วันนี้ "ตามใจแฟน" ซักวัน


เพิ่มเพื่อน    

      วันนี้ "ตามใจแฟน" ซักวัน

                คือ มีข้อความมา ว่า......

                "อยากให้คุณเปลวพูดเรื่องหุ้นและการกู้ยืมเงินของ ทอนอีก ยื้อเวลาหนึ่งเดือนแล้ว ทาง กกต.จะฟ้องได้ไหม หรืออะไรยังไง?"

                ก็พอดี ได้อ่านที่ท่าน Chuchart Srisaeng เขียน fb ไว้วานซืน

                ประจวบบรรจงกันพอดี เพราะท่านพูดถึงหลักกฎหมาย พร้อมอธิบายความ ให้ข้อสังเกต ข้อเปรียบเทียบในเรื่องนี้ไว้ ครบถ้วน ชัดเจน               

                ผมพูด มันอยู่ในลักษณะ "คุยกันเอง" ไม่มีมาตรฐานยึด แต่ระดับท่านชูชาติ เมื่อท่านเมตตาให้ความรู้ทางกฎหมายเป็นวิทยาทานเช่นนี้

                ควรต้องฟัง และยึดเป็นมาตรฐานในการติดตามเรื่องนี้ ขออนุญาตยกแปะเลยนะครับ

                Chuchart Srisaeng 

                นายทักษิณ ชินวัตร และบริวาร ได้สร้างวาทกรรม "ศาลยุติธรรมสองมาตรฐาน" ตั้งแต่นายทักษิณถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษา ในคดีที่ดินรัชดาให้ลงโทษจำคุก 2 ปี เมื่อปี 2551 จวบจนกระทั่งปัจจุบัน

                .....นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และบริวารกำลังดำเนินการในทิศทางเดียวกัน เพื่อจะสร้างวาทกรรม "ศาลรัฐธรรมนูญสองมาตรฐาน" กล่าวคือ

                .........เมื่อ กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยว่า

                ..........นายธนาธรมี "คุณสมบัติต้องห้าม" มิให้รับสมัครเลือกตั้งเป็น ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) คือเป็นเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้น ในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใดๆ หรือไม่

                และจะขาดจากสมาชิกภาพการเป็น ส.ส.ตามตามมาตรา 101 (6) หรือไม่

                .....ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำสั่ง วันที่ 23 พฤษภาคม 2562 ให้รับคำร้องไว้พิจารณา และให้นายธนาธรยื่นคำให้การแก้คดีภายใน 15 วัน

                กับมีคำสั่งให้นายธนาธร "หยุดปฏิบัติหน้าที่" ส.ส. จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

                .....เมื่อครบกำหนดยื่นคำให้การในวันที่ 7 มิถุนายน 2562 นายธนาธรขอขยายเวลายื่นคำให้การออกไปอีก 30 วัน

                ซึ่ง "ศาลอนุญาต" ตามที่ขอ

                ทั้งๆ ที่การยื่นคำให้การแก้คดีในคดีนี้ ผู้ที่พอมีความรู้ทางกฎหมายไม่ต้องเก่งอะไรมากมายก็น่าจะใช้เวลาอย่างมากที่สุดไม่เกิน 1 วัน

                เพราะข้อเท็จจริงต่างๆ นายธนาธรมีอยู่พร้อมแล้ว

                .......ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ได้เข้าชื่อกันตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคแรก

                ยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรว่า ส.ส.พรรครัฐบาลจำนวนหนึ่ง สมาชิกภาพได้สิ้นสุดลง ตามมาตรา 101(6)

                เพราะมีคุณสมบัติต้องห้ามมิให้สมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(3)

                และประธานสภาฯ ได้ส่งคำร้องดังกล่าวไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว

                ........นี่คือเหตุผลที่นายธนาธรขอขยายเวลายื่นคำให้การ เพื่อรอดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องที่ประธานสภาฯ ส่งไปอย่างไร

                .....กรณีของนายธนาธร กกต.ไต่สวนพยานหลักฐานแล้ว ฟังได้ว่า

                นายธนาธรถือหุ้นใน "บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด" ซึ่งประกอบกิจการพิมพ์สิ่งพิมพ์ต่างๆ

                จึงเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) จริง

                มีประเด็นเพียงว่า........

                ในขณะรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส. "นายธนาธร" โอนหุ้นให้แก่บุคคลอื่นไปแล้วหรือไม่เท่านั้น

                .....แต่ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ที่ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ เข้าชื่อกัน ขอให้ประธานสภาฯ ส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา นั้น

                ยังไม่มีองค์กรใด ได้ทำการไต่สวนตรวจสอบพยานหลักฐานมาก่อนเลย

                จึงไม่อาจทราบได้ว่า...........

                มีพยานหลักฐานยืนยันได้หรือไม่เพียงใดว่า ส.ส.ดังกล่าว มีคุณสมบัติต้องห้ามมาตรา 98(3)

                .....ตัวอย่าง เช่น นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่ง โดยระบุว่า ถือหุ้น "บริษัท ปารีณา ไกรคุปต์ จำกัด"

                ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในข้อ 17 ว่า..........

                ประกอบกิจการค้า กระดาษ เครื่องเขียน แบบเรียน แบบพิมพ์ เครื่องพิมพ์ อุปกรณ์การพิมพ์ สิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ ตู้เก็บเอกสาร ฯลฯ

                .....คำว่าประกอบกิจการค้า หมายความว่า ประกอบกิจการซื้อขายนั่นเอง

                ดังนั้น วัตถุประสงค์ของบริษัท ปารีณา ไกรคุปต์ จำกัด ก็คือ การซื้อขาย กระดาษ เครื่องเขียน  แบบเรียน แบบพิมพ์ เครื่องพิมพ์ อุปกรณ์การพิมพ์ สิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ ตู้เก็บเอกสาร ฯลฯ

                .....สรุปก็คือ ประกอบกิจการซื้อหรือขายสิ่งพิมพ์หรือหนังสือพิมพ์ เท่านั้น

                ไม่ได้ประกอบกิจการโรงพิมพ์ พิมพ์หนังสือจำหน่าย และออกหนังสือพิมพ์ แต่อย่างใด

                .....จึงเห็นได้อย่างชัดแจ้งว่า "ไม่ได้เป็นเจ้าของ" หรือ "ผู้ถือหุ้น" ในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใดๆ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(3)

                .....พรรคอนาคตใหม่ มีนักกฎหมายมากมาย ย่อมรู้ดีว่า นางสาวปารีณา "ไม่เข้าข่าย" มีคุณสมบัติต้องห้าม ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(3)

                จึงต้องรู้อยู่แล้วว่า ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีคำสั่งรับหรือไม่รับคำร้อง

                .....ถ้าศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องเกี่ยวกับ ส.ส.คนใดหรือรับคำร้อง แต่ไม่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะข้อเท็จจริงไม่ชัดเจน อย่างกรณีของนายธนาธร

                .....นายธนาธรและบริวาร ก็จะโวยวาย ปลุกระดมผู้สนับสนุน โดยสร้างวาทกรรมว่า "ศาลรัฐธรรมนูญสองมาตรฐาน"       

                เฉกที่ นายทักษิณและบริวาร "สร้างวาทกรรม" ว่า "ศาลยุติธรรมสองมาตรฐาน"

                .....นี่คือ การก่อให้เกิด "ความแตกแยก" ในสังคมไทย ให้มีเพิ่มมากยิ่งๆ ขึ้นอีก!!!

                เป็นไงล่ะ แจ่มแจ้ง-แดงแจ๋ กันแล้วใช่มั้ย?

                คือเรื่องหุ้นธนาธรนี้ ท่านไม่ต้องไปดูอะไรมากให้ยากยุ่ง ประเด็นมันมีอยู่แค่ว่า       

                วันที่ธนาธรไปยื่นสมัคร ส.ส.กับ กกต.เมื่อ ๖ กุมภา ๖๒ นั้น

                ธนาธรขาดจากการเป็นผู้ถือหุ้นสื่อโดยสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้วหรือยังเท่านั้น?

                เพราะกฎหมายเขาห้ามคนถือหุ้นกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใดๆ ลงสมัครรับเลือกตั้ง

                เท่าเนี้ย...

                ไม่ต้องไปสน อีซีพาส ใบเสร็จ-ใบสั่ง หรือหลักฐานอื่นใด อย่างที่งั่งกฎหมายสายตะพายหลุดเที่ยวไล่ขวิด

                ดูแค่ "สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น" ที่เรียกว่า "แบบ บอจ.๕" อย่างเดียว

                จบ!

                เพราะนั่นเป็นเอกสารหลักฐานทางราชการที่ "บ่งชี้-บ่งชัด" ครบถ้วน ว่า

                ณ วันนั้น-เวลานั้น-ปีนั้น ใครถือ-ไม่ถือหุ้น ใครขาย-ใครซื้อ มีระบุหมด ใครจะเถียงหรือแถ "หลักฐานทางราชการ" ไม่ได้

                เพราะแบบ บอจ.๕ "รายการเกี่ยวกับผู้ถือหุ้น" บริษัทต้องคัดลอกข้อมูลจาก "สมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น" ของแต่ละบริษัท ที่มีเก็บไว้ที่สำนักงานบริษัท

                ส่งไปยัง "นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท" คือ "กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์"!

                -ชื่อผู้ถือหุ้น จำนวนหุ้น หมายเลขหุ้น เงินที่ชำระค่าหุ้น

                -วัน/เดืน/ปี ที่ลงทะเบียน "เข้าเป็น" ผู้ถือหุ้นของบริษัท

                -วัน/เดือน/ปี ที่ลงทะเบียน "ขาดจาก" การเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท

                กรรมการบริษัทต้อง "คัดลอก" เข้าใจคำว่า "คัดลอก" ใช่มั้ย คือลอกด้วยลายมือจาก "สมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น" ส่งไป

                ต้อง "ปีละครั้ง"........

                ภายใน ๑๔ วัน หลังจากการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัท

                เอกสารทุกแผ่น "กรรมการบริษัท" ต้องเซ็นรับรองความถูกต้อง           

                อย่างกรณีธนาธร บอกว่าโอนแล้ววันนั้น-วันนี้ ก็ไม่ต้องไปต่อล้อ-ต่อเถียง

                ในแบบ บอจ.๕ ระบุวัน/เดือน/ปี ไหน ก็เป็นไปตามนั้น

                ประเด็นสำคัญ ถ้าในเอกสารระบุ "วันโอน" เป็นหลังวันที่ ๖ กุมภา ๖๒

                ธนาธร "จบ"!

                เพราะแสดงว่า ขณะยื่นสมัคร ส.ส.เมื่อ ๖ กุมภา ธนาธรยังถือหุ้นอยู่

                แต่ถ้าโอนก่อน ๖ กุมภา คือขณะไปยื่นสมัครกับ กกต.ไม่ได้ถือหุ้นแล้ว

                ธนาธรก็ "ไปต่อ"!

                เพราะที่ตรวจสอบนั้น กกต.ตรวจสอบในประเด็นว่า.....

                ขณะยื่นสมัคร ส.ส. ธนาธรขาดจากการเป็นผู้ถือหุ้นครบถ้วนสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ.มาตรา  ๑๑๒๙ วรรค ๓ แล้วหรือไม่เท่านั้น.  


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"