ระทึก! ศาลรัฐธรรมนูญเตรียมเคาะรับ-ไม่รับ 41 ส.ส.รัฐบาลถือหุ้นสื่อ พ่วงกรณี พปชร.ขอจำหน่ายคดี 27 ราย “ประยุทธ์” ลั่นให้ยึดคำตัดสินศาล “ทศพล” รอลุ้นก่อนลงดาบ 55 ชีวิตฝ่ายค้าน “ปิยบุตร” ตีปลาหน้าไซต้องใช้หลักเดียวกับ “ธนาธร” หยุดปฏิบัติหน้าที่ “ประวิตร” รับแล้วไม่ได้ขุดคุ้ยเรื่องหุ้นสภาสูง แต่ไร้ปัญหาเพราะมีรายชื่อสำรอง ศาลปกครองสูงสุดยืนไม่รับกรณีตั้งกรรมการสรรหา ส.ว. ชี้เป็นการปฏิบัติตามอำนาจและรัฐธรรมนูญ
ในวันพุธที่ 26 มิถุนายน เวลา 13.30 น. ศาลรัฐธรรมนูญจะมีการพิจารณาก่อนลงมติว่าจะรับหรือไม่รับคำร้องที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติ 41 ส.ส.จาก 6 พรรคการเมือง ตามที่พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) เสนอในการถือครองหุ้นในบริษัทที่มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการสื่อมวลชนว่าเข้าข่ายขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 98 (3) ห้ามผู้สมัคร ส.ส.เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ หรือไม่ รวมทั้งจะมีประเด็นที่นายทศพล เพ็งส้ม อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หัวหน้าทีมต่อสู้คดีหุ้นสื่อของ 27 ส.ส.ของพรรคยื่นขอให้ศาลจำหน่ายคดี เนื่องจากพรรค อนค.ซึ่งเป็นผู้ยื่นเรื่องต่อนายชวนเสนอเรื่องดังกล่าวเป็นหนังสือไม่ได้ทำเป็นคำร้อง ซึ่งถือว่าไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561
นอกจากนี้ ที่ประชุมศาลอาจพิจารณากรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีต รมว.วิทยาศาสตร์ฯ, นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ อดีต รมว.ศึกษาธิการ และนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่ กรณีถือครองหุ้นบริษัทที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐ
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีการตรวจสอบ ส.ส.และ ส.ว. ในการถือครองหุ้นสื่อว่า เห็นว่าโดนกันทั้งสองฝ่ายและสองสภา จึงเป็นหน้าที่ของประธานสภาผู้แทนราษฎรที่จะนำไปพิจารณาในสภา หากจำเป็นต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญตัดสินออกมาอย่างไร ก็เป็นไปตามนั้น
“ไม่กังวลอะไรทั้งสิ้น เพราะทุกอย่างมีพัฒนาการมาเรื่อยๆ ต้องแก้ไปตามกฎหมาย ตามขั้นตอนและกระบวนการ ขอให้เชื่อมั่นในคำวินิจฉัย เพราะเป็นการวินิจฉัยเฉพาะตัว เฉพาะเรื่อง ไม่ได้มีบรรทัดฐานมากมาย เพราะเป็นกฎหมายคนละฉบับจากในอดีต ส่วนผลจะออกมาอย่างไรคงตอบไม่ได้ แต่ ส.ส.ทั้งหมดต้องร่วมมือกันทำงาน อย่าเพิ่งไปกังวล ปล่อยเป็นหน้าที่ของศาล ผิดว่าไปตามผิด ถูกว่าไปตามถูก”
นายทศพลกล่าวว่า เราจะดูว่าคำวินิจฉัยของศาลออกมาในทิศทางใด เพื่อปรับแนวทางในการยื่นฟ้อง 55 ส.ส.ฝั่ง 7 พรรคฝ่ายค้านถือหุ้นสื่อได้ถูกต้อง โดยเบื้องต้นมี 2 แนวทาง คือ ร้องผ่านประธานรัฐสภา หรือให้ ส.ส.ไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเอง ซึ่งเรามั่นใจว่าข้อมูลที่ได้รวบรวมมานั้นจะสามารถเอาผิดได้ และไม่มั่วเหมือนพรรคอนาคตใหม่ที่ยื่นฟ้องไม่เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ศาลวินิจฉัยเสร็จแล้วจะแถลงข่าวที่พรรคอีกครั้งว่าจะฟ้องในแนวทางใดต่อไป
11ส.ส.ปชป.ไม่หวั่นไหว
นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย ได้ประชุมร่วมกับคณะทำงานกรณี 11 ส.ส.ถูกร้องเรื่องดังกล่าวว่า การต่อสู้คดีแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่ม ส.ส.ที่ได้โอนหุ้นตั้งแต่ก่อนลงสมัคร ส.ส. แต่รายละเอียดยังไม่อัพเดตในกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกลุ่มที่ไม่ได้ถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชนจริงๆ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลรายละเอียดกิจการของแต่ละบริษัท ซึ่งได้แจ้งต่อ ส.ส. 11 คนที่ถูกร้องได้เตรียมข้อมูล และรับทราบขั้นตอนการต่อสู้ในศาลรัฐธรรมนูญ
“ยืนยันว่า ส.ส.พรรคไม่หวั่นไหวในเรื่องนี้ เพราะทุกคนยืนยันว่าไม่ได้ถือหุ้นสื่อมวลชน ส่วนรายละเอียดการแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลนั้น ต้องรอให้ศาลแจ้งมาก่อนว่าต้องแก้ข้อกล่าวหาอย่างไร โดยจำนวน ส.ส.ที่ถูกยื่น ทางพรรคไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการตั้งทีมทนายแยกออกมาพิจารณาคดีต่างหาก” นายราเมศกล่าว
ส่วนนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค อนค. กล่าวถึงกรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ระบุถึงการตีความ 41 ส.ส.รัฐบาลถือหุ้นสื่อว่าควรต้องดูความเสียหายที่ตามมาเป็นหลักว่า นายวิษณุพูดถูก การประเมินต้องดูผลกระทบความเสียหายในการทำหน้าที่ในสภา ซึ่งกรณีนายธนาธร ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 8 ต่อ 1 ให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. โดยระบุว่าหากให้เข้าประชุม ส.ส. จะมีข้อโต้แย้งคัดค้านทางกฎหมายตามมา ซึ่งเมื่อศาลมองว่ากรณีนายธนาธรเป็น ส.ส.คนเดียวทำให้เสียหาย ขอถามว่ากรณีของ 41 ส.ส.เสียหายหรือไม่ จะบอกว่าไม่เสียหาย เพราะจะโหวตร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีไม่ผ่านคงไม่ได้ ซึ่งต้องรอดูว่าศาลจะมีดุลยพินิจเป็นอย่างไร
“คำร้องของพรรคที่เข้าชื่อร้อง 41 ส.ส.กับที่ กกต.ทำคำร้องของนายธนาธรนั้นแตกต่างกันมาก คำร้องของ กกต.มีรายละเอียดตามเนื้อหาของสำนักข่าวแห่งหนึ่งเท่านั้น แต่คำร้องของพรรคมีรายละเอียดมาก ตรวจสอบว่าใครยังถือหุ้นในบริษัทใดบ้าง บริษัทที่ปิดกิจการไปแล้วก็ไม่ได้ยื่น ซึ่งการรับคำร้อง 41 ส.ส.หรือไม่ เป็นคนละขั้นตอนกับการตัดสิน เมื่อรับคำร้องไปแล้ว จึงเข้าสู่ขั้นตอนไต่สวนชี้แจงกันภายหลังเหมือนนายธนาธร ส่วนการยื่นคำร้อง 55 ส.ส.ฝ่ายค้านนั้นไม่เป็นไร เป็นสิทธิของแต่ละท่าน แต่ขอให้มีมาตรฐานเดียวกัน ไม่เลือกปฏิบัติ โดยดูจากหน้าผู้ถูกร้อง” นายปิยบุตรระบุ
เมื่อถามถึงกรณีศาลไม่อนุญาตให้นายธนาธรขยายเวลาชี้แจงเพิ่มเติมอีก 15 วัน นายปิยบุตรแจงว่า ทีมกฎหมายก็ยังมีเวลายื่นเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมถึงวันที่ 8 ก.ค. หลังจากนี้ก็ต้องดูว่าศาลจะให้สืบพยานบุคคลหรือไม่ ซึ่งตอนนี้ยังไม่ได้เตรียมเรื่องพยานไว้
ลุ้นคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
ขณะที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า การยื่นร้องปมถือหุ้นสื่อของ ส.ส.นั้น ต้องตีความให้ชัดเจนก่อน เนื่องจากกฎหมายเขียนว่า เป็นเจ้าของหรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชน เมื่อตรวจสอบดูแล้วมีหลายวัตถุประสงค์ หลายบริษัท หลายคนที่ร้องเรียนไปเขียนว่าประกอบกิจการโฆษณา วิทยุ โทรทัศน์ คำถามคือ ถ้าเขียนอย่างนี้ถือว่าเป็นการประกอบกิจการสื่อมวลชนหรือไม่ โดยส่วนตัวคิดว่าไม่ใช่ เพราะบางคนค้าขายสิ่งพิมพ์ ไม่ใช่คนทำสื่อ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องตีความคำเหล่านี้ให้ชัดเจนก่อนว่าหมายความว่าอย่างไร
“หากตีความว่าใช่ ท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญจะยึดบรรทัดฐานแบบศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งหรือไม่ เพราะศาลฎีการะบุว่า แม้ไม่ได้ประกอบกิจการเขียนไว้ในวัตถุประสงค์ของบริษัทเท่านั้น ไม่ได้ประกอบกิจการก็ต้องห้าม ปัญหาคือท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญจะยึดถือตามศาลฎีกาจังหวัดสกลนครหรือไม่ ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นดุลพินิจของศาลว่าจะเอาอย่างไร และหากศาลเห็นว่าเข้าข่ายแล้วจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ซึ่งดูจากรัฐธรรมนูญและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อ่านไปอ่านมาเหมือนตีความได้ว่า ถ้ารับมาพิจารณาแล้วก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่” นายชูศักดิ์ระบุ
นายชูศักดิ์กล่าวอีกว่า ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอะไรออกมาจะผูกพันทุกองค์กร ส่วนศาลรัฐธรรมนูญจะคำนึงถึงคำวินิจฉัยของศาลฎีกามากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล โดยในส่วนของสมาชิกพรรคนั้น ได้ตรวจดูหลายครั้งหลายหน เป็นบริษัทร้าง ไม่ได้ประกอบกิจการ หรือเลิกกิจการแล้ว หรือเป็นการเขียนวัตถุประสงค์ไว้กว้างๆ ไม่อาจตีความได้ว่าเป็นเจ้าของหรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชน เพราะการเขียนวัตถุประสงค์ไม่ได้หมายความว่าจะประกอบกิจการสื่อได้เลย ซึ่งเราไม่ได้วิตกกังวลอะไร
รับไม่ได้คุ้ย ส.ว.ถือหุ้นสื่อ!
ขณะเดียวกัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายฯ และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงการร้องเรียน 21 ส.ว.ถือหุ้นสื่อว่า เบื้องต้นที่คัดมา 400 คน คณะกรรมการฯ ไม่ได้ตรวจสอบ เพิ่งมาทราบตอนที่เหลือ 194 คน ที่ไปให้ คสช.พิจารณา ตอนนั้นก็ยังมั่วกันอยู่ เพราะมีการรวมกัน และการตั้งบริษัทก็พ่วงกันไปหมด บางคนไม่ได้ทำสื่อจริงๆ ส่วนคนที่ถูกร้องขาดคุณสมบัติต้องให้ศาลเป็นผู้พิจารณา ถ้าพบว่าขาดคุณสมบัติจริง ก็ขยับรายชื่อสำรองมาทดแทน
เมื่อถามว่า สังคมถามหาความรับผิดชอบจากคณะกรรมการสรรหา พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า มีการเตรียมรายชื่อสำรองไว้แล้ว ไม่ถือเป็นความผิดพลาดในการคัดเลือก เพราะคณะกรรมการฯ ไม่รู้เรื่อง
วันเดียวกัน ที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองกลางสั่งไม่รับคำฟ้องของคณะราษฎรไทยแห่งชาติกับพวกรวม 34 คน ที่ยื่นฟ้อง คสช.และ พล.อ.ประยุทธ์ กรณีตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว.โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยศาลเห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ของทั้ง คสช.และนายกฯ เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 โดยมีบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญปี 2560 ให้การรองรับ เป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญโดยตรง กรณีนี้จึงไม่ใช่ข้อพิพาทจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง
นายพลภาขุน เศรษฐญาบดี แกนนำคณะราษฎรไทยแห่งชาติ กล่าวว่า น้อมรับคำพิพากษา โดยถือว่าการทำหน้าที่ประชาชนเพื่อร้องเรียนตามช่องทางของกฎหมายจบแล้ว แต่ในฐานะประชาชนที่รักความเป็นธรรมยังไม่จบ โดยจะนำเรื่องไปร้องต่อที่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) และสหภาพยุโรป (อียู ) ต่อไป
ส่วนที่อาคารรัฐสภา เกียกกาย นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. ในฐานะประธานการประชุมสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาลชั่วคราว) กล่าวถึงกรณีตัวแทน 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติเพื่อขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อตรวจสอบสอบสวนการได้มาซึ่ง ส.ว.ว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมถึงญัตติให้ตรวจสอบการขาดสมาชิกสภาพของ ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 113 และมาตรา 114 ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ว.ที่ไม่ฝักใฝ่การเมือง และเป็นผู้แทนประชาชนที่ไม่มีความผูกมัดหรือตกอยู่ภายใต้อาณัติ หรือการครอบงำของพรรคการเมือง และไม่มีประเด็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ผ่านขั้นตอนของทางรัฐสภา เพื่อเสนอต่อนายชวน พร้อมขอให้บรรจุเป็นญัตติเร่งด่วน และบรรจุไว้ในระเบียบวาระการประชุมสัปดาห์หน้า ว่า เรื่องนี้ภายในวิปมีการพูดคุยหลากหลาย ซึ่งเห็นว่า ส.ส.ไม่ควรไปสอบสวนที่มา ส.ว. และในกรณีเดียวกัน ส.ว.มาสอบสวน ส.ส.ก็คงอยู่นอกเหนืออำนาจ ดังนั้นหากบรรจุระเบียบวาระไป ก็จะอยู่นอกเหนืออำนาจด้วย วิปรัฐบาลจึงไม่เห็นด้วยที่จะให้ตั้ง กมธ.ขึ้นตรวจสอบ แต่เรื่องนี้ก็เป็นเพียงความเห็นของวิปรัฐบาลชั่วคราว ส่วนประธานสภาฯ จะดำเนินการอย่างไรต่อไปเป็นเรื่องการตัดสินใจของประธาน เราไม่ไปก้าวก่าย
“วันนี้อยู่ระหว่างการเสนอในแง่ของข้อกฎหมายว่าสามารถบรรจุอยู่ในระเบียบวาระได้หรือไม่ ข้อที่พิจารณาคือเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้แทนฯ หรือเปล่าที่จะเอาเข้าอยู่ในระเบียบวาระ เรามีความเห็นว่าญัตติด่วนในเรื่องนี้อยู่นอกเหนืออำนาจของการเป็นผู้แทนราษฎร ถ้าบรรจุได้ก็อภิปรายได้ แต่เราไม่ตั้ง กมธ.”นายวิรัชกล่าว และยืนยันว่า จะไม่ทำข้อเสนอถึงประธานสภาฯ แต่ก็อยู่ในอำนาจหน้าที่ของประธานสภาฯ ที่จะดำเนินการ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |