หวังเห็นประชุมสภาฯเชิงสร้างสรรค์ เสียงสะท้อน ส.ส.ใหม่-สมัยแรก


เพิ่มเพื่อน    

 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน ได้ทำหน้าที่เข้าประชุมไปแล้วรวมทั้งสิ้น 4 ครั้ง เช่น ประชุมสภาฯ เพื่อเลือกประธาน-รองประธานสภาฯ รวมถึงการเข้าประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกฯ เมื่อ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา

หลายคนติดตามชม-ฟังการประชุมของสภาฯ-รัฐสภา โดยบางส่วนก็บอกว่าสนุกเข้มข้น ได้สาระ แต่บางส่วนก็มองว่า การอภิปรายของสมาชิกรัฐสภา ทั้งฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้าน-ส.ว.ยังเป็นแบบเดิมๆ ไม่ปฏิรูป ไม่สร้างสรรค์เท่าที่ควร

เสียงสะท้อน-ข้อคิดเห็นจาก ส.ส.หน้าใหม่-ส.ส.สมัยแรก ของสภาฯ ชุดปัจจุบัน มองภาพรวมบรรยากาศการประชุมสภาฯ-รัฐสภา 4 นัดที่ผ่านมาอย่างไร และอยากเห็นการประชุมสภาฯ เป็นอย่างไรต่อจากนี้ มีการให้ทัศนะไว้ดังนี้

เริ่มที่ ส.ส.ฝ่ายค้าน “วรรณวรี ตะล่อมสิน ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคอนาคตใหม่” โดยเธอบอกว่า จากที่เข้าประชุมทั้ง 4 ครั้งที่ผ่านมา ภาพรวมโดยส่วนตัวจากที่ได้เข้าประชุมสภาฯ และรัฐสภา ก็มีทั้งความรู้สึกประหลาดใจ แปลกใจ หมดหวัง และมีความหวัง ก็มีหลายอารมณ์ เพราะแต่ละวันแต่ละช่วงก็จะไม่เหมือนกัน แต่ก็จะประมาณนี้

“วรรณวรี” กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ได้เห็นก็มีทั้งด้านดีและด้านไม่ดี คือไม่โอเค ซึ่งด้านที่ดี ก็มี เพราะสมาชิกหลายคนก็อภิปรายกระชับตรงประเด็น แบบนี้ก็โอเค รู้สึกว่าเป็นการอภิปรายที่สร้างสรรค์ แต่ก็มีบ้างที่เรารู้สึกว่าไม่โอเค เช่น การประท้วงระหว่างประชุมกันบ่อย หรือมีการอภิปรายลักษณะเหน็บแนม มีการใช้อารมณ์ความรู้สึกเยอะ และอีกอย่างหนึ่งที่เห็นก็คือ เหมือนกับมีการใช้ความเป็นผู้ใหญ่จะมาบอกว่า ส.ส.ที่เด็กกว่า ส.ส.หน้าใหม่ ไม่มีประสบการณ์

เมื่อถามว่า ในฐานะเป็น ส.ส.สมัยแรก เมื่อเข้ามาเป็น ส.ส.ทำหน้าที่ในสภาฯ สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสภาฯ เหมือนกับสิ่งที่เคยคาดหวังไว้ก่อนหน้านี้ตอนมาลงเลือกตั้งหรือไม่ วรรณวรี ส.ส.กทม. พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า สิ่งนี้เกิดขึ้นตั้งแต่การประชุมสภาฯ วันแรก (25 พ.ค. การประชุมเพื่อเลือกประธานสภาฯ) วันแรกที่เราเดินเข้าสภาฯ คือเราวาดภาพเอาไว้สวย ว่าการเป็น ส.ส.เป็นอาชีพ เป็นตำแหน่งที่ทรงเกียรติ เราก็เดินเข้ามาด้วยความหวังว่าเราอยากเห็นการเมืองแบบใหม่ เพราะเราไม่ได้มีรัฐสภามาหลายปี ก็หวังจะเห็นสิ่งใหม่ๆ สิ่งที่สร้างสรรค์ แต่เมื่อเข้ามาเห็นจริงๆ วันแรก ก็ได้เห็นว่าบรรยากาศไม่ค่อยดี ก็เลยเป็นความหวังปนกับความประหลาดใจ ว่าจริงๆ มันไม่ใช่ แต่ก็ทำให้เราได้เรียนรู้และนำไปเป็นบทเรียน ว่าอะไรที่เราไม่อยากเห็น สิ่งใดที่เราอยากให้ประชาชนเห็น เราก็พยายามทำสิ่งนั้นจะดีกว่า ไม่ได้ไปคาดหวังอะไรจากผู้อื่น แต่เริ่มจากที่ตัวของเราเองจะดีกว่า

วรรณวรี ในฐานะ ส.ส.หน้าใหม่ กล่าวว่า สำหรับสิ่งที่อยากเห็นสำหรับการประชุมสภาฯ หลังจากนี้ ก็คือไม่ว่าจะเป็น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน สิ่งที่อยากเห็นจากทั้ง 2 ฝ่ายก็คือ อยากเห็นทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านทำเพื่อส่วนรวมทำเพื่อประเทศจริงๆ เพราะหากมีจุดยึดดังกล่าวไว้ ยังไงประเทศก็เดินหน้า แต่ว่าถ้าต่างคนต่างทำ เช่น ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตน ก็จะไม่มีทางคุยกันลงตัว ไม่มีทางที่จะเดินไปสู่เป้าหมายเดียวกัน แต่ถ้าเรามีเป้าหมายร่วมกันเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งไหน แต่อย่างน้อยเรามีสิ่งที่เราคุยเหมือนกัน มีเป้าหมายเดียวกัน

นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องการเห็นก็คือ อยากเห็นการทำงานแบบมีวุฒิภาวะ มีความเป็นมืออาชีพของทั้ง 2 ฝ่าย ความเป็นมืออาชีพดังกล่าว ก็เช่นอภิปรายให้อยู่ในข้อบังคับการประชุมสภาฯ หรือการอภิปรายให้อยู่ในประเด็น ไม่อยากให้ใช้อารมณ์หรือใช้ความรู้สึก และอยากเห็นสภาฯ แห่งนี้มีความเท่าเทียมกัน เพราะเราทุกคนได้รับเลือกให้เข้ามาเป็น ส.ส.เหมือนกัน วันนี้ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ผู้หญิงผู้ชาย รวมถึง LGBT ด้วย ไม่อยากให้แบ่งแยก เพราะการเป็น ส.ส.ก็เป็นอาชีพเดียวกัน ทำงานอย่างเท่าเทียมเสมอภาคกัน

วรรณวรี กล่าวถึงบทบาทการเป็นพรรคฝ่ายค้านของพรรคอนาคตใหม่ต่อจากนี้ว่า ทางพรรคมีการวางตัว ส.ส.ของพรรคแต่ละคนให้เหมาะกับหน้าที่แต่ละด้าน ใครมีแบ็กกราวด์ด้านไหน ก็วางตัวบุคคลตามงานนั้น โดยหนึ่งในวาระแรกเรื่องแรกๆ ที่พรรคให้ความสำคัญก็คือ เรื่องงบประมาณ (ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2563) ซึ่งทางพรรคมีการกระจายงานให้ ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่แต่ละคนไปศึกษาลงรายละเอียดกันไว้แล้ว เพราะจุดประสงค์ก็คือ เราต้องการอภิปรายด้วยข้อมูลล้วนๆ ทำให้ ส.ส.ของพรรคต้องทำการบ้านอย่างหนัก

ขณะที่ความเห็นจาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล นางสาวไพลิน เทียนสุวรรณ ส.ส. สมุทรปราการ พรรคพลังประชารัฐ ที่มีประสบการณ์ทางการเมือง เคยเป็นอดีตสมาชิกสภาจังหวัดสมุทรปราการมาแล้ว 2 สมัย ก่อนจะพาสชั้นมาเป็น ส.ส.ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา

ไพลิน ให้ทัศนะว่า การประชุมสภาฯ แต่ละครั้ง ส.ส.แต่ละฝ่าย ในการทำหน้าที่ต่างๆ เช่น การอภิปรายให้ข้อเสนอแนะ การใช้สิทธิ์ประท้วงในที่ประชุม ควรต้องดูวาระการประชุมให้ชัดเจนว่าการประชุมแต่ละครั้งเป็นการประชุมเรื่องใด หาก ส.ส.มีการทำการบ้านมา ก็จะทำให้การประชุมสภาฯ ประชาชนที่ได้รับชม ก็จะเข้าใจว่าการประชุมสภาฯ ช่วงต่างๆ ประชุมในเรื่องใด เพราะหาก ส.ส.มีการประท้วงตอบโต้กันโดยไม่ได้อยู่ในกรอบของวาระการประชุม ก็ทำให้ประชาชนไม่เข้าใจ เกิดความสับสนว่า ส.ส.กำลังอภิปรายเรื่องใด

ยกตัวอย่างการประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตนายกฯ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา บรรยากาศการประชุมเหมือนกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจยังไงไม่รู้ เพราะการอภิปรายวันดังกล่าว ที่มีแคนดิเดต 2 ชื่อคือ พลเอกประยุทธ์ กับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แต่การอภิปรายจะพบว่า ประเด็นการพูดเพื่อสนับสนุนชื่อแต่ละคนจะมีน้อยมาก แต่บรรยากาศไปเหมือนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทำให้ประชาชนที่ติดตามดู ก็อาจรู้สึกว่า ส.ส.ไม่อยู่ในกรอบ จึงมองว่า ส.ส.แต่ละคน จะต้องศึกษากฎ ระเบียบข้อบังคับการประชุมให้มาก เพื่อให้การอภิปรายแต่ละครั้งของสภาฯ ได้เนื้อหาสาระจริงๆ โดยไม่มีการโยงหรือพาดพิงอะไร ไม่ทำให้การประชุมยืดเยื้อโดยไม่มีสาเหตุ จนสุดท้ายเนื้อหาการอภิปรายเหลือแก่นจริงๆ มีน้อยมาก

ไพลิน กล่าวถึงบทบาทการเป็น ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ที่ถูกมองว่าเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ เพราะมี ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลแค่ 253-254 เสียง ว่าเราไม่ได้มองว่าจะเป็น ส.ส.รัฐบาลหรือฝ่ายค้าน แต่เรามองว่าวันนี้ที่เราอาสาประชาชนมาทำงานการเมืองมาเป็น ส.ส. ประโยชน์สูงสุดคือทำงานเพื่อประเทศชาติ ดังนั้นอะไรก็แล้วแต่ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ สิ่งนั้นคือ key point สำคัญ เพราะหากวันข้างหน้า หาก ส.ส.ฝ่ายค้านเห็นว่านโยบายรัฐบาลที่ทำออกมาแล้วประชาชนได้ประโยชน์ ก็ต้องยกมือสนับสนุนให้อยู่แล้ว เพราะ ส.ส.มาทำงานเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้ประชาชน แต่หากจะถือแต่ว่าเป็นรัฐบาล-ฝ่ายค้าน แล้วจะค้านอย่างเดียว ไม่สนับสนุนเลย ประเทศก็เดินหน้าไม่ได้ เราไม่ได้มองว่าเป็นฝ่ายค้าน-รัฐบาล หรือเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ แต่เราเชื่อว่าอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม-ประเทศชาติ ต้องทำ อันนี้คือ key point หลักสำคัญมาก ที่สุดท้ายเชื่อว่า ส.ส.ทุกคนก็พร้อมยกมือสนับสนุนหากสิ่งที่ทำมาเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ

เป็นความเห็นของ ส.ส.หน้าใหม่-ยังบลัด ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ในสภาฯ ชุดปัจจุบัน ท่ามกลางการถูกจับตามองว่า การเมืองในสภาฯ ระหว่างฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้าน ต่อจากนี้จะเข้มข้นทุกสัปดาห์ หลัง ครม.ประยุทธ์ 2/1 เข้าปฏิบัติหน้าที่.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"