เมื่อ'ป๋าเปรม' บุกโซเวียต เวียดนามจึงถอนทหารพ้นเขมร


เพิ่มเพื่อน    

การที่สหภาพโซเวียตเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนเวียดนามทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทหาร โดยแลกเปลี่ยนกับการใช้ฐานทัพเวียดนามที่อ่าวคัมรานห์และดานัง ทำให้แสนยานุภาพของสหภาพโซเวียตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ 1980 สหภาพโซเวียตสามารถแสดงแสนยานุภาพจากฐานทัพเรือและฐานทัพอากาศที่คัมรานห์และดานังของเวียดนาม เรือดำน้ำและเรือรบของสหภาพโซเวียตได้มาแวะจอดที่เมืองท่าและฐานทัพดังกล่าว เครื่องบินสอดแนม TU-95 หลายเครื่องได้บินจากฐานทัพโซเวียตที่วลาดิวอสตอกมาประจำที่ดานังและปฏิบัติการในภูมิภาคนี้ 

นอกจากนั้นเครื่องบินทิ้งระเบิดของสหภาพโซเวียตยังมาแวะจอดเติมน้ำมันที่ฐานทัพดังกล่าวด้วย  ฐานทัพของเวียดนามได้กลายเป็นฐานของกองกำลังภาคพื้นแปซิฟิกของสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นการคุกคามความมั่นคงของประเทศไทย กลุ่มประเทศอาเซียนและประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกไกลรวมทั้งญี่ปุ่นด้วย ดังที่ พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา ได้ชี้ว่า

ภาคอาเซียนมีความวิตกกังวลเป็นอย่างมากกับการสมรู้ร่วมคิดกันระหว่างสหภาพโซเวียตกับเวียดนาม รวมทั้งผลที่ตามมาซึ่งจะกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของอาเซียน การที่กองเรือภาคพื้นแปซิฟิกของสหภาพโซเวียตเข้ามาอยู่บริเวณน่านน้ำเอเชียอาคเนย์ โดยการอำนวยความสะดวกของเวียดนามนั้น ย่อมเป็นไปได้ที่สหภาพโซเวียตจะทำการขู่คุกคามและใช้กำลังต่อประเทศในภูมิภาคนี้  พฤติกรรมการชอบใช้กำลังของสหภาพโซเวียตได้แสดงให้เห็นจากการรุกรานอัฟกานิสถานและการทำลายเครื่องบินของสายการบินเกาหลีที่มีผู้โดยสารชาวไทยอยู่ด้วยมาแล้ว

ในช่วงตั้งแต่ปี ค.ศ.1980 (พ.ศ.2535) ซึ่ง พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นช่วงที่สหภาพโซเวียตได้เข้ามามีบทบาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยผ่านรัฐอินโดจีนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหภาพโซเวียตได้เสื่อมทรามลงอย่างมาก โดยนอกจากสหภาพโซเวียตจะคุกคามความมั่นคงของไทยด้วยการให้การสนับสนุนเวียดนามในการรุกรานกัมพูชาดังกล่าวมาแล้ว สหภาพโซเวียตมีพฤติกรรมซึ่งเป็นการคุกคามต่อไทยโดยตรงหลายครั้ง

เช่นในวันที่ 30 ตุลาคม ค.ศ.1980 ซึ่งเป็นช่วงที่พลเอกเปรมเดินทางกลับจากการเยือนจีนได้ไม่นาน กองเรือรบโซเวียตจำนวน 4 ลำ กอปรด้วยเรือบรรทุกเครื่องบิน Minsk เรือลาดตระเวน Epetropavlofsk เรือฟริเกต Letuchky และเรือหาข่าว Ddeflextor ได้แล่นเข้ามาในเขตน่านน้ำไทยในบริเวณที่ห่างจากระยองและสัตหีบไม่ถึง 100 ไมล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่ขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งตามรายงานของกรมประมง กองเรือรบดังกล่าวได้มุ่งหน้าเดินทางไปทางเกาะกระในภาคใต้ของไทย และขณะที่เดินทางไปนั้นมีเครื่องบินขึ้นลงตลอดเวลา โดยสหภาพโซเวียตมิได้แจ้งจุดประสงค์ที่กองเรือรบของตนปรากฏขึ้นใกล้น่านน้ำไทยแต่อย่างใด รัฐบาลไทยได้มีปฏิกิริยาต่อเรื่องนี้โดย  พล.อ.อ.สิทธิได้มีบัญชาให้อธิบดีกรมการเมืองเชิญเอกอัครราชทูตโซเวียตประจำประเทศไทยมาพบ เพื่อสอบถามถึงวัตถุประสงค์ของกองเรือดังกล่าว และแจ้งให้สหภาพโซเวียตทราบถึงความวิตกกังวลของรัฐบาลและประชาชนชาวไทยเกี่ยวกับเรื่องนี้ และว่าในโอกาสต่อไปหากกองเรือโซเวียตจะแล่นเข้ามาใกล้น่านน้ำไทยอีก ขอให้แจ้งแก่รัฐบาลไทยทราบอย่างเป็นทางการล่วงหน้าด้วย นอกจากจะก่อให้เกิดปฏิกิริยาในหมู่สื่อมวลชนในกรุงเทพฯ อย่างกว้างขวางแล้ว เหตุการณ์นี้ได้ก่อให้เกิดความวิตกแก่ผู้นำไทยโดยทั่วไปด้วย 

นายอนันต์ บูรณวนิช เลขานุการคณะกรรมาธิการต่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎร ได้แถลงแก่ผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า "ถ้ามาอย่างนี้จริงมันก็ไม่ปลอดภัยนักกับความมั่นคงของประเทศในความเห็นของผม ผมในฐานะเป็นกรรมาธิการต่างประเทศก็จะเรียกประชุมคณะกรรมาธิการภายใน 3 วัน"

นอกจากนี้ยังมีการแทรกแซงของสหภาพโซเวียตโดยการจารกรรม เช่น กรณีการจับกุมนายวิคเตอร์ บารี่เซม ซึ่งแฝงเข้ามาทำจารกรรมโดยการให้ตำแหน่งหน้าที่การทูตเมื่อ ค.ศ.1983 ซึ่งกรณีเหล่านี้ล้วนเป็นการตอกย้ำความเชื่อและทัศนะของผู้นำไทยเกี่ยวกับการคุกคามของสหภาพโซเวียตทั้งสิ้น  ทั้งนี้จากการศึกษาความคิดของชนชั้นนำไทยกลุ่มต่างๆ เกี่ยวกับภัยคุกคามที่มีต่อความมั่นคงแห่งชาติของไทย โดย ศ.ดร.กระมล ทองธรรมชาติ และคณะ พบว่าชนชั้นนำไทยมองสหภาพโซเวียตว่าเป็นแหล่งภัยคุกคามสูงสุดในระดับเดียวกับเวียดนาม โดยสหภาพโซเวียตเป็นภัยในรูปแบบการสนับสนุนให้อีกประเทศหนึ่งทำการรุกราน จากการสัมภาษณ์ผู้กำหนดนโยบายของไทยจำนวนหนึ่งในปี ค.ศ.1984 

โดย ผศ.ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร พบว่า ผู้นำไทยมีความเชื่อว่าเวียดนามเป็นเพียงตัวแทนของสหภาพโซเวียต ดังนั้น แม้ว่าสามารถเจรจากับเวียดนามได้สำเร็จก็อาจไม่สามารถแก้ปัญหากัมพูชาได้  ข้อสรุปดังกล่าวสอดคล้องเป็นอย่างดีกับทัศนะของ นาวาตรีประสงค์ สุ่นศิริ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่ว่า

สงครามในกัมพูชาเป็นสงครามที่เกิดขึ้นจากการที่โซเวียตถือหางสนับสนุนเวียดนาม ด้วยการจัดส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้เพื่อใช้ในการยึดครองประเทศกัมพูชา จนทำให้ประเทศของเราต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ....เราเคยเรียกร้องให้สหภาพโซเวียตยุติการสนับสนุนเวียดนาม และเรียกร้องให้สหภาพโซเวียตร่วมมืออย่างจริงใจกับประเทศไทยและอาเซียน...แต่คำเรียกร้องของเราก็ไม่ได้รับการตอบสนองที่ดี นอกจากการโฆษณาชวนเชื่อที่รังแต่จะก่อให้เกิดความหวาดระแวงแคลงใจและความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจต่อโซเวียตในจนทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม แม้ความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างไทยกับสหภาพโซเวียตดำเนินไปอย่างไม่ราบรื่น แต่ก็มีความพยายามจากทั้งสองฝ่ายในการปรับความสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยเฉพาะด้านการค้า ได้มีการติดต่อซื้อขายระหว่างภาคเอกชนของไทยกับรัฐบาลสหภาพโซเวียต โดยปรากฏว่ามีนักธุรกิจไทยเดินทางไปยังสหภาพโซเวียตหลายคณะเพื่อหาลู่ทางในการค้าระหว่างกัน อาทิเช่น คณะของนายชาตรี  โสภณพนิช ซึ่งเดินทางไปสหภาพโซเวียตเมื่อเดือนกันยายน 1984  

นอกจากนั้น ผู้แทนระดับสูงจากภาครัฐบาลของไทยก็ได้เดินทางไปเยือนสหภาพโซเวียตในระยะเดียวกัน เช่น คณะของนายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานรัฐสภา เป็นต้น สหภาพโซเวียตได้ทำข้อตกลงซื้อสินค้าจากไทยในช่วงปี ค.ศ.1984-1986 จำนวนหลายฉบับ กระนั้นก็ตาม ปัญหากัมพูชาก็ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ในความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหภาพโซเวียต เมื่อนายเอ็ดดูอาร์ด เชวาร์ดนัดเซ (Eduard  Shevardnadze) รัฐมนตรีต่างประเทศของสหภาพโซเวียต แวะเยือนประเทศไทยระหว่างการเยือนประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ค.ศ.1987 (พ.ศ.2530) เขาได้ตอบคำถามของผู้สื่อข่าว ณ กระทรวงการต่างประเทศ ว่าเขามิได้นำข้อตกลงใหม่ๆ เกี่ยวกับการแก้ปัญหากัมพูชามาหารือแต่อย่างใด เพียงแต่ได้มีการพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในปัญหานี้กับ พล.อ.อ.สิทธิเท่านั้น 
 

ขณะที่ พล.อ.อ.สิทธิได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการเยือนสหภาพโซเวียตในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1987 ว่าจะยกประเด็นปัญหากัมพูชาเจรจากับผู้นำโซเวียต แม้จะยอมรับว่าสหภาพโซเวียตคงไม่ยุติการให้ความช่วยเหลือแก่เวียดนามและไม่ได้คาดหวังว่าสหภาพโซเวียตจะช่วยแก้ไขปัญหากัมพูชา  เนื่องจากจะเป็นอันตรายต่อผลประโยชน์ของสหภาพโซเวียตในภูมิภาคนี้

การเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของนายเชวาร์ดนัดเซมีนัยสำคัญยิ่งต่อประเด็นปัญหากัมพูชา เนื่องจากได้มีการหารืออย่างเป็นทางการของรัฐมนตรีการต่างประเทศสหภาพโซเวียตกับผู้นำไทยและผู้นำประเทศภาคีอาเซียน อย่างไรก็ตามในช่วงเวลานั้น ทั้งผู้นำไทยและนักวิชาการไทยยังคงมองว่าสหภาพโซเวียตจะไม่ทำการกดดันเวียดนามให้ถอนทหารออกจากกัมพูชาดังปรากฏตามทัศนะของ พล.อ.อ.สิทธิดังกล่าวข้างต้น และดังปรากฏตามทัศนะของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ซึ่งชี้ว่าแม้การที่นายเชวาร์ดนัดเซหยิบยกปัญหากัมพูชาขึ้นหารืออย่างเป็นทางการกับผู้นำประเทศอาเซียน จะเป็นเหตุผลที่แสดงว่าการกดดันของสหภาพโซเวียตต่อเวียดนามนั้นมีความเป็นไปได้ แต่ความปรารถนาที่จะช่วยคลี่คลายปัญหากัมพูชานั้น มีน้ำหนักน้อยกว่าความต้องการของสหภาพโซเวียตที่จะรักษาเสถียรภาพในความสัมพันธ์กับเวียดนาม และหลีกเลี่ยงการกระทำอันอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสัมพันธ์ดังกล่าว ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากความจำเป็นทางยุทธศาสตร์ระดับโลกของสหภาพโซเวียต

จวบจนกระทั่งปีสุดท้ายของรัฐบาล พล.อ.เปรม ที่สหภาพโซเวียตได้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่อประเด็นปัญหากัมพูชาไปจากเดิมอย่างชัดเจน โดยเมื่อ พล.อ.เปรมเดินทางไปเยือนสหภาพโซเวียตในระหว่างวันที่ 16-22 พฤษภาคม ค.ศ.1988 (พ.ศ.2531) ผู้นำโซเวียตรับปากกับ พล.อ.เปรมที่จะนำปัญหากัมพูชาไปพูดคุยกับเวียดนาม และเห็นพ้องกับไทยว่าปัญหากัมพูชาจะต้องได้รับการแก้ไขโดยวิถีทางการเมือง ซึ่ง พล.อ.อ.สิทธิได้มองว่า "เป็นการแสดงการเปลี่ยนจากจุดยืนเดิมของสหภาพโซเวียต" อันนับเป็นพัฒนาการในเชิงบวกในความพยายามแก้ปัญหากัมพูชา ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเสร็จสิ้นการเยือนสหภาพโซเวียตแล้ว พล.อ.เปรมและคณะได้ไปเยือนฮังการี โดยในขณะที่คณะของ พล.อ.เปรมอยู่ที่กรุงบูดาเปสต์ ในวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ.1988 นั้น นายกาโรลี โกรสซ์ นายกรัฐมนตรีฮังการีได้แจ้งให้ พล.อ.เปรมทราบว่าเวียดนามได้ประกาศจะถอนทหารจำนวน 50,000 คนออกจากกัมพูชาโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น

จากข้อมูลข้างต้นอาจสรุปได้ว่า สภาพแวดล้อมที่เป็นจริงที่สหภาพโซเวียตเข้ามามีบทบาทในปัญหากัมพูชา กับการรับรู้ของผู้มีบทบาทในการกำหนดนโยบายต่างประเทศของไทยนั้นมีความสอดคล้องกันมาก ทั้งนี้ แม้สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตจะได้ปรับความสัมพันธ์กัน และสหภาพโซเวียตมีการปรับเปลี่ยนนโยบายของตนโดยเฉพาะต่อรัฐบริวารในยุโรปตะวันออก แต่ในประเด็นปัญหากัมพูชานี้ สหภาพโซเวียตได้ให้การสนับสนุนเวียดนามตลอดมา โดยแม้ว่าจากปี ค.ศ.1986 (พ.ศ.2529) เป็นต้นมา สหภาพโซเวียตเริ่มจะยอมรับถึงความจำเป็นในการแก้ไขปัญหากัมพูชาโดยทางการเมือง แต่ตราบใดที่สหภาพโซเวียตไม่ทำการกดดันต่อเวียดนามโดยตรงแล้ว ปัญหากัมพูชาย่อมไม่ได้รับการแก้ไข โดยเวียดนามจะยังคงกำลังทหารของตนไว้ในกัมพูชา และจนถึงช่วงปีสุดท้ายของรัฐบาล พล.อ.เปรมที่สหภาพโซเวียต "รับที่จะพูดคุยกับเวียดนาม" 

ต่อมาเวียดนามจึงประกาศถอนทหารออกจากกัมพูชา เช่นเดียวกับที่การสนับสนุนเวียดนามของสหภาพโซเวียตทำให้เวียดนามมีขีดความสามารถในการรุกรานและคงกำลังทหารไว้ในกัมพูชา การเปลี่ยนแปลงนโยบายของสหภาพโซเวียตในช่วงปลายสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรมมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเวียดนามโดยตรง ดังจะเห็นได้จากการที่เวียดนามได้ประกาศถอนทหารจำนวน 50,000  คนออกจากกัมพูชาโดยไม่มีเงื่อนไข.
--------------
อ้างอิง: หนังสือชุด ประเทศเพื่อนบ้านของไทยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, อรอนงค์ น้อยวงศ์ 
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"