หลังแกนนำ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย-อนาคตใหม่-ประชาชาติ-เศรษฐกิจใหม่-เพื่อชาติ-เสรีรวมไทยและพลังปวงชนไทย นัดหารือในระดับแกนนำพรรคและทีมวิปฝ่ายค้านมาได้หลายนัด เพื่อวางกรอบการขับเคลื่อนเพื่อตรวจสอบรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พบว่า สถานการณ์การเมืองเฉพาะหน้า พรรคร่วมฝ่ายค้านวางหมุดหมายทางการเมืองไว้ 3 เรื่องในการทำหน้าที่ฝ่ายค้านตรวจสอบรัฐบาลในสภาฯ อันประกอบด้วย
1.เดินหน้าใช้กลไกสภาฯ ขอให้ที่ประชุมสภาฯ ตั้งคณะกรรมาธิการหรือคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา 250 คน
2.เตรียมจัดทีม ส.ส.ฝ่ายค้านอภิปรายชำแหละ นโยบายรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ที่จะแถลงต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา ก่อนเข้าบริหารประเทศ ที่คาดกันว่าจะจัดทีม ส.ส.ฝ่ายค้านอภิปรายแบบจัดหนัก-จัดเต็ม มีการจัดทั้ง ส.ส.รุ่นใหญ่-รุ่นเล็ก หน้าเก่า-หน้าใหม่ ขึ้นเวทีอภิปรายชำแหละนโยบายรัฐบาลอย่างเต็มที่ เพราะเวทีดังกล่าว พลเอกประยุทธ์ต้องมาร่วมประชุมด้วยอย่างเป็นทางการ ก็จะเป็นโอกาสอันดีของฝ่ายค้าน ในการอภิปรายชำแหละนโยบายรัฐบาลที่สามารถพูดถึงตัวพลเอกประยุทธ์ได้อย่างเต็มที่กับการเป็นนายกฯ ในรอบนี้ และการเป็นนายกฯ ในช่วงเกือบห้าปีที่ผ่านมา
หลังก่อนหน้านี้ ฝ่ายค้านเคยอภิปรายถล่มพลเอกประยุทธ์มาแล้วตอนโหวตเลือกนายกฯ แต่รอบนั้น พลเอกประยุทธ์ไม่ได้เข้าร่วมประชุม แต่รอบนี้เลี่ยงไม่ได้ ยังไง พลเอกประยุทธ์ต้องมาร่วมประชุมรับฟังการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภาด้วย จึงทำให้คาดการณ์ได้ว่า ที่คนบอกว่าตอนโหวตนายกฯ พลเอกประยุทธ์โดนถล่มหนัก อาจเทียบไม่ได้กับเวทีอภิปรายนโยบายรัฐบาลที่จะหนักหน่วงกว่าหลายเท่า
3.การเดินหน้าพิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในประเด็นเรื่องการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องจากฝ่ายค้านยังติดใจอยู่ และอาจใช้กลไกทางสภาฯ ตรวจสอบเรื่องนี้ต่อไป
เมื่อวางหมุดหมายในการตรวจสอบรัฐบาลไว้ดังกล่าวแล้ว ขณะนี้ฝ่ายค้านก็ได้ตั้งคณะทำงานพรรคร่วมฝ่ายค้านหรือวิปฝ่ายค้าน โดยให้มีตัวแทนพรรคละ 2 คนอยู่ในวิปฝ่ายค้าน โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติเป็นประธาน และมีการเดินหน้าในทางปฏิบัติโดยทันที
เห็นได้จากการที่แกนนำ-ส.ส. 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้ร่วมกันแถลงข่าวหลังการประชุมสภาฯ เมื่อวันพุธที่ 19มิ.ย.เสร็จสิ้นลง โดยมีการเปิดเผยว่า ส.ส.ฝ่ายค้านได้ร่วมกันลงชื่อในญัตติด่วนเพื่อขอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษา ตรวจสอบ การได้มาซึ่ง ส.ว. ที่ฝ่ายค้านได้ร่วมกันลงชื่อเสนอญัตติดังกล่าวต่อประธานสภาฯ ไปแล้ว
สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม หัวหอกฝ่ายค้านในการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว อธิบายประเด็นการเคลื่อนไหวเรื่องนี้ว่า ประเด็นที่ฝ่ายค้านต้องการให้มีการตรวจสอบในเรื่องการได้มาซึ่ง ส.ว.ชุดปัจจุบัน ประกอบด้วย
1.การคัดเลือก ส.ว.มีคณะกรรมการสรรหาหรือไม่ แม้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ จะออกมาเปิดเผยรายชื่อ แต่ก็เป็นการเปิดเผยรายชื่ออย่างไม่เป็นทางการ 2.คณะกรรมการสรรหาฯ ดังกล่าวมีระเบียบและวิธีการสรรหาอย่างไร เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยถูกเปิดเผย 3.มี ส.ว.หลายคนที่เป็นเครือญาติและพวกพ้องของผู้มีอำนาจ เป็นการได้มาโดยชอบตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ และขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่ 4.ตรวจสอบว่างบประมาณ 1,300 ล้านบาท ในการสรรหา ส.ว.ของ กกต. ได้ถูกนำไปใช้ตามระเบียบวิธีการใช้งบประมาณหรือไม่
การเดินหน้าตรวจสอบ สภาสูง-ส.ว. 250 คน ดังกล่าวของฝ่ายค้าน เป็นเรื่องที่ไม่เหนือความคาดหมายอยู่แล้วทางการเมือง เพราะเมื่อ ส.ว.ทั้งหมด ที่พลเอกประยุทธ์และ คสช.พิจารณาทำโผรายชื่อรอบสุดท้าย จนถูกมองว่าสภาสูงชุดปัจจุบันคือฐานการเมืองสำคัญของคสช. ที่ได้ทำภารกิจแรกทางการเมืองให้กับพลเอกประยุทธ์ไปแล้ว นั่นก็คือ การลงมติเลือกพลเอกประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯ
ดังนั้น ฝ่ายค้านจึงต้องหาทุกช่องทางในการเดินหน้าสับ ส.ว. จนถึงหากเป็นไปได้ ก็หวัง ล้ม สภาสูงชุดนี้ เช่นทำให้การได้มาซึ่ง ส.ว.เป็นโมฆะ ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องยาก เพราะเป็นสภาสูงที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญฯ และกระบวนการต่างๆ ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล คสช.ก็คงตรวจสอบแล้วว่าไม่ผิดกฎหมาย เพียงแต่อาจมีบางประเด็นที่สุ่มเสี่ยงเช่นกัน โดยเฉพาะกรณีกรรมการสรรหา ส.ว.หลายคน เข้ามาเป็น ส.ว.ชุดปัจจุบันเสียเอง เข้าทำนอง ชงเอง-เป็นเอง แต่แม้ดูแล้วจะยากในการล้ม ส.ว. แต่พรรคแนวร่วม ฝ่ายค้านก็ต้องทำทุกอย่างเพื่อทำลายความชอบธรรมทางการเมืองของสภาสูงลงให้ได้
การทำหน้าที่ของฝ่ายค้านที่เวลานี้เริ่ม เครื่องร้อน แล้ว จึงน่าติดตามไม่น้อย ยิ่งรัฐบาล ประยุทธ์ 2/1 เป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ มี ส.ส.รัฐบาลแค่ประมาณ 253 เสียง เกินกึ่งหนึ่งมาแค่ประมาณ 3 เสียง ขณะเดียวกัน เสถียรภาพภายในพรรคร่วมรัฐบาลก็มีปัญหากันไม่จบสิ้น อย่างตอนนี้ พรรครักษ์ผืนป่าฯ ของดำรงค์ พิเดช ที่มี ส.ส. 2 คนในสภาฯ ก็ตั้งท่าไม่พอใจพรรคพลังประชารัฐ จนออกมาบอกพร้อมจะถอนตัวไม่อยู่ร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐเต็มตัว จะไปเป็นฝ่ายค้านอิสระ หลังไม่พอใจที่พรรคอาจไม่ได้ไปร่วมทำงานใน ก.ทรัพยากรธรรมชาติฯ ซึ่งดูแล้ว ปัญหาความไม่มีเสถียรภาพภายในพรรคร่วมรัฐบาล ลักษณะแบบนี้ คงเกิดขึ้นตลอดในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จนทำให้คนในพรรคพลังประชารัฐต้องเสียเวลามาแก้ปัญหาการเมืองแบบนี้ไม่จบไม่สิ้น
ทั้งนี้ การตรวจสอบ-ถ่วงดุลรัฐบาล หากพรรคฝ่ายค้านทำงานอย่างเข้มแข็ง มีการวางระบบตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพ และค้านแบบสร้างสรรค์ ค้านแบบมีคุณภาพ หนักแน่นด้วยข้อมูลและความมีเหตุมีผลทางการเมือง ก็จะทำให้การทำงานของรัฐมนตรีทุกกระทรวงรวมถึงตัวนายกฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญ ไม่กล้าโกง-ไม่ใช้อำนาจหน้าที่ไปแสวงหาผลประโยชน์ ซึ่งประโยชน์ที่จะได้ก็คือ ประชาชน หากมีรัฐบาลที่โปร่งใส ไม่โกง
ก็ต้องดูกันว่า พรรคฝ่ายค้านโดยเฉพาะพรรคแกนนำอย่าง เพื่อไทย ที่ส่วนใหญ่จะเป็นฝ่ายรัฐบาลมากกว่า เพราะเคยเป็นฝ่ายค้านแค่สมัยเดียว ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่ก็เป็นฝ่ายค้านหลังเกิดกรณียุบพรรคพลังประชาชน ไม่ใช่ฝ่ายค้านหลังเลือกตั้งแบบปัจจุบัน
สุดท้ายแล้ว เพื่อไทยจะรับบทฝ่ายค้านได้ดีแค่ไหน ในยุคที่เสียง ส.ส.รัฐบาลกับฝ่ายค้านต่างกันแค่ไม่กี่เสียงเท่านั้น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |