การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์ก่อน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามการเคลื่อนไหว เพื่อป้องกันการสร้างสถานการณ์ภายในประเทศ
เน้นว่าต้องวิเคราะห์สถานการณ์ให้ขาดและต้องทันการณ์ โดยเฉพาะเรื่องการบิดเบือนต่างๆ ที่เกิดขึ้นนับจากนี้เป็นต้นไป
ตามสัญญาณ “บิ๊กตู่” สั่งการในจังหวะที่กำลังจะมีรัฐบาลใหม่ น่าจะมาจากการเคลื่อนไหวที่สอดประสานกันทั้งในโลกออนไลน์และภาคพื้นดิน
โดยเฉพาะท่าทีของ “ไพร่หมื่นล้าน” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ขอรับบท “นายกฯ แห่งความเป็นจริง”!!!
หลังโหวตแพ้เก้าอี้นายกรัฐมนตรี “ธนาธร” เปลี่ยนยุทธศาสตร์ต่อสู้ หันไปลงพื้นที่ต่างๆ นำหน้า “บิ๊กตู่” ที่ยังจัดตั้งรัฐบาลไม่สะเด็ดน้ำ
ตั้งแต่การลงพื้นที่ ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เพื่อรับฟังปัญหาเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย หรือล่าสุดไปโผล่ที่ภาคใต้ของประเทศ
ไม่ใช่แค่ปั่นแต้มต่อ เพื่อรอการลงเลือกตั้งครั้งหน้า แต่เป็นการหาแนวร่วมและสร้างภาพเปรียบเทียบกับ “นายกฯ ในชีวิตจริง” อย่าง “บิ๊กตู่”
ไม่ว่า “บิ๊กตู่” ทำอะไรพลาด จะมีภาพเปรียบเทียบหันไปที่ “ธนาธร” ทันทีว่า ดีกว่าหรือไม่
นอกจากนี้ ที่ต้องเกาะติดสถานการณ์ตั้งแต่รัฐบาลเพิ่งจะตั้งไข่ นั่นเป็นเพราะรัฐบาลชุดต่อไปไม่ได้มีภูมิต้านทานแข็งแรงเหมือนกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
นอกจากจะเป็น “รัฐบาลผสม” ที่เป็นสหพรรค 19 พรรค และสหก๊วนภายในพรรคพลังประชารัฐอีกไม่รู้กี่มุ้ง แต่ “บิ๊กตู่” จะไม่มีดาบอาญาสิทธิ์อย่างมาตรา 44 ที่สร้างความเกรงขามได้ แต่จะเป็น “รัฐบาลปกติ” ที่มีช่องให้โจมตีและทำลายมากขึ้น
การคอนโทรลภายในรัฐบาลเองจะยาก เพราะรัฐมนตรีทั้งหลายไม่ได้มาจากคนที่ “บิ๊กตู่” เลือก แต่มาจากพรรคการเมืองต่างๆ ที่ส่งเข้ามาดำรงตำแหน่งตามโควตา
การป้องกันการทุจริตจะทำได้ยากขึ้น เพราะขึ้นชื่อว่า นักการเมืองย่อมต้องการหาทาง “ถอนทุน” หรือ “ต่อยอด” จากอำนาจที่ได้รับ
โอกาสที่จะถูกฝ่ายตรงข้ามตรวจสอบ เล่นงานหนักขึ้นมีโอกาสสูง หากไม่ได้ระมัดระวังตัวมากพอ โดยเฉพาะยุคนี้เป็นยุคที่โซเชียลมีเดียครองโลก ทุกอย่างถูกจุดและถูกปลุกได้เพียงนิ้วมือ
แม้ปัจจุบัน รัฐบาลจะสร้าง “Air Wars” ขึ้นมา เพื่อรับมือการโจมตีทางโซเชียลมีเดีย แต่ก็ต้องยอมรับว่า ยังเป็นรองฝ่ายตรงข้ามอยู่มาก
คะแนนและกระแสของ “อนาคตใหม่” ในสนามเลือกตั้งคือเครื่องบ่งชี้ว่า ฝ่ายใดกุมความได้เปรียบในสนามโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของคนในปัจจุบัน
ทีมไซเบอร์ของพรรคอนาคตใหม่ ต่างเป็นมืออาชีพที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ โดยเฉพาะ ไกลก้อง ไวทยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ผู้ถือ “บิ๊กดาต้า” โลกออนไลน์ในประเทศ
อีกทั้งสมาชิกภายในพรรคยังมีช่ำชองหลายคน ผสมปนเปกับการทำงานร่วมกับเพจชื่อดังต่างๆ ทั้งรับเป็น “จ๊อบ” หรือ “ประจำ”
ในขณะที่ฝั่งรัฐบาล เทียบกันปอนด์ต่อปอนด์ ถือว่า เป็นรองหลายขุม ที่สำคัญ การเป็นฝ่ายตั้ง “รับ” ย่อมเสียเปรียบผู้ที่เป็นฝ่าย “รุก”
ฝ่ายตั้งรับทำได้แค่เพียงชี้แจงทุกประเด็นที่อีกฝั่งเปิดนำมาก่อน เหมือนภารกิจตามล้าง ตามเช็ด
ถ้าเร็ว รับฟังขึ้น ก็ถือว่าเอาตัวรอด แต่หากเร็ว แต่ยังไม่ขึ้น แถมข้อมูลยังมีช่องโหว่ให้แตกยอดไปอีก ก็ถือเป็นเรื่องที่เหนื่อยหนัก
เหล่านี้ต้องทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ในรัฐบาลพรรคการเมืองไม่ใช่แค่ตัว “บิ๊กตู่” แต่ทุกกระทรวงจะถูกเพ่งเล็งหมด เพราะเมื่อมันตกอยู่ในมือนักการเมือง นักการเมืองด้วยกันย่อมมองออกว่า จะหาช่องจากทางไหนเล่นงาน
ในขณะที่ภาคถนนก็เลี้ยงอารมณ์มวลชนรอ พร้อมปะทุหากมีเรื่องใดเรื่องหนึ่งถูก “จุดติด”
แม้แต่ในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ แม้ไม่มีการประกาศว่าจะออกมาชุมนุมประท้วง แต่ฝ่ายความมั่นคงก็มอบหมาย พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คอยติดตามความเคลื่อนไหวทุกกลุ่มตั้งแต่ต้น
ไม่ประมาท ไม่ว่าจะเคลื่อนไหวเล็กหรือเคลื่อนไหวใหญ่ หากเป็นสัญลักษณ์คงปล่อยไป แต่ถ้ามีวี่แววว่า จุดหมายคือ ลงถนนยาวจะถูกสกัดทันที
ถึงยามนี้ ต้องเร่งปิดจุดอ่อนตัวเอง และสกัดการเติบโตของอีกฝั่ง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |