หากจะเอ่ยว่า “ป่าไม้ คือ รากฐานชีวิต” ก็คงจะไม่ผิดนัก เพราะจากบทเรียนที่เคยได้ร่ำเรียนกันมา ได้กล่าวไว้ว่าการดำรงชีวิตของมนุษย์อยู่ได้ด้วยปัจจัยสำคัญ 4 ประการ คือ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และสิ่งกล่าวมาทั้งหมดนี้ก็ล้วนมาจาก “ต้นไม้” สิ่งมีชีวิตที่สร้างคุณอนันต์ให้กับสรรพสิ่งบนโลกกลมๆใบนี้ เป็นที่พักพิงให้กับสัตว์น้อยใหญ่ รวมทั้งมนุษย์ โดยเฉพาะมนุษย์นำต้นไม้มาใช้ประโยชน์ในทุกรูปแบบทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น แปรรูปไม้มาสร้างเป็นอาคารบ้านเรือนที่อยู่อาศัย นำมาเป็นอาหาร นำมาใช้ยารักษาโรคภัยไข้เจ็บ นำมาถักทอเป็นเครื่องนุ่งห่มให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย และที่นอกเหนือไปจากการเป็นปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิตแล้ว “ป่าไม้” ยังช่วยให้เกิดฝนตกเพิ่มขึ้น ทำให้เรามีน้ำกินน้ำใช้ ช่วยบรรเทาความรุนแรงของลมมรสุม บรรเทาการเกิดอุทกภัย ป้องกันการพังทลายของดิน และช่วยลดโลกร้อนด้วยการผลิตออกซิเจนให้กับโลก
ถึงแม้ว่ามนุษย์จะทราบดีว่า “ป่าไม้นั้นสำคัญเพียงใด” แต่คนบางกลุ่มก็ยังคงตัดไม้ทำลายป่า รุกราน และเผาป่าด้วยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน กระนั้นเองก็ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ลุกขึ้นปกป้องด้วยหัวใจจิตอาสา ดับไฟในป่าใหญ่ ปฏิบัติภารกิจชนิดที่ “ทน เสียว เสี่ยง” เพื่อกู้วิกฤติไม่ให้ผืนป่าหายไปตามกาลเวลา
เขาเหล่านี้ต้อง “ทน” ต่อความร้อนที่เกิดจากไฟป่า ที่อุณหภูมิมากกว่า 50 องศาเซลเซียสในระยะประชิด ทนต่อความเหน็บหนาวในยามค่ำคืน ทนต่อความเหน็ดเหนื่อยเดินทางไกลในป่าลึกไม่ต่ำกว่า 20 กิโลเมตร ทนแบกเป้และอุปกรณ์ดับไฟหนักกว่า 30 กิโลกรัม ทนต่อสู้กับหมอกควัน และความหิวโหย ทนอดหลับอดนอน “เสียว” ลัดเลาะผ่านหุบเหวลึก และเขาสูงชัน และ “เสี่ยง” กับไฟป่าที่รุนแรง และโหมกระหน่ำ ในวันที่ไฟลุกโหมไหม้รอบด้าน ต้องนำน้ำดื่มที่พกติดตัวมารดตัว และบุกลุยฝ่ากลุ่มไฟป่าออกมาเพื่อรักษาชีวิต
นายอรรณพ โหรวิชิต ช่างระดับ 10 เขื่อนภูมิพล หนึ่งในทีมดับไฟป่าเสือดำ กฟผ. เล่าให้เราฟังว่า สาเหตุของไฟป่าที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ปีละกว่า 30- 40 ครั้งนี้ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์ และสาเหตุที่สำคัญของการเผาป่า คือ
1.) การล่าสัตว์ เพื่อต้องการเผาพื้นที่สังหารให้โล่งเตียน นำมาซึ่งการส่องยิงสัตว์ป่าได้ง่าย
2.) หาของป่า เผาป่าเพื่อให้ผักหวานผลิใบแตกยอด และเผาเพื่อให้เห็ดเผาะขึ้น เพราะหากมีต้นไม้และหญ้าปกคลุมผิวดินจำนวนมาก เห็ดเผาะก็จะไม่ขึ้น พืชสองชนิดนี้เป็นที่ต้องการบริโภคจึง มีราคาแพง
3.) เลี้ยงสัตว์ ก็เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ต้องการเผาป่าเพื่อให้หญ้าระบัดเป็นอาหารของวัว
4.) เผาเพื่อให้ป่ากลายเป็นพื้นที่เสื่อมโทรม และเข้ามายึดครองที่ดินต่อไป สำหรับปีที่ผ่านมานี้มีการเผาป่ามากขึ้นกว่าทุกปี มีการเข้าไปดับไฟป่ารวมแล้วกว่า 40 ครั้ง
จุดเริ่มต้นของกลุ่มจิตอาสาดับไฟป่า เกิดขึ้นในปี 2539 โดย กฟผ. เขื่อนภูมิพล มีนโยบายส่งเสริมการดูแลผืนป่า ภายใต้โครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ โดยจิตอาสา กฟผ. ได้รวมตัวกันก่อตั้งกลุ่มจิตอาสาดับไฟป่าขึ้น ต่อมาในปี 2550 กฟผ. เขื่อนภูมิพลได้จัดโครงการอบรมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยเข้าไปทำประชาคมร่วมกับชุมชนบ้านท่าปุยตก และชุมชนใกล้เคียง เพื่อดูแลผืนป่าร่วมกันภายใต้แผนงาน ดับไฟป่า สร้างแนวกันไฟ สร้างฝายชะลอน้ำ ร่วมกันปลูกป่าในฤดูฝน รวมทั้งจัดพิธีกรรมทางศาสนาให้ป่า ได้แก่ พิธีบวชป่า สืบชะตาป่า หรือพิธีเลี้ยงผีป่า เป็นต้น ในปัจจุบัน มีพนักงาน กฟผ. ที่รวมตัวทำงานจิตอาสาดับไฟป่าทั้งสิ้น 20 คน ภายใต้ชื่อ “ทีมเสือดำดับไฟป่า”
ทุกต้นเดือนมกราคมถึงช่วงต้นฤดูฝนของทุกปี เป็นช่วงที่มีการเผาป่ามากที่สุด จิตอาสาดับไฟป่าประกอบไปด้วย หน่วยป้องกันป่าไม้ หน่วยงานราชการท้องถิ่น อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ กฟผ. มีหน้าที่ดูแลสอดส่องการเกิดไฟป่า โดยจะแบ่งกันรับผิดชอบดูแลในพื้นที่ของตนเอง ลาดตระเวนโดยรอบพื้นที่ ที่รับผิดชอบ ทั้งกลางวัน และกลางคืน จัดกระเป๋าเตรียมพร้อมเข้าป่าตลอดเวลา เมื่อพบเห็นควันไฟที่ป่า ชุมชนใดชุมชนหนึ่ง จะต้องแจ้งไปยัง “ศูนย์ควบคุมป้องกันไฟป่า”ซึ่งมีนายอำเภอสามเงา จ.ตาก เป็นผู้อำนวยการศูนย์ คอยประสานงานจิตอาสาทีมงานอื่น หากพื้นที่ใดต้องการกำลังเสริม จากนั้นจึงบุกลุยเข้าไปในพื้นที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด และแบ่งทีมออกเป็นสองทีมกระจายตัวรอบพื้นที่ไฟไหม้ เว้นระยะให้ห่างจากบริเวณที่ไฟไหม้ประมาณ 20 เมตร ใช้คราดหรือเครื่องเป่าลม กำจัดเชื้อไฟ เช่น ใบไม้แห้ง เศษไม้ ให้ออกจากบริเวณตลอดเส้นทางไฟไหม้ เพื่อไม่ให้ไฟป่าลามไปยังพื้นที่อื่นๆต่อไป แต่หากกรณีที่ไฟป่าลุกไหม้รุนแรงมาก จะใช้วิธีเผาไฟกลับ เพื่อให้ไฟลุกไหม้ไปชนกับไฟป่า เมื่อเชื้อไฟหมดลง ไฟป่าก็จะดับ ป่าก็กลับมาสู่ความสงบอีกครั้ง
นายอรรณพ เล่าถึงแรงบันดาลใจในการทำงานดับไฟป่าว่า เพราะใจรักในงานจิตอาสาอยากเห็นป่าทุกแห่งมีความอุดมสมบูรณ์ และอยากทดแทนบุญคุณแผ่นดิน จึงอาสาตนเข้าไปทำงานดับไฟป่า ประกอบกับ หน่วยงาน กฟผ. เป็นหน่วยงานที่มีความพร้อม สามารถที่จะเป็นส่วนกลางในการประสานงาน และที่สำคัญมีผู้บริหารมีวิสัยทัศน์ และให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม เปิดโอกาสให้ทำงานด้านจิตอาสา จึงพร้อมอาสาตนเข้าไปดูแลผืนป่าด้วยความภาคภูมิใจ
จึงสะท้อนให้เห็นว่า กฟผ. ไม่ใช่เพียงหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องการผลิตไฟฟ้า รักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศเพียงอย่างเดียว แต่เป็นหน่วยงานที่มุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน “ทีมเสือดำดับไฟป่า” คือ หนึ่งในเบื้องหลังของการทำงานของผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. ที่ทำงานด้วยมีจิตสาธารณะ ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มความสามารถ และแม้ว่างานดับไฟป่านั้น จะเป็นงานที่ต้อง “ทน เสียว เสี่ยง” แต่ทีมเสือดำดับไฟป่า ไม่เคยคิดย่อท้อ ยังคงมุ่งมั่นตั้งใจในการปฏิบัติภารกิจ เพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์สุขที่ยั่งยืนให้กับสังคมไทยต่อไป
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |