สูง เสียว เสี่ยง เพื่อแสงสว่าง กับภารกิจบำรุงรักษาสายส่งไฟฟ้าแรงสูง กฟผ.


เพิ่มเพื่อน    

แม้ไม่ใช่ กัปตันอเมริกา สไปเดอร์แมน หรือเดอะฮักส์ แต่มนุษย์บางประเภทก็ไม่แตกต่างกับเหล่าซุปเปอร์ฮีโร่ในการ์ตูนมาร์เวลเท่าไหร่นัก ด้วยภารกิจที่ต้องเสี่ยงอันตราย ท้าทายความกล้า เพื่อสร้างความสุขให้กับผู้คน อย่าง “หนึ่ง-หนุ่ม” คู่แฝด Hotline คู่แรกของประเทศไทย กับภารกิจบำรุงรักษาสายส่งไฟฟ้าแรงสูงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

มนุษย์ธรรมดาที่ต้องทำงานอยู่บนเสาไฟฟ้าแรงสูงความสูงเท่ากับตึก 20 ชั้น กับกระแสไฟฟ้าแรงดัน 500 กิโลโวลต์ (หรือเท่ากับ 500,000 โวลต์ มากกว่ากระแสไฟฟ้าในครัวเรือนประมาณ 2,000 เท่า) ไหลอยู่ในสายไฟฟ้าแรงสูงไร้ฉนวนที่ถูกขึงทอดยาวอยู่กับเสาโครงเหล็ก ทำหน้าที่ส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าไปทั่วประเทศไทย เปรียบเสมือน “เส้นเลือดใหญ่ในร่างกายของมนุษย์” หากขาดหรือชำรุดไปเพียงหนึ่งจุดย่อมทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง จะทำให้ไฟฟ้าตกหรือดับเป็นวงกว้าง อาจจะทั้งจังหวัดหรือทั้งภาคเลยก็เป็นไปได้ จึงจำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลสายส่งไฟฟ้าให้คงอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานอยู่ตลอดเวลา

หนึ่ง นรินทร์ ยมะสมิตร แฝดพี่ กล่าวว่า ผู้ปฏิบัติงานบำรุงรักษาสายส่งไฟฟ้าแรงสูงทุกคนจะต้องเป็นผู้ที่ผ่านการคัดเลือก และผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการบำรุงรักษาสายส่งไฟฟ้าแรงสูงจากโรงเรียนช่างสายของ กฟผ. รวมทั้งผ่านการทดสอบสมรรถภาพร่างกายก่อนปฏิบัติงานทุกครั้ง ช่างสาย Hotline ทุกคนจะต้องมีความพร้อม ทั้งด้านทักษะความรู้ความเชี่ยวชาญ สภาพร่างกายที่แข็งแรง และสภาพจิตใจที่มั่นคง

หนุ่ม นพรัตน์ ยมะสมิตร แฝดน้อง กล่าวว่า ระหว่างการปฏิบัติงานบำรุงรักษาสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ช่างสาย Hotline ทุกคนจะต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันการตกจากที่สูง เนื่องจากต้องขึ้นไปปฏิบัติงานบนเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงที่สูงจากพื้นดินตั้งแต่ 30-65 เมตร โดยรอบ ๆ ตัวจะเต็มไปด้วยแรงดันไฟฟ้าตั้งแต่ขนาด 115, 230 และ 500 กิโลโวลต์ ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า การทำงานจึงต้องระมัดระวังและปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงความปลอดภัยในการทำงานเป็นสำคัญ

เรื่องราวในโลกใบนี้ บางครั้งเกิดขึ้นจากความบังเอิญอย่างไม่น่าเชื่อ แต่หลายครั้งที่เรื่องบังเอิญนั้น มักเกิดจากความมุ่งมั่นตั้งใจของมนุษย์ธรรมดาที่ฝันอยากจะได้สร้างประโยชน์สุขให้แก่ผู้อื่น แปลกแต่จริงที่วันนี้ กฟผ. มีคู่แฝดที่ไม่ได้เหมือนกันเฉพาะรูปร่างหน้าตาเท่านั้น แต่เหมือนกันแม้กระทั่งอาชีพและภารกิจความรับผิดชอบอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะในไทยจะมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่จะเป็นช่างสาย Hotline ได้

ทำไมจึงเลือกมาเป็น Hotline

หนึ่ง นรินทร์ “เดิมทีหลังจากเรียนจบในสาขาช่างไฟฟ้าแล้ว ได้ข่าวการเปิดรับสมัครงานของ กฟผ. จึงสนใจและตัดสินใจสมัครงานที่ กฟผ. เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีความมั่นคง และคิดว่าจะได้ทำงานตรงกับสาขาที่เรียน โดยสามารถสอบผ่านทั้งข้อเขียนและการสัมภาษณ์ รวมถึงผ่านการทดสอบสมรรถภาพร่างกาย ได้แก่ การทดสอบเรื่องการขึ้นที่สูง (ปีนเสาไฟฟ้าแรงสูง) จึงได้มีโอกาสมาทำงานในส่วนของงาน Hotline อย่างเต็มตัวเช่นเดียวกับน้องชายฝาแฝด รู้สึกภาคภูมิใจในอาชีพ Hotline เพราะเป็นงานที่ท้าทายความสามารถ และมีเพียงไม่กี่คนที่จะมีโอกาสทำงานแบบนี้ เพื่อสร้างแสงสว่างและความสุขให้กับคนไทยทุกคน”

หนุ่ม นพรัตน์ “เหตุผลที่เลือกมาสมัครทำงานเป็นเจ้าหน้าที่บำรุงรักษาสายส่งไฟฟ้าแรงสูง หรือ Hotline ที่ กฟผ. นั้น เนื่องจากเป็นงานที่ตรงกับสาขาวิชาไฟฟ้าที่เราได้เรียนจบมา และงาน Hotline ถือเป็นงานที่เรียกว่า สุดยอดของไฟฟ้า เนื่องจากต้องทำงานกับแรงดันไฟฟ้าสูงถึง 500,000 โวลต์ ซึ่งเป็นแรงดันไฟฟ้าสูงสุดของประเทศไทย เป็นงานที่ท้าทายความสามารถ ต้องเข้าไปสัมผัสกับแรงดันไฟฟ้าแรงสูงและต้องปีนขึ้นไปทำงานบนเสาไฟฟ้าแรงสูงมากกว่า 60 เมตร และในประเทศไทยมีเจ้าหน้าที่ Hotline อยู่เพียงไม่กี่คนเท่านั้น จึงตัดสินใจเลือกมาเป็นเจ้าหน้าที่ Hotline ของ กฟผ.”

แม้ว่าจะไม่มีพลังพิเศษอย่างซุปเปอร์ฮีโร่ แต่เจ้าหน้าที่ Hotline ของ กฟผ. ทุกคน มุ่งมั่นตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ในทุก ๆ วันอย่างเต็มที่ เพื่อให้พี่น้องชาวไทยมีไฟฟ้าใช้อย่างมั่นคง ไฟฟ้าไม่ตก ไม่ดับในทุกเทศกาล

ภารกิจสุดภาคภูมิใจในการเป็น Hotline

แฝดพี่ “ภารกิจที่รู้สึกภาคภูมิใจมากที่สุด คือภารกิจการเปลี่ยนลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า โดยวิธีไม่ดับกระแสไฟฟ้า เป็นการบำรุงรักษาสายส่งไฟฟ้าโดยไม่ทำให้ไฟฟ้าดับ เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า ถือเป็นงานที่เจ้าหน้าที่ Hotline ทุกคนต้องได้รับการฝึกจากโรงเรียนช่างสาย เพื่อให้เข้าใจหลักการและขั้นตอนการทำงานอย่างถูกต้องและปลอดภัย โดยในการทำงาน Hotline ทุกครั้ง จะต้องมีการประชุมชี้แจง, ทบทวนขั้นตอนการทำงานขณะปฏิบัติงานต้องช่วยกันดูแลเรื่องความปลอดภัย ต้องทำงานด้วยความระมัดระวัง ต้องมีความสามัคคีกันในทีม แม้ว่าสภาพอากาศอาจจะร้อน สภาพพื้นที่ทำงานจะเป็นทุ่งนาหรือป่าเขาทำให้การทำงานยากลำบากมากแค่ไหน ทุกคนก็มุ่งมั่นตั้งใจปฏิบัติภารกิจให้ประสบสำเร็จอย่างเต็มที่”

แฝดน้อง “ภารกิจที่รู้สึกภาคภูมิใจมากที่สุด คือครั้งที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจกู้เสาส่งไฟฟ้าแรงสูงล้ม เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทีม Hotline ของ กฟผ. ทุกคนจะต้องเร่งดำเนินการกู้เสาส่งไฟฟ้าแรงสูง โดยต้องทำงานแข่งกับเวลา สภาพอากาศร้อน และความเสี่ยงจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ เพื่อให้ระบบส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้า กลับมาใช้งานได้รวดเร็วที่สุด”

ยิ่งสูงยิ่งต้องระมัดระวัง ยิ่งเสี่ยงยิ่งต้องเตรียมความพร้อมของร่ายกายและจิตใจให้แข็งแกร่ง เพื่อปฏิบัติภารกิจบำรุงรักษา “เส้นเลือดใหญ่ของระบบไฟฟ้าไทย” ให้มีความมั่นคงและความพร้อมที่จะสร้างแสงสว่างและสร้างสรรค์ประโยชน์สุขให้กับสังคมไทยอย่างยั่งยืน

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"