เพื่อไทย ในวันรับบท หัวหอกฝ่ายค้าน


เพิ่มเพื่อน    

 รัฐบาล 'ประยุทธ์' อยู่ไม่ยาวจะเผชิญ 'กับดัก' ที่วางไว้เอง

อีกหนึ่งองคาพยพทางการเมืองที่สำคัญนั่นก็คือ พรรคฝ่ายค้าน ที่มีหน้าที่หลักคือ ตรวจสอบถ่วงดุลการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล โดยเวลานี้แนวร่วมพรรคฝ่ายค้านประกอบด้วย 7 พรรคการเมือง มีเสียง ส.ส.รวมกัน 246 เสียง มี พรรคเพื่อไทย ที่มี ส.ส. 136 คนเป็นแกนนำ

                บทบาทของพรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำพรรคฝ่ายค้านถูกจับตามองไม่น้อย เพราะที่ผ่านมาตั้งแต่ยุคพรรคไทยรักไทย-พลังประชาชน จนมาถึงเพื่อไทย ในปัจจุบันพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้านแค่สมัยเดียวในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่ก็เป็นฝ่ายค้านหลังมีการยุบพรรคพลังประชาชน ไม่ใช่เป็นฝ่ายค้านหลังเลือกตั้งเหมือนในปัจจุบัน

                ภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย พูดถึงบทบาทของเพื่อไทยในฐานะพรรคฝ่ายค้านต่อจากนี้ ตลอดจนวิเคราะห์รัฐนาวาพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังฝ่ายค้านเริ่มเคลื่อนไหวตรวจสอบฝ่ายรัฐบาลพลังประชารัฐและขั้วอำนาจของ คสช.ให้เห็นกันแล้ว เช่น การยื่นญัตติให้สภาฯ ตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาการได้มาซึ่ง ส.ว. 250 คน เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา

                โดยเมื่อตั้งคำถามถึงท่าทีของพรรคเพื่อไทยว่า ในการเป็นฝ่ายค้าน ถ้าหากรัฐบาลเสนอกฎหมายที่เป็นประโยชน์กับประเทศ หรือกฎหมายสำคัญ เช่น ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี แต่รัฐบาลก็มีเสียงในสภาฯ แค่ 253 เสียง ทางเพื่อไทยจะว่าอย่างไร เลขาธิการพรรคเพื่อไทย บอกไว้ว่า โดยหลักการต้องถือว่านักการเมืองทุกคน อะไรก็ตาม เรื่องของประเทศชาติเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เรื่องของประชาชนเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มากเสมอ เพราะฉะนั้น ถ้าหากมีกฎเกณฑ์กติกาที่จะถูกออกแบบแล้วทำให้สังคมอยู่รอดได้ ทำให้สังคมพัฒนาไปในทางที่ดีได้ ก็ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่พรรคฝ่ายค้านจะไปคัดค้านหรือไม่สนับสนุนไม่ให้เกิดขึ้น

...เป้าหมายของฝ่ายค้านคือเราทำหน้าที่เพื่อให้ทุกอย่างเดินไปในทิศทางที่เหมาะที่ควร ที่ถูกต้อง ดังนั้นหากสิ่งใดทำมาถูกต้อง เราก็ไม่มีเหตุที่จะไปคัดค้านอะไร เช่น ออกงบประมาณมาแล้วจะเป็นประโยชน์กับประชาชน และเป็นทิศทางที่เราเห็นว่ามันคือปัญหา ทั้งในพื้นที่ซึ่งเราอยู่ก็เกิดขึ้นจริง และทั่วประเทศก็เกิดขึ้นจริง

ภูมิธรรม ยืนยันว่า อย่างไรก็ตามไม่ว่าใครมาบริหารประเทศก็ต้องทำในสิ่งเหล่านั้น ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไปคัดค้านหรือขัดขวางไม่ให้เขาทำงานไม่ได้ เพราะมันจะส่งผลกระทบเสียหายต่อประชาชนโดยตรง

ดังนั้นที่เราเคยบอกว่าเราจะค้านแบบมีหลักการและมีเหตุผล จึงหมายถึงเราจะค้านในสิ่งที่เห็นว่าระบบมันไม่โปร่งใส หรือจะนำไปสู่ความรั่วไหลของงบประมาณรายจ่าย ทำให้เกิดความซ้ำซ้อนหรือไม่มีประสิทธิภาพ หรือเกิดขึ้นจากการบริหารที่บกพร่องของนายกฯ หรือรัฐมนตรีในกระทรวงต่างๆ ที่มองไม่เห็น ไม่มีวิสัยทัศน์ที่จะจัดการปัญหาต่างๆ แบบนี้ก็จะเป็นสิ่งที่เราจะคัดค้าน แต่หากเป็นสิ่งที่คิดดี ทำดี หรือทำโครงการออกมาที่จะป้องกันผลเสียหายจากเรื่องต่างๆ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง หรือทำโครงการที่จะส่งเสริมประสิทธิภาพระบบการคมนาคมของประเทศ

“ถ้าเป็นสิ่งที่ดี ก็ไม่มีเหตุผลที่พรรคฝ่ายค้านจะไปขัดขวางหรือคัดค้าน เพราะประโยชน์ที่มันเกิดขึ้น มันเกิดกับประชาชน และการทำหน้าที่ของฝ่ายค้าน หากตรวจสอบไม่ให้มีการใช้งบประมาณไปในทางที่ไม่เกิดประสิทธิภาพ ไม่ให้เกิดการรั่วไหล ก็เป็นผลงานของฝ่ายค้านได้”

ถามถึงกรณีมีการวิเคราะห์กันว่า การที่รัฐบาลมีเสียง ส.ส.แค่ 253 เสียง ก็อาจทำให้มีการชิงไหวชิงพริบกันในสภาฯ จนทำให้รัฐบาลอาจประสบปัญหาถูกคว่ำในสภาฯ ได้ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ออกตัวว่า อย่าไปกังวลใจว่าการทำงานของฝ่ายค้านจะมีการชิงไหวชิงพริบเพื่อโค่นล้มรัฐบาล ในอดีตที่ผ่านมา รัฐบาลเกือบทุกรัฐบาลที่ล้มไป ก็ล้มไปเพราะตัวรัฐบาลเองทั้งสิ้น หากรัฐบาลเองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำได้ตามเป้าหมายที่เคยแถลงไว้กับประชาชน ก็ไม่มีใครไปล้มรัฐบาลได้ หากฝ่ายค้านทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างมีหลักการมีเหตุมีผล ก็จะไม่ใช่การค้านทุกเรื่องหรือไปหยิบทุกประเด็นทุกกรณีมาค้าน แต่การยึดอยู่บนหลักการ จะเป็นการสร้างผลงานที่ดีอย่างหนึ่ง เพราะประชาชนจับตาดูอยู่ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านอยู่แล้ว

...หากฝ่ายค้านตั้งหน้าตั้งตาแต่จะขวางเพื่อไม่ให้เรือเดินไปข้างหน้า ขัดขวางการพัฒนาของประเทศ ก็จะเป็นปัญหาของตัวฝ่ายค้านเองด้วยเหมือนกัน ซึ่งผมไม่กังวลตรงนี้ เพราะเชื่อว่าฝ่ายค้านวันนี้มีวุฒิภาวะพอ ซึ่งตั้งแต่ผลการเลือกตั้งออกมาจนถึงปัจจุบัน 7พรรคฝ่ายค้านได้สะท้อนมิติการเมืองที่สะท้อนออกมาอย่างสร้างสรรค์ ไม่ได้เริ่มต้นด้วยผลประโยชน์ในการแย่งชิงตำแหน่ง แต่เริ่มต้นจากการยึดหลักการและพยายามจะเดินไปสู่ความร่วมมือกันในการทำงานการเมือง ตรงนี้ประชาชนก็คลายกังวลได้ เพราะเราจะเป็นฝ่ายค้านที่รักษาผลประโยชน์ประชาชนและจะทำหน้าที่อย่างเต็มที่ จะไม่ยินยอมให้เอาประโยชน์ของประชาชนมาเป็นเครื่องต่อรอง จะไม่ยินยอมให้มีการใช้อำนาจหน้าที่ไปแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว โดยอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ เรายินดีร่วมมือ และช่วยกันนำพาประเทศให้เดินไปข้างหน้า

ซักถามไปว่า ถึงเวลานี้ยังมีความพยายามจะมาดึงคนจากฝ่ายค้านไปอยู่กับรัฐบาลหรืองูเห่าอยู่อีกหรือไม่ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ระบุว่า ก็อยู่ที่ความเป็นจริง ขณะนี้ที่เราดูอยู่ก็ยังเห็นร่องรอย ที่ก็ธรรมดา เพราะรัฐบาลที่เสียงปริ่มน้ำขนาดนี้ จะผ่านอะไรแต่ละที ก็แทบเอาตัวไม่รอด ก็เป็นไปได้ ขณะนี้เราก็มี ส.ส.พรรคเราหลายคน ก็มาสารภาพว่า มีการมาติดต่อทาบทามจากพรรคการเมือง มีการชวนไปกินข้าว ชวนไปแสวงหาความร่วมมือบ้างต่างๆ

...ทางพรรค เราก็บอก ส.ส.ของเราว่าต้องยึดผลประโยชน์ประเทศเป็นหลัก แม้ รธน.จะให้ ส.ส.มีเอกสิทธิ์ในการใช้วิจารญาณต่างๆ ได้ แต่อำนาจและผลประโยชน์มันไม่เข้าใครออกใคร หากเราไม่ระวังตัว ไม่เอาศรัทธาที่ประชาชนมอบให้เป็นที่ตั้ง โอกาสที่จะเลื่อนหลุดไปตามผลประโยชน์ส่วนบุคคลที่จะเกิดขึ้นได้ เราก็เตือนพวกเราเองอยู่ตลอดเวลา ว่ายิ่งตระหนักรู้ได้มากเท่าไหร่ ระมัดระวังมากเท่าไหร่ สิ่งที่จะเกิดการผิดแผกไปจากสิ่งที่ควรจะเป็น ก็จะเกิดขึ้นได้น้อยลง

ภูมิธรรม พูดลงรายละเอียดถึงบทบาทของเพื่อไทยในฐานะแกนนำพรรคฝ่ายค้านต่อจากนี้ โดยเฉพาะประเด็นการเคลื่อนไหวให้มีการ แก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับ โดยเฉพาะกฎหมายพรรคการเมืองและกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. โดยเขากล่าวว่า แม้เพื่อไทยจะได้เสียง ส.ส.ในสภาฯ มาเป็นอันดับ 1 แต่การเมืองวันนี้แปรเปลี่ยนไปตามกฎ กติกา หากเป็นแบบเดิม ถึงปัจจุบันพรรคเพื่อไทยก็ต้องเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่เวลานี้เสียง ส.ส.ในสภาฯ เพียงอย่างเดียวไม่สามารถเป็นตัวชี้วัดที่จะกำหนดการเป็นรัฐบาลได้ เพราะต้องพึ่งพาเสียงสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 250 เสียง ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก คสช.

....วันนี้ถึงแม้พรรคเพื่อไทยจะได้เสียง ส.ส.มาเป็นอันดับ 1 และในการรวมเสียงพรรคแนวร่วมฝ่ายเดียวกับเพื่อไทย รวมเสียงได้ 255 เสียง แต่กระบวนการในการคิดตามรัฐธรรมนูญกับการคำนวณตัวเลขจากระบบบัญชีรายชื่อที่ยังไม่ชัดเจน ทาง กกต.ก็ได้คำนวณออกมา จนทำให้เสียงของฝ่ายเพื่อไทยร่วงหล่นหายไป จนทำให้ปัจจุบันตัวเลขอยู่ที่ 246 เสียง ซึ่งของฝ่ายรัฐบาล หากดูจากเสียงโหวตนายกฯ หากตัดประธานกับรองประธานสภาฯ ออกไป เท่ากับรัฐบาลมีเสียง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลอยู่แค่ประมาณ 251 เสียง ที่ถือว่าก้ำกึ่ง

 ...ทำให้แม้จะมีการจัดตั้งรัฐบาลได้ โดยเอาเสียง ส.ว. 250 เสียงมาโหวตด้วย แต่ว่าในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลผ่านระบบสภาฯ ต้องใช้แค่เสียง ส.ส. ทำให้รัฐบาลมีเสียง ส.ส.ในสภาฯ ปริ่มน้ำพอสมควร จนทำให้การจัดตั้งรัฐบาลเวลานี้จึงมีความยากลำบาก เพราะพอจะมีการจัดสรรตำแหน่งต่างๆ ที่ควรพิจารณาว่าปัญหาของประเทศอยู่ตรงไหนแล้วนำคนไปเป็นรัฐมนตรี โดยพิจารณาจากความชำนาญ ความเหมาะสม ประสบการณ์ แต่การตั้งรัฐบาลที่มีพรรคร่วมรัฐบาลร่วม 19 พรรคการเมือง ก็สะท้อนความไม่มีเสถียรภาพ ยิ่งการที่มีกลุ่มก๊วนที่ไปร่วมตั้งรัฐบาลด้วยวิธีการพิเศษต่างๆ เช่น พรรคขนาดเล็กที่มี ส.ส. 1 เสียง ที่มีร่วม 11 พรรค รวมถึงพรรคที่มี ส.ส.ประมาณ 2-3 เสียง ที่อยู่ในพรรคร่วมรัฐบาล จนเป็นรัฐบาลร่วม 19 พรรค เลยทำให้การรวมกันเป็นหนึ่งจึงยากลำบาก และคงทำให้การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลก็คงจะเจอความยากลำบาก

                ...จากกฎกติกาที่มันบิดเบี้ยว จนผลออกมาแบบนี้ จึงทำให้ได้รัฐบาลที่มีความไม่มั่นคง ไม่มีเสถียรภาพ จนทำให้การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า และมีกลุ่มต่างๆ ในพรรคพลังประชารัฐ เช่น กลุ่มด้ามขวานไทย หรือกลุ่มอีสานที่เคยออกมาเคลื่อนไหวเรื่องตำแหน่งรัฐมนตรี หรือการที่พรรครักษ์ผืนป่าฯ ของนายดำรงค์ พิเดช ก็ออกมาเช่นกัน การที่รัฐบาลมีเสียง ส.ส.ประมาณ 251 เสียง อันเป็นผลจากกติกาของรัฐธรรมนูญ ทำให้การได้มาซึ่งพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล จึงไม่เป็นปกติอย่างที่ควรจะเป็น จนทำให้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ จึงทำให้การเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้าต่อจากนี้จะเป็นการเมืองที่ไร้เสถียรภาพ

ปักหมุดเดินหน้าแก้-รื้อ รธน.

                เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ย้ำไว้ว่า การรวมตัวกันของ 7 พรรคการเมืองฝ่ายค้าน ที่ร่วมมือกันตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน เราเห็นว่ากระบวนการได้มาซึ่งสถาบันการเมืองที่จะมาบริหารประเทศมีอุปสรรคติดขัดต่างๆ โดยปัญหาทั้งหมด พบว่าโยงไปถึงรัฐธรรมนูญ ที่ทำให้มีข้อจำกัดอย่างมาก เช่น กระบวนการได้มาซึ่งคณะผู้บริหารประเทศ คณะรัฐมนตรี

เราจึงเห็นตรงกันว่าควรต้องทำให้ประชาชนเข้าใจว่า ตัวรัฐธรรมนูญคือปัญหาและอุปสรรคของการบริหารประเทศและจะส่งผลโดยตรงต่อประชาชน เพื่อให้เข้าใจว่าการที่รัฐธรรมนูญทำให้เกิดปัญหาต่างๆ เช่น การได้มาซึ่งรัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ ทำให้การเมืองลุ่มๆ ดอนๆ อย่างที่เป็นอยู่ในเวลานี้ สุดท้ายมันส่งผลเสียหายต่อการบริหารประเทศในอนาคต จนทำให้ได้มาซึ่งรัฐบาลเป็ดง่อย รัฐบาลที่ไม่มีศักยภาพ ไม่มีเสถียรภาพเพียงพอในการแก้ปัญหาต่างๆ ได้

                เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีอุปสรรคและปัญหาที่ใหญ่มาก ไม่ใช่เรื่องที่จะเสนอแก้ไขได้ง่ายๆ หากจะใช้กระบวนการปกติที่เขียนไว้ใน รธน.อย่างแยบยลจนทำให้การแก้ไขทำได้ยาก จนมีบางคนบอกว่าไม่ได้เขียนไว้ให้มีการแก้ไข แต่เขียนไว้ให้ฉีก เพราะการจะแก้ไขทำได้ยากลำบากหรือแทบทำไม่ได้เลย ซึ่งมีวิธีเดียวที่เป็นวิธีนอกระบบ แต่เป็นวิธีที่เราไม่สนับสนุน นั่นก็คือการทำรัฐประหาร ฉีก รธน. ซึ่งไม่ใช่วิถีทางตามระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นเราในฐานะเป็นพรรคการเมืองก็มีหน้าที่ทำให้คนในสังคมได้มีข้อสรุปร่วมกันว่า เป็นปัญหาจริงๆ กับการที่มี รธน.ที่ทำให้ระบบการเมืองมีปัญหาแบบปัจจุบัน จนทำให้ประเทศไม่มีศักยภาพพอที่จะไปรับมือกับวิกฤติของประเทศ และการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยเรา

จึงเป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองที่ต้องบากบั่น มุมานะ ในการทำให้คนในสังคมเข้าใจ ซึ่งเราเชื่อว่าหากทุกสถาบันในสังคมไทย เช่น สถาบันการศึกษา สถาบันพรรคการเมือง ได้เข้าใจปัญหาเหล่านี้ ข้อสรุปร่วมกันที่จะเกิดขึ้น จะส่งผลในการผลักดันให้ฝ่ายที่มีหน้าที่รับผิดชอบจัดการแก้ไขปัญหาไปได้

                นอกจากนี้เรายังเห็นว่า การที่กฎกติกาเป็นแบบปัจจุบัน ตามกฎหมายพรรคการเมืองและกฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส. ทำให้เจตนารมณ์ของประชาชนที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้ง มีข้อจำกัดและมีความยากลำบาก ดังนั้นการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายพรรคการเมืองและกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.เพื่อทำให้ผลการเลือกตั้งออกมาแล้วสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนได้ถูกนำไปใช้จริง จึงเป็นเรื่องที่ควรต้องมีการแก้ไขปรับปรุง

                ภูมิธรรม กล่าวอีกว่า พรรคเพื่อไทยและ 7 พรรคการเมือง เราพร้อมทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน ซึ่งฝ่ายค้านในรอบนี้ จากจำนวนเสียง ส.ส.ที่มีอยู่ จะทำให้เป็นฝ่ายค้านที่มีความเข้มแข็งพอสมควร โดยเฉพาะจากพื้นฐานอำนาจประชาชนที่รองรับอยู่ ซึ่งทั้ง 7 พรรคก็จะทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านอย่างสร้างสรรค์ มีเหตุมีผล

                ขณะนี้สิ่งที่เราเตรียมกันก็มี 2 ระดับ ระดับแรกคือความร่วมมือกันของ 7 พรรคฝ่ายค้าน ในการทำงานร่วมกันโดยการใช้เวทีรัฐสภา ในการเปิดประเด็นปัญหาและตรวจสอบถ่วงดุลอย่างมีเหตุผล รวมถึงการชี้ปัญหาต่างๆ ให้รัฐบาลได้เห็น มาวันนี้พลเอกประยุทธ์ก็ต้องปรับตัว หลังมีสภาฯ ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ ที่จะทำให้รัฐบาลอยู่ในร่องในรอยมากขึ้น ทำให้หากรัฐบาลจะเดินไปในทางที่ไม่ถูกไม่ควร ก็จะยากลำบาก เพราะจะไม่สามารถทำได้ตามอำเภอใจแบบเดิมๆ แต่หากจะฝืนทำตามอำเภอใจ ก็จะมีระบบถ่วงดุลที่ทำหน้าที่ได้

เพราะต่อจากนี้ไปพลเอกประยุทธ์ก็จะไม่มีมาตรา 44 หลังคณะรัฐมนตรีเข้าปฏิบัติหน้าที่ และรัฐบาลยังต้องเผชิญกับผลของรัฐธรรมนูญที่ท่านดีไซน์ออกแบบมาเอง โดยเฉพาะองค์กรพรรคการเมืองที่มาร่วมมือจัดตั้งรัฐบาล ร่วม 19 พรรค มันเป็นปัญหาและอุปสรรคในตัวของมันเองอยู่แล้ว จึงทำให้ต้องเผชิญกับแรงเสียดทานทั้งจากกลุ่มก้อนการเมืองภายในพรรคร่วมรัฐบาลเอง และการตรวจสอบของฝ่ายค้าน ผมเชื่อว่าฝ่ายค้านยุคนี้จะใช้หลักกฎหมาย หลักการบริหารจัดการที่คนใน 7 พรรคฝ่ายค้าน มีประสบการณ์มาร่วมกันตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ชี้ รบ.อาจสะดุดกับดักตัวเอง

เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้จากรัฐธรรมนูญที่ออกแบบมา ที่เสมือนกับจะให้น้ำหนักเอนเอียงไปในการควบคุมตรวจสอบรัฐบาล ทำให้รัฐบาลเอง ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าผู้ออกแบบรัฐธรรมนูญ เขียนออกมาโดยคาดว่า กลุ่มคนที่เคยเป็นรัฐบาลกลุ่มเดิมจะมาทำงาน เลยพยายามออกแบบรัฐธรรมนูญให้มีลักษณะตรวจสอบถ่วงดุล จนเมื่อฝ่ายตัวเองเข้ามาเป็นรัฐบาลเอง เลยทำให้กฎ กติกาที่วางไว้ ก็จะเป็นกฎ กติกา ซึ่งในความเห็นของเรา

มันเป็นกฎกติกาที่ไม่เอื้ออำนวยให้เราสามารถทำงานได้สอดรับกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและเราก้าวไม่ทัน ปัญหาข้อจำกัดต่างๆ ก็จะส่งผลต่อประชาชน อันเป็นความยากลำบากของการเป็นรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งหากผ่านไปได้สักระยะ ทุกฝ่ายจะเห็นเองว่าการออกแบบกติกาที่เข้มงวด ไม่มีลักษณะยืดหยุ่นให้ปรับตัวได้เหมาะสมกับสถานการณ์ สุดท้ายจะเป็นอุปสรรคและข้อจำกัดอย่างใหญ่หลวงต่อการบริหารงานของรัฐบาล ทำให้รัฐบาลเองต้องเผชิญกับกับดักที่ตัวเองได้ขีดเขียนไว้ ได้ดีไซน์ ได้ออกแบบไว้เอง ที่จะเป็นปัญหาต่อไป เลขาธิการพรรคเพื่อไทยระบุ

                พรรคฝ่ายค้านได้วางแนวเอาไว้ เราจะใช้องค์ความรู้ทางวิชาการ ประสบการณ์ ศักยภาพ และความสามารถของเรา ที่มีทั้งอดีตรัฐมนตรี อดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ก็จะนำองค์ความรู้ต่างๆ ที่มี นำมาใช้ในการทำหน้าที่ตรวจสอบควบคุมดูแลการทำงานของรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพ

-การที่ผู้ใหญ่ แกนนำพรรค ที่เคยมีบทบาทในการอภิปราย รวมถึงคนที่มีประสบการณ์สูงด้านการเมือง เช่น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง, นายโภคิน พลกุล ไม่ได้เป็น ส.ส. ไม่ได้เข้าสภาฯ จะส่งผลต่อการทำงานของ ส.ส.เพื่อไทยหรือไม่?

โลกวันนี้เป็นโลกของคนหนุ่มสาว โลกของคนที่รู้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง หากพิจารณาจากผู้นำประเทศต่างๆ รวมถึงตัวนักการเมืองในปัจจุบัน จะพบว่าคนอายุ 30-40 ปี เป็นนายกฯ-ประธานาธิบดีกันมากมาย ซึ่งคนอายุ 30-40 ปี ในปัจจุบันเขาไม่เหมือนคนยุคผม ที่กว่าจะเรียนรู้เรื่องต่างๆ ต้องผ่านชีวิต ผ่านประสบการณ์จริง จึงสะสมประสบการณ์มาได้ แต่คนยุคใหม่เขาตื่นตัวจากโลกของการเรียนรู้ โลกเสมือนจริง จากอินเทอร์เน็ต ทำให้เรียนรู้โลกได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว องค์ความรู้สำหรับคนรุ่นใหม่ๆ จึงไม่ใช่ข้อจำกัด

 บางทีเราหลงติดอยู่กับประสบการณ์เดิมว่าต้องมีคนมีประสบการณ์มากๆ มาทำงาน ซึ่งจริงๆ แล้วการทำงานการเมืองที่ถูกที่ควรมันควรทำตามกรอบของสถาบันทางการเมืองที่ทำงานอยู่ โดยการทำงานการเมืองมีทั้งทำงานในสภาฯ และนอกสภาฯ การทำงานการเมืองที่ดี คนที่ทำงานการเมืองได้ นอกจากบริหารจัดการงานในสภาฯ แล้ว บทบาทการทำความเข้าใจกับสาธารณชน เช่น การไปอภิปรายตามสถาบันการศึกษาต่างๆ ก็เป็นการทำงานการเมืองในระบบประชาธิปไตย

                วันนี้จึงไม่ได้เป็นปัญหากับการที่คนซึ่งมีประสบการณ์ทางการเมืองของพรรคจะเกาะอยู่ข้างสนาม เพราะเราสามารถให้คำปรึกษา และช่วยงานพรรคได้ เช่น การช่วยในเรื่องข้อมูลวิชาการ เพื่อสนับสนุนการทำงานของพรรคในสภาฯ ได้ โดยพรรคมองการเมืองในกรอบที่กว้าง เพราะการเมืองเกี่ยวข้องกับความรับรู้ของคนในสังคม ทำให้คนที่มีประสบการณ์ของพรรคเพื่อไทย สามารถทำให้พรรคมีความเข้มแข็ง สามารถที่จะเป็นกองสนับสนุนการทำงานของพรรคในสภาฯ ได้ เรื่องนี้จึงไม่ใช่อุปสรรคและข้อจำกัดใดๆ

-รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ที่กลับมารอบนี้ประเมินว่าจะอยู่ได้นานแค่ไหน เกินหนึ่งปีหรือไม่?

ถ้าประเมินและวิเคราะห์ตามระบบ รัฐบาลที่มีเสียง ส.ส.ปริ่มน้ำและไร้เสถียรภาพแบบนี้มันไม่ควรอยู่ได้นาน ประวัติศาสตร์การเมืองไทยในอดีตที่ผ่านมาตั้งแต่หลายยุคมา ยิ่งมีความคิดที่สุดขั้วเท่าไหร่ แล้วไม่มีเสถียรภาพหรือไร้เสถียรภาพ การจะเดินหน้าต่อไปมันยากลำบาก ยุคสมัยปี พ.ศ.2520 เป็นต้นมาที่อยู่ในช่วงยุครัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ และยุคสมัยต่อๆ มา มันพิสูจน์แล้วว่ารัฐบาลที่เกิดขึ้นจากการเมืองที่เป็นส่วนผสมหรือรัฐบาลผสม ที่ขณะนี้มีพรรคร่วมรัฐบาลร่วม 20 พรรคการเมือง  แล้วยังมีเสียงสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลที่มีเสียงปริ่มน้ำแบบนี้ โดยไม่มีเสียงตอบรับจากประชาชนที่ดีพอ

...การทำงานของรัฐบาลจึงไม่น่าจะอยู่ได้ยาวอยู่ได้ไกล แต่ก็อย่างว่าการอยู่รอดของรัฐบาลปัจจุบัน เป็นการดำรงอยู่บนพื้นฐานที่พัฒนามาจากอำนาจเดิมที่ตัวเองได้มาซึ่งวิธีการนอกระบบรัฐธรรมนูญ คือการทำรัฐประหาร และได้ใช้อำนาจนั้นต่อเนื่องมาห้าปีในการเข้าไปจัดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบต่อองค์กรอิสระและองค์กรการเมืองต่างๆ มากมาย

สิ่งเหล่านี้ก็อาจเป็นตัวเสริมอำนาจพิเศษต่างๆ จนทำให้รัฐบาลอาจจะอยู่ได้ยาวขึ้น แต่ผมก็ไม่เชื่อว่าจะอยู่ได้ยาวนาน และถึงอยู่ยาวนานก็จะทนอยู่กันไปในแบบที่ไม่ทำให้เกิดมรรคผลอะไร หรือเกิดประโยชน์ต่อประชาชนได้ ซึ่งถ้าอยู่แบบนั้นก็ไม่ควรอยู่ ถ้าอยู่แบบนั้นสู้ให้ประชาชนได้ตัดสินใจเลือกใหม่น่าจะดีกว่า ถ้าหากว่าสิ่งที่ทำอยู่แล้วยังเชื่อว่าตัวเองทำดี ประชาชนก็อาจตัดสินใจเลือกมา คราวนี้ก็จะได้เสียงซึ่งมั่นใจขึ้นมา หรือถ้าประชาชนเขาอยากบอกว่าเขาทนไม่ไหวแล้ว เขาอยากเปลี่ยนแปลง แล้ว ยิ่งเขาได้เห็นว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาเขาเลือกมาแล้วยังเป็นแบบนี้อยู่ ผลการเลือกตั้งก็จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ชัดเจนขึ้น ก็จะทำให้รัฐบาลที่ได้มาใหม่ ไม่ว่าจะมาจากฝ่ายไหนก็ตามก็จะมีเสถียรภาพที่มากกว่าปัจจุบัน ผมคิดว่าแบบนั้นน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับสังคมไทย

เมื่อถามท่าทีทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยแบบวิเคราะห์กันไปยาวๆ ว่า หากในอนาคตถ้ามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้น โดยพลเอกประยุทธ์ลาออกและหันหลังให้การเมืองโดยไม่มีการยุบสภาฯ ถ้ามีการจับขั้วการเมืองใหม่เพื่อตั้งรัฐบาล มีโอกาสหรือไม่ที่ฝ่ายเพื่อไทยอาจไปจับมือตั้งรัฐบาลกับประชาธิปัตย์หรือภูมิใจไทย แล้วรวมเสียง ส.ส.จากหลายพรรคจนเกิน 376 เสียง สามารถโหวตนายกฯ ได้ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย มองเรื่องนี้ว่า ผมคิดว่าเรื่องนี้มันพูดว่า ถ้า ได้ยาก มันขึ้นอยู่กับความเป็นจริงของการเปลี่ยนแปลง เพราะโดยระบบการเมืองการเข้าสู่อำนาจ การออกจากอำนาจ หรือการปรับเปลี่ยนกลไกทางการเมืองทั้งหมด มันมีระบบของมันรองรับอยู่แล้ว หากพลเอกประยุทธ์เกิดลาออก ก็ต้องถามดูในเงื่อนไขว่าพรรคพลังประชารัฐที่เป็นพรรคแกนนำเวลานี้จะอยู่ในสถานะ หรือจะเกิดขึ้นบนพื้นฐานที่เกิดจากการแตกจากภายในเป็นเสี่ยงๆ บรรยากาศมันก็จะหนักขึ้นไปอีก หรือเกิดขึ้นจากความขัดแย้งมากมายขนาดไหน

...ทางออกทางการเมืองมีเสมอสำหรับระบอบประชาธิปไตย ขออย่างเดียวอย่าให้อำนาจพิเศษ  อำนาจนอกระบบจากผู้ถืออาวุธหรือจากการทำรัฐประหารเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ให้กระบวนการทางการเมืองมันมีพัฒนาการโดยตัวของมันเองก็จะมีทางออกเสมอ.

......................

 

พท.รอเปลี่ยนหัวหน้าพรรค ปรับองคาพยพในวันรับบทฝ่ายค้าน 

                ขณะที่การจัดตั้งรัฐบาล ทำโผคณะรัฐมนตรีกำลังดำเนินไป ในส่วนของ เพื่อไทย พรรคที่มี ส.ส.ในสภาฯ มากที่สุดและเป็นพรรคหลักของแนวร่วมฝ่ายค้าน ก็กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงคณะผู้บริหารในเร็ววันนี้ เพื่อนำคนที่เป็น ส.ส.ของเพื่อไทยขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งจะได้ไปรับตำแหน่ง ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ต่อไป หลัง พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน ที่ลงเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ แต่ไม่ได้เป็น ส.ส.เพราะเพื่อไทยไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แม้แต่คนเดียว

โดยมีกระแสข่าวว่าแกนนำพรรค-ส.ส.หลายคนจะสนับสนุน สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ ที่เคยลงแข่งชิงประธานสภาฯ กับชวน หลีกภัย แต่แพ้โหวต ให้เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่ หลัง น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กรุงเทพฯ ที่เคยมีข่าวมีคนในพรรคบางส่วนสนับสนุน แสดงท่าทีไม่พร้อมลงชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรค  

ภูมิธรรม เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ที่ทำหน้าที่เสมือนพ่อบ้านพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า  ปัจจุบันพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่มี ส.ส.ในสภาฯ มากเป็นอันดับหนึ่ง แต่เมื่อพรรคเพื่อไทยไม่ได้เป็นรัฐบาล คนของพรรคไม่ได้เป็นประธานและรองประธานสภาฯ ซึ่งเมื่อรัฐธรรมนูญบัญญัติว่าหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านที่เป็น ส.ส.ก็จะได้รับการเสนอชื่อทูลเกล้าฯ ถวายให้ได้เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร  จากผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาเพื่อไทยได้ ส.ส.เขตมา 136 เสียง ซึ่งเป็น ส.ส.เขตทั้งหมด โดยพรรคไม่มีส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งคนของพรรคตั้งแต่หัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค รองหัวหน้าพรรค และผู้ใหญ่ของพรรคเพื่อไทยหลายคน ไม่มีใครได้เข้าสภาฯ เลยสักคน

ภูมิธรรม ย้ำว่า พรรคเพื่อไทยจึงมีทางเลือกสองทาง คือหากเรายังคงอยู่กับคณะกรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบัน พรรคเพื่อไทยก็จะไม่สามารถมีคนเข้าไปทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ได้ ก็จะทำให้บทบาทการทำงานในสภาฯ ลดบทบาทลงไป ซึ่งหากพรรคเพื่อไทยคิดว่าตรงนี้เป็นความจำเป็นก็จำเป็นต้องปรับตัว เลือก ส.ส.ของเพื่อไทยมาเป็นหัวหน้าพรรค เพื่อมารับผิดชอบงานและเสนอชื่อเป็นผู้นำฝ่ายค้าน เมื่อเป็นแบบนี้ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง โดยคนในพรรคก็ต้องปรึกษาหารือและพูดคุยกัน

หากพรรคเห็นว่ามีความจำเป็นต้องมีคนของพรรคเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ หัวหน้าพรรค  (พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์) ก็อาจต้องลาออก อันจะทำให้กรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบันต้องพ้นจากการเป็นกรรมการบริหารพรรคไปด้วยตามข้อบังคับพรรค จากนั้นก็จะต้องมีการเปิดประชุมสมัยวิสามัญเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่เข้ามา

...ในปัจจุบันการเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่สามารถที่จะกระทำได้เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ เพราะกรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบันแม้จะถูกเลือกเข้ามาได้ไม่นาน แต่ช่วงดังกล่าว เลือกกันในช่วงที่สภาฯ ยังไม่สมบูรณ์ การเป็นประชาธิปไตยก็ยังไม่ถูกปลดล็อกเพราะเวลานั้นยังอยู่ภายใต้ คสช. โดยในเวลานี้แม้จะมีคนบอกว่ายังเป็นช่วงประชาธิปไตยครึ่งใบ ประชาธิปไตยสลึงเดียว  แต่บรรยากาศการเมืองมันก็เปิดขึ้นมาในอีกขั้นหนึ่ง มี ส.ส.เกิดขึ้น การระดมทรัพยากรจากสมาชิก-ส.ส. เข้ามาช่วยกันทำงานการเมืองในพรรคจึงมีความจำเป็นมากขึ้น

...ในวาระแบบนี้หากจะมีการเปลี่ยนแปลงก็ไม่ได้มีอะไรที่เสียหาย สามารถที่จะปรับได้ โดยหากกรรมการบริหารพรรคทั้งหมดตัดสินใจแล้วว่าเราควรมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำพรรค ก็ควรต้องเริ่มในช่วงนี้

เพราะตามไทม์ไลน์ตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ การโปรดเกล้าฯ ผู้นำฝ่ายค้าน หลังจากคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันเข้าปฏิบัติหน้าที่ ตรงนี้หลายคนจึงไปคาดเดาจะมีการลาออกของหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งหากเป็นไปตามไทม์ไลน์ดังกล่าว ถ้าพรรคเห็นว่าควรต้องมีผู้นำฝ่ายค้านสิ่งต่างๆ ก็จะเกิดขึ้น

หากดูตามไทม์ไลน์ ที่รัฐบาลจะมีการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภา ก็จะมีช่วงเวลาก่อนหน้าการแถลงนโยบายสักประมาณ 12 วันโดยประมาณ ซึ่งหากหัวหน้าพรรคยื่นใบลาออก กรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบันก็ต้องพ้นตามไปด้วย และจากนั้นก็จะมีการเรียกประชุมกรรมการบริหารพรรคทันทีเพื่อตั้งรักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่มาทำหน้าที่ แล้วก็กำหนดวันประชุมวิสามัญพรรค โดยต้องทำภายในไม่เกินเจ็ดวันหลังจากนั้น พอประชุมเสร็จพรรคก็จะส่งชื่อกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อแจ้งประกาศต่อไป

   กระบวนการทั้งหมดก็จะใช้เวลาประมาณ 10-12 วัน ที่หากนับถอยหลังกระบวนการดังกล่าวก็จะอยู่ในช่วงนี้เวลานี้ ก็รอกรรมการบริหารพรรคและผู้ใหญ่ในพรรครวมถึงหัวหน้าพรรคปรึกษาหารือกัน ว่าเราจะเลือกวิถีทางการเมืองในรูปแบบวิธีไหน และการตัดสินใจตรงนั้นก็จะนำไปสู่กระบวนการที่จะเกิดขึ้นต่อไป

ส่วนพรรคเพื่อไทยในยุคที่จะมีกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ จะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเยอะหรือไม่ เป็นสิ่งที่เราตั้งคำถามกับเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ซึ่ง ภูมิธรรม บอกว่า ที่ประชุมพรรคเพื่อไทยต้องหารือกัน แต่หากประเมินจากสถานการณ์ปัจจุบัน ผมก็มองว่าทุกครั้งที่พรรคมีการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการบริหารพรรค พรรคก็มักจะปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับสถานการณ์

 เมื่อสถานการณ์เวลานี้พรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน และมีสภาฯ ให้เราทำหน้าที่ ดังนั้นการเลือกกรรมการบริหารพรรคก็ต้องมีการปรับองคาพยพทั้งหมดของพรรค เพื่อตอบสนองการทำงานในสภาฯ  ในฐานะฝ่ายค้านได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ถามถึงคณะกรรมการชุดต่างๆ ของเพื่อไทย โดยเฉพาะชุดที่มีความสำคัญทางการเมืองกับเพื่อไทย เช่น คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค ซึ่งมีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นประธาน เพื่อไทยจะยังคงให้มีอยู่ต่อไปหรือไม่หลังจากนี้ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย แจงว่า ในข้อบังคับพรรคเพื่อไทยได้มีการกำหนดไว้บางส่วน เช่นให้มีกรรมการบริหารพรรคได้ไม่เกิน 29 คน โดยกรรมการชุดปัจจุบันก็มีประมาณ 13 คน เรื่องนี้ก็อยู่ที่การตัดสินใจว่าเราจะใช้กรรมการบริหารพรรคเต็มชุดหรือไม่ โดยการเลือกรองหัวหน้าพรรค รองเลขาธิการพรรค จะเลือกกี่คนก็ได้ตามภารกิจหน้าที่ซึ่งต้องทำ รวมถึงต้องมีตำแหน่งต่างๆ เช่น นายทะเบียนพรรค เหรัญญิกพรรค นอกนั้นก็เป็นไปตามโครงสร้างข้อบังคับพรรค

ในข้อบังคับพรรคสามารถตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ ได้อีกมาก เช่น การตั้งคณะที่ปรึกษาชุดต่างๆ  เช่น ที่ปรึกษาพรรค ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค รวมถึงการตั้งคณะทำงานชุดต่างๆ ของพรรค เช่น คณะทำงานติดตามการทุจริตคอร์รัปชัน คณะทำงานด้านการกระจายอำนาจ คณะทำงานเศรษฐกิจที่ทำงานเชิงวิชาการ เพื่อตอบสนองการทำงานของในสภาฯ ได้ ทั้งหมดสามารถมีองค์ประกอบของคนทำงานจากทุกรุ่น เมื่อเวลานี้พรรคมี ส.ส. 136 คนไปทำงานในสภาฯ การใช้ผู้อาวุโสที่มีประสบการณ์ในด้านต่างๆ มาช่วยงานในคณะทำงานชุดต่างๆ โดยที่คนรุ่นใหม่ๆ สามารถมาเรียนรู้การทำงานในคณะทำงานชุดต่างๆ  ก็จะเป็นการทำงานในระบบพรรคที่จะทำให้พรรคแข็งแรง เพื่อให้เราทำงานในสภาฯ ได้อย่างเข้มแข็งมีประสิทธิภาพ และทำให้พรรคมีความเป็นสถาบันทางการเมืองได้มากขึ้น

พรรคเพื่อไทยเราจะทำงานกับประชาชนให้มากขึ้น อย่างหลายเรื่องที่พรรคเพื่อไทยเคยประกาศก่อนหน้านี้ แม้วันนี้เราไม่ได้เป็นรัฐบาลแต่เราก็สามารถทดลองทำได้ ชี้ให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ว่าสิ่งที่เราเคยบอกไว้มันจะส่งผลดีอย่างไร ตรงนี้ก็จะเป็นบทบาทหน้าที่ของพรรคเพื่อไทยในอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้น

-มองกันว่าฐานเสียงเพื่อไทยในอดีต คนที่เคยเลือกเพื่อไทย วันนี้หันไปเลือกพรรคอนาคตใหม่กันหมด แบบนี้พรรคเพื่อไทยจะมียุทธศาสตร์ดึงฐานเสียง คนที่เคยเลือกเพื่อไทยกลับคืนมาหรือไม่ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่?

ผมคิดว่าทุกพรรคการเมืองมีสมาชิก มีแฟนคลับของเขา ไม่ว่าจะเป็นพรรคเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์หรือเพื่อไทยที่อยู่ต่อเนื่องยาวนานมาหลายปี หรือพรรคอนาคตใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น รวมถึงพรรคการเมืองอื่นๆ อีกหลายพรรค เพราะแต่ละพรรคก็มีจุดดีจุดเด่นของตัวเอง

 พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคการเมืองที่พิสูจน์ตัวเองมายาวนานพอสมควร อย่างน้อยก็ร่วมยี่สิบปี โดยการทำงานของเราที่ต่อเนื่องกันมา เรายึดมั่นในเรื่องนโยบายพรรคและอุดมการณ์ประชาธิปไตย โดยเราได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ในทุกคำสัญญาที่เราพูดกับประชาชน เราไม่เคยละเลยไม่เคยละทิ้ง เรานำสิ่งเหล่านั้นมาประกอบการทำงานในตอนเป็นรัฐบาล และฝ่ายต่างๆ ในทางการเมืองตลอด ตรงนี้เป็นต้นทุนสำคัญ ที่ประชาชนจะรู้สึกว่าเพื่อไทยเป็นพรรคการเมืองที่พูดอะไรแล้ว เราทำตามที่เราพูด และยังทำมากกว่าสิ่งที่พูดไว้อีก เราเป็นพรรคการเมืองที่คิดนโยบายใหม่ๆ จนเป็นที่ประจักษ์ว่าเราอยากเห็นสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เจริญก้าวหน้ามากขึ้น เพื่อไทยจึงมีต้นทุนของเรา ที่มีประสบการณ์และเป็นพรรคการเมืองที่มีแบรนด์ซึ่งไม่มีใครทำลายเราได้ และยังเป็นพรรคการเมืองที่คิดอะไรใหม่ๆ  เสมอ ซึ่งก็เป็นความจำเป็นของทุกพรรคการเมือง ที่หากคุณไม่สามารถทำให้คุณทันสมัยกับการเปลี่ยนแปลงของโลก คุณก็จะตกยุคตกรุ่นไป

ผมก็เชื่อว่าเราเองก็มีคนรุ่นใหม่ๆ ที่เขาเห็นและเขาชอบเรา ซึ่งคนเราในสังคมมันไม่จำเป็นที่ต้องคิดเหมือนกันหมด เพราะฉะนั้นการที่กระจายกลุ่มคนรุ่นใหม่ๆ หรือตามผลโพลที่คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยไปอยู่กับพรรคอนาคตใหม่ ก็เป็นเรื่องธรรมดา ที่อย่างน้อยก็เป็นเครื่องสอนใจเราว่า เราก็เคยเป็นหนึ่งในการที่สื่อสารทำความเข้าใจกับคนรุ่นใหม่ๆ ได้มาก ประสบการณ์และความจำเป็นมันไม่บอกความเก่าอย่างเดียว แต่มันบอกความมีศักยภาพและการผ่านร้อนผ่านหนาวมา ที่จะสามารถเข้าใจโลก เรียนรู้โลกได้มากขึ้น เพียงแต่อย่าไปยึดติดกับกรอบเหล่านั้น จนทำให้เราไม่รับรู้การเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นผมก็คิดว่าตรงนี้ก็เป็นคำถาม ที่กลับมาถามตัวพรรคเพื่อไทยเองว่าหากเรายังปรารถนาการสนับสนุนจากคนกลุ่มต่างๆ ทั้งคนรุ่นผู้ใหญ่ คนมีประสบการณ์ คนรุ่นใหม่ๆ ถ้าพรรคเพื่อไทยสามารถตอบโจทย์คนทุกกลุ่มได้ เราก็ไม่มีอะไรต้องมานั่งกังวลใจว่าเราจะถูกแย่งลูกค้า

คิดว่าในช่วงเกือบยี่สิบปีมานี้ จากที่พัฒนามาจากสมัยไทยรักไทย แล้วมาพรรคพลังประชาชน จนมาถึงพรรคเพื่อไทย เราได้พิสูจน์ความต่อเนื่องของเราในการเป็นพรรคการเมืองที่จริงใจ จริงจัง เคารพตัวเอง ทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เพื่อไทยเดินไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราเพียงแต่ต้องรู้จักปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง ถ้าเรามัวแต่ชื่นชมความสำเร็จของเราในอดีต โดยไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แบบนั้นเราก็จะตกรุ่นและก้าวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของคนรุ่นใหม่ๆ หรือโลกยุคใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นเสมอ. 

โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

........................................

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"