เมื่อนายกฯ หญิงเหล็กแห่งเยอรมันมีเหยียบอเมริกาและประกาศให้คนที่นั่น “ทลายกำแพงแห่งอวิชชาและจิตใจที่คับแคบ” นั่นเท่ากับเป็นการตบหน้าโดนัลด์ ทรัมป์ อย่างไม่เกรงอกเกรงใจกันอีกต่อไป
เพราะคำว่า “กำแพง” มีความหมายทางการเมืองสำหรับเธอมาก
เธอเติบโตที่เยอรมันตะวันออก ซึ่งขณะนั้นถูก “กำแพงเบอร์ลิน” ขวางกั้นจากเยอรมันตะวันตก
กำแพงเป็นสัญลักษณ์แห่งการแบ่งแยก, ขัดแย้งและกดขี่
เธอสามารถก้าวข้ามความขัดแย้งนั้นได้หลังจากกำแพงเบอร์ลินถูกทลาย จนเธอขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้
มาวันนี้เมื่อทรัมป์ต้องการจะสร้าง “กำแพง” ระหว่างสหรัฐกับเม็กซิโก คำพูดของผู้นำเยอรมนีจึงมีความสำคัญต่อการเมืองระหว่างประเทศยิ่ง
ผมกำลังจะพูดถึงคำปราศรัยของอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี 3 สมัย ที่ไปกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีรับปริญญามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประจำปี 2019 เมื่อ 30 พฤษภาคม 2019
แมร์เคิลตั้งใจตอกย้ำให้บัณฑิตฮาร์วาร์ดที่เป็นคนยุคใหม่ ‘ทลายกำแพงแห่งอวิชชา (ignorance) และจิตใจที่คับแคบ’ ที่หล่อเลี้ยงลัทธิชาตินิยมและการอยู่โดดเดี่ยว รวมทั้งเตือนว่า “อย่านึกว่าประชาธิปไตยเป็นของตาย ไม่ต้องปกปักรักษามันก็จะดำรงอยู่ตลอดไป” (take it for granted)”
เธอเตือนถึงอันตรายของกระแสชาตินิยม
แม้ไม่ได้เอ่ยชื่อทรัมป์ แต่ทุกคนที่ได้ยินได้ฟังก็เข้าใจได้ทันทีว่าเธอหมายถึงใคร
เพราะเธอเตือนว่า “ถ้าเราทำอะไรเพียงลำพัง เราทำอะไรสำเร็จไม่ได้มากนัก”
แล้วเธอก็เรียกร้องให้บัณฑิตใหม่ ‘ทลายกำแพง’ ซึ่งจะตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากว่าเธอหมายถึงนโยบายสร้างกำแพงของทรัมป์
แมร์เคิลใช้ “กำแพง” เล่าเรื่องชีวิตในเยอรมันตะวันออก ซึ่งเป็นการอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการ
เธอยอมรับว่าเคยคิดเอาเองว่าคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงได้ เพราะกำแพงนั้นช่างแข็งแกร่งและทนทาน
เธอบอกว่าทุกวันที่เธอเดินทางจากบ้านไปที่ทำงาน ก็คิดจะเดินทะลุกำแพงคอนกรีตเหล็กที่ตั้งตระหง่านออกไปได้อย่างไร
“กำแพงเบอร์ลินจำกัดโอกาสของฉัน มันตั้งอยู่ตรงทางเดินของฉัน เลยแต่มีสิ่งที่กำแพงเบอร์ลินทำไม่ได้ นั่นคือมันไม่สามารถจำกัดความคิดของฉันได้ ตัวตน ความฝันและจินตนาการของฉัน ข้อห้ามต่างๆ ไม่สามารถจำกัดสิ่งเหล่านี้ได้”
เมื่อกำแพงถูกทลายลงในปี 1989 ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป ความต้องการสิทธิและเสรีภาพแพร่ไปทั่วยุโรป หนุ่มสาวออกมาเดินขบวนในหลายประเทศเพื่อเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงสู่ชีวิตที่ดีกว่า
เธอบอกบัณฑิตฮาร์วาร์ดว่าไม่มีอะไรที่ดำรงคงอยู่ได้ตลอดไป
แล้วเธอก็ประกาศว่า
“ฉันขอบอกว่าทุกอย่างที่ดูเหมือนจะถูกทำให้เป็นหิน หรือดูเหมือนจะเปลี่ยนไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วมันเปลี่ยนได้ ความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายเกิดได้จากความคิด”
ว่าแล้วเธอก็ซัดหมัดตรงถึงลัทธิกีดกันและคุ้มครองทางการค้าที่เป็นนโยบายหลักของทรัมป์
เธอเน้นถึงความขัดแย้งทางการค้าว่าเป็นอันตรายต่อการค้าเสรีของนานาชาติ
“สงครามและลัทธิก่อการร้ายก่อให้เกิดการไร้ถิ่นฐานและทำให้มีผู้อพยพที่ไร้ทางเลือก การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามต่อทรัพยากรของโลก เราทำได้ และต้องทำทุกอย่างที่มนุษย์พึงทำได้เพื่อจัดการกับความท้าทายที่มนุษย์เผชิญอยู่ขณะนี้”
เท่านั้นแหละ ผู้ฟังก็ลุกขึ้นปรบมือกึกก้องยาวนาน
โดยเฉพาะตอนที่เธอย้ำว่า
“เราต้องซื่อสัตย์ต่อตัวเองและผู้อื่น นั่นหมายความว่า ไม่บอกว่าการโกหกเป็นความจริง และไม่ให้ความจริงโกหก”
แมร์เคิลยังโยงต่อถึงความรับผิดชอบทางประวัติศาสตร์ของเยอรมนี ด้วยการเน้นว่าการให้อภัยเป็นหัวใจของการแก้ปัญหา
“ความสัมพันธ์ระหว่างเยอรมนีและสหรัฐอเมริกาก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ศัตรูก็กลายมาเป็นมิตรได้”
ผมชอบมากตอนที่เธอบอกว่า
“คนรุ่นใหม่ที่รัก พวกคุณมีโอกาสทำสิ่งเหล่านี้มากกว่าคนรุ่นฉัน สมาร์ทโฟนของพวกคุณมีระบบประมวลผลที่ดีกว่าคอมพิวเตอร์ไอบีเอ็มปลอมที่เคยผลิตในสหภาพโซเวียตตอนที่ฉันใช้ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกปี 1986 ที่เยอรมันตะวันออก”
และแน่นอนเธอเตือนว่า “ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับพวกคุณแล้วว่าจะใช้โอกาสนี้อย่างไรเพื่อเปลี่ยนแปลง
“ฉันคิดว่าเราต้องเตรียมพร้อมต่อการสิ้นสุดของสิ่งต่างๆ เพื่อให้รู้สึกถึงความมหัศจรรย์ของการเริ่มต้นใหม่ และเพื่อให้มีโอกาสที่ดี เป็นประสบการณ์จากการเป็นนักเรียนและนักการเมืองของฉัน”
ผมจินตนาการว่าถ้าผมเป็นนักศึกษาฮาร์วาร์ดจบปีนี้และได้ยินคำปราศรัยของ “หญิงเหล็ก” ที่กำลังจะก้าวลงจากตำแหน่งหมายเลขหนึ่งของประเทศตัวเอง ผมจะมีความรู้สึกขนลุกและจะเดินออกไป “ทลายกำแพงแห่งอวิชชา” ที่หน้าทำเนียบขาวหรือไม่!.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |