เขาแย่งกระทรวงกัน ด้วยเหตุผลอันใด?


เพิ่มเพื่อน    

 วันก่อนผมถามอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศท่านหนึ่ง ว่าทำไมไม่เห็นนักการเมืองพรรคต่างๆ แย่งตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศกันเลย?

เห็นมีแต่ยื้อแย่งกระทรวงเกษตรฯ, พลังงาน, พาณิชย์ และคมนาคม

ท่านตอบทันทีว่า "ก็เพราะกระทรวงต่างประเทศไม่มีงบสำหรับโครงการใหญ่ๆ อะไร ไม่เหมือนกระทรวงเศรษฐกิจที่มีโครงการยักษ์มากมาย"

ผมแย้งว่ากระทรวงต่างประเทศมีความสำคัญมากเพราะเป็นหน้าตาของประเทศ เป็นหน่วยงานที่ต้องแสดงความเป็นผู้นำด้านการทูตและวิสัยทัศน์ของประเทศในเวทีระหว่างประเทศ

ท่านบอกว่า "ก็นั่นน่ะซิครับ"

ที่สหรัฐฯ รัฐมนตรีต่างประเทศอยู่ในลำดับต้นๆ ของเจ้าหน้าที่รัฐ เรียงลำดับตามนี้คือ ประธานาธิบดี, รองประธานาธิบดี, ประธานสภาผู้แทนราษฎร, ประธานวุฒิสภา, จากนั้นก็คือรัฐมนตรีต่างประเทศ

แต่ของประเทศไทยนั้นรัฐมนตรีต่างประเทศถูกมองว่าอยู่เกรดบีหรือซีด้วยซ้ำไป

นั่นย่อมแปลว่านักการเมืองแย่งกระทรวงที่มี "โครงการใหญ่ๆ" เพราะมีโอกาสได้ประโยชน์จากการนั่งกระทรวงนั้นๆ กระนั้นหรือ

เพราะถ้าหากพวกเขามีความมุ่งมั่นที่จะรับใช้ประชาชนจริง ก็ควรจะต้องมีความเห็นพ้องกันว่าทุกกระทรวงล้วนมีความสำคัญเท่ากัน

วันก่อนผมเห็น ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เขียนในเฟซบุ๊กน่าสนใจว่า

กระทรวงเกรด A ที่นักการเมืองแบ่งสรรกันอยู่ ไม่ได้แปลว่าต้องมีงบประมาณมากเท่านั้น

เห็นได้จากกระทรวงศึกษาฯ ที่มีงบประมาณสูงสุดแต่ไม่เป็นที่สนใจ เพราะที่เขาต้องการคือกระทรวงที่ทำให้มี "โอกาส" ได้สิ่งเหล่านี้มากที่สุด

1."ร่ำรวย" อาจได้โดยตรงจากโครงการที่ลงทุน หรือทำให้ธุรกิจของตนได้งาน ได้เงิน

                2."คะแนนนิยม" จากการออกนโยบายรัฐหรือทำโครงการที่โดนใจฐานเสียง บางครั้งอาจใช้บทบาทอำนาจ ใช้เจ้าหน้าที่และงบประมาณหลวงไปทำสิ่งไม่ถูกต้องก็มี

3."อำนาจ" จากการคุมกลไกรัฐ โดยเฉพาะทหาร ตำรวจ มหาดไทย และคลัง

4."ดูแลพวกพ้อง" ให้ได้ทั้งลาภ ยศ สรรเสริญ

คุณมานะบอกว่ากระทรวงพลังงานและอุตสาหกรรมเป็นสองกระทรวงที่มีงบประมาณน้อยที่สุด แต่เป็นที่หมายปองที่สุด เพราะมีอำนาจมากแถมยังมีรัฐวิสาหกิจใหญ่ เงินเยอะอยู่ในมืออย่าง ปตท.และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต

ชาติของเราคงเจริญกว่านี้ถ้านักการเมืองหันมาพูดว่า

"อยากบริหารงานกระทรวงที่สร้างอนาคตให้ประเทศได้มากที่สุด"

แต่คงยาก เพราะบ้านเราแม้จะมีนักการเมืองที่ตั้งใจสร้างผลงานเพื่อแผ่นดินอยู่บ้าง แต่น้อยนักที่คนดีจะมีโอกาสได้ใช้ความรู้ความสามารถบริหารบ้านเมือง

อีกทั้งถ้าพิจารณานักการเมืองแต่ละพรรคที่ส่งคนของตนไปเป็นรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีช่วย ก็จะเกิดความสงสัยว่าเขาพิจารณาคุณสมบัติของคนที่ส่งไปนั้นบนพื้นฐานอะไร

หลายคนที่ถูกส่งไปเป็นรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีช่วยไม่ได้มีประสบการณ์หรือเคยแสดงความสามารถด้านนั้นๆ แต่อย่างใด

บางคนได้ตำแหน่งเพราะเป็นนายทุนพรรค

บางคนได้ตำแหน่งเพราะเป็นคนของเจ้าของพรรค

บางคนได้ตำแหน่งเพราะมี ส.ส.อยู่ในสังกัดจำนวนหนึ่ง

บางคนได้ตำแหน่งเพราะมีบุญคุณกับเจ้าของพรรค

น้อยคนจะได้ตำแหน่งเพราะมีประสบการณ์หรือความรู้ความสามารถด้านนั้นจริงๆ

จึงเกิดการแบ่ง "เกรด" กระทรวงเป็น A, B, C ตาม "โอกาสที่จะหาประโยชน์และสร้างบารมี" ได้

การเมืองแบบเก่าเช่นนี้ยังมีให้เห็นในการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีครั้งนี้ ยิ่งทำให้เห็นว่าสิ่งที่เรียกว่า  "ปฏิรูปการเมือง" ที่ คสช.รับปากตั้งแต่ทำรัฐประหารมาเมื่อ 5 ปีก่อนล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

และคำมั่นสัญญาจะปราบคอร์รัปชันของรัฐบาลชุดแล้วชุดเล่าก็เป็นเพียงการรับปากลมๆ แล้งๆ ที่ไม่มีความหมายทางปฏิบัติแต่อย่างใด. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"