บิ๊กตู่จ่อนั่งหน.พปชร. ลุยการเมืองเต็มตัว‘ป้อม’ที่ปรึกษา/10พรรคเล็กไร้เก้าอี้รมต.


เพิ่มเพื่อน    

 หึ่ง! ประยุทธ์จ่อนั่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐแทน “อุตตม” ส่วน “ประวิตร” นั่งที่ปรึกษา อีกกระแสปัดแค่ข่าวเต้าของผู้เสียประโยชน์ โควตา พปชร.ลงตัวแล้ว ยึดตามที่ลุงตู่เคาะ “สุริยะ-พลังงาน” “ณัฏฐพล-ศึกษาฯ” ส่วนเสี่ยหนูระบุยังมีเวลาอีกเหลือเฟือ บอก “ชาดา ไทยเศรษฐ์” เหมาะดูเกษตรฯ ที่ประชุมภูมิใจไทยมีมติให้คนเป็นรัฐมนตรี เว้นหัวหน้า-เลขาฯ ต้องไขก๊อกพ้น ส.ส. “ปชป.” ยังอลเวงเก้าอี้ 4 ตำแหน่ง ปูดหนังสือ “กรณ์-พีระพันธุ์” ตีกรอบทั่น รมต. 10 พรรคเล็กรับสภาพไร้เก้าอี้ ตี๋เต้หันเล็งเก้าอี้ กมธ.ปราบทุจริตแทน

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน มีกระแสข่าวจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ว่าในเดือนกรกฎาคม พรรค พปชร.จะมีการประชุมใหญ่ โดยมีวาระสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) เพราะได้มีการนำใบสมัครพรรคไปให้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหมแล้ว
ทั้งนี้ การประชุม กก.บห.ดังกล่าว จะมีการเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นหัวหน้าพรรคแทนนายอุตตม สาวนายน และ พล.อ.ประวิตร ซึ่งเดิมถูกวางตัวเป็นหัวหน้าพรรค แต่ได้ปฏิเสธจะมานั่งเป็นประธานที่ปรึกษาพรรค รวมทั้งพลังประชารัฐด้วย จากที่เดิมทีถูกวางตัวให้เป็นหัวหน้าพรรค แต่ปฏิเสธ และขอเป็นเพียงประธานที่ปรึกษาพรรคเท่านั้น รวมทั้งให้นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 รับหน้าที่เลขาธิการพรรค แทนนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ 
แหล่งข่าวระดับสูงจาก พปชร.อีกรายปฏิเสธว่าข่าวดังกล่าวไม่จริง โดยเชื่อว่าข่าวที่เกิดขึ้นมาจากกลุ่มการเมืองที่พลาดหวังจากการตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ร่วมกับกลุ่มผู้อยากมีอำนาจในพรรคออกมาปล่อยข่าวสร้างความเสียหาย ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเอกภาพของพรรค ยืนยันว่าเรื่องนี้พรรคไม่เคยหารือกันเลย และที่ผ่านมานายอุตตมและนายสนธิรัตน์บริหารจัดการภายในพรรคได้เป็นอย่างดี ทุ่มเททำงานให้กับพรรค และเป็นที่ยอมรับของ ส.ส.พรรคอยู่แล้ว
สำหรับความคืบหน้าในการจัดตั้งรัฐบาลและรัฐมนตรีนั้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ได้กล่าวถึงขั้นตอนการตรวจสอบคุณสมบัติ ครม.ชุดใหม่ ว่าเป็นหน้าที่ของนายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส เลขาธิการ ครม. แต่จากประสบการณ์นั้น ปกติแล้วนายกฯ จะคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลจนเสร็จสิ้น คาดว่าคงเสร็จตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 11 มิ.ย. จากนั้นนายกฯ จะส่งรายชื่อให้เลขาฯ ครม.ไปตรวจสอบประวัติและลักษณะต้องห้าม ซึ่งบางเรื่องตรวจไม่ยาก เช่น สัญชาติ วุฒิการศึกษา แต่บางกรณีอาจยุ่งยากและต้องใช้เวลา เช่น หุ้น สัมปทาน ประวัติการต้องโทษ เพราะจะฟังจากที่เจ้าตัวพูดฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องให้เจ้าตัวชี้เบาะแสเพื่อให้เราไปสอบต่อ เช่น ติดต่อกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กระทรวงพาณิชย์ หรือศาล ดังนั้นตอบไม่ได้ว่าจะใช้เวลาเท่าไร
    เมื่อถามว่า น่าจะเป็นช่วงหลังประชุมสุดยอดอาเซียนหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า หากพูดตามจริงก็คงเป็นไปได้ โดยถ้าส่งรายชื่อ ครม.ได้ในวันที่ 14 มิ.ย. จะมีเวลาตรวจสอบตั้งแต่วันที่ 15-18 มิ.ย. แต่บางเรื่องที่ตรวจได้เอง ไม่ต้องติดต่อหน่วยงานอื่น ก็จะไม่เกี่ยวกับวันหยุดราชการ โดยหากเสร็จแล้วสามารถนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายได้ แต่หลังจากนั้น 4 วันจะประชุมอาเซียน แม้โปรดเกล้าฯ ลงมาแล้ว ก็เชื่อว่ายังไม่สามารถถวายสัตย์ปฏิญาณฯ ได้ทัน ครม.ชุดเดิมต้องทำหน้าที่ระหว่างการประชุม จนเมื่อหลังวันที่ 23 มิ.ย.ไปแล้ว จึงจะเข้าสู่กระบวนการขอเข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณฯ   
    “ไม่มี และในอดีตไม่เคยมีกำหนดเรื่องเวลา เพียงแต่มีกรอบที่ล็อกไว้ว่า เมื่อเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณฯ แล้ว ต้องไปแถลงนโยบายต่อรัฐสภาภายใน 15 วัน” นายวิษณุกล่าวชี้แจงถึงระยะเวลาที่กำหนดในการจัดตั้ง ครม.
ดีล พปชร.จบแล้ว
        รายงานจากทำเนียบฯ แจ้งว่า นอกจากความเคลื่อนไหวเรื่องการจัดทำรายชื่อ ครม.ในส่วนของข้าราชการการเมือง ก็ได้วางตัวบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะตำแหน่งเลขาธิการนายกฯ ที่ พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกฯ จะไม่ได้อยู่ช่วยงาน พล.อ.ประยุทธ์ต่อ เนื่องจากต้องการพักหลังทำงานมา 5 ปี โดย พล.อ.ประยุทธ์ได้วางตัว นายดิสทัต โหตระกิตย์ ที่ปรึกษานายกฯ และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา มาเป็นเลขาธิการนายกฯ ในรัฐบาลชุดหน้า เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ ค่อนข้างชื่นชอบการทำงานตั้งแต่เป็นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว     
    สำหรับการจัดโผ ครม. โดยเฉพาะในส่วนของพรรค พปชร.นั้น ได้ทำเสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่ค่ำวันที่ 11 มิ.ย. ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์นั่งเคลียร์ปัญหาการจัดสรรตำแหน่งกับแกนนำกลุ่มต่างๆ ในพรรคด้วยตัวเอง ซึ่งวันดังกล่าวลงตัวที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นั่ง รมว.พลังงาน ขณะที่นายณัฏฐพลนั่ง รมว.ศึกษาธิการ แต่ปรากฏว่าหลังจากนั้นมีกระแสข่าวว่านายณัฏฐพลพยายามขอเก้าอี้ รมว.พลังงาน และในขณะเดียวกันในโลกออนไลน์และการนำเสนอข่าวของสื่อบางสำนักได้ขุดคุ้ยคดีความต่างๆ ในอดีตของกลุ่มสามมิตรจนทำให้เกิดภาพความขัดแย้งกันเองภายในพรรค พปชร. แม้แต่ช่วงเช้าวันที่ 13 มิ.ย.ก็ยังมีอยู่ กระทั่งล่าสุดช่วงเย็นวันที่ 13 มิ.ย. ได้มีการเคลียร์และถือว่าจบแล้ว โดยยึดตามโผเดิมในวันที่ พล.อ.ประยุทธ์มานั่งประชุม โดยนายสุริยะนั่ง รมว.พลังงาน และนายณัฏฐพลนั่ง รมว.ศึกษาฯ นอกจากนี้ ในตำแหน่ง รมว.แรงงานยังเป็นของนายสุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.ชลบุรี ซึ่งเป็นโควตาของ ส.ส.ภาคกลาง นายอิทธิพล คุณปลื้ม รองหัวหน้าพรรคเป็น รมว.วัฒนธรรม และนายสันติ พร้อมพัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นั่ง รมช.การคลังเช่นเดิม ซึ่งถือเป็นโควตา ส.ส.ภาคเหนือ
ส่วนกรณีของ พล.อ.ประวิตรนั้น ยังคงไม่แน่ชัด และเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ก็ไม่ได้ไปทำงานที่ทำเนียบฯ และกระทรวงกลาโหม แต่ในวันที่ 14 มิ.ย. เวลา 10.00 น. มีกำหนดการต้อนรับนายเยฟเกนี โตมีฮิน เอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทย เข้าพบในโอกาสเข้ารับหน้าที่ที่กระทรวงกลาโหม
    นายธนกร วังบุญคงชนะ รองโฆษกพรรค พปชร.กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศได้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ แล้ว รอ ครม.อย่างเป็นทางการมาบริหารประเทศ อยากฝากไปยังทุกพรรคการเมืองว่า ให้ พล.อ.ประยุทธ์บริหารประเทศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย  อย่าเพิ่งปลุกมวลชนออกมาเคลื่อนไหวเหมือนอย่างที่บางกลุ่มดำเนินการอยู่ ซึ่งเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ก็จะเห็นด้วยกับกลไกการทำงานของรัฐบาลที่มีฝ่ายค้านคอยตรวจสอบในระบบรัฐสภา ไม่ต้องการความขัดแย้งจนนำไปสู่การชุมนุมบนท้องถนนอีก เพราะทุกฝ่ายมีบทเรียนมาแล้ว
      ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวในรายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ถึงกรณีข่าวพรรคเรียกข้าราชการกระทรวงคมนาคมมาให้นโยบายก่อนเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะเรื่องสัมปทานและโครงการสำคัญต่างๆ ว่าอย่ามโน ใครจะไปทำแบบนั้น เนื่องจากการแต่งตั้งใดๆ ยังไม่มีเกิดขึ้น เรารู้มารยาท หากใครในพรรคไปทำแบบนั้นจริง ก็เหมือนเขาเขียนใบลาออก เพราะไม่มีทางส่งคนประเภทนี้หรือคนพรรค์นี้เข้าไปทำงานเพื่อบริหารบ้านเมืองแน่นอน ไม่รู้ว่ามีข่าวออกมาได้อย่างไร
       เมื่อถามว่า มีการพูดกันปากต่อปากระหว่างพ่อค้าหุ้นว่านายอนุทินไปพูดกับบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่งว่า เมื่อไหร่ที่พรรคเข้ามาทำงาน รมว.คมนาคม จะสั่งรื้อข้อตกลงระหว่างการทางพิเศษและบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) นายอนุทินตอบว่า จะไปทำเพื่ออะไร ไม่มีเหตุผล โดยเฉพาะอะไรที่เป็นสัญญา ถ้าไม่ทำตามใครจะมาลงทุนและเป็นคู่สัญญาของรัฐ เรื่องนี้มีกระบวนการเพื่อทำให้เกิดแรงกระเพื่อม และเพื่อให้เกิดความแตกสามัคคีภายในพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ เราก็ไม่ทราบ แต่รับรองในฐานะที่เป็นหัวหน้าพรรค หากมีเรื่องแบบนี้ต้องทราบ และมั่นใจลูกพรรคไม่มีใครปัญญาอ่อนไปทำแบบนี้
“วันนี้ผมเดินไปไหนก็อายเขาจะตาย เพราะมีคนเรียกท่านรองนายกฯ และเรียกท่านรัฐมนตรี ทั้งที่เรายังไม่ได้เป็น ผมก็พยายามเดินหลบไปหลบมา จะให้ไปตีปากก็ไม่กล้าตี เขาก็พูดแบบหวังดีว่าจะให้ไปสรุปแผนการทำงานก่อนหรือไม่ เช่นเรื่องนโยบายกัญชาเสรี ผมก็บอกว่าขอให้ทุกอย่างเรียบร้อยก่อน ตอนนี้อย่าเพิ่งเข้ามาเลย เพราะมันไม่ดี ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะไปเรียกปลัดกระทรวงหรืออธิบดีมารายงานการทำงาน เพราะเวลายังมีอีกเหลือเฟือ” นายอนุทินย้ำ
ปัด'ยี้ห้อย'แทรกแซง
       เมื่อถามว่า มีการมองไปถึงนายเนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด นายอนุทินกล่าวว่า ความเก๋าทางการเมืองของนายเนวินมีมากกว่าตนเองถึงเรียกลูกพี่ เพราะมีวุฒิภาวะมาก เรื่องนี้จึงเป็นไปไม่ได้ รวมถึงนายเนวินก็ไม่มีชื่อเป็นรัฐมนตรี ส่วนที่มีชื่อนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นน้องชายนายเนวินจะเป็น รมว.คมนาคมนั้น ถ้าตามโผนายศักดิ์สยามก็มีอายุ 57 ปีแล้ว ซึ่งไม่ใช่เด็กๆ ถ้าเขาจะทำอะไรก็ต้องปรึกษาพรรค แต่เขาไม่เคยทำ ส่วนที่มองว่าบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นคู่แข่งของบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ในเรื่องการก่อสร้างนั้น ยืนยันว่าเป็นคู่แข่ง แต่เราก็ทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะการสร้างโครงการรถไฟสายสีส้ม ถามว่าเราจะมาฆ่ากันเองทำไม 
         เมื่อถามถึงกรณีข่าวสลับตำแหน่ง รมช.ให้นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รองหัวหน้าพรรค และ ส.ส.อุทัยธานี จากเดิมจะให้เป็น รมช.มหาดไทย ไปเป็น รมช.เกษตรฯ นั้น นายอนุทินกล่าวว่า นายชาดาก็เป็นบุคคลหนึ่งที่เรานำมาพิจารณา ซึ่งตำแหน่ง รมช.พรรคมี 4 ตำแหน่ง แต่เรามีแคนดิเดต 12 คน ซึ่งกำลังคุยกันอยู่ ดังนั้นยังไม่มีอะไรลงตัว และเป็นข้อสรุปแน่นอนตอนนี้ เพราะเรามีประชุมอาเซียนซัมมิต ซึ่งต้องให้รัฐบาลปัจจุบันดำเนินการ จึงยังมีเวลาอีก 2-3 สัปดาห์ตัดสินใจ ดังนั้นอย่าเพิ่งมาเร่ง แต่ถ้านายกฯ ต้องนำเสนอขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง 
        เมื่อถามว่า สเปกนายชาดาควรอยู่มหาดไทย หรือเกษตรฯ นายอนุทินกล่าวว่า ถ้าถามอยากให้นายชาดาอยู่กระทรวงเกษตรฯ เพราะจากที่ไปปราศรัยหาเสียงร่วมกัน นายชาดาได้ปราศรัยเรื่องข้าว เรื่องอ้อย และเรื่องการดูแลเกษตรกร ดังนั้นก็ไม่รู้ว่าชื่อนายชาดาไปอยู่ที่มหาดไทยได้อย่างไร 
        ในช่วงบ่าย นายอนุทินได้ลงพื้นที่พบประชาชนที่ จ.สตูล โดยกล่าวว่า พรรคจะหาคนที่เหมาะสมดูแลเรื่องการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งที่ผ่านมานายพิพัฒน์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือปั๊มพีที สามีของนางนาที รัชกิจประการ เหรัญญิกของพรรค และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ คนใดคนหนึ่งต้องเป็นรัฐมนตรี เนื่องจากภาคใต้ภายใต้การนำของแม่ทัพภาคใต้ของสามีภรรยาคู่นี้ ทำให้ภาคใต้ได้ ส.ส.แบบเขตและ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อมากกว่า 10 คน
      ส่วนที่พรรค ภท.ได้มีการประชุมพรรค โดยนายศักดิ์สยามแถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมได้จัดทำบัญชีรายชื่อของผู้ที่จะเข้าไปดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดย กก.บห.พรรคได้เสนอชื่อบุคคล 150 คน มีทั้ง ส.ส.และผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และแบบแบ่งเขต รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิ มอบหมายให้นายอนุทินไปดำเนินการตรวจสอบข้อมูลอีกครั้ง และคัดเลือกบุคคลต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ขอให้มั่นใจว่าเราจะดำเนินการอย่างโปร่งใส โดยที่สังคมไม่ต้องวิตกกังวล
          ถามถึงชื่อที่ปรากฏตามข่าวที่จะดำรงตำแหน่งต่างๆ ตรงหรือไม่ นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ต้องไปถามคนที่เอาชื่อมาว่าเอามาจากไหน เพราะวันนี้พรรคเพิ่งประชุมรายชื่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งประชาชนจะได้รับทราบหลังจากชัดเจน ส่วนบุคคลที่จะไปดำรงแหน่งรัฐมนตรีของนั้น กก.บห.ได้พูดถึงเรื่องนี้ โดยอยากให้ผู้ไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองทำได้งานอย่างเต็มที่ หากเป็น ส.ส.ด้วย อาจทำให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพ จึงอยากให้ผู้ที่ไปเป็นรัฐมนตรีลาออกจาก ส.ส. ยกเว้นแต่หัวหน้ากับเลขาธิการพรรค
          มีรายงานข่าวก่อนหน้านี้ว่า พรรค ภท.ได้วางรายชื่อรัฐมนตรี ประกอบด้วย นายอนุทิน เป็นรองนายกฯ ควบ รมว.สาธารณสุข, นายศักดิ์สยาม เป็น รมว.คมนาคม, นายพิพัฒน์ เป็น รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา, นายทรงศักดิ์ ทองศรี ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็น รมช.มหาดไทย, นายชาดา เป็น รมช.เกษตรฯ, น.ส.กนกวรรณ วิลาวัลย์ ลูกสาวนายสุนทร วิลาวัลย์ ส.ส.ปราจีนบุรี เป็น รมช.ศึกษาฯ และนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล  ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายทุนภาคอีสานเป็นรมช.พาณิชย์
    สำหรับความคืบหน้าของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) มีรายงานว่า ในวันที่ 14 มิ.ย. เวลา 14.00 น. จะมีการเรียกประชุม กก.บห.ก่อนประชุมร่วมกับ ส.ส.ในเวลา 15.00 น. โดยมีวาระเพื่อรับทราบเกี่ยวกับผลการประสานงานระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ ที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล และคาดว่าจะมีการหารือเกี่ยวกับการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีในส่วนของพรรคตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์กำหนดไว้ จากโควตา 8 ตำแหน่ง 7 คนของพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีความเป็นไปได้สูงแล้วว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค จะดำรงตำแหน่งรองนายกฯ ควบ รมว.พาณิชย์, นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค เป็น รมว.เกษตรฯ, นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรค เป็น รมช.มหาดไทย ส่วนอีก 4 ตำแหน่งที่ยังไม่นิ่ง คือ รมว.การพัฒนาสังคมฯ, รมช.สาธารณสุข, รมช.คมนาคม และ รมช.ศึกษาธิการ
ปชป.ยังไม่จบโควตา
    มีรายงานว่า ส.ส.ที่เป็นอดีตผู้ท้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ประกอบด้วย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ และแนวร่วมอย่างนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง ทำหนังสือลงลายมือชื่อร่วมกันถึงนายจุรินทร์ ลงวันที่ 6 มิ.ย. เสนอแนวทางการคัดเลือกบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งรัฐมนตรี โดยกำหนดหลักเกณฑ์ออกเป็น 6 ข้อ ประกอบด้วย 1.พรรคต้องคำนึงถึงความเป็นธรรม โดยไม่นึกถึงความเห็นต่างในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคครั้งที่ผ่านมา เพื่อให้มีความทั่วถึงเป็นธรรม 2.พรรคต้องให้ความสำคัญกับ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งในระบบเขตและบัญชีรายชื่อตามลำดับ ก่อนผู้ไม่ได้เป็น ส.ส. 3.พรรคต้องคัดเลือกบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งโดยคำนึงถึงภูมิภาคตามข้อบังคับและจำนวน ส.ส.ในภูมิภาค 4.พรรคต้องคำนึงถึงหลักอาวุโสในการคัดเลือก 5.พรรคต้องคำนึงถึงสตรีตามข้อบังคับพรรค และ 6.พรรคต้องคัดสรรบุคคลโดยยึดหลักความสามารถและประสบการณ์ในงานบริหารราชการแผ่นดินส่วนนั้น 
    “พรรคต้องยอมรับว่าการเข้าร่วมรัฐบาลผสมครั้งนี้มีความท้าทายอย่างมาก ทั้งจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งจากความเห็นที่ไม่ตรงกันในผู้สนับสนุนพรรค ดังนั้นการคัดเลือกบุคคลเข้าเป็นรัฐมนตรี จึงต้องสามารถประสานงานและรวบรวมปัญหาของประชาชนในพื้นที่ของเพื่อน ส.ส.ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และต้องทำงานให้เกิดความสำเร็จด้วย”หนังสือดังกล่าวลงท้ายไว้ 
    ขณะเดียวกัน เมื่อเวลา 12.00 น. กลุ่ม 10 พรรคเล็กได้รับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน ก่อนที่ในเวลา 13.00 น. จะร่วมกันแถลงข่าว โดยนายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ หัวหน้าพรรคพลเมืองไทย กล่าวว่า เป็นการรับประทานอาหารและหารือเกี่ยวกับนโยบายทั้ง 10 พรรค ว่ามีนโยบายใดที่มีความใกล้เคียงจะได้ควบรวมก่อนส่งให้พรรค พปชร.บรรจุเป็นนโยบาย และได้ส่งชื่อและประวัติของทั้ง 10 พรรคไปให้ผู้ใหญ่เพื่อให้นายกฯ ตรวจสอบว่าสุดท้ายแล้วจะเห็นชอบว่าใครเหมาะสมว่าจะทำหน้าที่ในกระทรวงใด แต่หากเราไม่ได้ เราก็พร้อมร่วมรัฐบาลต่อ แต่หาก 1 ใน 10 คน ไม่ว่าใครได้ เราก็ไม่ว่ากัน ใครได้เราก็ดีใจพร้อมช่วยทำงาน
    นายพิเชษฐ สถิรชวาล หัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย กล่าวว่า หากเราไม่ได้เป็นฝ่ายบริหาร ก็เป็นไปไม่ได้ที่เราจะเดินนโยบายของเรา แต่ถ้าเราไม่ได้ที่นั่งฝ่ายบริหาร เราก็พร้อมจะทำหน้าที่เป็น ส.ส. โดยนำความเดือดร้อนของประชาชนเข้าไปอภิปรายในสภาก็ได้เช่นกัน
    ด้านนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ กล่าวว่า ตำแหน่งโควตารัฐมนตรีขึ้นอยู่กับดุลยพินิจนายกฯ แต่ตอนนี้เรื่องนโยบายสำคัญที่สุด โดยในสัปดาห์หน้ากรรมาธิการจะมีการตั้งกรรมาธิการ 38 คณะ โดยจะได้เฉลี่ยคนละ 1-2 คณะ โดยจะอยู่ใน กมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ เพื่อดูการทุจริตไม่ชอบ
    มีรายงานว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรค พปชร. ไม่ได้มาร่วมรับประทานกลางวันกับกลุ่ม 10 พรรคเล็กเหมือนครั้งที่ผ่านมา.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"