17กปปส.ร้องศาลวินิจฉัย ต้าน‘ระบอบทักษิณ’ไม่ผิด


เพิ่มเพื่อน    

 "แก้วสรร" ยื่นศาลอาญาส่งศาล รธน.วินิจฉัยชี้ขาดคดี กปปส.ชุมนุมไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ยกเหตุผล 9 ข้อ 46 หน้า ยันใช้ "สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ" ต่อต้านระบบเผด็จการพรรคการเมืองนายทุนที่แสวงหาอำนาจผิดครรลอง รธน. พยายามแก้ไข รธน.ตามอำเภอใจนิรโทษกรรมคดีคอร์รัปชัน ชี้ระบอบทักษิณมีอยู่จริง เป็นภัยต่อ ปชต. เหมือนงูเห่าที่เลื้อยเข้ามาในบ้านจนต้องปิดกรุงเทพฯ ต่อต้านขับไล่

    ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันที่ 18 มิถุนายน ศาลนัดสืบพยานโจทก์คดีชุมนุม กปปส. หมายเลขดำ อ.247/2561 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อายุ 70 ปี อดีตเลขาธิการ กปปส. กับพวกเป็นจำเลย กรณีร่วมกันชุมนุมขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อระหว่างวันที่ 23 พ.ย.2556-1 พ.ค. 2557 ซึ่งมีการพาผู้ชุมนุมบุกรุกปิดสถานที่ราชการหลายแห่ง รวมทั้งขัดขวางการเลือกตั้ง ซึ่งท้ายคำฟ้องอัยการโจทก์ยังได้ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งของจำเลยด้วย มีกำหนด 5 ปี ขณะที่จำเลยได้ประกันตัวไปด้วยหลักทรัพย์คนละ 600,000 บาท
    โดยช่วงสืบพยานโจทก์ช่วงเช้า นายแก้วสรร อติโพธิ จำเลยที่ 21 ได้ยื่นคำร้องในนามจำเลย 17 คน ประกอบด้วย นายแก้วสรร, พล.ร.อ.ชัย สุวรรณภาพ, นายแซมดิน เลิศบุศย์, นายถนอม อ่อนเกตุพล, นายถวิล เปลี่ยนศรี, พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ, นายมั่นแม่น กะการดี, นายยศศักดิ์ โกไศยกานนท์, นายวิทยา แก้วภราดัย, พล.อ.อ.วัชระ ฤทธาคนี, นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, นายสุริยะใส กตะศิลา, นายสาธิต เซกัลป์, นายคมสัน ทองศิริ, พ.ต.ท.สุภวัฒน์ สุปิยะพาณิชย์, นายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือพุทธะอิสระ 
    ขอให้ศาลอาญาพิจารณาส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2560 มาตรา 212 (ที่บัญญัติว่า หากมีคดีในศาลและมีความเห็นว่าบทบัญญัติที่นำมาใช้บังคับกับจำเลยนั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว สามารถเข้าถึงอำนาจวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ โดยศาลในคดีนั้นเห็นเอง หรือโดยคู่ความขอให้ศาลมีหนังสือยื่นคำร้องส่งมายังศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ เมื่อศาลวินิจฉัยเช่นใดก็จะมีผลผูกพันในทุกคดีความ) 
    เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยใน 2 ประเด็น 1.ให้พิจารณาว่า "สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ" ตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 มาตรา 69 รับรองไว้ว่า "บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้" ได้บังเกิดขึ้นแล้วแก่ปวงชนชาวไทยในปี 2556 และ 2557 ที่จะต่อต้านโดยสงบ ซึ่งกระบวนการทางการเมืองอันเป็นภัยต่อรัฐธรรมนูญที่นำโดยพรรคเพื่อไทย 2.ขอให้สั่งว่าการดำเนินคดีของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการที่ไม่ยอมรับสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญของผู้ใช้สิทธิ์ตามข้อ 1 ในคดีต่อต้านระบอบทักษิณทั้งปวงจะกระทำไม่ได้ พนักงานอัยการต้องถอนฟ้องคดีใหม่ทั้งหมด
    โดยจำเลยทั้ง 17 คนอ้างเหตุผล 9 ข้อ พร้อมเนื้อหาจำนวน 46 หน้า ให้ศาลอาญาพิจารณาเพื่อมีคำสั่ง ส่งเนื้อหาตามคำร้องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป ซึ่งเหตุผล 9 ข้อนั้น สรุปว่า คดีนี้อยู่ระหว่างการสืบพยานโจทก์ โดยจะสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นในเดือน ก.ย.2562 และจะสืบพยานจำเลยเสร็จสิ้นในเดือน ธ.ค.2562 แต่จำเลยทั้ง 17 คนในฐานะผู้ร้องนี้ เห็นว่าคดีนี้จำเลยมีข้อต่อสู้สำคัญว่าการกระทำของตนตามฟ้องนั้นเป็นการต่อต้านขบวนการเผด็จการที่แสวงหาอำนาจโดยวิธีการที่ผิดครรลอง เป็นภัยต่อระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นจำเลยจึงมีสิทธิกระทำได้โดยชอบเพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามที่รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 มาตรา 69 ได้บัญญัติรับรองสิทธิไว้ 
    โดยพฤติการณ์ที่อัยการฟ้องคดีทั้งหมดนี้ถูกเรียกรวมว่า คดี กปปส. ซึ่งที่เรียกเช่นนี้ไม่ใช่เพราะถูกบงการสั่งการโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จำเลยที่ 1 ที่เป็นผู้นำ กปปส. และพวกแต่อย่างใด แต่เป็นการประท้วงต่อต้านที่เกิดขึ้นโดยอิสระด้วยใจตรงกัน เพื่อต่อต้านเผด็จการขบวนการหนึ่งร่วมกันเท่านั้น ซึ่งหากศาลวินิจฉัยสภาพการณ์บ้านเมืองในขณะนั้นว่าได้เกิดสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญแก่ปวงชนจริงแล้ว กรณีก็ย่อมจะมีผลทางกฎหมายรับฟังเป็นข้อต่อสู้ได้ในทุกกรณีทุกคดี 
    คำร้องอ้างถึงกำเนิดระบอบเผด็จการพรรคการเมืองนายทุนในไทยด้วยว่า เกิดขึ้นระหว่างปี 2543-2556 เมื่อนายทักษิณ ชินวัตร และพวก ใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองด้วยความคิด ความเคลื่อนไหว และระบบที่ผิดเพี้ยนจากครรลองรัฐธรรมนูญ ระบบการปกครองที่เกิดขึ้นก็กลับกลายเป็นเผด็จการในเสื้อคลุมประชาธิปไตย จนเรียกขานว่าเป็นระบอบเผด็จการพรรคการเมืองนายทุน ซึ่งได้เกิดการแสวงอำนาจโดยผิดวิถีทางตามรัฐธรรมนูญอย่างเป็นขบวนการ และเติบโตจนเป็นภัยชัดเจนต่อรัฐธรรมนูญในปลายปี 2556 และในช่วงปลายสมัยของยุคนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ระบอบนี้ ได้พยายามใช้อำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างบิดผันถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกพยายามจะสร้างกระบวนการร่างใหม่ทั้งฉบับ เมื่อไม่สำเร็จก็หันมาแก้ไขเป็นรายมาตรา โดยมีสาระล้มหลักการพื้นฐานในมนุษย์หลายประการ เช่น เพิ่มอิสระรัฐบาลในการทำข้อตกลงสำคัญกับต่างประเทศ หรือให้วุฒิสภา (ส.ว.) มาจากการเลือกตั้งได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง และผู้แทนก็สามารถลาออกจากพรรคการเมืองมาสมัคร ส.ว.เลยก็ได้ 
    ทั้งหมดแสดงถึงการแสวงอำนาจโดยผิดครรลองจนศาลรัฐธรรมนูญต้องยับยั้งให้ยุติ และเมื่อไม่อาจใช้อำนาจปรับแก้รัฐธรรมนูญตามอำเภอใจได้ ก็ตัดสินใจฝืนตรากฎหมายนิรโทษฯ ที่เป็นการนิรโทษกรรมคดีคอร์รัปชันให้แก่นายทักษิณ และคดีอาชญากรรมของแกนนำมวลชนไว้ด้วย ซึ่งแม้ฝ่ายค้านจะพยายามอภิปรายปรับแก้โต้แย้งว่าเป็นการล้มล้างกระบวนการยุติธรรมของชาติอย่างแรง ก็ถูกปิดด้วยเสียงข้างมากตลอดเวลา จนทำให้ประชาชนไม่พอใจเกิดกระแสต่อต้านครั้งใหญ่ โดยการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมคือจุดกำเริบสูงสุดของขบวนการนี้ ที่ทำร้ายหลักรัฐธรรมนูญจนย่อยยับ ปรากฏเห็นเป็นภัยใกล้ชิดชัดเจน ขณะที่สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 นั้น ได้เกิดขึ้นแล้วตั้งแต่เดือน พ.ย.2556 และยังคงกล่าวอ้างถึงได้ในคดีปัจจุบัน 
    โดยคดีของจำเลย หรือคดีคัดค้านการเลือกตั้งของประชาชนอื่นๆ อีกหลายคดีนั้น เป็นการใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตามที่รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 มาตรา 69 รับรองไว้ ซึ่งคำวินิจฉัยเรื่องกำเนิดสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญนี้ในระบอบกฎหมายจะต้องมีอยู่หนึ่งเดียว ยกขึ้นอ้างได้ในคดีอาญา และไม่อาจจะปล่อยให้ศาลยุติธรรมแต่ละคดีวินิจฉัยแตกต่างกันไปตามพยานหลักฐานในสำนวนที่ต่างกันและตามความเห็นที่ต่างกันได้ ดังนั้นทางที่จะทำให้เกิดเป็นเอกภาพได้ ก็ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้นที่จะเป็นผู้ชี้ขาดให้ยุติเป็นหนึ่งเดียว 
    หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสิทธินี้ได้บังเกิดขึ้นแล้วในขณะใด คำวินิจฉัยนี้ก็จะส่งผลบังคับผูกพันไปยังศาลที่เกี่ยวข้องจนเกิดเป็นการให้จำเลยทุกคดีสามารถอ้างสิทธิได้ในคดีของตนต่อไป หรือหากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าสิทธินี้ไม่ได้บังเกิดขึ้น คดีในศาลยุติธรรมทุกคดีก็จะไม่มีปัญหานี้ให้ต้องวินิจฉัยอีกต่อไปเช่นกัน จึงขอให้ศาลอาญาได้พิจารณาส่งคำร้องนี้ไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป
    ภายหลังศาลอาญารับคำร้องไว้พิจารณาว่า มีเหตุที่จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ต่อไป
     นายแก้วสรรอธิบายเพิ่มเติมว่า คำร้องได้ระบุถึงพัฒนาการและตัวตนเผด็จการของระบอบนี้ ด้วยข้อวิเคราะห์ทางสังคมวิทยาการเมืองก่อนว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้กลายเป็นฮิตเลอร์เมืองไทยที่ลอยออกมาจากหีบเลือกตั้งได้อย่างไร จากนั้นจึงชี้ถึงการแสวงหาอำนาจโดยผิดครรลองรัฐธรรมนูญจนเกิดคดีความต่างๆ เช่นไรบ้าง ท้ายสุดจึงวิเคราะห์ยืนยันอำนาจวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าประเด็นวินิจฉัยว่าระบอบทักษิณมีจริงหรือไม่ เป็นภัยใกล้ชิดชัดเจนต่อประชาธิปไตย เหมือนงูเห่าที่เลื้อยเข้ามาในบ้านจนต้องปิดกรุงเทพฯ ต่อต้านขับไล่นี้จะฟังได้เพียงใดนั้น นับเป็นข้อต่อสู้สำคัญที่สุดของจำเลย และมีแต่ศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้นที่จะวินิจฉัยได้ 
    "คำร้องนี้สำคัญต่อการเมืองไทยในอนาคตว่า กฎหมายไทยจะยอมรับให้ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยจนมีสิทธิต่อต้านผู้แทนที่ทรยศใช้สิทธิผิดครรลองได้จริงหรือไม่ หรือจะให้ก้มหน้าเลือกตั้งไปวันๆ แล้วให้กองทัพเข้ามาแทรกแซงเป็นระยะๆ ต่อไปอีกเช่นปัจจุบัน" นายแก้วสรรกล่าว. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"