"เพื่อไทย" ผนึก 7 พรรคการเมืองวางกรอบทำงานตั้ง "ทวี สอดส่อง" เป็นประธานวิปฝ่ายค้าน เตรียมประสานภาคประชาชนและนักวิชาการทำความเข้าใจเหตุผลแก้ รธน.-ตรวจสอบคุณสมบัตินายกฯ ปัดปลุกมวลชนลงท้องถนน อ้างเชื่อมโยงการทำงานในกับนอกรัฐสภา เลขาฯ พรรคประชาชาติจี้ กกต.แสดงความรับผิดชอบไม่คัดกรองคุณสมบัติต้องห้ามผู้สมัคร ส.ส.ที่ถือหุ้นสื่อทั้งที่มีคำพิพากษาเป็นบรรทัดฐาน
เมื่อวันจันทร์ ที่พรรคเพื่อไทย 7 พรรคการเมืองฝ่ายค้าน ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย, พรรคอนาคตใหม่, พรรคประชาชาติ, พรรคเสรีรวมไทย, พรรคเพื่อชาติ, พรรคเศรษฐกิจใหม่ และพรรคพลังปวงชนไทย มาร่วมประชุมหารือแนวทางการทำงานร่วมกัน
โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวในที่ประชุมตอนหนึ่งว่า อยากให้การทำงานของฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเรื่องของการตรวจสอบที่ไม่จำกัดบทบาทฝ่ายค้านในเวทีสภาฯ เท่านั้น แต่อยากให้สังคมมีโอกาสร่วมกับเราในการตรวจสอบ ดังนั้นจึงต้องประสานการทำงานกันของทั้ง 7 พรรค โดยจะต้องสื่อสารกับประชาชน นักวิชาการ องค์กรภาคประชาชน หัวใจสำคัญของ 7 พรรคการเมืองคือการแก้ไขกติกาที่บั่นทอนสถาบันทางการเมือง เราจะต้องเคลื่อนไหวให้สังคมได้รับรู้ถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้
ขณะที่นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า ทั้ง 7 พรรคการเมืองแม้บางครั้งจะมีความคิดเห็นไม่ตรงกันบ้าง แต่เมื่อได้มาคุยกันก็ทำให้เกิดเป็นพลัง ที่ผ่านมาไม่เคยมีฝ่ายค้านไหนที่มีพลังและร่วมมือกันขนาดนี้มาก่อน แม้จะมีข่าวในบรรดา 7 พรรคการเมืองถูกเจาะแต่เราก็นิ่ง กลายเป็นว่าฝ่ายที่ไม่นิ่งคือฝ่ายรัฐบาล
ภายหลังการประชุมนายภูมิธรรมแถลงว่า เพื่อให้การทำงานของฝ่ายค้านมีประสิทธิภาพในการตรวจสอบอำนาจรัฐ เราจึงมีมติว่าจะตั้งคณะทำงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ให้ ส.ส.ของแต่ละพรรคมาทำงานร่วมกัน ส่วนที่สองคณะทำงานพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน มีตัวแทนพรรคละ 2 คน โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติเป็นประธาน มีนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทยเป็นเลขาธิการของคณะกรรมการ เพื่อลงไปประสานกับภาคประชาชน นักวิชาการ และส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการแก้รัฐธรรมนูญที่เป็นตัวสร้างปัญหาในปัจจุบัน รวมถึงทำหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีและ ส.ส. ไปจนถึงสถานการณ์การเลือกตั้งท้องถิ่นที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยวันที่ 18 มิ.ย.ตัวแทนทั้ง 7 พรรคจะหารืออีกครั้ง และสัปดาห์หน้าพรรคอนาคตใหม่จะเป็นเจ้าภาพ
นายชัยธวัช ตุลาธน รองเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า การตั้งคณะกรรมการขึ้นมาไม่ได้มีเจตนาลงไปทำการเมืองบนท้องถนนแบบที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่จะเป็นการทำการเมืองแบบใหม่ที่เชื่อมโยงการทำงานในสภากับนอกสภา และเชื่อมโยงการทำงานระหว่าง ส.ส.กับประชาชน
นายภูมิธรรมกล่าวด้วยว่า พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยังไม่จำเป็นต้องรีบลาออกเพื่อเปิดทางให้มีการเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ เพราะขั้นตอนการแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ จะเกิดขึ้นหลังจากที่มีการโปรดเกล้าฯ คณะรัฐมนตรีแล้ว คาดว่าจะเริ่มมีความชัดเจนในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน มิ.ย.นี้ โดยพรรคเพื่อไทยได้ร่างระเบียบพรรค กำหนดให้มีกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด 29 คน และเตรียมจะให้แกนนำพรรคซึ่งไม่ได้เป็น ส.ส.ดำรงตำแหน่งสำคัญ อาทิ ประธานพรรค, ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค, ประธานที่ปรึกษาพรรค, ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค และผลักดันคนรุ่นใหม่ให้มาเป็นกรรมการบริหารพรรคมากขึ้น
วันเดียวกัน พ.ต.ท.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ได้โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง "ถามหาความรับผิดชอบของ กกต." ระบุว่า "ตามที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 41 ส.ส.ฝั่งรัฐบาลถือหุ้นสื่อ และมีข่าวว่าพรรคพลังประชารัฐเตรียมยื่นประธานสภาฯ ส่งศาล รธน.สอบคุณสมบัติ ส.ส.ฝ่ายค้านถือหุ้นสื่อประมาณ 20 คนขึ้นไป จึงต้องเรียกร้องความรับผิดชอบการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่โดยตรงในการจัดการเลือกตั้ง ในการคัดกรองคุณสมบัติ ตรวจสอบผู้สมัครรับเลือกตั้ง ว่ามีลักษณะเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็น ส.ส.หรือไม่ ในกรณีเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ
ทั้งๆ ที่หลักฐานจะปรากฏหรือตรวจสอบได้ง่ายจากกระทรวงพาณิชย์ กกต.กลับปล่อยปละละเลยและมิได้มีการวินิจฉัย แต่กลับรับรองให้บุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครได้ เป็น ส.ส.และต่อมาได้เข้าไปใช้สิทธ์สำคัญในการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร รองประธานฯ และนายกรัฐมนตรี ทั้งที่เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามหรือขาดคุณสมบัติ ถือเป็นโมฆะมาตั้งแต่ต้น ส่งผลให้เกิดความเสียหายและความเชื่อถือของประชาชนต่อการเลือกตั้ง รวมทั้งนำมาซึ่งความขัดแย้งทางสังคม"
พ.ต.อ.ทวีระบุว่า ประเด็นเรื่องคุณลักษณะต้องห้ามเป็นผู้สมัคร ส.ส. กรณีเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นสื่อ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 98 (3) ได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งได้พิพากษาคดีกับผู้สมัครไว้เป็นบรรทัดฐาน ตั้งแต่ก่อนวันที่ 24 มีนาคม 2562 ซึ่ง กกต.ที่เป็นคู่ความทราบเรื่องดีมาแต่ต้น อาทิ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาเลขที่ 1064/2562, 1111/2562, 1143/2562, 1220/2562, 1228/2562, 1234/2562, 1322/2562, 1356/2562 และ 1706/2562 (รวม 9 คำพิพากษา) สรุปว่า "ในประเด็นการถือหุ้นดังกล่าว แต่เพียงว่าเมื่อผู้สมัครเข้ารับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการโรงพิมพ์รับพิมพ์หนังสือพิมพ์หนังสือจำหน่ายและจำหน่ายหนังสือพิมพ์ก็ถือว่าขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ 98 (3) แล้ว
แม้ผู้สมัครไม่ได้ประกอบกิจการโรงพิมพ์ รับหนังสือพิมพ์ พิมพ์ หรือจำหน่ายและออกหนังสือพิมพ์เลย และไม่ว่าจะได้รับใบอนุญาตให้เปิดสถานีวิทยุชุมชนแล้วหรือไม่ก็ตาม เมื่อยังไม่จดทะเบียนเลิกกิจการและยังเป็นผู้ถือหุ้นหรือหุ้นส่วนผู้จัดการอยู่ ย่อมขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามแล้วเช่นกัน"
"จึงขอตั้งคำถามถึงความรับผิดชอบต่อหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งของ กกต.ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ กกต.ได้ใช้งบประมาณที่เป็นเงินที่มาจากภาษีอากรของประชาชนมหาศาล เมื่อรวมงบประมาณค่าใช้จ่ายทุกรายการแล้วมีมากกว่า 8,414 ล้านบาท ในส่วนของพรรคการเมืองนั้น ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองให้มีกิจกรรมส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและการดำเนินงานขององค์กรอิสระ ซึ่งรวมทั้ง กกต.ว่าได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย และควบคุมดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมหรือไม่อย่างไรด้วย" พ.ต.อ.ทวีกล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |