กลุ่ม 10 พรรคมอง รบ.เสียงปริ่มน้ำ ก็อยู่ยาวได้


เพิ่มเพื่อน    

 รบ.เสียงปริ่มน้ำอยู่ยาว 4 ปีได้ รมต.อย่าโกง-ไม่ต้องซื้องูเห่า  

                การทำโผคณะรัฐมนตรี ประยุทธ์ 2/1 ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังดำเนินอยู่ในเวลานี้ โดยคาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปรายชื่อทั้งหมดก่อนนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายภายในไม่เกินสัปดาห์หน้านี้

                โดยพรรคร่วมรัฐบาลที่อยู่ปีกเดียวกับพรรคพลังประชารัฐ นอกจากพรรคหลักๆ อย่าง ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทยแล้ว ก็ยังมี กลุ่ม 10 พรรค ที่เป็นพรรคการเมืองขนาดเล็ก มี ส.ส.พรรคละ 1 คน เกาะกลุ่มกันเป็นกลุ่ม 10 พรรคอยู่ร่วมรัฐบาลด้วย

                นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่-แกนนำกลุ่ม 10 พรรคการเมือง บอกเล่าทิศทางการเมืองของกลุ่ม 10 พรรคต่อจากนี้ ทั้งในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล และบทบาทในสภาฯ ตลอดจนวิเคราะห์อนาคตรัฐบาลประยุทธ์ 2/1  ที่เป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำมี ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลแค่ 253 เสียง

                หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่-แกนนำกลุ่ม 10 พรรค กล่าวถึงเรื่อง โควตารัฐมนตรีของกลุ่ม 10 พรรค ว่า สำหรับบทบาทของกลุ่ม 10 พรรคในฝ่ายบริหาร เรื่องโควตาตำแหน่งรัฐมนตรี พรรคเล็กไม่ต่อรองตำแหน่ง แต่ไม่ใช่ไม่รับตำแหน่ง แต่เราเสนอว่าแต่ละพรรคใน 10 พรรค แต่ละพรรคมีประสบการณ์ ความชำนาญด้านไหน ก็ส่งไปให้พลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว

...หากนายกฯ เห็นว่ามีตำแหน่งรัฐมนตรีว่างอยู่ เช่น รมช.ศึกษาธิการ แล้วนำมาให้กลุ่ม 10 พรรค คนที่จะได้เป็น รมช.ศึกษาธิการ ทางนายกรัฐมนตรีก็จะส่งชื่อมาให้เลยว่า กระทรวงศึกษาธิการเป็นชื่อ ปรีดา บุญเพลิง จากพรรคครูไทยเพื่อประชาชน เพราะไม่ใช่การต่อรองแบบไปยื่นเงื่อนไขขอเก้าอี้รัฐมนตรี หนึ่ง รัฐมนตรีว่าการฯ และหนึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการฯ อย่างที่เคยเป็นข่าว แต่จะเป็นลักษณะที่นายกรัฐมนตรีจะลิสต์ชื่อมาให้เลยว่าเป็นคนไหนในกลุ่ม 10 พรรค เพราะหากกลุ่ม 10 พรรคไปต่อรองจะวุ่นวาย ซึ่งทั้งหมดเป็นอำนาจการตัดสินใจของนายกฯ จะให้สองตำแหน่งหรือจะให้หนึ่งตำแหน่ง ใน ครม.จะเป็นแบบไหน กลุ่มเราไม่ขัดข้อง

...ตอนที่กลุ่ม 10 พรรค แถลงข่าวเข้าร่วมรัฐบาลที่เป็นกลุ่มแรก ที่โรงแรมเซ็นทรัลฯ ที่มีหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐเดินทางมาร่วมด้วยในวันดังกล่าว เรามีการดีล มีการได้คุยกับตัวแทนของพรรคพลังประชารัฐที่มาคุยกับเราว่า หากเป็นไปได้ ก็ขอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาตำแหน่งรัฐมนตรี-ประธานคณะกรรมาธิการสามัญฯ ของสภาผู้แทนราษฎรให้กับคนของกลุ่ม 10 พรรคด้วย แต่เราไม่ได้ต่อรองว่าจะต้องได้ 2 เก้าอี้รัฐมนตรี-3 เก้าอี้ประธานคณะกรรมาธิการสามัญของสภาฯ เราไม่ได้ถึงกับยื่นเงื่อนไขแบบนี้ เพียงแต่บอกว่าหากมีโอกาสก็ขอให้คนจากกลุ่ม 10 พรรคเล็กได้เข้าไปทำงาน

...ดังนั้นที่มีข่าวตอนนี้ว่ากลุ่ม 10 พรรคเล็ก ไม่เอาเก้าอี้ประธานคณะกรรมาธิการฯ ไม่เอาเก้าอี้รัฐมนตรีแล้ว ก็ไม่เป็นความจริง แต่เราพร้อมรับบนวิถีการเมืองใหม่ คือให้อำนาจนายกฯ พิจารณาว่าจะพิจารณาอย่างไร เพราะตอนแถลงร่วมรัฐบาลครั้งแรก ทุกพรรคได้เสนอชื่อและความถนัดของแต่ละพรรคไปให้ตัวแทนจากพรรคพลังประชารัฐทราบหมดแล้ว โดยเราได้แจ้งเขาไปว่า ถ้าเห็นว่าเราเหมาะสม ทำงานได้ก็ให้เรามา เพราะเรารู้ว่า นโยบายที่แต่ละพรรคเคยหาเสียงไว้ จะได้ผล ต้องมีโอกาสได้เข้าไปทำงาน ไปบริหาร แต่เราจะไม่สร้างปัญหาให้กับการเมืองไทย

 หมอระวี กล่าวอีกว่า ถึงตอนนี้ยังไม่รู้ว่ากลุ่ม 10 พรรคจะได้หรือไม่ได้ โควตารัฐมนตรียังไม่ชัดเจน แต่ยืนยันว่า รูปแบบของ 10 พรรคที่ดำเนินการ เป็นมิติทางการเมืองใหม่ ในการทำให้เกิดสิ่งใหม่ สิ่งที่กลุ่มทำ ไม่ใช่การไปขอโควตาเพื่อต่อรองแล้วพอได้มา มาแบ่งกัน อันนี้คือสิ่งที่กลุ่ม 10 พรรคแตกต่างจากพรรคร่วมรัฐบาลอื่น โดยเรากลุ่ม 10 พรรคได้ตกลงกันแล้วว่า หากนายกรัฐมนตรีเลือกคนจากพรรคไหน พรรคที่เหลือก็ยินดีด้วย เพราะถือว่าการรวมตัวกันครั้งนี้ของกลุ่ม 10 พรรคที่แต่ละพรรคมีแค่เสียงเดียว แต่ได้เก้าอี้รัฐมนตรีมาจะสองหรือหนึ่งเก้าอี้ ก็น่ายินดีแล้ว แสดงว่านายกฯ เห็นความสำคัญของกลุ่ม 10 พรรค

...เบื้องต้นกลุ่ม 10 พรรคก็ได้คุยตกลงกันไว้แล้วว่า หากสุดท้ายคนจากพรรคไหนได้เป็นรัฐมนตรี พวกตำแหน่งอื่นๆ ที่ต้องทำงานร่วมกับรัฐมนตรี เช่น ที่ปรึกษารัฐมนตรี-เลขานุการรัฐมนตรี ก็ให้เป็นคนจากพรรคที่ได้เป็นรัฐมนตรีไปเลย พรรคอื่นจะไม่เข้าไปยุ่ง เพื่อให้การบริหารงานเป็นไปในทีมเดียวกัน ซึ่งเดิมทีก็มีคนเสนอกันว่า จะใช้สูตรหากคนจากพรรคไหนได้เป็นรัฐมนตรี พวกที่ปรึกษารัฐมนตรี-เลขานุการรัฐมนตรี ก็ให้เป็นคนจากพรรคการเมืองอื่นในกลุ่ม 10 พรรคไปเป็น แต่พอเราคุยกันแล้วในกลุ่มก็ไม่เอาด้วยกับสูตรนี้ เพราะมองว่าการบริหารงานอาจไม่สะดวก ไม่เหมือนกับการที่คนจากพรรคไหนได้เป็นรัฐมนตรี ก็ให้คนนั้นตั้งคนจากพรรคตัวเองไปรับตำแหน่งดังกล่าวข้างต้นจะดีกว่า แต่ให้ถือว่าคนที่ได้เป็นรัฐมนตรีได้เพราะโควตากลุ่ม 10 พรรค แต่ไม่ใช่เพราะต่อรอง

                นพ.ระวี-แกนนำกลุ่ม 10 พรรค ย้ำว่า อย่างไรก็ตาม หากสุดท้ายกลุ่ม 10 พรรคถ้าไม่ได้เก้าอี้รัฐมนตรี ทางพรรคพลังธรรมใหม่ที่อยู่ในกลุ่ม 10 พรรคก็ไม่ขัดข้องอะไร เพราะถือว่าเราทำการเมืองใหม่ ไม่ต้องได้โควตา รมต.ก็ได้ แต่ที่สำคัญ งานการเมืองมันมีเยอะ เช่น สมมุติกลุ่ม 10 พรรคไม่ได้เลยสักตำแหน่ง แต่นายกรัฐมนตรีตั้งหัวหน้าพรรคหรือคนจากกลุ่ม 10 พรรคไปเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงต่างๆ แบบนี้ คนจาก กลุ่ม 10 พรรคก็ได้กันหมด หรือให้โควตาบอร์ดรัฐวิสาหกิจ โดยให้พรรคละหนึ่งบอร์ดในรัฐวิสาหกิจ แบบนี้ คนจากกลุ่ม 10 พรรคก็ได้แสดงผลงาน โดยที่มี ส.ส.พรรคละหนึ่งคน แต่ได้เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรี-ได้ไปคุมบอร์ดรัฐวิสาหกิจ แล้วยังมีตำแหน่งการเมืองอื่นๆ เช่น ที่ปรึกษารัฐมนตรี หรืออาจมีบางกรณี เช่น มีการตั้งคณะกรรมการจัดการแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น กรรมการดูแลเรื่องการเคลื่อนไหวต่างๆ เช่น การจัดการกับม็อบต่างๆ เพราะต่อไปน่าจะมีม็อบเข้ามา ในกลุ่ม 10 พรรคอย่างผมหรือคนอื่น เช่น สุรทิน พิจารณ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ก็ม็อบมาก่อน อย่างหากมีม็อบเกี่ยวกับพลังงาน ผมก็เคยม็อบมาก่อน ก็อาสาไปเจรจาพูดคุยได้ หรือหากมีการตั้งกรรมการชุดต่างๆ โดยให้คนจากกลุ่ม 10 พรรคไปช่วย เช่น แก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ก็เป็นลักษณะแบบนี้

...กลุ่มพวกเราแต่ละพรรคการเมืองมี ส.ส.คนเดียว แต่หากลองเป็นอย่าง ส.ส.พลังประชารัฐ เขาก็ไม่ได้มากเท่าพวกเรา มีคนเดียว แต่มีเครือข่ายอยู่ หรืออย่างเวลาอภิปรายในสภาฯ ส.ส.ทั่วไปอภิปรายได้ไม่กี่นาที แต่ถ้าเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองโดยหลักจะไม่มีการจำกัดเวลาในการอภิปรายในห้องประชุมสภาฯ พูดได้เต็มที่ หากสมมุติรัฐบาลโดนถล่มในห้องประชุม ส.ส.รัฐบาลก็พูดได้ไม่กี่นาที แต่ฝ่ายกลุ่ม 10 พรรค ที่ส่วนใหญ่เป็นหัวหน้าพรรค ใช้สิทธิ์ได้หนึ่งชั่วโมง หากสิบพรรคใช้สิทธิ์หมด ก็สิบชั่วโมงแล้ว ฝ่ายค้านยังไม่ได้พูดเลย จะเห็นได้ว่าบทบาทของกลุ่ม 10 พรรคทำงานให้รัฐบาลได้มาก

ถามถึงว่าหากสุดท้าย ไม่ได้โควตารัฐมนตรีแม้แต่เก้าอี้เดียว กลุ่ม 10 พรรคจะไม่มีการแสดงความไม่พอใจ ออกมาก่อหวอดทางการเมืองใช่หรือไม่ หน.พรรคพลังธรรมใหม่-แกนนำกลุ่ม 10 พรรค ให้คำยืนยันว่า ในกลุ่ม 10 พรรค ที่เราได้คุยกันก็เห็นชอบให้ยึดแนวทางนี้ แต่ก็ต้องยอมรับกันว่า ในกลุ่ม 10 พรรค บางคนก็ไฟแรงเลือดร้อน บางคนก็อาจมีกิเลส ซึ่งหากสุดท้าย การจัดทำโผ ครม.กลุ่ม 10 พรรคไม่ได้เลยสักตำแหน่ง เราก็คงต้องมีการเรียกประชุมขอความเห็นกัน ไม่แน่ อาจเหลือเก้าพรรค แปดพรรคก็เป็นไปได้ แต่ผมก็จะอธิบายให้พรรคอื่นๆ เข้าใจว่าชีวิตการเมืองยังอีกยาวไกล ตำแหน่งอื่นๆ ยังมีอีกเยอะ ไม่ต้องรีบ ทำเพื่อบ้านเมืองก่อน ประชาชนเขาเบื่อนักการเมืองแบบเก่าๆ ถ้าเป็นการเมืองเก่า ได้เก้าอี้รัฐมนตรี แต่เลือกตั้งรอบหน้าคะแนนที่ได้อาจลดลง แต่หากทำการเมืองใหม่ ไม่ต่อรองอะไร ทำเพื่อบ้านเมือง กลุ่ม 10 พรรคอาจได้คะแนนได้ ส.ส.เพิ่มขึ้น เช่น ขยับจากรวมกันแล้วได้สิบเสียง มาเป็นยี่สิบห้าเสียงก็อาจได้ 3-4 เก้าอี้รัฐมนตรี ผมก็พร้อมคุยแบบนี้กับกลุ่ม 10 พรรคให้พวกเขาใจเย็น นายกฯ คงมีเหตุผลที่ไม่สามารถให้โควตากลุ่ม 10 พรรคได้

แต่ผมก็ยืนยันไม่ได้จริงๆ ว่าหากเราไม่ได้โควตารัฐมนตรีจริงๆ ทุกอย่างมันจะสมูธเหมือนเดิมหรือไม่ แต่ก็จะพยายามไม่ให้กลุ่ม 10 พรรคแตกกันออกไป จะพยายามรวมกันไว้เพื่อสร้างผลงานเหมือนที่เคยมี บางกลุ่มการเมืองเคยทำ เช่น กลุ่ม 40 ส.ว.ที่มีผลงานพอสมควร พวกเรากลุ่ม 10 พรรคก็จะจับมือกันสร้างผลงานในสภาฯ

ถามต่อไปว่า กลุ่ม 10 พรรคมีความเป็นเอกภาพจริงหรือไม่ เพราะดูเหมือนตอนนี้มีการแตกคอกันเองในกลุ่ม 10 พรรค มีบางพรรคไปแถลงว่าหากไม่ได้เก้าอี้รัฐมนตรีจะถอนตัวออกจากการร่วมรัฐบาล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ตอบข้อสงสัยนี้ว่า สองพรรคดังกล่าว (พิเชษฐ สถิรชวาล หัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย-มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ พรรคไทยศรีวิไลย์) ที่ออกมาแถลงเมื่อวันจันทร์ที่ 10 มิ.ย. ว่าหากไม่ได้เก้าอี้รัฐมนตรียอมไม่ได้ จะถอนออกไปเป็นฝ่ายค้าน เพราะเวลานี้รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ พอเขาสองพรรคแถลงให้ข่าวตอนสายๆ พวกเราที่เหลือก็รีบติดต่อกันเพื่อเรียกประชุมด่วนที่โรงแรมเซ็นทรัลลาดพร้าว  มาทำความเข้าใจกัน จนสุดท้ายก็ได้ข้อสรุปว่า ยืนยันหลักการเดิมในนามกลุ่ม 10 พรรคคือเป็นเรื่องของนายกฯ จะพิจารณา

 นพ.ระวี-แกนนำกลุ่ม 10 พรรค กล่าวถึงบทบาทของกลุ่มในการทำงานฝ่ายนิติบัญญัติว่า กลุ่ม 10 พรรคเราแท็กทีมกันแน่น เห็นได้จากตอนนี้ พรรคพลังธรรมใหม่ยื่นญัตติเพื่อขอให้ที่ประชุมสภาฯ เห็นชอบด้วยกับการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาปัญหาเรื่องค่าโง่ทางด่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ที่เป็นอภิมหาค่าโง่นับแสนล้านบาท ตอนที่เราคุยกันว่าจะยื่นญัตติ ส.ส.จากกลุ่ม 10 พรรคทั้งหมดพร้อมใจกันเซ็นชื่อหมดทุกคน และพอเรื่องนี้เอาเข้าสภาฯ ทั้งหมดจะช่วยกันอภิปรายสนับสนุนในสภาฯ 

-บทบาทในสภาฯ ดังกล่าว กลุ่ม 10 พรรคพร้อมจะตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลหรือไม่ เช่น การตั้งกระทู้สดถามรัฐมนตรีกลางห้องประชุม การตรวจสอบในชั้นกรรมาธิการต่างๆ ของสภาฯ?

ทางกลุ่ม 10 พรรคโดยพรรคพลังธรรมใหม่ได้บอกไว้ตั้งแต่แรกตอนตั้งรัฐบาลว่า เราพร้อมจะทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านในรัฐบาล แต่ไม่ใช่หมายถึงจะไปยกมืออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล แต่หมายถึงหากโครงการที่มีการผลักดันในรัฐบาลชุดนี้ ไม่ดี มีกลิ่น ผมก็จะแจ้งรัฐบาลเหมือนฝ่ายค้านในรัฐบาล เสนอรัฐบาลให้แก้ไข เป็นคนในรู้ข้อมูล ก็แจ้งรัฐบาลให้รู้ก่อน เช่น โครงการนี้เดินต่อไปไม่ได้ คอร์รัปชันเยอะ ขอให้หยุด หากทำแบบนี้ก็ดีกว่าปล่อยให้ทำแล้วโดนฝ่ายค้านถล่ม เพราะการที่ฝ่ายเดียวกันช่วยกันท้วงติง แล้วรัฐบาลแก้ไข ประชาชนเขาก็ต้องเห็นว่ารัฐบาลทำแบบนี้ดี เรื่องไหนมีกลิ่นก็ไม่ทำ คอร์รัปชันก็น้อยลง ก็ทำแบบนี้

...กลุ่ม 10 พรรคการเมืองขนาดเล็กอย่างเราก็จะเล่นบทบาทเป็นผู้ค้านในรัฐบาล คือค้านในสิ่งที่ไม่ดี แต่หากค้านเราแล้วไม่ฟัง ยังจะเดินหน้าทำ ถ้าแบบนั้นเราก็จะร่วมอภิปรายรัฐบาลในสภาฯ บอกว่ารัฐบาลทำผิดยังไง ต้องแก้ไขยังไง เราจะไม่ทำบทบาทประเภทเป็น ส.ส.รัฐบาลแล้วนั่งกันหงอยๆ ในห้องประชุมรอฟังคำสั่งวิปรัฐบาล ในการคุยกันของกลุ่ม 10 พรรค พลังธรรมใหม่ได้บอกไปแล้วว่าเราพร้อมจะขอสงวนสิทธิ์อภิปรายตามนโยบายของพลังธรรมใหม่

ไม่รับประกัน 10 พรรคกอดกันแน่น!

ถามย้ำว่า หากถ้าฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยมีพยานหลักฐานชัดเจนว่าทำผิด จุดยืนจะเป็นอย่างไร พร้อมจะโหวตไม่ไว้วางใจหรือไม่ หมอระวี-แกนนำกลุ่ม 10 พรรค ยืนยันหนักแน่น ถ้ามีพยานหลักฐานว่าทุจริต เราต้องพิจารณา แต่ไม่ใช่สุ่มสี่สุ่มห้าจะมาโหวตสวนรัฐบาล ไม่ใช่ คือหากเรื่องไหนเราบอกรัฐบาลไปแล้ว แต่เขาไม่ฟัง พลังธรรมใหม่ก็อาจถึงขั้นถอนตัวจากการร่วมสนับสนุนรัฐบาล คือหากทำงานแล้วผลงานบกพร่อง ยังพอพิจารณากันได้ แต่หากเรื่องไหนเราเตือนแล้ว

...เช่น หากสมมุติทำโครงการบางอย่างแล้วมีลักษณะจะทำให้เกิดความเสียหาย เช่น ยกตัวอย่างทำแบบจำนำข้าวออกมา เราเตือนแล้ว เขาไม่ฟัง เราก็จะบอกเขาไปว่าพลังธรรมใหม่ก็ไม่เอาด้วย ขอถอนตัว แต่ไม่ใช่ฝ่ายค้านเสนอแล้วอภิปรายแบบขี้หมูราขี้หมาแห้ง อะไรก็เอาด้วย ยกมือสวนรัฐบาลหมด แบบนั้นก็ควรลาออกจากฝ่ายรัฐบาล เพราะการอยู่ต้องอยู่แบบการเมืองรุ่นใหม่ มีวุฒิภาวะทางการเมือง อยู่แบบคนที่เห็นผลประโยชน์ชาติเป็นที่ตั้ง

กลุ่ม 10 พรรค เราก็คุยกันแนวนี้ แต่ต้องบอกก่อนว่า ในอนาคตข้างหน้าเราอาจเจอสถานการณ์บางอย่างที่ทำให้เปลี่ยนไป เราอาจเหลือกลุ่ม 9 พรรค กลุ่ม 7 พรรค โดยกลุ่ม 9 พรรค พลังธรรมใหม่อาจไม่อยู่ ถอนออกไปก็ได้ เช่น เสียงส่วนใหญ่มองว่าเรื่องที่เราเห็นว่าไม่ดี แต่เขาบอกว่าเล็กน้อย แต่เรามองว่าคอร์รัปชันเยอะ เราอยู่ไม่ได้ ขอถอน อาจเป็นแบบนี้ก็ได้ อาจมีพลังธรรมใหม่ออกไปพรรคเดียว หรือไม่แน่อาจออกไปทั้งยวงหมดเลยก็ได้

ผมเชื่อกลุ่ม 10 พรรคมีความสำคัญในภาวะแบบนี้ เราเสนออะไรไปให้รัฐบาลพิจารณาเช่นบอกว่าเรื่องไหนไม่ดี ผมก็เชื่อว่ารัฐบาลจะฟังเรา เพราะเป็นการเสนอโดยคนในรัฐบาลกันเอง นี่คือการเมืองใหม่ที่เราอยากให้เกิดขึ้น ไม่ใช่ว่าอยู่ฝ่ายรัฐบาลยังไงก็ต้องยกมือให้รัฐบาลหมด หรือไปทำแบบเรื่องนี้ จะยกมือให้แต่ขอเงินหนึ่งล้านบาท จะต้องไม่มีทำแบบนี้ เพราะหากทำแบบนี้อย่ามาเป็นนักการเมืองเลย ออกไปค้าขายทำธุรกิจดีกว่า

สำหรับบทบาทในสภาฯ เช่นการเสนอญัตติให้พิจารณาเรื่องต่างๆ การตั้งกระทู้สดถามรัฐบาล กลุ่ม   10 พรรคเราพร้อมทำ อย่างที่ผมเสนอญัตติเรื่องค่าโง่ทางด่วนเข้าสภาฯ ที่ตามข้อบังคับต้องมี ส.ส.ร่วมลงชื่อด้วยอย่างน้อย 20 ชื่อ ซึ่งนอกจาก ส.ส.กลุ่ม 10 พรรคลงชื่อพร้อมกันหมดแล้วก็ยังมี ส.ส.จากรัฐบาล เช่นพลังประชารัฐมาร่วมเซ็นชื่อด้วยหลายคน เรื่องแบบนี้จริงๆ ต้องเป็นฝ่ายค้านยื่นเรื่อง แต่พลังธรรมใหม่ที่อยู่รัฐบาลมาทำเอง ซึ่งตอนที่ผมจะเสนอญัตติ มี ส.ส.ฝ่ายค้านพอเขาทราบเรื่องก็ติดต่อจะขอร่วมลงชื่อด้วยหลายคน เพราะผมบอกตั้งแต่ตอนเริ่มทำว่าเรื่องนี้จะไม่ทำเพื่อไปหาเรื่องโจมตีใคร  ไม่ว่าจะเป็นเพื่อไทย ทักษิณ ชินวัตร พรรคประชาธิปัตย์ที่เคยร่วมบริหารงาน กทพ.ในอดีต เพราะที่เสนอญัตติเพื่อให้สภาฯ ได้ร่วมกันศึกษาว่ามันเกิดค่าโง่ทางด่วนตรงไหน ผิดตรงไหน แล้วมาช่วยกันแก้ไข โดย กมธ.ชุดที่จะตั้งขึ้นที่จะมี ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลอยู่ใน กมธ.ชุดที่จะตั้งขึ้น เพื่อมาร่วมกันศึกษาค่าโง่ทางด่วนทั้งหมดโดยละเอียด เมื่อได้ข้อสรุปว่าปัญหาเกิดจากตรงไหน แล้วควรแก้ไขอย่างไร  ก็เสนอต่อรัฐบาลให้รับทราบนำไปแก้ไข โดยนอกจากเรื่องนี้ต่อไปหากกลุ่ม 10 พรรคเห็นว่ามีเรื่องใดที่เห็นว่าสำคัญก็จะทำแบบนี้

เช่นเวลานี้กลุ่ม 10 พรรคจะเสนอให้ตรวจสอบการจัดซื้อเครื่องบินของกระทรวงคมนาคม 38 ลำ  การทำแบบนี้มันก็ดีกว่าจะให้ฝ่ายค้านเสนอ และหลังจากนี้ก็ยังมีอีกหลายเรื่อง ผมเตรียมไว้เป็นซีรีส์แล้ว  แต่ทุกเรื่องไม่ใช่เพื่อถล่มรัฐบาลพลเอกประยุทธ์หรือไปถล่มย้อนหลังรัฐบาลชุดก่อนหน้านี้ แต่เสนอเพื่อให้ทุกพรรคการเมืองได้เข้ามาร่วมกันพิจารณา เพราะอย่างค่าโง่ทางด่วนก็ไม่มี ส.ส.พรรคไหนอยากให้รัฐบาลเสียค่าโง่ แบบนี้ก็ต้องมาช่วยกัน ซึ่งสุดท้ายหากศึกษาจบได้ข้อมูล สิ่งที่อาจตามมาก็เช่นการเสนอให้ช่วยกันผลักดันการออกร่างกฎหมายป้องกันค่าโง่ของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้ข้าราชการหรือคนที่เกี่ยวข้องกับการยกร่างสัญญาที่รัฐทำกับเอกชนต้องมีความระมัดระวัง โดยต่อไปหากสัญญาต่างๆ  เช่นการประมูลโครงการของรัฐ พบว่ามีการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงให้สามารถเอาผิดได้ ทำให้บอร์ดต่างๆ ต้องระมัดระวังการทำงาน

รับาลเสียงปริ่มน้ำมีหวาดเสียว

นพ.ระวี-แกนนำกลุ่ม 10 พรรค กล่าวถึงรัฐนาวา ประยุทธ์ 2/1 ที่มีเสียง ส.ส.รัฐบาลเกินกึ่งหนึ่งมาแค่ 3 เสียง เป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำที่บางฝ่ายบอกว่าอยู่ได้เต็มที่ไม่เกินหนึ่งปีว่า รัฐบาลจะอายุสั้นหรืออยู่ยาว หากไปดูการเมืองในอดีตของไทยรวมถึงต่างประเทศ จำนวน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลก็มีส่วนสำคัญ  มีเสียง ส.ส.ปริ่มน้ำก็หวาดเสียว แต่ที่สำคัญกว่าจำนวนมือ คือความชอบธรรมในการบริหารประเทศ สิ่งนี้สำคัญที่สุด อย่างต่อไปเช่นหากกลุ่ม 10 พรรคมีการทักท้วงรัฐบาลในเรื่องสำคัญ เพื่อไม่ให้มีการนำไปสู่การโกงกิน หรือรัฐบาลรีบแก้ปัญหาต่างๆ ของประชาชนให้เร็วและทำจริงจัง ผมก็เชื่อว่าถึงรัฐบาลจะมีเสียงปริ่มน้ำแต่ก็อยู่ได้จนครบสี่ปี แต่ตรงกันข้ามต่อให้รัฐบาลเอางูเห่าจากฝ่ายค้านเข้ามาเช่นสัก 30 เสียง ไปซื้องูเห่ามา 30 เสียง รับรองไม่ถึงหนึ่งปีก็ล่ม เพราะภายในกันเองจะแหกโค้งไป เช่นยกตัวอย่าง หากกลุ่ม 10 พรรคเสนอไปว่าเรื่องไหนไม่ดีเพราะคอร์รัปชันกันมาก แต่รัฐบาลไม่ฟังไม่สนใจจะเอาเสียอย่าง แบบนี้กลุ่ม 10 พรรคก็ต้องไป

ทั้งหมดสุดท้ายอยู่ที่การบริหารราชการแผ่นดิน อยู่ที่นายกฯ ต้องตัดสินใจ การกลับมาของพลเอกประยุทธ์ในรอบที่สองครั้งนี้ ที่ต้องอยู่กับนักการเมืองเก่าที่อาจเป็นน้ำเน่า แต่ตัวนายกฯ นิ่ง โดยถือคติไม่โกงไม่กิน เชื่ออาจได้เป็นรัฐบุรุษ

การกลับมาครั้งที่สองของพลเอกประยุทธ์ หากไม่ปรับตัวยังใช้ลีลาเหมือนเดิมก็ไปไม่รอด นักข่าวถามนายกฯ แล้วมีอาการแบบเดิมก็ไม่รอด แต่เรื่องแบบนี้นายกฯ เขาก็รู้ ถึงได้บอกกับพรรคร่วมรัฐบาลว่าผมจะปรับตัว นายกฯ เขารู้ตัวก็ต้องปรับไปทีละเรื่อง แต่อันแรกเลยคือ การบริหารงานของรัฐบาลต้องโปร่งใสมากขึ้น แต่ก่อนมีมาตรา 44 ก็ทำให้ไม่ได้รู้เลยว่ากระทรวงไหนมีการโกงกันเท่าไหร่ แต่ตอนนี้มีฝ่ายค้านพร้อมถล่มรอเปิดโปง รัฐบาลก็ต้องเข้าใจและโปร่งใสมากขึ้น เคลียร์มากขึ้น บริหารงานให้เร็ว  อย่าไปเอาแบบสมัยประชาธิปัตย์ที่บอกขอศึกษาก่อน เพิ่งได้รับรายงาน ถ้าแบบนี้ไม่ทันกิน

...การกลับมาของนายกฯ รอบนี้จะหนักกว่าเดิมมาก ผมเชื่อว่ารัฐบาลจะเผชิญการตรวจสอบที่แรงกว่าปกติจากฝ่ายค้านเพราะเสียงปริ่มน้ำ รัฐมนตรีทุกคนต้องทำการบ้านมากกว่าปกติ พูดง่ายๆ มึงอย่าโกง และแถมยังมีกลุ่ม 10 พรรคที่อยู่ในรัฐบาลช่วยตรวจสอบอีกต่างหาก ซึ่งมันดีต่อประเทศเพราะมีฝ่ายตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ ดีกว่ามีฝ่ายตรวจสอบอ่อนแอ มีฝ่ายค้านแค่หนึ่งร้อยเสียง ถ้าแบบนั้นรัฐบาลก็ปู้ยี่ปู้ยำ โดยในสภาฯ หากมีการอภิปรายอะไรแล้วฝ่ายรัฐบาลบอกไม่สนใจ ให้อภิปรายไปแค่สองชั่วโมงแล้วจะใช้เสียงข้างมากปิดประชุม ประชาชนก็จะพิพากษา

หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่-แกนนำกลุ่ม 10 พรรค กล่าวต่อไปว่า สำหรับพรรคร่วมรัฐบาล  การมีเสียง ส.ส.รัฐบาลจำนวนเท่านี้ก็ส่งผลให้การประชุมสภาฯ แต่ละสัปดาห์ ทำให้รัฐมนตรีที่เป็น ส.ส.ก็ต้องมาประชุมทำงานสั่งการต่างๆ ที่สภาฯ จะไปต่างประเทศต่างจังหวัดไม่ได้ ต้องไปนั่งทำงานในฐานะเป็นรัฐมนตรีอยู่แถวห้องประชุมรัฐสภา เวลามีการโหวตเรื่องต่างๆ ก็ต้องวิ่งเข้ามาออกเสียงในห้องประชุม เพราะดูแล้วฝ่ายค้านก็อาจใช้วิธีนับองค์ประชุม หากเสียงไม่ถึงก็ล่มเลย มันก็อาจทำให้มีความยุ่งยากบ้างแต่เชื่อว่าบริหารได้ โหวตเมื่อไหร่ต่อให้รัฐบาลชนะแค่สามเสียงก็ยังชนะอยู่ และเวลาฝ่ายรัฐบาลเสนออะไรเช่นญัตติต่างๆ ให้สภาฯ พิจารณา แต่พอโหวตแล้วเสียงฝ่ายรัฐบาลไม่ถึง ถึงแม้แพ้โหวตก็ไม่เป็นไร ไม่ได้ส่งผลให้ต้องยุบสภาฯ เพียงแต่เรื่องนั้นตกไป รัฐบาลก็ยังอยู่ได้ เพราะรัฐบาลจะล่มก็ต่อเมื่อแพ้โหวตในการเสนอกฎหมายสำคัญอย่างร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือแพ้โหวตตอนอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่หากเป็นการเสนอร่าง พ.ร.บ.อื่นๆ หากเป็นร่างที่รัฐบาลเสนอ ถ้าไม่ผ่านเช่นไม่ผ่านในการเสนอวาระแรก เสียงไม่ถึงหรือแม้แต่เสียงไม่ถึงในวาระสามก็ไม่เป็นไร ก็ถือว่าสภาไม่ให้ความเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวก็ตกไป เพียงแต่รัฐบาลก็อาจโดนด่าว่าร่าง พ.ร.บ.ดีๆ ปล่อยให้ตกไปได้อย่างไร เพราะ ส.ส.รัฐบาลมัวแต่ไปต่างประเทศ

ดังนั้นเสียงที่มีอยู่อาจบริหารยากบ้าง แต่คนที่เป็น ส.ส.แม้แต่คนที่เป็นรัฐมนตรีต้องมาอยู่ที่สภาฯ ตลอดในวันที่มีการประชุม แบบนี้วิปรัฐบาลต้องทำงานหนัก ที่ก็สามารถอยู่ได้สี่ปี คงไม่ถึงกับประเภทอยู่ได้แค่หกเดือนแล้วยุบสภาฯ

สำหรับกระแสข่าวบางพรรคการเมืองอาจใช้วิธีให้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่เป็นรัฐมนตรีลาออกจาก ส.ส.ที่จะไม่มีการเลือกตั้งซ่อม เพื่อที่รัฐมนตรีจะได้ไม่ต้องห่วงเรื่ององค์ประชุมสภาฯ นั้น ก็มองว่าเป็นอีกวิธีหนึ่ง ก็ต้องใช้หลายวิธีรวมกัน

...ที่สำคัญที่สุดคือซื่อสัตย์ บริหารเร็ว บริหารเป็น ไม่ใช่ราคายางตก กว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาได้ใช้เวลากัน 1-2 ปี พลเอกประยุทธ์ก็ต้องปรับตัว โดยตอนที่แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลไปที่ทำเนียบรัฐบาลวันที่นายกฯ รับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ทางนายกรัฐมนตรีก็บอกกับพวกเราว่าจะปรับตัว เพราะนายกฯ รู้ว่าต่อไปต้องบริหารพรรคการเมือง ไม่ใช่บริหารทหารเหมือนเดิม

เมื่อเข้าสู่การเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย การที่พลเอกประยุทธ์จะไม่มีมาตรา 44 อีกแล้ว ไม่ใช่อุปสรรคในการทำงาน เพราะอย่างการใช้มาตรา 44 ที่ออกมาหลายเรื่อง หากมองย้อนไปที่ดีๆ มีกี่เรื่อง  ผมเห็นที่สุดยอดมีอยู่เรื่องเดียว คือเรื่องเหมืองทองคำที่พิจิตร เรื่องนี้พลเอกประยุทธ์เป็นพระเอกในการยุติสัญญาที่เสี่ยงต่อการสู้กับค่าโง่ เพราะประชาชนในพื้นที่สุขภาพแย่จริงๆ รัฐบาล คสช.ทำถูกที่ยกเลิกเรื่องนี้ เพราะไปสู้คดียังไงก็ไม่เสียค่าโง่ เพราะไม่มีทางที่การทำสัญญาต่างๆ ที่มีการทำกับเอกชน หากทำแล้วมีผลกระทบกับสภาพแวดล้อมแล้วจะไม่มีความผิด

สำหรับการแก้ปัญหาเสียงปริ่มน้ำโดยใช้วิธีดึงงูเห่ามา นพ.ระวี มองว่า พูดตรงๆ ในทางการเมืองถ้ารัฐบาลจะใช้งูเห่าก็ใช้ไป จะช่วยบรรเทาปัญหา แต่ไม่ใช่จุดสำคัญที่จะทำให้รัฐบาลอยู่ได้ยาว อย่างวันโหวตนายกฯ คนก็เก็งกันว่าจะมีงูเห่าโผล่มาเยอะ แต่สุดท้ายไม่มีสักตัว แต่ตอนโหวตลับเลือกประธาน-รองประธาน งูเลื้อยเพ่นพ่านเพราะโหวตลับไม่เห็นตัว

-เป็นไปได้หรือไม่ หากฝ่ายค้านใช้วิธีดึง ส.ส.เสียงรัฐบาลให้ออกมาโหวตสวนรัฐบาล ดึงมาแค่ห้าเสียงฝ่ายรัฐบาลก็ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง?

ก็เป็นไปได้ งูเห่าได้ทั้งสองข้าง แต่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์เขาไม่โง่ คือจะบอกว่าเสียงปริ่มน้ำแบบนี้ ไม่มีอะไรน่ากังวลก็ไม่ใช่ มันก็ต้องกังวล ต้องระวัง ต้องทำงานอย่างรอบคอบ ไม่อย่างนั้นก็ไปได้เหมือนกัน ทุกเสียงในรัฐบาลสำคัญหมด สมมุติฝ่ายรัฐบาลย้ายไปอีกฝั่งหนึ่งเอาแค่ห้าเสียง ฝ่ายนั้นก็ชนะเลย พรรคเล็กแตกตัวออกไปห้าเสียง ถ้าแบบนั้นนายกฯ ก็ต้องใช้งูเห่าแล้ว ไม่งั้นอยู่ไม่ได้ งานในสภาฯ ก็ต้องใช้ศิลปะ ใช้ผู้ประสานที่มีฝีมือ และต้องดูแลต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ไม่ใช่อะไรก็จะเอาแต่พลังประชารัฐ แบบนี้ไม่ได้

.... อย่างไรก็ตาม เรื่องไปเอางูเห่ามาทางพลังธรรมใหม่เราไม่เห็นด้วย เพราะเพียงแค่ควบคุมเสียงให้ดี รัฐบาลบริหารงานโดยซื่อสัตย์สุจริต ก็ไม่จำเป็นเลยที่ต้องมีงูเห่า เพราะชนะเสียงโหวตในสภาฯ แม้ชนะไม่กี่เสียงแต่ก็ถือว่าชนะ ก็เหมือนฟุตบอลชนะ 1-0 ก็คือชนะ ก็ได้คะแนนเท่ากัน ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมดต้องซื่อสัตย์สุจริต บริหารงานให้เร็ว แก้ปัญหาประชาชนให้ได้จริงๆ หากผ่านตรงนี้ไปได้ รัฐบาลก็อยู่ได้สี่ปี รับรอง แต่หากบริหารแล้วเกิดความขัดแย้งใหญ่ๆ ภายในพรรคร่วมรัฐบาล ก็อาจอยู่ได้แค่หนึ่งสองปีก็ยุบสภาฯ เลือกตั้งกันใหม่

ยอมรับโผ ครม.ยังยี้อยู่!

-ในฐานะเป็น ส.ส.รัฐบาล โฉมหน้า ครม.ประยุทธ์ 2/1 ถ้าประกาศชื่ออกมาแล้วคนส่งเสียงยี้  เพราะชื่อที่เสนอกันตามสื่อมวลชน บางคนก็ยังถูกตั้งคำถามจากประชาชน?

ยังยี้อยู่ อันนี้บอกตรงๆ ชื่อที่เริ่มออกมาทั้งหมด หากเป็นไปได้อยากให้นายกฯ ปรับออกครึ่งหนึ่ง เปลี่ยนครึ่งหนึ่งเลย อันนี้ในใจของพลังธรรมใหม่ คือใครที่ประวัติไม่ดีควรปรับเปลี่ยนใหม่ ให้โควตาพรรคการเมืองไป ก็ให้เขาคัดคนดีๆ เข้ามา ถ้านายกฯ ยืนบนหลักแบบนี้ ทุกพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลก็ต้องเกรงใจ อันนี้ความเห็นของเรา แต่ในแง่ความเป็นจริงมันอาจทำไม่ได้ เพราะภายในหากไปกระแทกกันมันอาจเกิดปัญหา ก็ต้องใช้วิธีบางทีเสือสิงห์กระทิงแรดอาจหลุดมาบ้าง แต่พอเข้าไปบริหารงานแล้วตัวนายกฯ ต้องดูให้ดี อย่าให้เกิดการคอร์รัปชัน ส่วนที่มีการตั้งรัฐบาลล่าช้าก็ต้องยอมรับว่าจริง มันล่าช้า และมีการต่อรองกันแต่ละพรรคอันนี้เรื่องจริง

ส่วนเมื่อรัฐบาลเข้าไปทำงานเต็มตัวแล้ว เรื่องเร่งด่วนเรื่องแรกๆ ที่ต้องเข้าไปแก้ปัญหา ก็มีเรื่องของปัญหาปากท้องประชาชน ซึ่งผมมองว่าอย่าเร่งใช้วิธีทำแบบประชานิยม แต่ต้องแก้ปัญหาปากท้องอย่างถูกต้องสมเหตุสมผล ไม่เอาแบบลูบหน้าปะจมูก รวมถึงต้องเร่งปัญหาความเหลื่อมล้ำ เช่นลดส่วนต่างของดอกเบี้ยเงินฝากกับเงินกู้ให้เหลือไม่เกินสามเปอร์เซ็นต์ และไม่ให้มีดอกเบี้ยแฝงเช่นค่าประกัน หากธนาคารใดไม่ยอมก็ให้มีการเปิดไลเซนส์ใหม่ หากทำได้แบบนี้คนรุ่นใหม่ที่เคยเลือกพรรคอนาคตใหม่จะหันมาฝ่ายนี้ เพราะคนรุ่นใหม่เรียนจบมาก็มีภาระผ่อนรถผ่อนบ้าน รวมถึงต้องลดการผูกขาดทางธุรกิจ เช่น น้ำมัน การค้าปลีก ไม่ให้มีการผูกขาดเกินสามสิบเปอร์เซ็นต์ ต้องออกกฎหมายป้องกันการผูกขาดโดยเร็ว

หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่-แกนนำกลุ่ม 10 พรรค ยังกล่าวถึงกรณีพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพลังประชารัฐและประชาธิปัตย์ มีข้อตกลงร่วมกันในการผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังจากนี้ว่า เป็นเรื่องที่พลังธรรมใหม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องยากเพราะทุกพรรคต้องเห็นชอบร่วมกัน รวมถึง ส.ว.ก็ต้องเอาด้วย อย่างไรก็ตามหากจะแก้ รธน. ทุกพรรคต้องมาคุยและตกลงกันว่าจะแก้ประเด็นไหนใน รธน. ซึ่งหากประเด็นไหนหาข้อสรุปไม่ได้ให้แขวนไว้ก่อน แต่ประเด็นไหนตกลงกันได้ก็แก้ไขไป อย่างเรื่องอำนาจของ ส.ว.ก็ควรแก้ไข แต่ไม่ใช่จะมาแก้ไขในช่วง 1-2 วันนี้ แต่ควรให้ ส.ว.ได้ทำงานไปสักระยะก่อนแล้วทั้งหมดก็มาคุยตกลงกัน เช่นเรื่องอำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ ที่อยู่ในบทเฉพาะกาล ก็แก้ไขแค่มาตราดังกล่าวไปก่อน.

                    โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"