สตรีนักเคลื่อนไหวผู้ชนะรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ 3 คนประสานเสียงเรียกร้องให้นางอองซาน ซูจี "ตื่น" มารับรู้ความโหดร้ายป่าเถื่อนที่เกิดกับชาวโรฮิงญาในพม่า พร้อมเตือนผู้นำรัฐบาลพม่าซึ่งได้โนเบลสาขาสันติภาพเช่นกันว่าเสี่ยงจะถูกดำเนินคดีฐาน "ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญา
ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2561 ทาวัคคอล คาร์มาน เจ้าของโนเบลชาวเยเมน (ซ้าย) อุ้มเด็กชาวโรฮิงญา ขณะเยือนค่ายลี้ภัยกูตูปาลองในบังกลาเทศ ภาพ AFP
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเมื่อวันจันทร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2561 ว่าผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพทั้ง 3 คน ซึ่งได้แก่ ทาวัคคอล คาร์มาน, ชิริน อีบาดี และไมรีด แมคไกวร์ เดินทางไปเยี่ยมค่ายลี้ภัยหลายแห่งในบังกลาเทศเมื่อวันอาทิตย์และวันจันทร์ จากนั้นทั้งสามคนได้วิงวอนต่อนางอองซาน ซูจี มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของพม่า ซึ่งเป็นผู้นำรัฐบาลพม่าโดยพฤตินัย ให้ "ตื่น" มารับรู้ความโหดร้ายป่าเถื่อนที่กระทำต่อชาวโรฮิงญา ซึ่งอพยพเข้ามาลี้ภัยอยู่ในบังกลาเทศแล้วเกือบ 1 ล้านคน
"นี่คือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ชัดเจนมากๆ ที่รัฐบาลและกองทัพพม่ากำลังกระทำต่อชาวโรฮิงญา" แมคไกวร์กล่าว "เราไม่ยอมรับนโยบายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของรัฐบาลพม่า เรื่องนี้จะต้องนำเข้าไอซีซี (ศาลคดีอาญาระหว่างประเทศ) และพวกที่ก่อเหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จะต้องถูกนำตัวมารับโทษ"
องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เคยกล่าวถึงความรุนแรงอย่างเป็นระบบที่พม่ากระทำต่อชาวมุสลิมโรฮิงญาในรัฐยะไข่ว่า อาจเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และการล้างเผ่าพันธุ์ แต่ยังไม่ถึงขั้นกล่าวหากองทัพพม่าอย่างตรงไปตรงมาว่าก่ออาชญากรรมสงคราม
ชื่อเสียงของนางซูจี ซึ่งเคยได้รับการเชิดชูทั่วโลกว่าเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิ พังทลายลงในสายตาของประชาคมระหว่างประเทศ เพราะการนิ่งเฉยต่อวิกฤติโรฮิงญา
นักวิจารณ์หลายคนถึงขั้นเรียกร้องให้คณะกรรมการโนเบลเพิกถอนรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ที่เคยมอบให้นางซูจีระหว่างที่นางยังถูกรัฐบาลทหารพม่าในสมัยนั้นกักบริเวณในบ้านพัก เมื่อปี 2544
ไมรีด แมคไกวร์ ผู้ชนะโนเบลชาวไอร์แลนด์เหนือ พูดคุยกับผู้ลี้ภัยโรฮิงญาที่ค่ายกูตูปาลองเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ภาพ SUZAUDDIN RUBEL / AFP
คำวิงวอนเป็นการส่วนตัวของสตรีผู้ได้รับโนเบลทั้ง 3 คนนี้มีขึ้นภายหลังทั้งสามได้รับฟังเรื่องราวการข่มขืนและการฆาตกรรมชาวโรฮิงญาจากปากคำของพวกเขาโดยตรง
คาร์มาน นักเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสิทธิชาวเยเมน กล่าวเตือนนางซูจีว่า นางเสี่ยงที่จะโดนลากตัวขึ้นศาลไอซีซี หากนางยังไม่เข้าแทรกแซง
"หากเธอยังคงนิ่งเงียบอยู่ เธอจะเป็นหนึ่งในพวกนั้น" คาร์มานกล่าวขณะพยายามกลั้นน้ำตาภายหลังได้พบปะกับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา "ถือเป็นการวิงวอนต่ออองซาน ซูจี พี่สาวของเรา ให้ตื่นขึ้น มิเช่นนั้นเธอจะกลับกลายเป็นหนึ่งในผู้ก่ออาชญากรรมนี้ด้วย"
รัฐบาลและกองทัพพม่าปฏิเสธคำกล่าวหาทั้งหลายแหล่ และยังขัดขวางคณะกรรมการสอบสวนของยูเอ็นไม่ให้เข้าไปภายในพื้นที่ขัดแย้งในรัฐยะไข่ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับชาติพันธมิตรตะวันตกมึนตึง
นับแต่กองกำลังติดอาวุธชาวโรฮิงญาโจมตีที่มั่นของฝ่ายความมั่นคงพม่าพร้อมกัน 30 จุดในรัฐยะไข่เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2560 กองทัพพม่าได้ตอบโต้ด้วยปฏิบัติการกวาดล้างขั้นรุนแรง ทำให้ชาวโรฮิงญาเกือบ 700,000 คนลี้ภัยข้ามพรมแดนสู่บังกลาเทศ กลายเป็นเหตุฉุกเฉินด้านมนุษยธรรม
พม่ามองว่าชาวโรฮิงญาเป็น "ชาวเบงกาลี" ที่อพยพจากบังกลาเทศเข้าพม่าอย่างผิดกฎหมาย แต่รัฐบาลของนางซูจี ซึ่งถูกนักวิจารณ์กล่าวหาว่าปิดหูปิดตา ได้ทำความตกลงกับรัฐบาลบังกลาเทศ เพื่อรับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาราว 750,000 คนกลับพม่า กระบวนการนี้ยังไม่คืบหน้า โดยยูเอ็นเตือนไว้ว่า การส่งกลับชาวโรฮิงญาต้องทำโดยความสมัครใจ ขณะที่กลุ่มสิทธิหลายกลุ่มเตือนว่าชาวโรฮิงญาอาจถูกบีบบังคับให้กลับไปเผชิญชะตากรรมแบบเดิม.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |