โค้งสุดท้ายตั้งรัฐบาลยังป่วนไม่เลิก ส.ส.อีสาน 20 จังหวัดพลังประชารัฐน้อยใจถูกมองเป็น ส.ส.ตลาดล่าง หวั่นพรรคลอยแพ ลั่นต้องได้ตำแหน่ง ไม่งั้นใช้วิธีสวนมติพรรค ขณะที่ "ดำรงค์" โวยพปชร.ผิดคำพูด แจกกระทรวงทรัพย์ให้พรรคอื่น ขู่ทบทวนก่อนทูลเกล้าฯ ถวาย ถ้าไม่ตอบสนองขอเป็นฝ่ายค้านอิสระ สำหรับประชาธิปัตย์ถกมาราธอนลงตัวแล้ว จบตามโผเดิม แต่ "นิพนธ์" ขอแลกเก้าอี้กับ "จุติ"
การประชุมกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่ช่วงบ่ายวันศุกร์จนถึงช่วงเย็น และประชุม ส.ส.พรรคต่อเนื่องจนกระทั่งช่วงดึก เพื่อพิจารณาบุคคลที่เหมาะสมจะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในโควตาของพรรคประชาธิปัตย์ 8 ตำแหน่ง 7 คน ประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรี, รมว.พาณิชย์, รมว.เกษตรฯ, รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, รมช.มหาดไทย, รมช.คมนาคม, รมช.สาธารณสุข และ รมช.ศึกษาธิการ โดยมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค เป็นผู้นำเสนอประเด็นการประชุม
โดยได้ให้เจ้าหน้าที่แจกรายชื่อบุคคลที่มีความเหมาะสมเป็นรัฐมนตรี เพราะมีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อบังคับพรรค ประกอบด้วย 1.นายจุรินทร์ 2.นายเฉลิมชัย 3.นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรค 4.นายจุติ ไกรฤกษ์ รองหัวหน้าภารกิจ 5.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รองหัวหน้าภารกิจ 6.นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าภาคกลาง และ 7.นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา จากนั้นเปิดให้มีการอภิปรายนั้น
ภายหลังการประชุมกรรมการบริหารพรรคร่วมกับส.ส.ยาวนาน ที่ประชุมก็ยังไม่ได้ข้อยุติใน 7 รายชื่อที่กรรมการบริหารพรรคเสนอให้พิจารณา โดยมีปัญหาใน 2 รายชื่อ คือนายนิพนธ์และคุณหญิงกัลยา เพราะ ส.ส.สาย กปปส.ได้ลุกขึ้นทักท้วงถึงการกระทำของผู้บริหารพรรคที่กำหนดรายชื่อมาล่วงหน้า แทนที่จะให้ที่ประชุมพิจารณาอย่างอิสระ ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่เคยมีการทำมาก่อน
นายอิสสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ อภิปรายแสดงความไม่พอใจว่าการกำหนดรายชื่อเช่นนี้เหมือนกับการจองกฐิน รวมถึงชี้ว่าคุณหญิงกัลยาเคยเป็นรัฐมนตรีมาก่อน แต่ไม่ได้มีผลงานโดดเด่น ขณะที่ตนเองมีความอาวุโสและมีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะเป็นรัฐมนตรีในสัดส่วนของภาคอีสาน แต่ผู้บริหารกลับไม่เสนอชื่อ
นอกจากนี้ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง ยังได้ท้วงติงกรณีนายนิพนธ์ที่ได้ตำแหน่งรัฐมนตรี ทั้ง ๆ ที่ขณะนี้เป็นนายก อบจ.สงขลาอยู่ ถือว่าไม่เหมาะสม เนื่องจากที่ผ่านมาลาออกจากพรรคไปทำงานการเมืองท้องถิ่น แต่ในขณะนี้จะลาออกจากการเมืองท้องถิ่นเพื่อกลับมาเป็นรัฐมนตรี ถือว่าไม่ยุติธรรมกับคนในพรรค
จากนั้นนายจุรินทร์ได้ชี้แจงว่า นายนิพนธ์เป็นนายก อบจ.ในนามพรรค และทำหน้าที่ได้ดี สร้างชื่อเสียงให้กับพรรค มีผลงานในการนำยางพารามาทำถนน ถือเป็นต้นแบบที่รัฐบาลนำมาใช้ จึงถือว่ามีความเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี อีกทั้งยังช่วยทำหน้าที่ประสานงานในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ด้วย
ประชุมข้ามวันข้ามคืน
ขณะที่นายนิพนธ์ชี้แจงว่า การที่ตนรับตำแหน่งรัฐมนตรีไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อพรรค และไม่ทำให้เสียงบประมาณแผ่นดิน เนื่องจากการจะมีเลือกตั้งท้องถิ่นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคำสั่งของ คสช. ซึ่งเชื่อว่าจะมีการเลือกใหม่ทั่วประเทศอยู่แล้ว
รายงานข่าวแจ้งว่า ในที่ประชุมมีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง แต่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ โดย ส.ส.สาย กปปส.พยายามผลักดันนายอิสสระแทนคุณหญิงกัลยา และนายสาทิตย์แทนนายนิพนธ์ แต่ก็ยังไม่มีการลงมติเปลี่ยนแปลงผลการประชุมของกรรมการบริหารพรรค
กระทั่งเวลา 22.00 น. นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้เสนอให้ผู้บริหารพรรคเปิดเผยให้ชัดเจนว่าใครจะได้ดำรงตำแหน่งอะไร ทำให้นายจุรินทร์สั่งพักการประชุม โดยมีการประชุมนอกรอบระหว่างบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรีทั้ง 7 คน โดยหารือกันราวครึ่งชั่วโมง
จากนั้นนายเฉลิมชัยได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า นายจุรินทร์จะดำรงตำแหน่งรองนายกฯ ควบ รมว.พาณิชย์, นายเฉลิมชัย รมว.เกษตรฯ, นายนิพนธ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, นายจุติ รมช.มหาดไทย, คุณหญิงกัลยา รมช.ศึกษาธิการ, นายถาวร รมช.คมนาคม และนายสาธิต รมช.สาธารณสุข โดยที่ประชุมได้ลงมติด้วยเสียงส่วนใหญ่ให้การรับรองทั้ง 7 รายชื่อแล้ว
หลังเลิกประชุมดังกล่าว นายจุรินทร์ได้นัดพูดคุยเฉพาะผู้มีรายชื่อข้างต้นต่อเนื่องทันที ซึ่งนายนิพนธ์และนายจุติได้พูดคุยกันว่าตำแหน่งที่ตนเองได้รับมอบหมายให้ไม่ค่อยถนัด โดยนายนิพนธ์ระบุว่าที่ผ่านมาทำงานและดูแลสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาตลอด ถ้าให้ไปนั่งเป็น รมช.การพัฒนาสังคมฯ ก็นึกไม่ออกว่าจะเข้าไปทำอะไร เช่นเดียวกับนายจุติ กล่าวว่า ไม่ถนัดงานด้านปกครองอย่างกระทรวงมหาดไทย ดังนั้นจึงขอสลับตำแหน่งกับนายนิพนธ์
อย่างไรก็ตาม กรณีนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงมติที่ประชุม จึงทำให้ต้องทำหนังสือถึงเลขาธิการพรรค ขอให้ทบทวนมติคณะกรรมการฯ เพื่อนำไปสู่การขอมติเวียน ดังนั้น กรรมการบริหารพรรคและ ส.ส. รวม 13 คน ได้ลงนามร่วมกันในหนังสือดังกล่าว
โดยระบุว่า ตามที่มีการประชุมร่วมกันของคณะกรรมการบริหารและ ส.ส.ของพรรค เพื่อคัดสรรบุคคล ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี โดยที่ประชุมมีมติให้นายนิพนธ์เป็น รมว.การพัฒนาสังคมฯ และให้นายจุติ เป็น รมช.มหาดไทย ซึ่งผู้ที่ร่วมลงชื่อดังกล่าวขอให้ทบทวนมติสลับให้นายนิพนธ์เป็น รมช.มหาดไทย และให้นายจุติเป็น รมว.การพัฒนาสังคมฯ แทน
"เทพไท"ชมกันเอง
สำหรับผู้ที่ลงชื่อมีทั้งนายอิสสระ สมชัย, นางเจิมมาศ จึงเลิศศิริ, นายวิรัช ร่มเย็น, นายจุติ, นายนิพนธ์, คุณหญิงกัลยา และนายถาวร จากนั้นได้ออกเป็นหนังสือเพื่อขอมติเวียนให้ความเห็นชอบจากกรรมการบริหารพรรคและ ส.ส.ผ่านทางแอปพลิเคชันไลน์ ซึ่งส่วนใหญ่ลงมติเห็นชอบให้นายนิพนธ์เป็น รมช.มหาดไทย และนายจุติเป็น รมว.การพัฒนาสังคมฯ
นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เมื่อคืนวันที่ 14 มิ.ย. ต้องยอมรับความจริงว่าพรรคประชาธิปัตย์มีวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็งจริงๆ เพราะมีการประชุมร่วมของ ส.ส.กับ กรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) เพื่อพิจารณาผู้เหมาะสมกับตำแหน่งรัฐมนตรียาวนาน 9-10 ชม. นับว่าเป็นการประชุมมาราธอนอีกครั้งหนึ่งของพรรค ซึ่งในที่ประชุมค่อนข้างมีความเห็นที่หลากหลาย มีการอภิปรายเรื่องคุณสมบัติของแคนดิเดตแต่ละคนอย่างกว้างขวาง ในที่สุดก็หาขอสรุปกันได้ แม้จะมีความเห็นต่างอยู่บ้าง แต่สุดท้ายก็มีข้อสรุปตรงกัน เห็นชอบแคนดิเดตทั้ง 7 คนตามที่ กก.บห.เสนอมาอย่างราบรื่น
“ผมขอแสดงความยินดีกับเพื่อนสมาชิกทั้ง 7 คน ที่ได้รับมอบหมายให้ไปทำหน้าที่แทนเพื่อนๆ ในรัฐบาลชุดนี้ ขอให้ทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ ผลักดันเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาลของพรรคให้สำเร็จทั้ง 3 ข้อ เพื่อประโยชน์ของพรรค ประเทศชาติ และประชาชนให้จงได้ และสำหรับเพื่อนๆ อีกหลายคนที่พลาดตำแหน่งในครั้งนี้ ขอให้มีกำลังใจในการทำหน้าที่ ส.ส.ที่ดีของพรรคและประชาชน เพราะการทำงานเพื่อชาติบ้านเมือง ไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐมนตรี หรือฝ่ายบริหารเท่านั้น การเป็นฝ่ายนิติบัญญัติก็สามารถทำหน้าที่ออกกฎหมาย ตรวจสอบ ถ่วงดุลฝ่ายบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายเทพไทกล่าว
นายเทพไทกล่าวต่อว่า ในพรรคประชาธิปัตย์ยังมีสมาชิกที่มีความสามารถอีกหลายคน แต่ตำแหน่งมีจำกัด ก็ต้องรอโอกาสในครั้งต่อไป เชื่อมั่นว่าพรรคจะต้องให้โอกาสกับสมาชิกที่มีความรู้ความสามารถที่ยังเหลืออยู่ ขอให้เรายึดมั่นในอุดมการณ์ของพรรค สักวันหนึ่งโอกาสก็จะเป็นของพวกเราทุกคน และขอขอบคุณในน้ำใจและสปิริตของ ส.ส.ทุกคน ที่ยอมรับกติกาและมติของที่ประชุม อาจจะไม่ถูกใจเพื่อน ส.ส.ทุกคน แต่ถือได้ว่ามติของพรรคครั้งนี้เป็นความลงตัว และเหมาะสมทุกประการ ผลงานเท่านั้นที่จะพิสูจน์ฝีมือของท่าน ถ้าท่านไม่ประสบความสำเร็จในการทำหน้าที่ ก็ต้องพร้อมยอมรับความเปลี่ยนแปลง เพราะมีการคาดเดาจากหลายฝ่ายว่ารัฐบาลชุดนี้อาจจะมีอายุสั้น อยู่ไม่ครบเทอม ดังนั้นรัฐมนตรีของพรรคทุกคนจะต้องทำงานแข่งกับเวลา เพื่อกู้ศรัทธาจากพี่น้องประชาชนกลับมาโดยเร็วที่สุด เพื่อผลการเลือกตั้งครั้งหน้าจะได้นำพาพรรคกลับมาสู่จุดเดิม เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลต่อไป
ภูมิใจไทยจบแล้ว
ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่นมีความคืบหน้าเรื่องรายชื่อเช่นกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้ส่งรายชื่อรัฐมนตรีในสัดส่วนของพรรคภูมิใจไทย 8 ตำแหน่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โดยในส่วนรายชื่อนายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นผู้มีอิทธิพลนั้น ซึ่งทางพรรคยังยืนยันจะส่งไปรับตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์เช่นเดิม และให้สิทธิ์นายกฯ เป็นผู้พิจารณาตัดสินขั้นสุดท้าย
ส่วนอีก 7 ตำแหน่งยังเป็นเช่นเดิมคือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ดำรงตำแหน่งรองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม, นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ สามีนางนาที รัชกิจประการ แม่ทัพภาคใต้ ตำแหน่ง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา
ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการฯ ประกอบด้วย นายทรงศักดิ์ ทองศรี ส.ส.บัญชีรายชื่อ ดำรงตำแหน่ง รมช.มหาดไทย, น.ส.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ และนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล ส.ส.บัญชีรายชื่อ รมช.พาณิชย์
ขณะที่พรรคชาติไทยพัฒนาแจ้งว่า สำหรับ 2 รายชื่อบุคคลที่เหมาะสมไปร่วม ครม.นั้น น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ได้คัดเลือก 2 จาก 24 รายชื่อบุคคลที่มีความเหมาะสมตามที่คณะกรรมการบริหารพรรคได้มีมติเสนอให้พิจารณาเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา
โดย น.ส.กัญจนาได้เสนอชื่อ นายวราวุธ ศิลปอาชา ส.ส.บัญชีรายชื่อ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และนโยบาย ไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับนายประภัตร โพธสุธน ส.ส.สุพรรณบุรี เลขาธิการพรรค ไปเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปยังพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเพื่อพิจารณาร่วมกันใน 3 มิติ 1.ตำแหน่งอะไร 2.บุคคลนั้นเหมาะกับตำแหน่งหรือไม่ และ 3.ความเหมาะสม
โดย พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล เป็นผู้พิจารณารอบสุดท้าย โดยแกนนำพรรคเชื่อว่าทั้ง 2 รายชื่อที่เสนอไปจะผ่านการพิจารณาในขั้นสุดท้าย เพราะจนถึงขณะนี้ฝ่ายประสานงานยังไม่ได้การติดต่อกลับมาถึงปัญหาใดๆ ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นภายนอกเหนือจากการประสานงานนั้น พรรคไม่ขอรับทราบ
"ดำรงค์"งอแง
อย่างไรก็ตาม บางส่วนกลับยังมีปัญหา เช่น นาย?ดำรงค์ พิเดช หัวหน้าพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย แถลงทบทวนท่าทีการร่วมงานกับรัฐบาล เขาอ้างว่านับตั้งแต่ที่มีการเลือกตั้งเสร็จสิ้น ยังไม่ได้รับการประสานจากพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยก่อนหน้านี้ทางพรรคพลังประชารัฐ?เคยเสนอเงื่อนไขให้พรรครักษ์ผืนป่าฯ มาช่วยทำงานในส่วนของการดูแลกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงเชื่อมั่นว่าพรรค พปชร.จะเป็นผู้ดูแลกระทรวงนี้ เพราะนโยบายเรื่องเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติตรงกับนโยบายพรรคตัวเอง
นายดำรงค์กล่าวว่า นอกจากนี้ข่าวที่ปรากฏออกมากลับกลายเป็นพรรคชาติไทยพัฒนาดูแลกระทรวงดังกล่าวแทน ทำให้ต้องตัดสินใจเลือกที่จะเป็นฝ่ายค้านอิสระ ส่วนที่ว่าหากพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ดูแลกระทรวงทรัพยากร จะทาบทามให้พรรครักษ์ผืนป่าฯ มาช่วยดูแลแนวนโยบายนั้น ก็เชื่อว่าจะไม่มีประโยชน์ เนื่องจากมีนโยบายที่แตกต่างกัน หากเข้าไปช่วยงานคิดว่าคงไม่สามารถเดินหน้านโยบายได้เต็มที่ พร้อมกันนี้ยังได้ยื่นเงื่อนไขให้พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลทบทวนสิ่งที่พรรครักษ์ผืนป่าฯ ต้องการ ซึ่งจะให้เวลาถึงวันที่ส่งชื่อทูลเกล้าฯ ถวายเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของกลุ่ม 10 พรรคเล็ก ล่าสุดมีความเป็นไปได้ว่า 10 พรรคเล็กจะไม่ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีหรือตำแหน่งรัฐมนตรีช่วย เนื่องจากขณะนี้โควตาตำแหน่งดังกล่าวได้จัดสรรให้พรรคร่วมรัฐบาลลงตัวเรียบร้อยแล้ว โดยหากอีก 1-2 วันนี้ นายกฯ ไม่เรียกให้ 10 พรรคเล็กไปส่งประวัติเพิ่มเติม 10 พรรคเล็กก็อาจจะไม่ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีและตำแหน่งรัฐมนตรีช่วย
อย่างไรก็ตาม ยังมีความเป็นไปได้ว่าภายหลังจัดสรรโควตารัฐมนตรีเสร็จเรียบร้อยแล้ว นายกฯ อาจจะมีการจัดสรรตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรี หรือตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรี เป็นต้น ให้กับทั้ง 10 พรรคเล็กพรรคละ 1 ตำแหน่งอีกครั้ง
ที่ศูนย์ประสานงานพรรคพลังประชารัฐ จ.ขอนแก่น ตรงข้ามศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ถ.ศรีจันทร์ ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น นายเอกราช ช่างเหลา ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์ ว่า ขณะนี้กลุ่ม ส.ส.อีสานทุกคนล้วนกลัวว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมในการที่พรรคจัดสรรตำแหน่งต่างๆให้ ส.ส.ของพรรค ถึงขั้นกลัวว่าจะถูกลอยแพของกลุ่ม ส.ส.ในภาคอีสาน จนไม่มีบทบาทในการขับเคลื่อนนโยบายของพรรคใดๆ
"เรามีการพูดคุยไว้ตั้งแต่เริ่มต้น ให้อยู่เฉยๆ ทางผู้ใหญ่จะดูแล และจะดูแลให้อย่างทั่วถึง มีความเป็นธรรม แต่วันนี้ที่เราสังเกตดู คนที่อยู่เฉยๆ มักจะเป็นสุภาพบุรุษหรือ ส.ส.ตลาดล่าง ไม่ได้รับการดูแล แต่คนที่ไปจี้เช้าถึงเย็นถึงจะได้รับการดูแล วันนี้กลุ่ม ส.ส.อีสานมองว่าเราไม่ได้รับความเป็นธรรมในการจัดสรรตำแหน่งที่จะดูแลพี่น้องประชาชนในภาคอีสานตอนบน ซึ่งภาคอีสานมี 20 จังหวัด แต่ได้รับการดูแลเฉพาะที่ จ.นครราชสีมา มันเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นควรจะให้ความเป็นธรรมจัดสรรกันอย่างทั่วถึงด้วย"
ขู่สวนมติพรรค
นายเอกราชกล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์แสดงให้เห็นว่าผู้บริหารของพรรคมีความมุ่งมั่นชัดเจน โดยยืนยันในการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีของพรรคที่จะต้องมีอยู่ทุกภาค แม้แต่ภาคอีสานมีเสียง 2 คนก็ต้องมีรัฐมนตรี 1 คน เพื่อที่จะขับเคลื่อนนโยบายของพรรค แต่ ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐเราไม่ได้รับการเหลียวแลจากผู้บริหารพรรคอย่างที่ควร จึงอยากจะสื่อไปถึงผู้บริหารให้ดูแลและให้ความเป็นธรรมอย่างทั่วถึงด้วย ถ้าไม่อย่างนั้นกลุ่ม ส.ส.ภาคอีสาน จะหารือกันและทบทวน การทำงานร่วมกับพรรคพลังประชารัฐต่อไป
"คงไม่ใช่การลาออก ส่วนจะทำอย่างไร เราจะวางมาตรการ พวกเราใน 20 จังหวัด จะมาคุยกัน แล้วก็จะมีมติร่วมกันว่าเราจะขับเคลื่อนไปในแนวทางที่พวกเราเห็นสมควร อาจจะไม่เป็นไปตามมติของพรรคก็ได้ ส.ส.ทุกคนไม่ใช่เด็ก เราเป็นผู้ใหญ่ ทุกคนอาสาเข้ามาทำงานเพื่อพี่น้องประชาชน ทุกคนต้องการขับเคลื่อนการพัฒนาจะดูแลพี่น้องประชาชน แต่ถึงเวลาหลังเลือกตั้งกลับกลายเป็นว่าการรับปากของเรามันไม่สามารถที่จะขับเคลื่อนไปได้ ถ้าหากว่าเราไม่ได้เข้าไปบริหารงานในฐานะคณะบริหารของรัฐบาล เพราะถ้า เป็น ส.ส.อย่างเดียว เราจะขับเคลื่อนไปลำบาก ประชาชนจะเกิดความผิดหวัง และที่สุดท้ายขับเคลื่อนของพรรคพลังประชารัฐก็จะติดขัดแล้วก็จะสะดุด และอาจจะถึงจุดที่อาจบอกว่าไม่ต้องเดินต่อในภาคอีสาน"
เขาบอกว่า ขณะนี้การจัดตั้งรัฐบาลเกือบเรียบร้อยแล้ว 90% ส.ส.อีสานไม่ได้เข้าไปก้าวก่ายการจัดสรรตำแหน่งหรือเรียกร้อง ทุกคนอยู่นิ่งๆ เพื่อให้ผู้ใหญ่สบายใจ ไม่ต้องอึดอัดในการที่จะจัดสรรตำแหน่งด้วยความเหมาะสม เพราะคิดว่าผู้ใหญ่ของพรรคต้องให้ความเป็นธรรมอย่างทั่วถึง แต่พอฟังและนิ่งมาจนถึงนาทีสุดท้าย ทุกคนรู้สึกว่าจะไม่ได้รับการเหลียวแล จึงต้องออกมาเรียกร้องกับผู้ใหญ่ว่า ควรจะดูแลให้ทั่วถึงและเท่าเทียม เพื่อที่จะขับเคลื่อนพรรคพลังประชารัฐไปข้างหน้าร่วมกันได้
"เราต้องการเข้าไปเป็นคณะบริหารร่วมกับ ครม. ส่วนด้านไหนเป็นอำนาจของผู้หลักผู้ใหญ่ในการที่จะพิจารณาความเหมาะสม เราไม่ได้เรียกร้องต้องได้อย่างนั้นอย่างนี้ แต่มันควรจะมีส่วนในการที่จะเข้าไปขับเคลื่อนนโยบายของพรรค เพื่อตอบสนองการพัฒนาจังหวัดในภาคอีสานตอนบน
เพราะเพียงแค่การเป็น ส.ส. ไม่สามารถที่จะไปขับเคลื่อนในเรื่องการบริหารจัดการงบประมาณได้ เพราะมันขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 185 (2) มันจะผิด ถ้าเราจะขับเคลื่อน ไปจัดสรร ไปเสนองบประมาณ เพราะถ้าหากว่าเราไม่มีส่วนที่จะไปบริหารงบประมาณในฐานะผู้บริหารร่วมกับรัฐบาลแล้ว โอกาสที่จะตอบสนองต่อการดูแลพี่น้องประชาชนมันเลือนราง พี่น้องแทบจะไม่ได้รับอะไรเลย และพรรคพลังประชารัฐก็จะกลายเป็นพรรคพูดแล้วไม่สามารถที่จะปฏิบัติตามได้ อยากให้ผู้ใหญ่เข้าใจด้วยว่าเราเป็นเจ้าของพื้นที่ที่ติดต่อกับพี่น้องประชาชนตลอด เราทราบถึงความต้องการและเข้าใจพี่น้อง เราจึงเรียกร้องว่าภาคอีสานตอนบนก็ควรจะมีส่วนในการที่จะเข้าไปขับเคลื่อนร่วมกับภาคอื่นๆ อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง"
นายเอกราชกล่าวในที่สุดว่า ส.ส.อีสานไม่ได้เรียกร้องตำแหน่งรัฐมนตรี แต่เราอยากเป็นคณะผู้บริหาร แค่ 2 คนก็พอแล้ว เพราะตามโพลต่างๆ โคราชได้แล้ว แต่ศูนย์ขอนแก่นกับอุบลรวมกันทั้งหมด 1,364,761 คะแนน ถ้าคิดกันเป็นสัดส่วน 71,000 คะแนนต่อ 1 คน เราได้ ส.ส.ถึง 19 คน ไม่ได้แพ้ภาคอื่นไม่ได้แพ้จังหวัดอื่น เพราะฉะนั้นปาร์ตี้ลิสต์ตั้งแต่ลำดับ 1 ถึง 16 คือคะแนนที่ไปจากภาคอีสาน
ฝากถึง"บิ๊กตู่"
ด้านนางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ประชาชนกำลังดูว่า พล.อ.ประยุทธ์ที่กำลังจะถูกสภาซักฟอกคุณสมบัติที่ไม่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี จะใช้หลักอะไรมาแบ่งปันผลประโยชน์ในการเกลี่ยเก้าอี้กระทรวงให้กับพรรคการเมืองต่างๆ จะจัดคนเป็นรัฐมนตรีตามความรู้ความสามารถ หรือจัดแบบต่างตอบแทน หรือจัดตามแรงกดดันของพรรคร่วม ซึ่งมีข่าวว่าบางพรรคร้องขอเก้าอี้ รมต.คงมีรับปากกันไว้ก่อน ถ้าไม่ให้ก็จะถอนตัวไปเป็นฝ่ายค้านอิสระ
เธอบอกว่า การเป็นผู้นำบนตำแหน่งนายกฯ ไร้ซึ่งศักดิ์ศรีและความสง่างาม เพราะได้คะแนนจาก ส.ว.ที่โมฆะในความรู้สึกของประชาชน และจากนักการเมืองที่ทรยศประชาชนไม่รักษาสัจวาจา เคยประกาศจะไม่สนับสนุนเผด็จการตอนหาเสียง รวมทั้งได้ชัยชนะมาบนกติกาที่ไม่เป็นธรรม จนถูกเด็กนักเรียนนำไปล้อเลียนบนพานไหว้ครู ทำให้ไม่มีความสง่างามเลยในสายตาประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ หวั่นเกรงว่าจะกระทบความเชื่อมั่นของบรรดานักลงทุนทั่วโลก คนไทยหวังจะได้เห็นเศรษฐกิจฟื้นคงเป็นไปได้ยาก เมื่อเปิดประชุมสภาผู้แทนฯ ในแต่ละสัปดาห์ พล.อ.ประยุทธ์ต้องมาประชุม จะมาอ้างติดประชุมกรรมการชุดนั้นชุดนี้ไม่ได้ หรือแกล้งหนีประชุมเพราะไม่อยากฟังเสียงตัวแทนประชาชนก็ไม่ได้
นางลดาวัลลิ์กล่าวอีกว่า จึงขอให้ย้อนดูประวัติศาสตร์การเมืองสมัย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เลขาธิการคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ที่มี พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารเมื่อ 6 ต.ค.2519 มาเป็นนายกฯ หลังเลือกตั้งเดือน เม.ย. 2522 เป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ มีอยู่ครั้งหนึ่งในการประชุมสภาฯ พล.อ.เกรียงศักดิ์ไม่มาเข้าร่วมประชุมในฐานะนายกฯ ได้ถูก ม ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ส.ส.กรุงเทพฯ หัวหน้าพรรคกิจสังคม ยืนขึ้นพูดด้วยน้ำเสียงกราดเกรี้ยวลั่นสภาด้วยความไม่พอใจที่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ซึ่งไม่ได้เป็น ส.ส.ไม่มาร่วมประชุมเพื่อตอบกระทู้ถามในฐานะนายกฯ ว่า "ผมขอให้ท่านประธานสภาฯ ไปตามจิกหัวนายกฯ มันมาเข้าประชุม ส.ส." หนังสือพิมพ์พาดหัวข่าวใหญ่หน้า 1 ทุกฉบับในเช้าวันรุ่งขึ้น พล.อ.เกรียงศักดิ์ ซึ่งได้ฉายาจากสื่อว่า "อินทรีย์แห่งทุ่งบางเขน" เป็นนายกฯ เพียง 6 เดือนก็เกิดวิกฤติ ต้องลาออก
“จึงขอฝากไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ว่า เปิดประชุมสภาแล้วอย่าหนี มาตอบมาชี้แจงฝ่ายค้านด้วยตัวเอง จะพูดพล่ามแบบพูดคนเดียวเหมือนทุกคืนวันศุกร์ 5 ปีที่ผ่านมาไม่ได้ ขอแนะนำให้ถามตัวเองอีกครั้งว่า มาเป็นนายกฯ สมัย 2 เพื่อสืบทอดอำนาจเป็นการตัดสินใจที่ผิดอย่างมหันต์หรือไม่ อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ รีบสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐโดยเร็ว วันนี้พรุ่งนี้ยิ่งดี แล้วมาเป็นหัวหน้าพรรคด้วย อยากดูว่าจะไปได้สักกี่น้ำ จะได้รับความเกรงใจจากรัฐมนตรีและ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลแค่ไหน ส่วนกับ ส.ส.ฝ่ายค้านนั้นไม่มีความนับถือ ไม่เกรงใจ พล.อ.ประยุทธ์นั้นแน่นอนอยู่แล้ว” โฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าว
"เสี่ยอ๋อย"ถล่ม"บิ๊กตู่"
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว Chaturon Chaisang เป็นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับกรณีกระแสข่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ว่า เมื่อพลเอกประยุทธ์จะเป็นหัวหน้าพรรค การที่พลเอกประยุทธ์จะเป็นหัวหน้าพรรค พปชร. น่าจะเกิดจากความจำเป็นที่จะต้องมาคุมสถานการณ์ในพรรคไม่ให้แตกแยกในลักษณะไม่มีใครฟังใคร เพราะนักการเมืองประเภทเขี้ยวลากดินทั้งหลายคงไม่ยอมฟังพวกที่มาจากสายธุรกิจ แล้วมาโตทางลัดโดยผ่านการเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. ก็มีแต่พลเอกประยุทธ์ที่จะเอาอยู่ ที่สำคัญก็เพราะมี ส.ว. 250 คนอยู่ในมือ เมื่อรวมกับเสียงพปชร.ที่พลเอกประยุทธ์ก็เป็นหัวหน้าด้วย ใครไม่อยากฟังก็ต้องฟัง
แต่การที่พลเอกประยุทธ์มาเป็นหัวหน้าพรรคเองก็จะมีปัญหาอย่างน้อย 2 อย่างคือ หนึ่งนโยบายรัฐบาล คสช.ที่พลเอกประยุทธ์และนายสมคิดประกาศว่าต้องทำอย่างต่อเนื่อง แต่จะไม่ตรงกับนโยบายของพปชร. ที่มีพลเอกประยุทธ์เป็นหัวหน้า ไม่นับว่าพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคก็ยืนยันว่าต้องใช้นโยบายของตนบริหารประเทศ รัฐบาลนี้จะมีนโยบายอย่างไร และจะอธิบายต่อประชาชนอย่างไรว่าเหตุใดจึงไม่มีใครในรัฐบาลที่รักษาคำพูดที่ให้ไว้กับประชาชนเลย
สอง มีความเป็นไปได้มากที่ความสัมพันธ์ระหว่างพลเอกประยุทธ์กับผู้นำกองทัพจะเปลี่ยนไปจากสมัยที่พลเอกประยุทธ์ยังเป็นหัวหน้า คสช.อยู่ เพราะโดยประเพณีและวัฒนธรรมของไทยในหลายสิบปีมานี้ ผู้บังคับบัญชากองทัพจะไม่ยอมรับนับถือหัวหน้าพรรคการเมือง แม้หัวหน้าพรรคการเมืองจะเคยเป็นผู้นำกองทัพมาก่อนก็ตาม สถานะของพลเอกประยุทธ์และรัฐบาลจึงจะไม่มีเสถียรภาพมั่นคงเหมือนรัฐบาล คสช.
ส่วนปัญหาที่จะไม่ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นจากการมาเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองของพลเอกประยุทธ์เรื่องหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้เรื่องอื่นๆ ก็คือการเผชิญหน้ากับฝ่ายค้านและผู้ที่เห็นต่างทั้งในสภาและนอกสภา ซึ่งเป็นสถานการณ์ใหม่ที่พลเอกประยุทธ์ไม่เคยเจอมาก่อน ในขณะที่พลเอกประยุทธ์เองไม่อาจใช้บุคลิกแบบเดิมๆ ได้ แต่จะเปลี่ยนบุคลิกก็เป็นไปไม่ได้
อย่างไรก็ตาม การผันตัวเองจากหัวหน้า คสช.ที่มีอำนาจล้นฟ้า มาเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่ขาลอยจากกองทัพ และต้องอยู่ท่ามกลางเสือสิงห์กระทิงแรดในพรรคการเมืองและยังต้องถูกตรวจสอบจากฝ่ายต่างๆ ที่มีอิสระและเสรีภาพมากขึ้น ก็จะทำให้การเมืองจากนี้ไปเป็นเรื่องน่าติดตามอย่างมาก
"ศรีสุวรรณ"ทำงาน
นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์สมาคมเรื่อง “คัดค้านการนำนักกฎหมายไร้หลักการเข้าร่วม ครม.ประยุทธ์” ระบุว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อสารมวลชนเป็นการทั่วไปว่า คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งประยุทธ์-1 จะมีการดึงนักกฎหมายไร้หลักการคนเดิมมาร่วมเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายนั้น
สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยได้ติดตามพฤติการณ์ของบุคคลดังกล่าวมาโดยตลอด แล้วเห็นว่าหาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ดึงบุคคลดังกล่าวมาร่วม ครม.อีกครั้ง จะทำให้ภาพลักษณ์และความสง่างามของคณะรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนหมดสิ้นลง ทั้งนี้บุคคลที่จะเข้ามาร่วมคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ควรเป็นตัวแทนของประชาชนที่ผ่านการเลือกตั้งตามครรลองประชาธิปไตย ไม่ใช่เป็นอีแอบคอยเชลียร์ หรือแก้ต่างให้กับรัฐบาลโดยไม่ยืนอยู่บนหลักกฎหมายของบ้านเมือง แต่มุ่งแต่จะอธิบายหลักกฎหมายให้ผิดเพี้ยนเพื่อหวังเอาใจผู้มีอำนาจเท่านั้น ซึ่งเป็นการกระทำที่น่ารังเกียจของบรรดานักกฎหมายที่ยึดมั่นในหลักการและผดุงความเป็นธรรมทั่วประเทศ
ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่บุคคลดังกล่าวมาดำรงตำแหน่งเสนาบดีได้นั้น ไม่เคยเลยสักครั้งที่จะผ่านกระบวนการการเลือกตั้งตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แต่กลับได้ดิบได้ดีเพราะอาศัยเป็นนักกฎหมายที่คอยหาช่องว่างทางกฎหมาย เพื่ออธิบายหรือแก้ไขให้เป็นไปตามความต้องการของผู้มีอำนาจแต่ละยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นช่วงประชาธิปไตยเต็มใบ ครึ่งใบ หรือเผด็จการ โดยไม่คำนึงว่าจะถูกก่นด่าจากสังคมอย่างไร หรือไม่
ปัจจุบันถ้านายกรัฐมนตรียอมรับว่าเป็นยุคของการปฏิรูปการเมืองจริงตามปณิธาน ก็ไม่ควรนำบุคคลประเภทดังกล่าวมาร่วม ครม. อันจะเป็นตัวถ่วงทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลติดลบได้เร็วมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ยังมีนักกฎหมายที่เก่ง ฉลาด และมีประสบการณ์ทางการบ้านการเมืองที่มีคุณธรรมสูงอีกมากมายให้นายกรัฐมนตรีได้จิ้มเลือกในกลุ่ม ส.ส. 254 คนที่มีอยู่ในฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาล ดังนั้น นายกรัฐมนตรีจึงไม่ควรเลือกนักกฎหมายที่ไร้หลักการและไม่ผ่านการเลือกตั้งมาเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายยกฎหมายให้ประชาชนเขาด่าทั้งประเทศอีกต่อไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |