"พปชร." ผวา! 27 ส.ส.ถือหุ้นสื่อสะดุดขาตัวเอง เร่งตรวจรายละเอียดสำนวนคำร้อง หาทางสู้คดี พร้อมเตรียมยื่นศาล รธน.คุ้มครองชั่วคราวไม่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่สัปดาห์หน้า อ้างกระทบงานสภาและรัฐบาล ขออย่านำไปเทียบคดีธนาธร โพลชี้ ปชช.หนุนสอบ ส.ส.ทั้งรัฐบาล-ฝ่ายค้านทุกคนเพื่อความโปร่งใสยุติธรรม
เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. เวลา 13.30 น. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ประชุมตามวาระที่มีการเสนอพิจารณาวาระทั่วไป และคดีอื่นๆ เท่านั้น ไม่มีวาระการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ว่าความเป็นรัฐมนตรีของ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, นายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่ กรณีที่ถือครองหุ้นบริษัทที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐ ซึ่งมีกระแสข่าวก่อนหน้านี้ว่าที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะนำมาพิจารณาในครั้งนี้
ขณะที่นายทศพล เพ็งส้ม หัวหน้าทีมต่อสู้คดีหุ้นสื่อของ 27 ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เดินทางมาที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เข้าตรวจสำนวนคำร้องที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า 41 ส.ส.ที่ถือครองหุ้นสื่อ เข้าข่ายทำให้ขาดคุณสมบัติดำรงตำแหน่ง ส.ส.หรือไม่
นายทศพลกล่าวว่า มาตรวจสำนวนเพื่อจะได้รู้ว่าสภาส่งเอกสารอะไรมาบ้าง จะได้วางแผนการต่อสู้ถูก ซึ่งก่อนหน้านี้เราได้มีการแบ่งกลุ่มคดี เป็นกลุ่มคดีที่มีความเสี่ยง กลุ่มคดีกลางๆ และกลุ่มคดีที่มีความคาบเกี่ยวกัน เพราะวิธีการต่อสู้ในแต่ละกลุ่มคดีไม่เหมือนกัน ขณะเดียวกัน ทางพรรคได้มีการหารือกับพรรคร่วมด้วยกันถึงวิธีการต่อสู้คดี ในกรณีของ ส.ส.พรรคนั้นถูกยื่นร้องด้วย รวมถึงก็จะมีการยื่นร้อง ส.ส.ของ 7 พรรคที่มีการถือหุ้นสื่อ โดยจะมีอีกทีมงานหนึ่งเป็นผู้ดำเนินการ
"ปัญหาใหญ่ที่กลัวเมื่อศาลรับคำร้องแล้วจะสั่งให้ ส.ส.ที่ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่คณะทำงานที่ต้องหาเหตุผลว่า 27 ส.ส.ของพรรคพปชร.ไม่เหมือนกับกรณีอื่น จึงไม่ควรที่ศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งจะมีการเอาข้อเท็จจริงที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาตัดสิทธิ์นายภูเบศวร์ เห็นหลอด ผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ จ.สกลนคร และนายคมสัน ศรีวนิชย์ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาชาติ จ.อ่างทอง ที่มีความแตกต่างกัน มาพิจารณาดูว่าข้อเท็จจริงในคดีมีประเด็นใดบ้างที่ศาลรับฟังและไม่รับฟัง อย่างในเรื่องของการจดทะเบียนวัตถุประสงค์บริษัท ที่หลายคนมีการต่อสู้ว่าใช้แบบฟอร์มสำเร็จรูปของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งถ้าเป็นแบบฟอร์มของกระทรวงพาณิชย์จริง ก็ควรเป็นแบบพิมพ์มาตรฐานเดียวกัน ไม่ใช่ในแบบฟอร์มข้อที่ระบุว่าทำสื่อกลับอยู่ในลำดับที่แตกต่างกัน ซึ่งรายละเอียดแบบนี้ยากมากในการต่อสู้ เพราะ ส.ส.พรรค พปชร.บางคนมีถึง 3-4 บริษัท ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องมีเอกสารราชการตรวจสอบ" นายทศพลกล่าว
หัวหน้าทีมต่อสู้คดีหุ้นสื่อของ ส.ส.พรรค พปชร.กล่าวว่า ได้แจ้งให้ ส.ส.แต่ละคนทำรายละเอียดออกมา บางคนไม่เข้าใจอ้างว่ากรอกไปตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำ ซึ่งในความเป็นจริงอยู่ที่ตัวเราว่าจะจดทะเบียนอย่างไร บางคนเลือกจดไปก่อนทำ หรือไม่ทำก็เป็นอีกเรื่อง ซึ่งก็ทำให้เกิดปัญหา โดยศาลฎีกามองว่าเมื่อคุณจดทะเบียนวัตถุประสงค์ไว้ เท่ากับมีวัตถุประสงค์จะทำสื่อ ทำให้ขัดรัฐธรรมนูญ อีกทั้งกรณีนี้มีการยื่นผ่านประธานสภาฯ ก็ทำหนังสือส่งต่อมาที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่มีรายละเอียดของพยานหลักฐาน ไม่เหมือนกับคดีที่ร้องผ่าน กกต. ที่ กกต.มีการตรวจสอบแล้วว่าโอนหุ้นวันไหน โอนหุ้นเมื่อไหร่ จ่ายเงินเมื่อไหร่ ดังนั้นเมื่อคดีมาถึงศาลรัฐธรรมนูญ ศาลก็จะต้องวางมาตรฐานว่าระหว่างวัตถุประสงค์ที่ระบุในเอกสารราชการ กับสิ่งที่ไม่ได้ประกอบกิจการจริง อะไรฟังได้-ไม่ได้
"คาดว่าไม่เกินสัปดาห์หน้าจะยื่นคำร้องพร้อมเหตุผล เพื่อขอคุ้มครองชั่วครองไม่ให้สั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ของ 27 ส.ส. เพราะถ้าหากศาลสั่งให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่ ก็จะได้รับผลกระทบกับการทำงาน เพราะไม่ใช่แค่กระทบถึงการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.เท่านั้น แต่ยังกระทบต่อการบริหารงานของรัฐบาลด้วย เพราะว่ารัฐบาลยังไม่มีการแถลงนโยบายในรัฐสภา" หัวหน้าทีมต่อสู้คดีหุ้นสื่อของ ส.ส.พรรค พปชร.กล่าว
นายทศพลกล่าวว่า ไม่อยากให้สังคมเอาเรื่องนี้ไปเปรียบเทียบกับกรณีสั่งให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่หยุดปฏิบัติหน้าที่ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องสองมาตรฐาน เพราะการสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ในหลายคดีไม่เหมือนกัน การที่ศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะเกรงว่าจะมีปัญหาต่อการประชุมสภา แต่ของเราจะเกิดปัญหาทางลบยิ่งกว่า คือรัฐบาลจะไม่สามารถดำเนินการตามนโยบายได้ เพราะขณะนี้รัฐบาลยังไม่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา จึงจะไปเทียบกับกรณีของนายธนาธรไม่ได้ เพราะเป็นคนละเรื่องกัน อย่าเอามารวมกัน กรณีหุ้นสื่อของ 41 ส.ส.ที่ถูกพรรคอนาคตใหม่ยื่นต่อประธานสภาฯ อาจจะคล้ายกัน คือถือหุ้นสื่อ แต่ข้อเท็จจริงไม่เหมือนกัน
วันเดียวกัน ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง กรณี ส.ส.ถือครองหุ้นสื่อ ระหว่างวันที่ 17-18 มิ.ย. จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ พบประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 81.38 ระบุว่าเห็นด้วยให้มีการตรวจสอบ ส.ส.ทั้งหมด เพื่อความเท่าเทียมกันทั้ง 2 ฝ่าย เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อความโปร่งใส ยุติธรรม และป้องกันการทุจริต มีเพียงร้อยละ 8.83 ระบุไม่เห็นด้วย เพราะต้องมีการตรวจสอบตั้งแต่ก่อนเป็น ส.ส. และอาจก่อให้เกิดความวุ่นวาย
ถามถึงความคิดเห็นต่อแนวโน้มการพ้นจากตำแหน่งของ ส.ส.จำนวนมากของทั้ง 2 ฝ่าย จากกรณีการถือครองหุ้นสื่อ พบส่วนใหญ่ร้อยละ 57.44 ระบุให้ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย หากใครมีลักษณะต้องห้ามก็ควรพ้นจากตำแหน่ง รองลงมาร้อยละ 16.87 ระบุนายกรัฐมนตรีใช้อำนาจยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกตั้งใหม่, ร้อยละ 9.47 ระบุทั้ง 2 ฝ่ายควรเจรจาเพื่อยุติการฟ้องร้องซึ่งกันและกัน, ร้อยละ 6.44 ระบุว่าสมาชิกรัฐสภาร่วมกันยื่นเรื่องเพื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยด่วน และร้อยละ 3.18 ระบุว่าหากยังไม่มีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่ ให้ คสช.ใช้มาตรา 44 แก้ไขปัญหา.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |