สี จิ้นผิงจะไปเยือนคิม จองอึนอย่างเป็นทางการวันนี้...เป็นความเคลื่อนไหวที่มีนัยทางการเมืองระหว่างประเทศมาก
เพราะเสร็จจากการไปเยือนเปียงยางแล้ว ผู้นำจีนจะไปประชุม G-20 ที่โอซากา ญี่ปุ่น ในสัปดาห์หน้า
ที่โอซากา สี จิ้นผิงจะเจอกับโดนัลด์ ทรัมป์ซึ่งก็กำลังจะไปพบมูน แจอิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ก่อนจะไปโอซากาเช่นกัน
เป็นภาพที่ย้อนกลับไปยุคสงครามเย็น
ช่วงสงครามเย็นสหรัฐฯ อยู่กับเกาหลีใต้ และจีนจับมือกับเกาหลีเหนือในสงครามเย็นที่มีเรื่องอุดมการณ์การเมืองเป็นหลัก
สมัยนั้นเป็นการเผชิญหน้าระหว่างโลกเสรีกับคอมมิวนิสต์
และจบลงด้วยการถอยร่นของคอมมิวนิสต์
วันนี้กลายเป็นสงครามเย็นรูปแบบใหม่ที่มีผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก
เป็นช่วงจังหวะที่โลกกำลังก้าวเข้าสู่การปรับเปลี่ยนดุลแห่งอำนาจโลก หรือที่เรียกว่า balance of power อย่างรุนแรง เพราะทรัมป์จงใจจะพลิกเกมการเมืองระหว่างประเทศ
มุ่งแต่จะต่อรองเพื่อประโยชน์ของตนเอง ไม่สนใจว่าประเทศอื่นจะมีประเด็นโต้แย้งกับอเมริกาอย่างไร
อีกทั้งวันนี้จีนมีความแข็งแกร่งด้านเศรษฐกิจมากกว่าในยุคสงครามเย็นครั้งก่อนมากมายหลายเท่านัก จึงมีอำนาจต่อรองกับสหรัฐฯ ในระดับที่โลกไม่เคยประสบพบเห็นมาก่อน
อีกทั้งรัสเซียภายใต้การนำของวลาดิเมียร์ ปูตินก็กระโดดมาอยู่ข้างจีนเต็มตัวในเกมการต่อรองอำนาจระหว่างประเทศ
ทำให้บทบาท "ตำรวจโลก" ของสหรัฐฯ หดหายไป และความน่าเชื่อถือของวอชิงตันถูกบั่นทอนตามลำดับ
เมื่อจีนก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีอย่างน่าทึ่ง สหรัฐฯ ก็ไม่อาจอ้างความเป็นเบอร์หนึ่งของโลกได้อีกต่อไป
"สงครามการค้า" ที่ทรัมป์ประกาศกับจีนกำลังจะกลายเป็น "สงครามเทค" และอาจบานปลายกลายเป็น "สงครามจิตวิทยา" ที่โยงใยไปถึงอารมณ์ชาตินิยมของทั้งสองมหาอำนาจ
สี จิ้นผิงไปเปียงยางวันนี้มีความหมายเป็นพิเศษ เพราะเป็นครั้งแรกที่เขาไปเยือนเกาหลีเหนือตั้งแต่ขึ้นมารับตำแหน่งเมื่อ 7 ปีก่อน
และเป็นครั้งแรกใน 14 ปีที่ผู้นำจีนไปเยือนเมืองหลวงของเกาหลีเหนืออย่างเป็นทางการ
ขณะที่คิม จองอึนได้มาหาสี จิ้นผิงถึง 4 ครั้งหลังขึ้นมารับตำแหน่งผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือตั้งแต่พ่อเสียชีวิตอย่างกะทันหัน
วันนี้เกาหลีเหนือกลายเป็น "ไพ่" อีกใบหนึ่งที่จีนใช้ในการต่อรองกับสหรัฐฯ ได้
ขณะที่ทรัมป์ก็คงมองว่าเขาสามารถใช้คิม จองอึนเป็น "ไพ่" ทางการเมืองของตัวเองเช่นกัน
เพราะทรัมป์อ้างตลอดว่าคิมเป็น "เพื่อนซี้"
และอ้างว่าสี จิ้นผิงกับเขายังเป็น "เพื่อนรักเพื่อนใคร่" กันตลอดมา
ทั้งๆ ที่ทรัมป์ใช้วิธีกดดันทั้งจีนและเกาหลีเหนืออย่างต่อเนื่อง เพื่อยกสถานภาพของตัวเองในประเทศอเมริกาและเวทีระหว่างประเทศ
นโยบาย Make America Great Again ของเขาทำให้ประเทศอื่นรู้สึกว่าถูกข่มเหงรังแกอย่างไร้เหตุผล
ทรัมป์ต้องการสร้างภาพทำนองว่า เขาสามารถจะทำให้ผู้นำจีนกับเกาหลีเหนือยอมเจรจาต่อรองได้
แต่ในความเป็นจริงผมเชื่อว่าสี จิ้นผิงกับคิม จองอึนมีการปรึกษาหารือกันตลอดเวลาว่าจะจัดการกับทรัมป์อย่างไร จึงจะทำให้ "มะกันผู้อหังการ" ยอมเจรจาอย่างมีเหตุมีผลและเคารพในความเป็นอธิปไตยและศักดิ์ศรีของประเทศอื่น
ดังนั้น ความเคลื่อนไหวระหว่างประเทศในสัปดาห์นี้และสัปดาห์หน้าที่เปียงยางและโอซากาจึงมีความสำคัญต่อความเปลี่ยนแปลงในระดับโลก
และต้องไม่ลืมว่าข่าวคราวจากเปียงยางและโอซากาในช่วงนี้ ย่อมมีความเชื่อมโยงกับการประชุมสุดยอดของอาเซียนที่จะมีขึ้นในกรุงเทพฯ ในสัปดาห์นี้เช่นกัน
เพราะประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนปีนี้ และเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียน 22-23 มิถุนายนนี้ อีกทั้งยังจะไปร่วมการประชุม G-20 ที่โอซากาด้วย เพราะอาเซียนมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกไม่น้อย
ดังนั้น ผมหวังว่านายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชาจะสามารถดำเนินการประชุมสุดยอดอาเซียนไปอย่างมีประสิทธิภาพ ยกระดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม
และหากเราเสนอตัวเป็นผู้ประสานให้เกิดสันติภาพในโลก ด้วยการเชิญคิม จองอึนมาเป็นหนึ่งใน "ผู้ร่วมเสวนา" (dialogue partners) ในการประชุมสุดยอดสิ้นปีนี้ ประเทศไทยจะสามารถเรียกความเชื่อมั่นในบทบาท diplomatic game-changer หรือ "ผู้เปลี่ยนเกมการทูต" ในระดับสากลได้เลยทีเดียว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |