15 มิ.ย.62 - ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดเสวนา 70 ปี รัฐศาสตร์ – เศรษฐศาสตร์ ในหัวข้อ "คนหนุ่มสาวกับการสร้างการเมืองแบบใหม่ในสังคมไทย" นายพริษฐ์ วัชรสินธุ อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตลอด 10-15 ปีที่เราเรียกร้องการปฏิรูปการเมือง เพราะเรากังวลเรื่องการซื้อเสียง ดูดส.ส. กำหนดกติกาไม่เป็นกลาง แทรกแซงองค์กรอิสระ แทรกแซงสื่อ ใช้อำนาจรัฐสร้างความได้เปรียบทางการเมือง เหล่านี้คือเหตุผลที่ตนลาออกจากปชป. เพราะเลือกสนับสนุนพรรคที่ตั้งเป้าปฏิรูปการเมืองแต่ไม่ทำอะไรเลย
"น่าเสียดายที่การปฏิรูปการเมืองไม่เปลี่ยนแปลงอะไรไปจากเดิม คนที่จะร่วมคณะรัฐมนตรี ก็เคยอยู่ใน ครม. ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยต่อสู้และต่อต้าน อีกทั้งการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อที่สร้างความได้เปรียบให้กับอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งหนักกว่า 15 ปีที่ผ่านมา ผมไม่มีปัญหากับการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แต่อำนาจที่ส.ว.มีกับที่มาซึ่งอ้างอิงกับประชาชนต้องสัมพันธ์กัน ในบางประเทศยอมให้มีการแต่งตั้ง ส.ว. หรือบางประเทศสืบทอดจากพ่อสู่ลูกแต่ประเทศเหล่านั้น ส.ว.มีอำนาจน้อย อย่างมากก็แค่ยับยั้งกฎหมายที่ไม่เห็นด้วย 1 ปี ขณะที่สหรัฐอเมริกา ส.ว.มีอำนาจถอดถอนประธานาธิบดี ส.ว.จึงต้องเชื่อมโยงกับประชาชน ผมยอมรับว่าประชาธิปไตยไม่ใช่ต้องเลือกตั้งเท่านั้น แต่ ส.ว.ไทยมีอำนาจสูงที่สุดในโลก เพราะมีอำนาจโหวตเลือกนายกฯ แต่แต่งตั้งโดยกรรมการที่ผันตัวมาเป็นผู้เล่น และมาจากกรรมการที่ไม่มีความหลากหลาย"
นายพริษฐ์ กล่าวด้วยว่าโซเชียลมีเดียเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองกับประชาชน ในการหาเสียงตนเดินไปเคาะประตูจะเจอแต่ผู้สูงอายุ ไม่เจอคนวัยทำงาน และได้ถามตลอดว่ามีพรรคการเมืองในใจหรือยัง บางบ้านบอกว่าเลือกลุงตู่ บางบ้านเลือกเพื่อไทย น้อยมากเลือกที่บอกว่าจะเลือกอนาคตใหม่ (อนค.) ทุกบ้านในเขตบางกะปิที่ไปเคาะประตูไม่เจอคนที่บอกจะเลือกอนค. แต่คะแนน อนค. มากกว่าผม นี่สะท้อนว่าถ้าเราใช้วิธีการเดิมๆ ก็จะไม่เจอกับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม หลังเลือกตั้งโซเชียลถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือโจมตีขยายความขัดแย้ง ผมไม่เคยเสียใจกับคำวิจารณ์ด้านลบ ดีใจด้วยซ้ำ เพราะเป็นผลตอบรับที่มีคุณค่า แต่สิ่งที่อันตรายที่สุดคือข่าวเท็จ ซึ่งเผยแพร่อย่างรวดเร็ว แม้จะลบทิ้งไปแล้วแต่ความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว รัฐบาลทุกประเทศจำเป็นต้องหาทางต่อสู้กับข่าวเท็จ แต่การเซ็นเซอร์เป็นความคิดที่ผิด เพราะสิ่งที่อันตรายกว่าคือการมีชุดข้อมูลชุดเดียว ใครควบคุมการเขียนข้อมูลได้ก็เขียนประวัติศาสตร์และข้อเท็จจริงได้ การต่อสู้กับข่าวเท็จจึงไม่ควรเซ็นเซอร์แต่ควรให้ความรู้ เพื่อให้คนรุ่นใหม่รู้เท่าทัน วิเคราะห์ข้อมูลได้ด้วยตนเอง ข่าวเขียนอย่างไรไม่สำคัญเท่ากับการมีวิจารณญาณตัดสินใจ และสิ่งที่ต้องกังวลคือถ้าไม่เข้ามาช่วยจูน สังคมจะถูกแบ่งแยกระหว่างไดโนเสาร์กับเด็กเมื่อวานซืน
ด้านนายกรวีร์ ปริศนานันทกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า หลังเลือกตั้งจนถึงวันนี้เป็นผลพวงของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งคนบางกลุ่มบอกได้รับฉันทานุมัติจากประชาชน เราพยายามปฏิรูปการเมือง แล้วนี่คือการเมืองที่เราต้องการปฏิรูปใช่หรือไม่ เรากำลังกลับไปสูการเมืองเก่า หลังเลือกตั้งยังไม่เห็นหน้าตารัฐบาล นี่ไม่ใช่เรื่องปกติ เราจะเห็นภาพของการต่อรองเพื่อมีอำนาจในรัฐบาล รวมถึงพรรคของตน ซึ่งต่อสู้เพื่อนำนโยบายของพรรคไปผลักดันเพราะเราสัญญาเรื่องกัญชาไว้ ถ้าให้ไปดูกระทรวงกลาโหมหรือกระทรวงศึกษาธิการคงผลักดันนโยบายไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ทุกคนอยากเห็นคนในพรรคเดียวกันยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง กรณีนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส. ศรีษะเกษ ออกเสียงโหวตเลือกนายกฯแตกต่างจากมติพรรค ต้องพูดคุยกันว่าคิดเห็นอย่างไร ไม่ใช่ตั้งกรรมการสอบสวนเขา
“วันนี้พรรคอนาคตใหม่อาจต้องไปเป็นฝ่ายค้าน แต่เกมการเมืองไม่มีอะไรแน่นอน ในอนาคต อนค.หรือพรรคเพื่อไทย อาจมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล ภาพการเลือกบุคคลมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างๆ อาจจะไม่มีการต่อรองแบบนี้ก็ได้ ภาพการต่อรองที่มองแล้วน่าเบื่อหน่ายเป็นเพราะคนที่เป็นตัวผู้เล่นในการต่อรองยังเป็นผู้เล่นคนเก่า เขาจึงมีทัศนคติแบบเก่าอยู่ จึงไม่แปลกใจที่ยังไม่ได้เห็นวิธีการในการฟอร์มคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เป็นแบบใหม่”นายกรวีร์กล่าว
นายกรวีร์ กล่าวอีกว่า การเลือกตั้งแบบเก่าที่ใช้หัวคะแนนไม่ใช่สีดำหรือสีเทา แต่เป็นช่องทางให้ผู้สมัครติดต่อไปถึงประชาชน อนค.ก็มีหัวคะแนนอยู่ในโซเชียลใช้การสื่อสารช่องทางใหม่ถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เดิมพ่อแม่จะบอกลูกให้เลือกใคร ปัจจุบันลูกบอกพ่อแม่ให้เลือก อนค. เลือกทั้งที่ไม่รู้ว่าผู้สมัครเป็นใคร รู้แค่พรรคใช้สัญลักษณ์สามเหลี่ยม นี่คือการพลิกโฉมการเมืองรณรงค์หาเสียงกับคนรุ่นใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเลือกตั้งปี 54 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลงเลือกตั้ง กระแสยิ่งลักษณ์ นายกฯหญิงคนแรกมาแรง ใช้เวลาหาเสียง 50 วัน แต่ครั้งนี้ อนค.มีกระแสแรงกว่า ความตื่นเต้นแปลกใหม่ที่เคยเกิดขึ้นในกทม. วันนี้เกิดขึ้นทั่วประเทศ ใครจะเชื่อว่าปชป.ไม่ได้ส.ส.เลยแม่แต่ที่นั่งเดียว วันนี้พลังคนรุ่นใหม่แสดงให้เห็นแล้ว สำหรับพรรค ภท. เราอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านของคนสองรุ่น ซึ่งต้องปรับโครงสร้างและกำหนดกลยุทธ์ใหม่ๆ
“โซเชียลมีเดียเปิดพื้นที่ให้ระบายความคิดหลากหลาย สิ่งที่กังวลไม่ใช่ความต่าง แต่คือจะทำอย่างไรให้คนที่เห็นต่างอยู่ในบ้านเดียวกันได้ ระหว่างคนที่ไม่เอาทหารเลยกับคนที่มองว่าทหารมีความสำคัญต่อปกป้องประเทศและสถาบัน เราจะทำอย่างไรให้คนที่เห็นต่างแบบสุดขั้วอยู่ร่วมกันได้”นายกรวีร์กล่าว
ด้านนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล จากพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กติกาที่ถูกเขียนโดยคนกลุ่มหนึ่ง ทำให้เจตนารมณ์ในการเลือกตั้งไม่สะท้อนออกมาเป็นผลลัพธ์ การจัดตั้งรัฐบาลไม่ตรงกับสิ่งที่ประชาชนต้องการ การเลือกตั้งแทบไม่มีความหมาย พรรคการเมืองและประชาชนบางส่วนยังคงเห็นดีเห็นงามกับการรัฐประหารและสืบทอดอำนาจ กรณี ส.ว. 250 คน มีสิทธิโหวตเลือกนายกฯทำให้การตัดสินใจของพรรคปชป.และภท. เปลี่ยนไป หากไม่มีประเด็น ส.ว. ตนไม่เชื่อว่าปชป.และภท.จะเข้าร่วมรัฐบาล ปัญหาที่ตามมาคือรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ
ในส่วนของพรรคเพื่อไทย เรามองไปไกลกว่านโยบายประชานิยม ให้เปล่า พรรคเสนอขับเคลื่อนความต้องการของประชาชน เปลี่ยนโครงสร้างประเทศ ไม่ใช่การแจกเพื่อแข่งกันที่ตัวเลขเบี้ยต่างๆ เรามีนวัตกรรมทางนโยบาย จากการวิจัยพบว่า คนไทยเล่นหวย 2 แสนล้านบาทต่อปี โดนหวยกินเงินต้นสูญหมด คนแก่ไม่มีเงินเก็บ ทั้งแก่ทั้งจน จึงเสนอนโยบายหวยบำเหน็จ ซื้อหวยได้ลุ้น เงินที่ถูกหวยกินทั้งหมดจะถูกนำไปเก็บในบัญชีส่วนตัว และจ่ายคืนให้เมื่ออายุครบ 60 ปี
ด้านน.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมาเราเห็นระบบอุปถัมภ์ และ หัวคะแนน ที่ผ่านมามีคนเสนอตัวมาเป็นหัวคะแนนให้เราแต่เราไม่มีเงิน จึงใช้อาสาสมัครโดยจ่ายค่าจ้างตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำ หลังเลือกตั้งยังมีการใช้อำนาจไม่ชอบธรรม ซึ่งไม่แน่ชัดว่า คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.)ผิดพลาดโดยไม่ตั้งใจหรือจงใจ ผลการนับคะแนนหลายที่ขัดกับความรู้สึกของประชาชนและผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งยังเป็นกรณีที่อย่ระหว่างการไต่สวนของกกต. ต่อจากนี้จะพยายามพัฒนาอนค.ให้เป็นสถาบันทางการเมือง ซึ่งเชื่อว่าเป็นไปได้ ส่วนการอภิปรายในสภาฯจะไม่ประท้วงมั่วซั่ว การทำงานในกรรมาธิการจะต้องมีปะสิทธิภาพ ไปดูงานแล้วได้อะไรกลับบ้าง ซึ่งจะรายงานผลให้ประชาชนรับทราบ
“ส่วนกรณีที่มีการถกเถียงด่าทอในโซเชียลนั้น อนค.จะพยายามสื่อสารไปยังผู้สนับสนุนไม่ให้โจมตีผู้เห็นต่างด้วยถ้อยคำรุนแรง ระหว่าง สลิ่มกับควายส้ม ขอให้โต้เถียงกันด้วยเหตุผล ไม่เอาเรื่องวัยหรือทัศนคติมาเป็นข้อหาในการโจมตี ส่วนประเด็นที่อนค.ถูกโจมตีละทิ้งหลักการประเพณี ล้างสมองเยาวชนนั้น เรารับความหลากหลายทางวัฒนธรรม คำพูดของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค อาจเหมือนหัวรุนแรง เพราะพูดว่าไทยแท้ไม่ได้มีหนึ่งเดียว ควรเป็นสากลมากขึ้น พานไหว้ครูเป็นวิธีการแสดงออกของนักเรียน เราคิดว่าการไหว้ครูต้องเป็นความเต็มใจของเด็ก จึงควรมีอิสรภาพในการแสดงออกทางความคิดและไอเดีย"
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |