อ่าน Animal Farm ไม่พอ ต้องอ่าน 1984 ด้วย!


เพิ่มเพื่อน    

    พอโฆษกรัฐบาลบอกว่านายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชาแนะนำให้คนไทยอ่านหนังสือ The Animal  Farm ของนักเขียนอังกฤษ George Orwell ผู้คนในประเทศไทยก็มีอาการงุนงงกันไปทั่ว
    เพราะคนเขียนต้องการประชดประชันระบบเผด็จการ และคนจำนวนไม่น้อยในประเทศนี้ก็ใช้คำว่า  "เผด็จการ" เรียกขานระบบของ คสช.อยู่
    ถึงวันนี้ก็ยังไม่มีคำอธิบายจากนายกฯ ประยุทธ์เอง มีแต่การตีความไปต่างๆ นานาที่ยังขาดความกระจ่างแจ้ง
    แต่ไหนๆ ก็มีการเอ่ยถึงหนังสือของนักเขียนคนนี้แล้ว ก็ต้องพูดถึงหนังสือเล่มที่ดังไม่น้อยไปกว่า  Animal Farm นั่นคือหนังสือชื่อ "1984"
    ซึ่งเป็นนิยายกระทบกระแทกเผด็จการอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา
    สมควรที่คนไทยจะต้องอ่านไปพร้อมๆ กับ Animal Farm กันเลยทีเดียว
    ปีนี้ครบ 70 ปีของการตีพิมพ์ "1984"
    ใครที่ได้อ่าน "1984" จะต้องคุ้นกับศัพท์แสงหลายวลีที่บางคนอาจจะคิดว่ามีความคุ้นๆ กับการเมืองไทยวันนี้ เช่น
    ความคิดสองชุดที่ขัดแย้งกัน (doublethink) 
    การสร้างภาษาใหม่ (newspeak)
    ตำรวจควบคุมทางความคิด (Thought Police)
    กระทรวงความรัก (Ministry of Love) ที่มุ่งสร้างความสิ้นหวังและจ้องทำลายล้างผู้ที่เห็นต่าง
    กระทรวงสันติภาพ (Ministry of Peace) ที่พุ่งเป้าไปที่การทำสงคราม และจักรกลผลิต อีกทั้งยังสร้างนิยายประโลมโลกและเรื่องลามก เพื่อชี้นำและครอบงำความคิดของผู้คนในสังคม
    นิยายเล่มนี้ที่ตีพิมพ์เมื่อ 8 มิถุนายน 1949 มีเค้าเรื่องให้ตัวเอกของเรื่องเป็นเจ้าหน้าที่เซ็นเซอร์ของ  "กระทรวงความจริง (Ministry of Truth)" มีหน้าที่ดัดแปลงแก้ไขเรื่องราวในประวัติศาสตร์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และสถานภาพของพันธมิตรที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา
    และตัวละครสำคัญที่สุดเห็นจะเป็น Big Brother หรือ "พี่เบิ้ม" ที่มีวิธีการสอดแนมทุกหนทุกแห่ง
    วิธีการควบคุมประชาชนให้อยู่ภายใต้การบริหารของผู้นำประเทศ นั่นคือการปลุกระดมความคิดของคนหมู่มากโดยอาศัยกลไกการโฆษณาชวนเชื่อ 
    และจงใจสร้างความเกลียดชังในมวลหมู่ผู้คนเพื่อให้ทำลายซึ่งกันและกัน จนผู้ปกครองสามารถครอบงำทิศทางของประเทศตามความต้องการของตน
    Big Brother เป็นแบบฉบับของจอมเผด็จการที่ทั้งบ้าและน่ากลัว 
    นิยายเรื่องนี้สะท้อนถึงรัฐบาลเผด็จการที่ต้องการกำจัดถ้อยคำ ปรับเปลี่ยนความหมายของภาษา  รวมทั้งความคิดและความรู้สึกที่แฝงอยู่ในถ้อยคำเหล่านั้น
    เพราะศัตรูที่แท้จริงของรัฐบาล คือ ความจริง
    เมื่อทรราชครองเมือง พวกเขาก็พยายามปิดกั้นความจริง 
    ปีศาจและคำโกหกตอแหลมาถมทับแทน ร้ายยิ่งกว่า "ศรีธนญชัย" หลายเท่า
    พระเอกของเรื่องถูกทรมานให้ยอมรับว่า "สองบวกสองเป็นห้า" 
    นิยาย "1984" สะท้อนถึงความพยายามของเผด็จการที่จะกำจัดตัวตนของมนุษย์ในสังคมลงอย่างสิ้นซาก
    อีกทั้งยังต้องการทำลายความสามารถในการตระหนักถึงโลกแห่งความเป็นจริงของทุกๆ คน
    ถ้าอ่านทั้งสองเล่มก็จะเห็นภาพที่น่ากลัวของระบอบการรวมศูนย์แห่งอำนาจในการปกครองประเทศ 
    แน่นอนว่านิยายคลาสสิกสองเล่มนี้เป็นการจงใจจะวาดภาพอันน่าสะพรึงกลัวของ "เผด็จการ" หากคนในสังคมยอมให้ประเทศตกอยู่ในภาวะของการให้คนกลุ่มหนึ่งคนใดครอบงำฐานแห่งอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จ
    บทเรียนสำหรับคนไทยก็คือ เรายังต้องแยกแยะนิยามแห่ง "เผด็จการ" และ "ประชาธิปไตย" ให้ชัดเจน และไม่ให้ถูกวาทกรรมที่ตะโกนใส่กันไปมานั้นมากำหนดชะตากรรมของประเทศอย่างที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้
    สังคมไทยต้องไม่ยอมให้เกิด Big Brother ที่มีอำนาจเปี่ยมล้นและสามารถจะสั่งการให้ประชาชนต้องเชื่อไปทางใดทางหนึ่งตามที่ตนต้องการ
    Big Brother ในยุคโซเชียลมีเดียไม่จำเป็นต้องเป็น "ทรราช" ในรูปของผู้นำเผด็จการคนใดคนหนึ่งเท่านั้น หากแต่ยังมาในรูปของการถูกกระแสแห่ง "ภาษาสร้างความเกลียดชัง" หรือ hate speech นำพาให้สังคมแตกแยกและมีความเกลียดชัดต่อกันโดยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและแสวงหาเหตุผลอย่างจริงจัง
    หากจะมองให้ลึกแล้วหลายๆ ภาพที่ฉายในนิยาย 1984 ก็มีให้เห็นจริงจังในปี 2019 นี้ด้วยซ้ำไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"