สะสมของเก่า..ได้ประโยชน์ ทั้งสมองและการเข้าสังคม


เพิ่มเพื่อน    

     

(ผู้สูงอายุที่สะสมของเก่าจะช่วยฝึกสมองและกระตุ้นการเข้าสังคมได้)

 

      “การสะสมของเก่า” ในผู้สูงอายุถือเป็นประโยชน์ในเชิงสุขภาพที่น่าสนใจ เพราะนอกจากของสะสมดังกล่าวจะมีคุณค่าทางจิตใจแล้ว นานวันข้าวของชิ้นนั้นย่อมมีมูลค่าทบเท่าทวีคูณ หรือบางอย่างก็ไม่อาจวัดค่าได้ ที่สำคัญยังก่อให้เกิดผลดีกับสมองอีกด้วย ดังนั้นหากผู้สูงอายุในครอบครัวมีความรักและสนใจเกี่ยวกับของเก่าสะสม ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ รถเก่า, ของใช้โบราณ, โคมไฟ, เฟอร์นิเจอร์ไม้เก่า, รูปภาพบรรยากาศสมัยเก่า ฯลฯ สิ่งสำคัญนั้นลูกหลานควรให้การสนับสนุนท่านทำในสิ่งที่ชอบ เพื่อส่งเสริมสุขภาพ เพราะความสุขที่แท้จริงจะต้องมาจากการทำในสิ่งที่รักและเลือกด้วยตัวเอง งานนี้ นพ.สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์ สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ มีคำแนะนำเกี่ยวกับคนวัยเก๋าที่สะสมของเก่าไว้น่าสนใจ

(นพ.สกานต์ บุนนาค)

      นพ.สกานต์ ให้ข้อมูลว่า “การสะสมของเก่าเป็นกิจกรรมอันหนึ่งของผู้สูงอายุที่มีประโยชน์ทั้งในแง่ของ “สมองและกระตุ้นการเข้าสังคม” เริ่มจากเรื่องของสมอง เนื่องจากการสะสมของเก่าเป็นกิจกรรมที่ท่านทำเอง และเป็นสิ่งที่คนสูงวัยสนใจและมีใจรัก เพราะในทางปฏิบัตินั้นผู้สูงอายุมักจะปรับตัวเข้าหาสังคมได้ค่อนข้างยาก แต่กิจกรรมนี้เกิดจากการท่านตั้งต้นทำด้วยความชอบและมีใจรัก ก็มักจะทำได้ดีกว่าการที่มีใครเป็นคนกำหนดให้ท่านทำ

      ประการที่สองนั้น การสะสมของเก่ามักจะเป็นสิ่งที่ทำต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลายาวนาน จึงทำให้ท่านได้ “นึกถึงอดีต” ซึ่งเป็นเรื่องราวที่อยู่ในยุคของตัวเอง ซึ่งหลักการนี้จะสามารถนำมาปรับใช้ในผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม ที่ผู้ดูแลมักจะต้องมีการจัดสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในสภาพเดิม อีกทั้งการที่ท่านได้เห็นสิ่งของที่ตัวเองสะสม และนึกถึงอดีต ก็จะช่วยเรื่องความทรงจำ หรือทำให้จำได้นั่นเอง ที่สำคัญหากการสะสมของในผู้สูงวัยเป็นไปในเชิงของการ “เข้าชมรม” หรือรวมกลุ่มกันของคนชอบของสิ่งเดียวกัน ก็จะทำให้ท่านมีสังคมและมีเพื่อนตามมาอีกด้วย ตรงนั้นจะเป็นการกระตุ้นการเข้าสังคมแบบ 2 ทาง หรือที่เรียกกันว่า “ทูเวย์” คือมีการพูดคุยกับผู้อื่นและคิดตาม ซึ่งต่างจากการที่ลูกหลานปล่อยให้ท่านนั่งดูทีวีอยู่กับบ้านเพียงลำพัง ซึ่งนั่นเรียกการสื่อสารแบบ “วันเวย์”

(ตัวอย่างของสะสมที่ดีสำหรับผู้สูงอายุ ควรเป็นสิ่งของที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ และกระตุ้นให้คนวัยเก๋าอยากเข้าสังคม เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ความชอบกับผู้อื่น มากกว่าที่จะเก็บตัวอยู่บ้านเพียงลำพัง)

      อย่างที่เกริ่นไปตอนต้นว่าการสะสมของเก่านั้น “ช่วยฝึกสมองของผู้สูงอายุ” เพราะเวลาที่ท่านได้เห็นของเก่าก็จะนึกถึงเหตุการณ์ในอดีต เมื่อนั้นสมองก็จะเกิดการเรียบเรียง หรือเรียงลำดับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น นั่นจึงเป็นการฝึกสมองให้รู้จักการบริหารจัดการด้านความคิดประโยชน์ที่ได้จึงเป็นเรื่องของการฝึกสมอง

      สำหรับคำเตือนเกี่ยวกับการสะสมของเก่าในผู้สูงอายุ อันดับแรกลูกหลานคงต้องช่วยดูว่าเป็นสิ่งของที่อันตรายหรือไม่ เช่น คนสูงวัยบางคนที่สะสมอาวุธ ประกอบกับความคล่องตัว เมื่ออายุมากขึ้นก็มักจะลดน้อยลง อีกทั้งการตัดสินใจก็มักจะไม่ไวเหมือนก่อน พูดง่ายๆ ว่าเมื่อตอนที่ยังหนุ่มสาวมักจะหยิบจับสิ่งของที่ไม่เป็นอันตรายได้ แต่เมื่ออายุมากขึ้นจึงไม่ควรสะสมสิ่งของ เช่น ของมีคมอย่างมีด ที่อาจเสี่ยงต่อการหกล้มมีดบาดมือ และทำให้เกิดแผลติดเชื้อได้ ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า ผู้สูงวัยไม่ควรสะสมสิ่งของที่เป็นอันตราย และถ้าหากของสะสมชิ้นดังกล่าวไม่ได้ส่งเสริมให้ผู้สูงวัยเข้าสังคม หรือออกไปพูดคุยกับคนอื่น ที่สำคัญมักจะรู้สึกว่าตัวเองยึดติดสิ่งของนั้นๆ โดยไม่อยากออกไปไหน กระทั่งหมกมุ่นอยู่กับอดีตเก่าๆ หรือทำให้เป็นคนที่เก็บตัวเองมากขึ้น ก็ไม่แนะนำให้สะสมของชิ้นดังกล่าวที่บอกมาแต่อย่างใดครับ”

        ของสะสมที่มีประโยชน์ นอกจากฝึกสมอง กระตุ้นการเข้าสังคมแล้ว ต้องไม่ก่อให้เกิดอันตรายกับตัวเองทั้งสุขภาพ และการขาดปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ...งานนี้หากคุณตาคุณยายบวกลบคูณหารแล้ว หากว่าไม่เข้าข่ายของสะสมต้องห้ามแล้วละก็ อย่ารอช้าที่จะหันไปรื้อห้องเก็บของ และนำของสะสมที่เก็บเข้ากรุออกมาตั้งโชว์อวดเพื่อนๆ และคนรุ่นลูกหลานที่สนใจเรื่องเดียวกัน รับรองคุณตาคุณยายจะมีเพื่อนเพิ่มขึ้นอีกหลากหลายกลุ่ม...เห็นด้วยไหมค่ะ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"