วานนี้ (๒๔ มิถุนายน) มีคนพูดเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองกันหลายเวที
แต่ ณ วินาทีนี้คนที่พูดแล้วน่าสนใจคงหนีไม่พ้นคู่หูดูโอ "เอก-ป๊อก"
"ธนาธร-ปิยบุตร"
ไปเปิดเวทีไกลหน่อย ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น
"ธนาธร" บอกว่า...
"....ตลอด ๘๗ ปีที่ผ่านมา การสถาปนาอำนาจของพลเมืองยังไม่จบ ยังมีกลุ่มอภิสิทธิ์ชนที่มีสิทธิ์มีเสียงเหนือกว่าประชาชนพลเรือนคนอื่น ยังมีเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ ยังถูกคุกคาม ถูกละเมิด นี่คือผลจากการที่เราไม่ช่วยกันปกป้องการอภิวัฒน์ หน้าที่พลเมืองที่สำคัญอย่างหนึ่งคือต่อต้านการรัฐประหาร และปกปกป้องประชาธิปไตย แต่เหมือนที่ผ่านมาเราหลงลืมกันไป..."
"...ภารกิจ ๒๔๗๕ ไม่ใช่ล้มล้างสถาบันอย่างที่เราถูกใส่ร้าย เราเชื่อมั่นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์จะมั่นคงสถาพร เมื่อประชาธิปไตยเข้มแข็ง..."
"ปิยบุตร" บอกว่า
"...หลักรัฐธรรมนูญนิยม เริ่มแพร่หลายหลังการปฏิวัติอเมริกา เป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรที่มีสาระสำคัญ คือการจำกัดอำนาจผู้ปกครอง ประชาชนเป็นผู้ก่อตั้ง เนื้อหาพูดถึงสถาบันการเมืองต่างๆ ภายใต้รัฐธรรมนูญ มีการแบ่งแยกอำนาจ การประกันสิทธิเสรีภาพประชาชน ทุกสถาบันการเมืองมีอำนาจได้เท่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด รัฐไม่อาจละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน
หลักการนี้ดำรงอยู่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ แต่มาสะดุดหยุดลงหลังการรัฐประหาร ๒๔๙๐ และรัฐธรรมนูญถูกทำให้กลายมาเป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจจนทุกวันนี้..."
ครับ...ฟังดูดี
แต่ก็มีคำถาม
หากย้อนไปดูท่าทีของ "ธนาธร" ตั้งแต่ก่อนเล่นการเมืองจนถึงวันนี้ จะเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลง เพื่อไม่ให้ตกเป็นเป้าโจมตี
นั่นหมายความว่า ท่าทีปัจจุบันของ "ธนาธร" ไม่ใช่ของจริง
จึงไม่แปลกที่ "ธนาธร" จะพูดว่า "ยังมีกลุ่มอภิสิทธิ์ชนที่มีสิทธิ์เสียงเหนือกว่าประชาชนพลเรือนคนอื่น" จากนั้นก็บอกว่า "เชื่อมั่นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์จะมั่นคงสถาพร เมื่อประชาธิปไตยเข้มแข็ง"
"ธนาธร" ไม่ได้พูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในสถานะสถาบันพระมหากษัตริย์
แต่เขาพูดถึงประชาธิปไตย หากมีความเข้มแข็ง สถาบันพระมหากษัตริย์ก็จะมั่นคงสถาพร
แล้วย้อนไปประโยคแรก กลุ่มอภิสิทธิ์ชนหรือใคร
แน่นอน "ธนาธร" ไม่ได้หมายถึงนักการเมือง
ส่วน "ปิยบุตร" พลาดในแง่ประวัติศาสตร์
แน่ใจหรือว่าหลัง ๒๔๗๕ ราบรื่นจนถึง ๒๔๙๐ เพราะเกิดรัฐประหาร
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง สิ่งที่เกือบจะเกิดขึ้นทันทีคือ ความขัดแย้งในหมู่สมาชิกคณะราษฎร
๑๕ มีนาคม ๒๔๗๕ "ปรีดี พนมยงค์" เสนอเค้าโครงร่างเศรษฐกิจ ที่เรียกกันว่า "สมุดปกเหลือง" เพื่อให้พิจารณาใช้เป็นหลักสำหรับนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ
๑ เมษายน ๒๔๗๖ มีพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร และงดใช้รัฐธรรมนูญเกือบทุกมาตรา เพื่อยึดอำนาจตัวเอง
เรียกกันว่า รัฐประหารโดยพระราชกฤษฎีกา เป็นรัฐประหารครั้งแรก
๒ เมษายน ๒๔๗๖ มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ตาม เป็นเครื่องมือในการกำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ซึ่งล้วนเป็นสมาชิกคณะราษฎรด้วยกันทั้งสิ้น
เพราะ "ปิยบุตร" ยึดติดอยู่กับหลักรัฐธรรมนูญนิยม จึงหลงทิศหลงทาง เชื่อว่าหลัง "พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ" ยึดอำนาจจากรัฐบาล "พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์" ในปี ๒๔๙๐ แล้วนำรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มมาใช้ นั่นคือต้นกำเนิดการใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือการสืบทอดอำนาจมาจนถึงทุกวันนี้
มันก็เหมือนการมองความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน ที่พรรคอนาคตใหม่ตัดตอนข้ามการปกครองโดยระบอบทักษิณ
แล้วไปสรุปว่าจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งคือการทำรัฐประหาร ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗
ลองมองย้อนกลับไปดู หากหลัง ๒๔๗๕ ไม่มีความขัดแย้งในหมู่สมาชิกคณะราษฎร หากไม่เริ่มต้นด้วยการชิงอำนาจกันเอง
วันนี้ประชาธิปไตยไทยคงเต็มใบมาหลายปีแล้ว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |