ศาลฝรั่งเศสนัดเริ่มการพิจารณาคดีที่ญาติผู้เสียชีวิตและผู้รอดชีวิตในโศกนาฏกรรมเครื่องบินโดยสารของสายการบินวัน-ทู-โกตกที่ภูเก็ตเมื่อปี 2550 ฟ้องคดีแพ่ง เอาผิดอดีตผู้บริหารสายการบินต้นทุนต่ำที่ปิดตัวไปแล้วแห่งนี้ ฐานฆ่าคนตายโดยประมาท
แฟ้มภาพ เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2553 เจ้าหน้าที่ตรวจสอบซากเครื่องบินเอ็มดี-82 สายการบินวัน-ทู-โก หนึ่งวันหลังเกิดเหตุเครื่องหลุดรันเวย์แล้วเพลิงไหม้ / AFP
รายงานของสำนักข่าวเอเอฟพีเมื่อวันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน 2562 กล่าวว่า คดีนี้โจทก์ประกอบด้วยครอบครัวของผู้เสียชีวิตที่เป็นชาวฝรั่งเศส 9 คนและผู้รอดชีวิตอีก 1 คน ยื่นฟ้องคดีแพ่งต่อนายอุดม ตันติประสงค์ชัย อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินวันทูโก สายการราคาประหยัดในเครือของโอเรียนท์ไทยแอร์ไลน์ซึ่งได้ยุติการดำเนินการไปแล้วทั้งคู่ โดยคำฟ้องกล่าวว่า โศกนาฏกรรมที่คร่า 90 ชีวิตบนเครื่องบินลำนี้เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2550 เป็น "อุบัติเหตุที่รอการเกิด" ไม่ว่าเพราะปัจจัยจากความเหนื่อยล้าของนักบิน หรือคำกล่าวหาที่ว่าสายการบินปลอมแปลงบันทึกการบิน
เที่ยวบินนี้นำผู้โดยสาร 123 คน และลูกเรือ 7 คน เดินทางจากกรุงเทพฯ มายังจังหวัดภูเก็ต แต่ขณะที่นักบินพยายามนำเครื่องลงจอดที่สนามบินภูเก็ตท่ามกลางสภาพฝนตกหนักและลมแรง เครื่องได้ไถลหลุดรันเวย์แล้วไฟลุกท่วม ทำให้มีคนเสียชีวิต 90 คน เป็นชาวไทย 33 คน ชาวต่างชาติ 57 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวอังกฤษ, อิสราเอล และฝรั่งเศส
ครอบครัวของผู้ประสบเหตุกล่าวโทษสายการบินนี้ว่า พยายามปกปิดความบกพร่องหลายอย่างที่นำไปสู่โศกนาฏกรรมครั้งนี้ โดยคำฟ้องกล่าวหานายอุดมว่าฆ่าผู้อื่นตายโดยประมาท
ภายหลังเกิดเหตุครั้งนั้น อดีตผู้บริหารของวัน-ทู-โกรายนี้ยอมรับว่า สายการบินมีส่วนต้องรับผิดชอบกับหายนภัยทางอากาศครั้งนั้น ซึ่งเป็นครั้งเลวร้ายที่สุดของไทยในรอบ 10 ปี และถึงแม้ว่าเขาจะโดนออกหมายจับสากล แต่นายอุดมไม่เคยถูกควบคุมตัวและไม่เคยตอบรับหมายศาล รายงานกล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่ศาลคงต้องพิจารณาคดีลับหลังจำเลย
เฌราร์ เบมบารง หนึ่งในโจทก์ที่สูญเสียญาติในเหตุการณ์นี้ กล่าวว่า การฟ้องร้องของพวกเขาไม่เกี่ยวกับเรื่องเงิน แต่พวกเขาต้องการรื้อฟื้นอุบัติเหตุที่คนลืมไปแล้วครั้งนี้ เพื่อให้ครอบครัวได้รับการยอมรับว่าพวกเขาคือเหยื่อ เหตุการณ์นี้ไม่ใช่สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ มันคืออุบัติเหตุที่รอการเกิดขึ้น หากพิจารณาจากวิธีการดำเนินงานของบริษัทนี้
ผลการสอบสวนของสำนักงานการบินพลเรือนไทยสรุปว่า เหตุการณ์นี้เกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์ นักบินและนักบินผู้ช่วยพยายามนำเครื่องลงในสภาพอากาศเลวร้าย แต่ผลสอบก็พบเช่นกันว่า นักบินทำงานเกินชั่วโมงบินต่อสัปดาห์ และมีความเครียดสะสมจากความเหนื่อยล้าและพักผ่อนไม่พอ จึงทำให้การตอบสนองสถานการณ์วิกฤติแย่ลงไปด้วย
แหล่งข่าวใกล้ชิดคดีนี้รายหนึ่งบอกด้วยว่า ระหว่างการสอบสวนนั้น สายการบินได้ยื่นเอกสารที่ปลอมแปลงจำนวนชั่วโมงบินของนักบินทั้งสอง ให้ดูเหมือนว่าพวกเขายังมีชั่วโมงบินอยู่ภายในเกณฑ์ที่กำหนด
รายงานเอเอฟพีกล่าวด้วยว่า การสอบสวนของฝรั่งเศสยังเปิดเผยให้เห็นข้อผิดพลาดมากมายของสายการบินนี้ ทั้งด้านการสรรหาบุคลากร, การฝึกอบรม และอุปนิสัยการทำงานของนักบิน ไปจนถึงการบำรุงรักษาเครื่องบินของสายการบินนี้
อดีตนักบินรายหนึ่งเปิดเผยกับคณะเจ้าหน้าที่สอบสวนของคดีนี้ว่า การบินเกินชั่วโมงที่กำหนดนั้นเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไป โดยนักบินจะได้เงินโบนัสพิเศษ สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นวัฒนธรรมการดำเนินธุรกิจที่เป็นอาชญากรรม ซึ่งรวมถึงการละเมิดบรรทัดฐานด้านความปลอดภัยพื้นฐานส่วนใหญ่อย่างร้ายแรง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |