงการที่ได้รับการอนุมัติแล้ว (กรุงเทพฯ-นครราชสีมา) และอีกสองโครงการอยู่ในระหว่างการพิจารณา ได้แก่ กรุงเทพฯ-พิษณุโลก, กรุงเทพฯ-ระยอง
        จากทั้ง 5 ข้อนี้จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมรัฐบาลถึงเร่งพัฒนาทางคู่ทั้ง 2 รูปแบบไปพร้อมๆ กัน โดยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปเปลี่ยน หรือไปยุ่งกับราง 1 เมตรเดิมให้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมโดยไม่จำเป็น เพราะเราสามารถพัฒนาราง 1 เมตรได้อีกมากมาย และใช้ราง 1.435 ในการสร้างรถไฟความเร็วสูงโดยเฉพาะซึ่งจะมีประสิทธิภาพเหนือกว่าราง 1.435 ธรรมดาหลายเท่า
        ในประเด็นที่ 2 การคัดค้านการสร้างรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนยกระดับ เนื่องจากบดบังทัศนียภาพ ในหัวข้อนี้ไม่มีอะไรผิดไปจากความจริงเลย เว้นเสียแต่ว่าค่าใช้จ่ายในการสร้างรถไฟใต้ดินนั้นมีราคาสูงกว่าสร้างลอยฟ้าถึง 3 เท่าในระยะทางเท่าๆ กัน จึงมีผลสรุปว่า การสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินในเขตเมือง และยกระดับในเขตชานเมืองเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด 
        ในประเด็นที่ 3 การสนับสนุนการก่อสร้างถนนออโตบาห์น หรือซูเปอร์ไฮเวย์ ออโตบาห์น  Autobahn มาจากคำว่า german auto bahn คือทางหลวงของเยอรมนีนั่นเอง โดยมีลักษณะเฉพาะคือ การทำความเร็วสูงสุดเท่าไหร่ก็ได้ โดยรองรับซูเปอร์คาร์แทบทุกประเภท จนถึงรถบรรทุกขนสินค้า น้ำหนักหลายสิบตัน 
        1.ถนนที่เป็นไฮเวย์คุณภาพสูงไม่จำเป็นต้องเป็น autobahn ณ ปัจจุบัน ประเทศไทยมีถนนที่สามารถเรียกได้ว่าติดมาตรฐานไฮเวย์สากลได้หลายสายอยู่แล้ว โดยเฉพาะมอเตอร์เวย์ระหว่างเมืองอย่าง กรุงเทพฯ-ชลบุรี และกรุงเทพฯ-นครราชสีมาในอนาคต และยังมีอีกหลายเส้นทาง เช่น บางใหญ่-กาญจนบุรี, พัทยา-มาบตาพุด ที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างอีกด้วย 2.ด้วยค่าบำรุงรักษาถึง 23 ล้านบาทต่อปีต่อ 1 กิโลเมตร การจะสร้างโครงข่ายออโตบาห์นครอบคลุมเส้นทางหลัก ผ่านพื้นที่สำคัญของประเทศไทยระยะทางประมาณ 8,400 กิโลเมตร นอกจากจะมีราคาสูงมากแล้ว ค่าบำรุงรักษาก็ย่อมสูงเช่นกัน 3.ประเทศไทยมิใช่ hub การผลิตรถยนต์ประเภท sport หรือ supercar รถยนต์บนถนนส่วนใหญ่ในไทยเป็นรถกระบะ และ SUV ที่ถูกออกแบบมาให้ทำความเร็วไม่มากอยู่แล้ว ดังนั้นการสร้าง  autobahn เพื่อรองรับความเร็วสูงจึงแลดูเกินความจําเป็น
        บทสรุปจากจดหมายของท่าน ทําให้เราได้ทราบว่าท่านมีอุดมการณ์ในการพัฒนาระบบขนส่งและโลจิสติกส์ของไทย แต่แนวคิดหลายๆ เรื่องของท่าน "ก็อาจนําความเข้าใจผิดด้านระบบขนส่งหลายๆ เรื่องไปสู่คนไทยเช่นกัน".


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"