"เพื่อไทย-อนาคตใหม่" พร้อมใจใช้ 24 มิถุนายน 2475 ถล่ม "คสช.-รัฐธรรมนูญ 2560" พท.ปลุกเร้าอย่าให้การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในอดีตสูญเปล่า "ธนาธร" ย้ำสานต่อภารกิจ 2475 ลั่นไม่ใช่ล้มล้างสถาบัน แต่จะทำให้มั่นคงสถาพร ทะแม่ง! ปิยบุตรยกคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองในหลัก 6 ประการ แต่ยังมี 3 เรื่องใหญ่ที่ยังไม่ลงหลักปักฐานในประเทศ โดยเฉพาะหลักรัฐธรรมนูญนิยมที่แพร่หลายหลังปฏิวัติอเมริกา! ไอลอว์ยื่น 1.3 หมื่นชื่อผุดกฎหมายล้มล้างประกาศ-คำสั่ง คสช. 35 ฉบับ
เมื่อวันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน 2562 นักการเมืองต่างแสดงความคิดเห็นรำลึกเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 กันอย่างมาก โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) โพสต์เฟซบุ๊กว่า ผ่านพ้นมา 87 ปีก็ยังคงต้องรำลึกกันต่อไป สถานการณ์การเมืองปัจจุบันของไทยหลังการเลือกตั้งที่มาเกือบกว่า 3 เดือนแล้ว ยังไม่ได้ส่งสัญญาณใดๆ ให้เกิดความหวังขึ้นในสังคมไทยแต่อย่างใด ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยเพียงเสี้ยวใบ เพราะระบอบการเมืองปัจจุบันที่ออกแบบมาตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจ มีเสื้อคลุมแบบประชาธิปไตยเท่านั้น แต่สาระของระบบกลับมิได้เชื่อมั่นในระบอบสิทธิ เสรีภาพ อิสรภาพและความยุติธรรมในสังคมอย่างเพียงพอ
"พวกเราทุกคนในสังคมไทยล้วนมีภารกิจสำคัญที่ต้องช่วยกันปลดเปลื้องพันธนาการ ที่กลุ่มผู้มีอำนาจสร้างขึ้นเพื่อเอื้อประโยชน์เฉพาะกลุ่มตน ให้หลุดพ้นไปตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละคน แต่ละองค์กร เพื่อให้ประเทศไทยมีมาตรฐานระบอบประชาธิปไตยซึ่งเป็นที่ยอมรับทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ อย่าให้การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเมื่อครั้งอดีตต้องสูญเปล่า อย่าให้ลูกหลานในอนาคตต้องรับมอบประเทศชาติที่ปรักหักพังขาดความน่าเชื่อถือ วันนี้เราทุกคนต้องช่วยกัน" นายภูมิธรรมกล่าว
ขณะที่นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกพรรค พท.กล่าวว่า การเมืองไทยยังวนเวียนอยู่ในวงจรอุบาทว์ สลับสับเปลี่ยนกันระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และการปฏิวัติ รัฐประหาร การก่อกบฏ การยุบสภา การลาออกและเลือกตั้งใหม่ การที่ประชาชนชุมนุมใหญ่ประท้วง เกิดการจลาจล มีการนองเลือด เกือบ 9 ทศวรรษที่ประเทศต้องเผชิญวิกฤตการณ์ที่คนไทยประหัตประหารฆ่าฟันกันเองซึ่งเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า หากประชาชนผู้รักประชาธิปไตยขลาดกลัว นั่งงอมืองอเท้านิ่งดูดาย ปล่อยให้ประเทศเป็นไปตามยถากรรม ประชาธิปไตยก็คงจะถดถอยไปมากกว่านี้
นางลดาวัลลิ์กล่าวอีกว่า แม้ผ่านพ้นการเลือกตั้งไปเมื่อวันที่ 24 มี.ค. ซึ่งแม้จะเสรีอยู่บ้าง แต่ก็เป็นที่น่าสงสัยในความถูกต้องและเป็นธรรม และมีความเป็นไปได้ว่ารัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกต่างๆ ถูกตราขึ้นให้มีผลบังคับโดยเครือข่ายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อประโยชน์ของสมัครพรรคพวกตัวเอง หากเราไม่ร่วมกันปลดล็อกขจัดโซ่ตรวนเหล่านี้ ย่อมไม่มีวันที่ประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนเพื่อประโยชน์สุขของมหาชนจะบังเกิดขึ้น และไม่อาจพัฒนาประเทศได้อย่างมั่นคง
"นักการเมืองต่างก็มาจากประชาชน ควรหันหน้าเข้าหากัน ปรึกษาหารือร่วมกัน จับมือกันแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยโดยเร็ว ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน การสืบทอดอำนาจของ คสช.ต้องถูกร่วมมือกันเพื่อขจัดออกไป มีแต่หนทางนี้เท่านั้น ประชาธิปไตยของไทยจะพัฒนาก้าวหน้า นำไปสู่การสร้างสรรค์การเมืองการปกครองที่แก้ไขปัญหาของประเทศชาติและประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ" นางลดาวัลลิ์กล่าว
ที่ห้องประชุมวิทยาลัยปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น จ.ขอนแก่น นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) พร้อมด้วยนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค และคณะได้ร่วมกิจกรรมเสวนาหัวข้อ "24 มิถุนา วันประชาธิปไตย และการคืนอำนาจสู่ท้องถิ่น" ท่ามกลางประชาชน นักเรียน นักศึกษาจำนวนมากเข้าร่วมจนแน่นห้องประชุม
ย้ำทวงภารกิจ 2475
โดยนายธนาธรกล่าวว่า วันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ถือเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน เป็นพลเมืองที่เป็นเป้าหมายของการพัฒนา ในขณะเดียวกันก็เป็นทรัพยากรที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ ดังนั้นพลเมืองต้องเข้มแข็งมีศักยภาพ แต่ตลอด 87 ปีที่ผ่านมา การสถาปนาอำนาจของพลเมืองยังไม่จบ ยังมีกลุ่มอภิสิทธิ์ชนที่มีสิทธิ์เสียงเหนือกว่าประชาชนพลเรือนคนอื่น ยังมีเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพยังถูกคุกคาม ถูกละเมิด นี่คือผลจากการที่เราไม่ช่วยกันปกป้องการอภิวัฒน์ หน้าที่พลเมืองที่สำคัญอย่างหนึ่งคือต่อต้านการรัฐประหาร และปกปกป้องประชาธิปไตย แต่เหมือนที่ผ่านมาเราหลงลืมกันไป
"อยากจะเชิญชวนให้ทุกคนกลับมาให้ความสำคัญกับวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งเมื่อพูดอย่างนี้ ผมเองก็จะโดนคำกล่าวหา โดนใส่ร้ายป้ายสี เรื่องการสานต่อภารกิจที่ยังไม่สำเร็จของคณะราษฎร ขอยืนยันอีกครั้งว่าภารกิจที่ยังทำไม่สำเร็จในวันนี้ และเราพรรคอนาคตใหม่จะสานต่อนั่นคือ การสร้างประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ภารกิจ 2475 ไม่ใช่ล้มล้างสถาบันอย่างที่เราถูกใส่ร้าย เราเชื่อมั่นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์จะมั่นคงสถาพรเมื่อประชาธิปไตยเข้มแข็ง วันนี้เรายังมีความหวังในการสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น เราเห็นผู้คนตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น มาถึงจุดที่พูดได้ว่าเราสนใจการเมืองที่เนื้อหา นั่นเพราะอำนาจเป็นของเรา อยากให้ทุกท่านให้ความสำคัญกับวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ช่วยกันฟื้นฟูวัฒนธรรมอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ร่วมกันสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคง" นายธนาธรกล่าว
ด้านนายปิยบุตรกล่าวว่า คณะราษฎรที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้สถาปนาหลักการรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ โดยมีหลัก 6 ประการ ได้แก่ เอกราช, ปลอดภัย, เศรษฐกิจ, เสมอภาค, เสรีภาพ และการศึกษา คือภารกิจสำคัญที่จะดำเนินการ แต่วันนี้ยังมี 3 เรื่องใหญ่ที่เป็นหัวใจ เป็นหลักการสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่ยังไม่ลงหลักปักฐานในประเทศ คือ 1.หลักรัฐธรรมนูญนิยม ที่เริ่มแพร่หลายหลังการปฏิวัติอเมริกา เป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร ที่มีสาระสำคัญคือ การจำกัดอำนาจผู้ปกครอง ประชาชนเป็นผู้ก่อตั้ง เนื้อหาพูดถึงสถาบันการเมืองต่างๆ ภายใต้รัฐธรรมนูญ มีการแบ่งแยกอำนาจ การประกันสิทธิเสรีภาพประชาชน ทุกสถาบันการเมืองมีอำนาจได้เท่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด รัฐไม่อาจละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน หลักการนี้ดำรงอยู่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แต่มาสะดุดหยุดลงหลังการรัฐประหาร 2490 และรัฐธรรมนูญถูกทำให้กลายมาเป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจจนทุกวันนี้
2.หลักระบบรัฐสภา ซึ่งเป็นสถานที่พูดคุยของผู้แทนราษฎร นายกรัฐมนตรีมาจากความเห็นชอบของรัฐสภา จากเสียงข้างมากในสภา และรัฐบาลก็อยู่ได้เพราะผู้แทนให้ความไว้วางใจ เราต้องทำให้ภาพลักษณ์ของระบบรัฐสภาดีขึ้น สร้างสรรค์ขึ้น เพราะที่ผ่านมาเราถูกทำให้มองว่าภาพลักษณ์นักการเมืองมีแต่การทะเลาะเบาะแว้ง ความวุ่นวาย การรัฐประหารเกิดขึ้นเพราะนักการเมืองในสภานั้นไม่ได้เรื่อง เขาทำลายความชอบธรรมของนักการเมือง ทั้งที่เป็นอาชีพเดียวที่มีความเชื่อมโยงกับประชาชน เพราะมาจากการเลือกตั้งของประชาชน และ 3.หลักการกระจายอำนาจ คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วมีการออกกฎหมายที่ให้ความสำคัญกับเรื่องท้องถิ่น นั่นคือ พ.ร.บ.เทศบาล 2476 ซึ่ง อ.ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ผลักดัน เป็นต้นแบบเรื่องยุติการรวมศูนย์อำนาจ โดยให้คนท้องถิ่นเลือกผู้บริหารด้วยตนเอง แต่ก็ทำไม่สำเร็จ สุดท้ายถูกส่วนกลางถูกกระทรวงมหาดไทยดึงอำนาจกลับ เพิ่งจะมาเกิดขึ้นอีกครั้งหลังมีรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งอำนาจอยู่กับท้องถิ่นได้อีกสักพักก็ถูกดึงกลับอีก และคราวนี้เหมือนจะถอยหลัง โดยรัฐประหาร 2 ครั้งล่าสุด
"ขอย้ำอีกครั้งว่าอำนาจแต่เดิมนั้นอยู่ที่เรา เขาเอาไป ต้องยุติการรวมศูนย์อำนาจได้แล้ว พรรคอนาคตใหม่จึงใช้ชื่อนโยบายในการหาเสียงว่า ยุติระบบราชการรวมศูนย์ที่ต้องให้อำนาจคืนกลับไปอยู่ที่ท้องถิ่นจริงๆ ด้วยหลักการพื้นฐานที่ว่า 1.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง 2.ท้องถิ่นมีอำนาจบริหารจัดการบริการสาธารณะในพื้นที่ 3.มีความเป็นอิสระบริหารจัดการงบประมาณ 4.มีบุคลากรท้องถิ่นเป็นของตัวเอง และ 5.ราชการส่วนกลางทำหน้าที่กำกับดูแลไม่ใช่บังคับบัญชา" นายปิยบุตรกล่าว
ฝ่ายค้านย้ำภารกิจ 4 ด้าน
นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง รองโฆษกพรรค อนค.กล่าวว่า พรรคได้เข้าร่วมกับไอลอว์เข้าชื่อ 10,000 หมื่นรายชื่อเพื่อยกร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกทบทวนและแก้ไขประกาศและคำสั่ง คสช. สอดคล้องกับนโยบายการจัดการมรดก คสช.ซึ่งยังเหลืออยู่ 22 ฉบับ พร้อมเสนอตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาทบทวนประกาศและคำสั่ง คสช.ทั้งหมด และจะสำรองที่นั่ง กมธ.ไว้ให้ภาคประชาชนมาร่วมทำงาน โดยจะเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 279 ที่รับรองประกาศและคำสั่ง คสช. และมาตรา 272 เกี่ยวกับ ส.ว.ที่ไม่ยึดโยงประชาชน มีวาระ 5 ปี และมีอำนาจมาก
ส่วนที่ชั้น 8 อาคารไทยซัมมิท คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้านและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ที่มี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ (ปช.) เป็นประธาน โดยนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด คณะกรรมการประสานงานแถลงผลการประชุมว่า เรามีพันธกิจหลัก 4 ด้านเร่งด่วน คือ 1.แก้ไขรัฐธรรมนูญ นำประเทศกลับสู่ประชาธิปไตย 2.การล้างมรดกบาปของ คสช. คำสั่งลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน 3.ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลตามหลักธรรมาภิบาล ตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ตำแหน่ง ระหว่างดำรงตำแหน่ง หลังดำรงตำแหน่ง และ 4.สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน
เมื่อถามถึงกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายอนุสรณ์กล่าวว่า แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญของ 7 พรรคนั้นตรงกัน เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อพรรคการเมืองบางพรรคเป็นรัฐบาลเท่านั้น นี่ก็คือข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่ประชาชนเห็น ดังนั้นโจทย์คือจะแก้รัฐธรรมนูญอย่างไรให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด เพื่อให้ยึดโยงกับประชาชน ไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่ให้คนบางกลุ่มบางพวกเขียน แต่ให้เป็นรัฐธรรมนูญของทุกคนในประเทศที่มีความเท่าเทียมกัน มาจากการเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ตอนนี้ก็เริ่มรับฟังเสียงประชาชนแล้ว
"หากประเมินจากโพล ประชาชนสะท้อนว่าอยากให้แก้รัฐธรรมนูญรวมถึงยุบสภาด้วยซ้ำ หาก พล.อ.ประยุทธ์ติดโซเชียลหนักก่อนหน้านี้จะพบว่า ประชาชนไม่ได้เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญเลย สำหรับสถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ซึ่งยังประชุม ครม.ชุดเก่าอยู่นั้น ฝ่ายค้านก็เตรียมดำเนินการเรื่องคุณสมบัติอย่างต่อเนื่อง ต้องไปให้สุดทางจนถึงศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน" นายอนุสรณ์กล่าว
น.ส.เกศปรียา แก้วแสนเมือง โฆษกพรรคเพื่อชาติ (พช.) ในฐานะคณะทำงานพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน กล่าวว่า จะมุ่งมั่นเดินหน้าเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชน ให้ร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชน อีกทั้งช่วยกันหยุดมรดกคำสั่ง ประกาศ กฎหมายที่กดขี่ประชาชนของ คสช.ให้หมดไป เพื่อให้สมกับเจตนารมณ์ที่รัชกาลที่ 7 ทรงประกาศเมื่อครั้งสละราชสมบัติ
ส่วนคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ได้ออกแถลงกรณ์ ครป.ที่ 1/2562 มีเนื้อหาระบุว่า ประเทศยังเผชิญปัญหาใหญ่ 5 ประการ คือ 1.ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม 2.ปัญหาความแตกแยกที่รุนแรงทางความคิดและอุดมการณ์ทางการเมือง 3.ปัญหาการขาดเสถียรภาพของรัฐบาล 4.ภาวะความขัดแย้งของการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศระหว่างชาติมหาอำนาจ และ 5.รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
แถลงการณ์ระบุอีกว่า ครป.เห็นพ้องกันว่าการลงมือปฏิบัติร่วมกันในแนวทางที่ให้ผลเป็นการออกจากปัญหาดังกล่าว จะเป็นกระบวนการประสานความเข้าใจและสมานความแตกต่างทางความคิดและอุดมการณ์ได้เป็นอย่างดี ครป.จึงได้กำหนดแนวทางและเป้าหมายที่เราเชื่อว่าจะเป็นจุดคานงัดทำให้เกิดผลดังกล่าว 5 ประการสำหรับเวลา 2 ปีข้างหน้า คือ 1.การขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจในเชิงโครงสร้างตามแนวคิดจังหวัดจัดการตนเอง 2.การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2562 ในประเด็นที่ตอบสนองเป้าหมายการแก้ไขปัญหา 3.รณรงค์ผลักดันประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและรัฐสวัสดิการ 4.ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ นโยบายและการดำเนินการของรัฐในทุกมิติ รวมถึงองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และ 5.เชื่อมประสานภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายและโครงการพัฒนาของรัฐ
จี้เลิก 'คำสั่ง-ประกาศ' คสช.
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ เขียนบทความเรื่องข้อเสนอเพื่อเปลี่ยนผ่านจากระบอบกึ่งประชาธิปไตยสู่ระบอบประชาธิปไตย เนื่องในโอกาสครบรอบ 87 ปีอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิ.ย. และแนวคิดภราดรภาพนิยม: ทางออกจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ ระบุว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เป็นผลของระบอบกึ่งประชาธิปไตยกึ่งเผด็จการ จึงขอเสนอข้อเรียกร้องดังนี้ 1.ให้รัฐบาลพิจารณาผ่านพระราชบัญญัติยกเลิกคำสั่ง ประกาศ คสช.ทั้งหมดที่ละเมิดต่อหลักการประชาธิปไตย ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน 2.ขอให้รัฐสภาตั้งคณะทำงานพิจารณาคืนความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนทั้งหมดที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมและถูกดำเนินคดีทางการเมืองต่างๆ ในช่วงรัฐบาล คสช. 3.ขอให้ช่วยกันหยุดการสร้างวาทกรรมสร้างความเกลียดชัง หรือ Hate Speech และช่วยกันหยุดยั้งการนำเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้ทำลายล้างกันทางการเมือง อันส่งผลกระทบทางลบต่อความมั่นคงและเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และ 5.กระทรวงศึกษาธิการต้องเอาจริงเอาจังในการทำให้เกิด Civic Education หรือการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง และควรนำเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 มาเป็นบทเรียนด้วย โดยบรรจุไว้ในหลักสูตรและชำระเนื้อหาสาระให้เป็นไปตามข้อเท็จจริง
วันเดียวกัน ที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) และนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ นำกลุ่มภาคประชาชน 23 องค์กรเดินทางมายื่นหนังสือผ่านนางพรรษมนต์ ไทยวัฒนานุกูล รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศและคำสั่งหัวหน้า คสช.จำนวน 35 ฉบับ ที่ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พร้อมกับรายชื่อประชาชน 13,409 คนที่เข้าชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว
นายยิ่งชีพกล่าวว่า การมายื่นเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นไปตามกิจกรรมปลดอาวุธ คสช. ทวงคืนสถานการณ์ปกติที่ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ เพราะการบังคับใช้ประกาศ คสช.เหล่านี้ให้อำนาจทหารจับกุมประชาชนไปคุมขังในค่ายทหารได้ 7 วันโดยไม่ต้องรับผิด เป็นเรื่องอันตราย ทำให้บรรยากาศประชาชนที่จะร่วมแสดงความคิดเห็นหรือแสดงออกทางการเมืองมีปัญหาอย่างมาก ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับ ส.ส.และ ส.ว.จะสนับสนุนหรือไม่ หาก ส.ส.คนใดไม่สนับสนุนต้องตอบคำถามประชาชนให้ได้ว่า เหตุใดจึงต้องการให้คงอำนาจทหารไว้ต่อไปทั้งที่เข้าสู่ยุคประชาธิปไตยแล้ว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |