ฮึ่ม!ม็อบอย่าล้ำเส้น จับตาการเมืองจุ้น/'เสรี'ชี้รธน.วางหมาก/สมชัยแถลงท่าที


เพิ่มเพื่อน    

    "สมชัย" ยันไม่ลาออก นัดแจ้งผลการตัดสินใจบางอย่างจันทร์นี้ สะพัด! จ่อลงสมัครเลขาฯ กกต. หวังเป็นตัวประสานส่งต่องาน กกต.เก่า-ใหม่ "เสรี" ระบุใครอยากเลือกตั้งเร็วต้องรอไปก่อน เพราะ รธน.วางหมากหลายชั้นจนพันตัวเอง เชื่อไม่มีใครอยากสมัคร กกต.ให้ถูกจับแก้ผ้าโชว์แล้วไม่เอากลายเป็นผู้มีมลทิน  “จาตุรนต์” ซัดผู้มีอำนาจอยากได้ กกต.ที่คุมได้ มั่นใจยิ่งถ่วงเวลายิ่งเพิ่มความชอบธรรมให้กลุ่มต้าน ประธานญาติวีรชนฯ ฉะ คสช.ตระบัดสัตย์ จี้แกนนำม็อบกระตุกบิ๊กตู่ให้ปรับตัวก่อนหลงทางกว่านี้ ด้าน "คสช." จับตาอีเวนต์กลุ่มคนอยากเลือกตั้งเริ่มมีนักการเมืองร่วมแจม วอนอยู่ในขอบเขตกฎหมาย  
    เมื่อวันอาทิตย์ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกระแสข่าวจะลาออกจากตำแหน่ง กกต. เพราะไม่อยากเป็นคดีความหากมีการจัดการเลือกตั้งว่า จะไม่ลาออกจากตำแหน่งแน่นอน เพราะวิธีดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดผลดี แต่จะทำให้สถานการณ์บ้านเมืองหลังจากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติไม่รับ 7 กกต.ใหม่อยู่ในภาวะติดขัดมากยิ่งขึ้น เพราะหากมี กกต.ชุดปัจจุบันลาออก 2 คนจะนำไปสู่ภาวะสุญญากาศ คือไม่สามารถตัดสินใจเรื่องสำคัญต่างๆ ที่เป็นภารกิจหน้าที่เตรียมการเลือกตั้งของกกต.ได้ จึงไม่ควรตัดสินใจใดๆ ที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อบ้านเมือง
    “วันที่ 26 ก.พ. เวลา 14.00 น. ที่ผมบอกว่าจะแจ้งผลการตัดสินใจบางอย่างต่อผู้สื่อข่าวนั้น เป็นเรื่องของการตัดสินใจส่วนตัว ไม่ใช่มติ กกต. และไม่ใช่เรื่องลาออก แต่เป็นการตัดสินใจเพื่อให้เกิดผลที่ดีที่สุดแก่ทุกฝ่าย และน่าจะทำให้การส่งต่องานระหว่าง กกต.ชุดใหม่และชุดเก่า ไม่ว่าจะมาเมื่อใด หรือเข้าใกล้การเลือกตั้งเพียงใด จะช่วยให้การส่งมอบงานมีความราบรื่นมากขึ้น” นายสมชัยกล่าว
    ทั้งนี้ มีรายงานข่าวอย่างไม่เป็นทางการว่า นายสมชัยน่าจะตัดสินใจลงสมัครรับคัดเลือกเป็นเลขาธิการ กกต. เป็นการยอมลดตำแหน่งตนเองไปสู่ตำแหน่งหัวหน้าสำนักงาน ภายใต้การบังคับบัญชาของ กกต.ที่เหลือ ซึ่งสามารถเป็นตัวเชื่อมระหว่าง กกต.ใหม่และ กกต.เก่า แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่า กกต.อีก 4 คนที่เหลือจะตัดสินใจเลือกหรือไม่ เรื่องนี้ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้
    นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่นางสดศรี สัตยธรรม อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาและอดีต กกต. ระบุให้ติดตามความขัดแย้งระหว่างสถาบันศาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เนื่องจากศาลไม่พอใจกรณีที่ สนช.คว่ำ 7 ว่าที่ กกต. ว่าการดำเนินงานของศาลยุติธรรมเป็นการทำตามอำนาจหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ฉะนั้นการทำหน้าที่ของศาลจะไม่นำความรู้สึกพอใจหรือไม่พอใจมาใช้ การที่ว่าที่ กกต.ผู้ผ่านการสรรหาทั้ง 7 คนไม่ผ่านการเห็นชอบของ สนช. ก็เป็นมติที่ประชุมของ สนช. เชื่อว่าทุกฝ่ายคงทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่เช่นกัน ในส่วนของศาลฎีกาก็จะปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนี้ตามขั้นตอนต้องรอให้ สนช.ส่งหนังสืออย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการมีมติดังกล่าวส่งถึงศาลฎีกาเพื่อให้เริ่มกระบวนการสรรหาผู้ที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นว่าที่ กกต. ในสัดส่วนจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 2 คนใหม่ หลังจากได้รับหนังสือแล้วประธานศาลฎีกาจะกำหนดนัดประชุมใหญ่ผู้พิพากษาศาลฎีกาทั้งหมด 176 คนต่อไป เพื่อเริ่มต้นกระบวนการสรรหาใหม่ตามขั้นตอน โดยต้องติดตามว่าที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะพิจารณาใช้ระเบียบเดิมในการคัดเลือกพิจารณาคุณสมบัติผู้สมัครเสนอตัวสรรหาเป็น กกต.หรือจะพิจารณาออกระเบียบใหม่
    ด้านนายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต กล่าวว่า เห็นด้วยที่ สนช.ลงมติไม่เห็นชอบว่าที่ 7 กกต. ถือว่าสิ้นกระแสความ เพราะกระบวนการสรรหา กกต.ถูกตั้งข้อสังเกตถึงความหมิ่นเหม่ต่อข้อกฎหมายหลายประการ และประสบการณ์การจัดการเลือกตั้งที่หลายฝ่ายวิตกกังวลว่าจะไม่สามารถจัดการเลือกตั้งให้เกิดความบริสุทธิ์และเที่ยงธรรมได้ แต่สำหรับตนแล้ว ข้อกังวลสำคัญคือความไม่เป็นอิสระของทั้ง 7 คน ที่อาจจะเอียงกับกลุ่มอิทธิพลทางการเมืองบางกลุ่ม 
    "ฉะนั้นมติ สนช.ถือว่าทำถูกแล้ว เพราะหากลงมติเห็นชอบจะเกิดปัญหาที่อาจคาดไม่ถึงได้ค่อนข้างสูง
และเชื่อว่าตามกรอบเวลาสรรหาใหม่ภายใน 160 วัน จะไม่กระทบกับโรดแมปเลือกตั้งอย่างแน่นอน แต่ก็ต้องไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำการสรรหาชุดแรกอีก เรื่องนี้ก็ถือเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของ คสช.และผู้เกี่ยวข้อง ว่าอย่าเข้าไปแทรกแซง ครอบงำกระบวนการสรรหา จนกลายเป็นจุดอ่อนและเกิดปัญหาซ้ำรอยเดิมอีก ส่วนที่มองกันว่า กกต.ชุดเดิมสามารถทำหน้าที่แทนได้ ถ้ากรณีสรรหาชุดใหม่ไม่ได้นั้น ก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะอาจมีข้อโต้แย้งทางกฎหมายจนกลายเป็นข้อพิพาทใหม่ โดยเฉพาะอำนาจของ กกต.ในระหว่างรักษาการนั้น จะมีอำนาจเต็มขนาดไหนในการจัดการเลือกตั้งและการประกาศผลการเลือกตั้ง" นายสุริยะใสระบุ 
ไม่มีใครอยากสมัคร กกต.
    ขณะที่นายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตประธาน กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวว่า ช่วงนี้ใครอยากเลือกตั้งเร็วๆ อาจต้องรอไปก่อน เพราะแม้ว่าหากคสช.จะกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส.ไว้แน่นอนก็ตาม แต่ภายหลังจากที่ สนช.มีมติไม่รับรองผู้สมัครเป็น กกต.ทั้ง 7 คน ซึ่งการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยก็ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากวิกฤติที่เกิดจากตัวรัฐธรรมนูญเองที่วางหมากไว้หลายชั้นจนพันตัวเองหรือสร้างปัญหาให้ตัวเองในหลายเรื่องหลายประเด็น เช่น วิกฤติที่เกิดจาก สนช. ที่อาจมีมติล้มกระดานไม่เอาผู้สมัคร กกต.ทั้ง 7 คนเหมือนที่เพิ่งผ่านมาอีกก็ได้ ที่ผู้สมัคร กกต.ที่จะเสนอชื่อมากี่ครั้งก็ตาม มีโอกาสถูกล้มกระดานได้ตลอด 
     "วิกฤติที่เกิดจากผู้สมัครที่มีคุณสมบัติขั้นเทพ ที่จะไม่มีใครอยากสมัคร เพราะสมัครแล้วอาจจะเสียประวัติสูง ซึ่งคนดีขั้นเทพจริงๆ คงไม่เอาชีวิตทั้งชีวิตที่สั่งสมมา มาเสี่ยงให้ตรวจคุณสมบัติและความประพฤติและในที่สุดมาให้ สนช. มีมติลงคะแนนว่าไม่เห็นชอบดังที่เพิ่งลงมติไปหมาดๆ อันทำให้คนผู้สมัครเหล่านี้กลายเป็นผู้มีมลทินไปในพริบตา ไอ้ที่บอกเป็นคนดีขั้นเทพจะหมดสภาพ เสียผู้เสียคนกันละคราวนี้ โดยเฉพาะคนที่เป็นผู้พิพากษามาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ที่สั่งสมความดีงามมาชั่วชีวิต สนช.มีมติไม่เอาเฉยทั้ง 7 คน และต่อไปที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาก็คงไม่อยากเลือกใครอีก เพราะเป็นภาพสะท้อนของผู้เลือกซึ่งเลือกมาอย่างไร ทำไม สนช.ไม่เอาด้วย ซึ่งความจริงแล้วที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเสนอชื่อใครมา ก็ควรต้องเป็นคนนั้น แต่การที่ รธน. กำหนดไว้เช่นนี้ จึงทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งของการใช้อำนาจสูงสุดที่เป็นอำนาจอธิปไตยของประเทศต่อไป" 
    นายเสรีกล่าวอีกว่า คนที่มีคุณสมบัติขั้นเทพจริงๆ ก็คงไม่มีใครอยากมาสมัคร เพราะสมัครแล้วเหมือนถูกจับมาแก้ผ้าโชว์ความงามแล้วบอกไม่เอา ส่วนวิกฤติที่เกิดจาก กกต.ที่ทำหน้าที่อยู่ปัจจุบัน ก็คงทำหน้าที่ชั่วคราวในระหว่างที่รอให้มี กกต.ชุดใหม่เข้ารับหน้าที่ กกต.ชุดเก่าก็คงต้องนั่งภาวนาอยากให้ กกต.ตัวจริงชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ เพราะเป็น กกต.ชั่วคราว ในระหว่างเลือกตั้งคงไม่ดีแน่ เนื่องจากภาระและความรับผิดชอบเป็นของจริง ไม่ใช่ของชั่วคราว ซึ่งงานหรือภารกิจก็จะอยู่บนความขัดแย้งของทุกฝ่ายที่ต้องการชนะการเลือกตั้ง ที่ กกต.จะต้องถูกแจ้งความ ถูกฟ้องหรือถูกดำเนินคดีอย่างแน่นอน และคดีความก็จะติดตัวต่อไป แม้ว่าจะพ้นหน้าที่ไปแล้ว ซึ่งหากพลาดก็มีโอกาสคิดคุกติดตะรางเหมือนอดีตที่ผ่านมา มันไม่ใช่เรื่องน่าสนุกเลย 
      นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  กล่าวถึงกรณี สนช.มีมติไม่เห็นชอบว่าที่ กกต.ทั้ง 7 คน ว่า คิดว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสรรหาทั้งหมดต้องมาทบทวนปัญหาที่ผ่านมาว่าเกิดจากอะไร เพื่อให้เกิดความราบรื่นในการสรรหารอบใหม่ คสช.และรัฐบาลต้องสร้างความเชื่อมั่นเพื่อให้ทุกอย่างเดินตามโรดแมปได้ แต่ กกต.ชุดเก่ายังทำหน้าที่ไปก่อนได้ตามที่กฎหมายรองรับ แม้จะมีกระแสข่าวการลาออกของนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการ กกต.ก็ตาม ส่วนที่มีบางฝ่ายมองว่าการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่ง กกต.ชุดใหม่นั้นสูงเกินไป คงไม่ใช่ประเด็นหลัก เชื่อว่ามีบุคคลที่มีคุณสมบัติอีกมากมาย แต่ไม่กล้าเข้ามาดำรงตำแหน่งคณะกรรมการสรรหาจะต้องสร้างความเชื่อมั่น เพื่อให้บุคคลเหล่านั้นกล้าที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งได้ 
       ในออฟฟิเชียลไลน์ "@mark_abhisit" ของนายอภิสิทธิ์ ได้มีการโพสต์ข้อความว่า ประเด็นเกี่ยวกับกระบวนการสรรหาในส่วนของศาล มีการวิพากษ์วิจารณ์ความเหมาะสมของบางท่านที่ได้รับการสรรหามา แต่มติคะแนนที่ออกมาไม่รับรองทั้งเจ็ดคนดูเหมือนทำให้มีคนแสดงออกถึงความหวาดระแวงจำนวนมาก ถ้าดูตามกฎหมายแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ควรกระทบตารางเวลาการเลือกตั้ง แต่ในทางปฏิบัติดูจะมีโอกาสเกิดความขลุกขลักอยู่พอสมควร และจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนด้วย เมื่อนำมารวมกับปัจจัยความไม่ชัดเจนของผู้มีอำนาจ เลยทำให้หลายคนคิดว่าเรื่องนี้เป็นความพยายามที่จะยืดเวลาการเลือกตั้งออกไป
ยิ่งยื้อเลือกตั้งม็อบชอบธรรม
    นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่แปลกที่บุคคลซึ่งผ่านการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหามาเรียบร้อยแล้วไม่มีใครที่เหมาะสมพอที่ สนช.จะเห็นชอบได้เลย ถ้าผลการลงมติออกมาว่ามีทั้งเห็นชอบและไม่เห็นชอบ น่าจะสมเหตุสมผลมากกว่า เพราะ กกต.เกือบทุกชุดที่ผ่านมา ก็มีทั้งที่มีประสบการณ์และไม่มีประสบการณ์คละเคล้ากันไป ซึ่งจะทำให้คณะกรรมการสรรหาทำงานยากลำบากมากขึ้น เพราะไม่รู้ว่า สนช.ต้องการ กกต.แบบไหน การได้ กกต.ชุดใหม่ล่าช้าออกไปมากเกินไป ก็อาจส่งผลทำให้การทำหน้าที่ของ กกต.ที่ต้องทำให้การเลือกตั้งสุจริตและเที่ยงธรรมเกิดปัญหาได้ การได้มาซึ่ง กกต. จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้มีอำนาจไม่ควรเข้ามาเกี่ยวข้องแทรกแซงโดยเด็ดขาด เพราะเมื่อสังคมเคลือบแคลงสงสัย ก็จะก่อให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในการเลือกตั้ง ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาตามมาอีกไม่รู้จบ  
       นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เรื่องนี้อาจทำให้วันเลือกตั้งยืดออกไปอีกนาน เพราะต้องมีการสรรหา กกต.ชุดใหม่ ไม่แน่ว่าจะมีคนสนใจมาสมัครกันมากน้อยแค่ไหน แม้มีคนมาสมัครก็เป็นเรื่องยากที่ สนช.จะเห็นชอบ เพราะคุณสมบัติที่กำหนดไว้ทำให้หาคนมาเป็นได้ยาก ที่สำคัญคนที่ผู้มีอำนาจอยากวางตัวให้เป็น กกต.ไม่สามารถผ่านการสรรหาได้ เนื่องจากไม่ผ่านคุณสมบัติ ทำให้ กกต.ชุดที่ผ่านมาอาจไม่เป็นรู้จักของสังคม และไม่อาจแน่ใจได้ว่าจะยอมอยู่ภายใต้การกำกับของผู้มีอำนาจ เรื่องโดยรวมยังเป็นเรื่องของการที่ผู้มีอำนาจต้องการให้มี กกต.ที่สามารถควบคุมได้ เพื่อเป็นประโยชน์ในการสืบทอดอำนาจ เพราะ กกต.ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มีอำนาจให้คุณให้โทษมาก โอกาสแข่งขันตั้งรัฐบาลระหว่างบุคคลภายนอกกับ ส.ส.จากพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญปัจจุบันสูสี กกต.อาจแสดงบทบาทชี้ขาดว่าใครจะได้เป็นนายกฯ ได้ 
    เมื่อถามว่า กระบวนการสรรหาอาจสะดุดได้อีกหรือไม่ นายจาตุรนต์กล่าวว่า ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ เพราะกรรมการสรรหา กกต.มีหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติและคัดเลือกบุคคล แต่ สนช.มีอำนาจหน้าที่ในการเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ถ้าเกิดมีใบสั่งมาอีกต้องเลื่อนออกไปอีก  
    ถามอีกว่า การยื้อกลไกต่างๆ จะเป็นการปลุกให้การเคลื่อนไหวเรียกร้องการเลือกตั้งมากขึ้นหรือไม่ นายจาตุรนต์ตอบว่า มันก็ทำให้การเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งเร็ว หรือเลือกตั้งตามกำหนด มีความชอบธรรมมากขึ้น ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการอยู่ในอำนาจนานๆ ต่อไปของ คสช.จะเกิดการทำหน้าที่ที่เข้าตาประชาชน หรือเกิดความเสื่อม ในช่วงหลังๆ ยิ่ง คสช.อยู่นานก็ยิ่งเสื่อม เพราะฉะนั้นความไม่พอใจและการเคลื่อนไหวเรียกร้องต่างๆอาจจะมากขึ้นและเข้มแข็งขึ้น เนื่องจากทั้งหมดเชื่อว่าเป็นเกมของ คสช.อยู่ในอำนาจนานๆ
    นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงมติคว่ำการสรรหา 7 กกต.ว่า ยิ่งกว่าเด็ก เล่นขายของ เพราะ สนช.เป็น 1 ในแม่น้ำ 5 สายของคสช. จะปฏิเสธไม่รู้ ไม่เห็น ไม่มีใบสั่ง ก็ไม่มีใครเชื่อ ถึงขนาดผู้ใหญ่บางท่านที่รัฐบาลนี้เคยเชิญให้มาร่วมงานยังกล่าวว่า "คนไทยไม่ได้กินหญ้า" ปัจจุบันประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่ไม่สามารถคาดการณ์อะไรล่วงหน้าได้ นับตั้งแต่การคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ การเลื่อนการเลือกตั้งหลายครั้ง ทั้งนี้ ยังมี พ.ร.ป.ส.ส.และ พ.ร.ป.ส.ว.ที่ยังค้างคาอยู่ใน สนช.ในชั้นตั้ง กมธ.ร่วม ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะออกหัวหรือออกก้อย อันส่งผลให้ประเทศขาดความเชื่อมั่นอย่างยิ่ง
    นายนพดล ปัทมะ สมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สถานการณ์บ้านเมืองยังอึมครึม ต่างฝ่ายต่างยึดแนวคิดของตน ยังจูนกันไม่ค่อยติด ยิ่งนานชาติยิ่งเสียโอกาส ถ้าหากคนจำนวนมากไม่ร่วมมือ การบริหารงานต่างๆยากจะสำเร็จ คนที่รับภาระคือคนไทยทั้งประเทศ แต่เชื่อว่ายังมีทางออกของประเทศที่เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย แบบวินวิน คือ 1.เปิดให้ประชาชนและพรรคการเมือง เข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองมากขึ้น โดยการยกเลิกคำสั่งที่ห้ามคนชุมนุมตั้งแต่ 5 คน และยกเลิกคำสั่งห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรม 2.คสช.และรัฐบาลควรสร้างความชัดเจนทางการเมืองให้เกิดขึ้น ขอเสนอให้รัฐบาลและ คสช.สร้างฉันทานุมัติ 2561 ร่วมกันของฝ่ายต่างๆว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อใดแน่ เอากันให้ชัดๆ เพื่อทุกฝ่ายจะเดินไปจุดนั้นร่วมกัน 3.เหตุผลของการรัฐประหารเรื่องหนึ่งคือเพื่อสร้างความรักความสามัคคีในชาติ ซึ่งขณะนี้ยังไม่สำเร็จ ดังนั้นควรยุติการดำเนินคดีและตั้งข้อหารุนแรงกับคนที่ใช้เสรีภาพในการชุมนุมหรือเรียกร้องการเลือกตั้ง 
แนะแกนนำม็อบกระตุกบิ๊กตู่
        ขณะที่นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 และอดีตกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า เนื่องจากความสับสนที่เกิดจากการบริหารบ้านเมืองของ คสช. กรณีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปโดยไม่มีกำหนด คนในรัฐบาลมีพฤติการณ์ส่อทุจริตประพฤติมิชอบ การใช้หลักกฎหมายพิเศษ มาตรา 44 อย่างพร่ำเพรื่อ ทั้งที่ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว จึงขอวิงวอนให้กลุ่มคนและองค์กรต่างๆ ที่มีความหวังดีต่อประเทศชาติ อาทิ กลุ่ม กปปส. นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และกลุ่มพันธมิตรฯ นำโดยนายพิภพ ธงไชย นายสุริยะใส กตะศิลา, กลุ่มนักวิชาการ นำโดยนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์, กลุ่มผู้มีตำแหน่งใน สนช. นำโดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย นายสมชาย แสวงการ รวมถึงบุคคลที่หวังดีต่อประเทศชาติ ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเพื่อหวังดีต่อประเทศชาติ และเรียกร้องให้หัวหน้า คสช.รับดำเนินการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขโดยเร่งด่วน
    “คสช.เข้ามายึดอำนาจการปกครองจะครบ 4 ปีแล้ว ประชาชนทุกเสื้อสี ทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง รวมทั้งฝ่ายการเมือง ก็ได้ให้ความร่วมมือกับ คสช. เพื่อให้สัญญาประชาคมปรากฏเป็นรูปธรรม บัดนี้ได้รับการพิสูจน์อย่างชัดเจนแล้วว่าล้มเหลวแทบทุกด้าน และยังตระบัดสัตย์ เลื่อนเลือกตั้งหวังสืบทอดอำนาจอีก หากกลุ่มคนผู้หวังดีต่อชาติบ้านเมืองไม่ท้วงติงและชี้แนะ คสช.ก็จะเดินหลงทางไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็จะเกิดการเผชิญหน้าทางสังคม สร้างความเสียหายต่อชาติบ้านเมืองซ้ำรอยประวัติศาสตร์อีก และขอเรียกร้องหัวหน้า คสช.ได้โปรดรับฟังอย่างมีสติ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เกิดแสงสว่างทางปัญญานำพาประเทศเดินไปข้างหน้าอย่างถูกต้องและราบรื่น”นายอดุลย์กล่าว
      ด้าน พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษก คสช. กล่าวถึงการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่ ม.ธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่  24 ก.พ.ที่ผ่านมาว่า โดยภาพรวมการชุมนุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และอยู่ในการดูแลของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง คสช.ได้อธิบายไปในรายละเอียด หลายครั้งแล้วว่า ในสภาวะบ้านเมืองในขณะนี้ คนส่วนใหญ่ต้องการความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง การดำเนินงานตามโรดแมป ก็ยังยืนยันว่าต้องมีการเปลี่ยนผ่านอำนาจในการบริหารประเทศ และการบริหารราชการแผ่นดินไปสู่รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง ในกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ไม่ได้มีอะไรที่ผิดไปจากนี้
    ผู้สื่อข่าวถามว่า คสช.จะดูแลการชุมนุมครั้งต่อไปอย่างไร เพราะเริ่มมีอดีตนักการเมืองเข้ามาร่วมในการชุมนุมด้วย พล.ต.ปิยพงศ์กล่าวว่า หน่วยงานความมั่นคงก็คงต้องติดตามความเคลื่อนไหวของทุกกลุ่มทุกฝ่าย โดยเฉพาะกิจกรรมที่ได้ระบุวันเอาไว้ว่าในการดำเนินการอะไรก็ตาม เราขอความร่วมมือให้อยู่ในขอบเขตของกฎหมาย หากไปกระทบสิทธิของผู้อื่น ก็จะมีผลที่จะตามมาในสิ่งที่พวกเราทุกคนก็ไม่ปรารถนา
    "ทางเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องคงเข้าไปดูแลให้เกิดความสงบเรียบร้อย ในช่วงเวลาสำคัญเหล่านี้ผมเชื่อว่ายังคงไม่น่าจะมีอะไร เพราะว่าพี่น้องประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศน่าจะยังยืนยันในบรรยากาศของความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง" พล.ต.ปิยพงศ์กล่าว 
    ส่วน พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. กล่าวว่า เราจะใช้มาตรการของความร่วมมือและทำความเข้าใจในทุกระดับอยู่แล้ว ซึ่งเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดูแลการเคลื่อนไหวกลุ่มดังกล่าวได้อยู่แล้ว หากดำเนินการแล้วไม่เป็นผล คงต้องมีการเพิ่มระดับขึ้นไปเรื่อยๆ โดยใช้การตักเตือนเป็นหลัก หากตักเตือนแล้วยังไม่เข้าใจ คงต้องบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายต่อ ไปซึ่งขอย้ำว่า คสช.ดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป เป็นไปตามระดับ
    สำหรับการเคลื่อนไหวและการปราศรัยที่มักโจมตีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้น พ.อ.วินธัยกล่าวว่า คิดว่าประชาชนคนส่วนใหญ่มีความเข้าใจ เราต้องดูด้วยว่าความน่าเชื่อถือในตัวบุคคลที่ปราศรัยมีความเชื่อถือหรือไม่ หากพวกเขาพูดในลักษณะที่สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายและไปละเมิดตัวบุคคล และองค์กรที่ไม่มีอะไรที่เป็นสิ่งพิสูจน์ ก็ขอให้ระมัดระวังด้วย เชื่อว่าคนส่วนใหญ่เขาไม่ให้ความสนใจและไม่กังวล คิดว่าสถานการณ์เฉพาะหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ดำเนินการ คงประเมินไม่ได้ว่ากลุ่มเคลื่อนไหวนี้จะจุดติดหรือไม่ติด 
    “ถ้าเราดูที่ตัวบุคคลในม็อบอยากเลือกตั้งส่วนใหญ่ พบว่าจะเป็นคนกลุ่มเดิมๆ และหน้าเดิมๆ ซึ่งคนกลุ่มนี้คนในสังคมส่วนใหญ่ก็เข้าใจตรงกันว่าเป็นคนที่เข้าใจอะไรยาก ซึ่งทางเจ้าที่ต้องดำเนินการขอความร่วมมือ และทำความเข้าใจอย่างค่อยเป็นค่อยไป” โฆษก คสช. กล่าว
          วันเดียวกัน ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล”  สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “3 ปี 6 เดือน ของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา” ระหว่างวันที่ 19-21 ก.พ.2561 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ 1,250 ตัวอย่าง พบว่า ประชาชนร้อยละ 20.16 ระบุว่าทำงานในตำแหน่งนายกฯ ได้ดีมาก เพราะ มีการแก้ไขปรับเปลี่ยนระบบการบริหารงานได้ดี มีความเด็ดขาดในการทำงาน มีความโปร่งใส, ร้อยละ 48.16 ระบุค่อนข้างดี เพราะมีความชัดเจนในการบริหารที่ดี มีนโยบายช่วยเหลือประชาชน ขณะที่บางส่วนระบุว่า ทำงานดี บริหารบ้านเมืองได้ดี ไม่วุ่นวาย สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งลงได้, ร้อยละ 19.68 ระบุว่าไม่ค่อยดี เพราะการทำงานยังมีจุดบกพร่อง เกิดความขัดแย้ง เศรษฐกิจไม่ดี, ร้อยละ 11.68 ระบุว่าไม่ดีเลย เพราะ บ้านเมืองยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ไม่สามารถทำตาม Road map ได้ การทำงานไม่โปร่งใส และเศรษฐกิจย่ำแย่ 
     และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจในเดือน ส.ค. 2560 พบว่า เมื่อรวมสัดส่วนของผู้ที่ระบุว่าทำงานได้ค่อนข้างดีและดีมากมีสัดส่วนลดลง ขณะที่ผู้ที่ระบุว่าทำงานได้ไม่ค่อยดีจนถึงระดับไม่ดีเลย มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น  
    เมื่อถามถึงลักษณะการทำงานในรอบ 3 ปี 6 เดือนในด้านต่างๆ ทั้งด้านมีอุดมการณ์และความตั้งใจทำงานเพื่อชาติและประชาชน รองลงมา ความกล้าตัดสินใจ ในประเด็นทางการเมืองและการบริหารที่สำคัญ บุคลิกภาพผู้นำแบบทหาร ประสิทธิภาพในการทำงานแก้ไขปัญหาของประเทศ และการทำงานมีความโปร่งใสตรวจสอบได้ เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจในเดือนส.ค.2560 พบว่ามีสัดส่วนลดลงทุกด้าน ยกเว้นเรื่องบุคลิกภาพผู้นำแบบทหารที่เพิ่มมากขึ้น
    เมื่อถามถึงความประทับใจในการทำงานของคณะรัฐมนตรีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 5 อันดับแรก พบว่า อันดับ 1 ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 39.68 ระบุว่า ประทับใจในการทำงานของนายวิษณุ  เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี, รองลงมา อันดับ 2 ร้อยละ 38.72 ระบุว่าเป็นนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ, อันดับ 3 ร้อยละ 36.24 พล.อ.อนุพงษ์  เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย,  อันดับ 4 ร้อยละ 34.56 ระบุ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน และร้อยละ 34.48 ระบุ พล.อ.อ.ประจิน  จั่นตอง รองนายกฯ และ รมว.ยุติธรรม.    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"