สงครามการค้า-เศรษฐกิจโลกถดถอย ฉุดส่งออกไทยเดือน พ.ค.ปีนี้ร่วงเกือบ 6% ลดลงมากสุดในรอบ 34 เดือน ยังดีสินค้าเกษตรขยายตัวต่อเนื่อง รอรัฐบาลใหม่เดินหน้าเจรจาเปิดการค้าเสรี พาณิชย์มั่นใจส่งออกทั้งปีเข้าเป้า 3% มูลค่า 2.6 แสนล้านดอลลาร์
นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยเมื่อวันศุกร์ ถึงตัวเลขการส่งออกในเดือนพฤษภาคม 62 มีมูลค่า 21,017.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -5.79% จากที่คาดการณ์จะหดตัว -5% ถือเป็นการส่งออกที่ลดลงมากสุดในรอบ 34 เดือน นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 59 ที่การส่งออกของไทยอยู่ที่ -6.27% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 20,836.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -0.64% ดุลการค้าเดือนพฤษภาคม เกินดุล 181.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ การส่งออกเดือน พ.ค.ที่หดตัว สอดคล้องกับแนวโน้มการค้าโลก และอุปสงค์ของคู่ค้าสำคัญที่ชะลอตัวลงตามปัจจัยร่วม อาทิ ข้อพิพาททางการค้า และภาวะการเงินโลกที่ตึงตัว รวมทั้งปัจจัยเฉพาะของแต่ละประเทศและภูมิภาค เช่น ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองในยุโรป เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การส่งออกไทยยังได้รับผลกระทบน้อยกว่าหลายประเทศในภูมิภาค และขยายตัวได้ดีในหลายตลาด ทั้งตลาดสำคัญเดิม อาทิสหรัฐอเมริกา อินเดีย และตลาดดาวรุ่งใหม่ เช่น แคนาดา รัสเซียและเครือรัฐเอกราช หรือ CIS
"เดือน พ.ค. การส่งออกหดตัวจากปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญ โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากไทยเป็นห่วงโซ่การผลิตของจีน รวมทั้งการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันและทองคำ ที่ชะลอตัวลงจากปัจจัยราคา มูลค่าการส่งออกที่ 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนนี้ ก็ถือว่ารับได้" นางสาวพิมพ์ชนก ระบุ
ผอ.สนค.กล่าวว่า เมื่อดูในรายสินค้าเกษตรส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มอาหาร ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง และกระจายตัวในหลายตลาด ทั้งตลาดจีน อาเซียน สหรัฐ ไต้หวัน และฮ่องกง โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวดี ได้แก่ ผัก ผลไม้สดแช่แข็งบรรจุกระป๋องและแปรรูป ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป และเครื่องดื่ม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่สร้างรายได้แก่เกษตรกรและ SME ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่ขยายตัวและน่าจับตามอง ได้แก่ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องส่งวิทยุ โทรเลข โทรศัพท์ โทรทัศน์ นาฬิกา และส่วนประกอบ ที่เริ่มเห็นทิศทางการขยายตัวมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา
ขณะที่ภาพรวมภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยในช่วง 5 เดือนปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.) การส่งออกมีมูลค่า 101,561.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -2.70% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 100,830.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว -0.99% ดุลการค้าเกินดุล 731 ล้านเหรียญสหรัฐ
น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า ปัจจัยเชิงบวกที่ยังช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทย คือ ภาพลักษณ์ของสินค้าไทยที่ดีในสายตาของต่างชาติ รวมถึงมาตรการส่งเสริมการค้าเชิงรุกเจาะตลาดรายพื้นที่ โอกาสในการทดแทนสินค้าท่ามกลางข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน แต่อย่างไรก็ดี ยังต้องเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงภายนอก เช่น ความยืดเยื้อของข้อพิพาททางการค้าที่กลับมากดดันบรรยากาศการค้าโลกอีกครั้ง ราคาน้ำมัน และอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวน นโยบายการค้า และการมีผลบังคับใช้ของ FTA ในประเทศต่างๆ กระทบต่อความสามารถในการส่งออกของไทย
"ในภาวะการค้าที่มีความท้าทายสูง การวางกลยุทธ์เจาะตลาดรายพื้นที่ การสนับสนุนสินค้าใหม่ที่มีศักยภาพเข้าสู่ตลาด และการขยายความร่วมมือทางการค้าในภูมิภาค จะช่วยสนับสนุนการขยายโอกาสส่งออกในหลายตลาด"
น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า ในห้วงเวลาที่เหลือของปีนี้ กระทรวงพาณิชย์มีมาตรการส่งเสริมการส่งออก
โดยใช้นโยบายการค้าควบคู่กับการลงทุนและการบริการ อาทิ กลยุทธ์รายพื้นที่ขยายโอกาสการส่งออกในกลุ่มตลาดที่แข็งแกร่ง อาทิ สหรัฐ อินเดีย และกลุ่มประเทศ CLMV คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม และเปิดตลาดใหม่ที่เริ่มเห็นสัญญาณการขยายตัวต่อเนื่อง เช่น รัสเซีย และแคนาดา นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับสินค้าที่ขยายตัวสูง และมีศักยภาพในการส่งออกทดแทน อาทิ สินค้าเกษตร ประมงและอาหาร (สดและแปรรูป) ไก่ รวมถึงการผลักดันสินค้าดาวรุ่งใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ ด้วยภาพลักษณ์ของสินค้าไทยที่มีคุณภาพดี มาตรฐานระดับสากล ช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค เพื่อชดเชยการชะลอตัวของสินค้าหลักกลุ่มเดิม อาทิ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ นาฬิกาและส่วนประกอบ เครื่องดื่ม เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เป็นต้น
สำหรับอัตราแลกเปลี่ยน น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า ในเดือน พ.ค. ดอลลาร์สหรัฐอยู่ที่ 31.50 บาท มีผลกระทบต่อการส่งออกของไทย โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตร ซึ่งเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องได้อีก ดังจะเห็นได้จากล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. เงินบาทแตะที่ระดับ 30.94 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าสุดในรอบ 6 ปี สร้างแรงกดดันต่อการส่งออกของไทย ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงเงินบาทเพื่อให้เกิดความได้เปรียบทางการค้าได้ แต่เชื่อว่าเรื่องนี้ ธปท.ได้พยายามดูแลค่าเงินบาทอย่างเต็มที่แล้ว ส่วนผู้ส่งออกควรให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับการทำประกันความเสี่ยง รวมทั้งภาครัฐเองที่อาจจะมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเพิ่มแต้มต่อให้กับการส่งออกของไทยด้วย นอกจากนี้ รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศควร
ประกาศความชัดเจนในการเดินหน้าเปิดเจรจาการค้าเสรี (FTA) ซึ่งจะเห็นว่าหลายประเทศที่ยังสามารถส่งออกได้ดีท่ามกลางปัญหาสงครามการค้านั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมีการทำข้อตกลง FTA ไว้กับหลายประเทศ
"ต้องยอมรับว่ามาตรการของประเทศต่างๆ ที่ออกมา มีผลทำให้เงินไหลเข้ามาในไทยมากขึ้น และทำให้เงินบาทแข็งค่า ดังนั้นต้องเตรียมรับมือ เราคงไม่หมดหวัง เพราะสินค้าบางตัวก็ยังไปได้ดี...อยากให้มีการลงทุนในสินค้าที่ทันสมัยมากขึ้น เช่น รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็น Consumer trend เราต้องตามให้ทัน" น.ส.พิมพ์ชนกระบุ
ด้าน น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ แสดงความมั่นใจว่าการส่งออกในปีนี้จะทำได้ตามเป้าหมายล่าสุดที่ตั้งไว้ที่ 3% คิดเป็นมูลค่า 2.6 แสนล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้วางกลยุทธ์สำคัญสำหรับการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ เพื่อช่วยผลักดันการส่งออกของไทย เช่น การเชื่อมความสัมพันธ์และผลักดัน FTA, การเจาะตลาดใหม่ ยกระดับมาตรฐานการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ส่งเสริมการค้าออนไลน์ และประชาสัมพันธ์สินค้าไทยผ่านผู้นำกระแสการค้า, ส่งเสริมธุรกิจบริการ และพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อเชื่อมโยงการส่งออกจากท้องถิ่นสู่สากล.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |