รอคอยกันมานานหลายปีกับบัตรแมงมุมหรือตั๋วร่วม ที่รัฐบาลผลักดันให้เกิดขึ้นกลับเงียบหายไป เลื่อนแล้วเลื่อนอีก แต่เดิมที่จะเปิดให้บริการภายในเดือนพฤษภาคม 2562 ในทุกระบบของการเดินทาง ทั้งรถเมล์ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ และเรือโดยสาร และในรถแท็กซี่ จะเปิดบริการเฉพาะบางรายที่มีความพร้อม เช่น แท็กซี่โอเค และแท็กซี่วีไอพี
แม้ว่าล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค. ผู้ถือบัตรสวัสดิการแบบบัตรแมงมุมเวอร์ชั่น 2.0, 2.5 และบัตร Contactless เวอร์ชั่น 4.0 สามารถใช้บัตรจ่ายค่าโดยสารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ได้ทั้ง 8 สถานีแล้ว โดยผู้ถือบัตรสวัสดิการติดต่อห้องจำหน่ายบัตรโดยสารผ่านเครื่อง EDC เพื่อออกเป็นเหรียญโดยสาร ในอัตราค่าโดยสารตามสถานีที่ต้องการเดินทาง โดยเบื้องต้นประเมินว่าจะมีผู้ถือบัตรสวัสดิการใช้บริการประมาณ 4,000 คน/วัน หรือประมาณ 5% ของปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ยทั้งหมด ที่เกือบ 9 หมื่นคน/วัน
ทั้งนี้ สุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ได้ระบุว่า สำหรับบัตรแมงมุมเวอร์ชั่น 2.5 ซึ่งเป็นระบบปิด (Closed Loop) ภายใต้ระบบตั๋วร่วมนั้น พร้อมใช้งานประมาณเดือน ก.ย. หรือไม่เกินปลายปี 2562 เนื่องจากยังมีปัญหาในการเชื่อมต่อซอฟต์แวร์ ระบบความปลอดภัย การตัดเงิน กับเคลียริ่งเฮาส์ (Clearinghouse) ซึ่งทำให้ต้องมีการขยายสัญญาติดตั้งระบบออกไป
ส่วนการปรับปรุงเป็นแมงมุม 4.0 ซึ่งเป็นระบบเปิด (Open Loop) เป็นเทคโนโลยี ใหม่ที่ใช้งานผ่านบัตร EMV (Euro/ Master/ Visa Card) ซึ่งซอฟต์แวร์วางรองรับไว้ด้วย โดยหากมีการประกาศใช้ จะมีการอัพเกรดอีกเล็กน้อยจะสามารถใช้งานได้
ต้องยอมรับว่านับตั้งแต่แจกบัตรแมงมุม Limited Edition จำนวน 200,000 ใบ ไปเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2561 ตามแผนงานจะใช้ได้กับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ และรถประจำทาง ขสมก. ในเดือนตุลาคม 2561 จนกระทั่งปัจจุบันนี้ก็ใช้ได้เพียงรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงเตาปูน-หัวลำโพง กับสายสีม่วง เตาปูน-บางใหญ่เท่านั้น ไม่สามาถใช้กับรถสาธารณะระบบอื่นๆ โดยเฉพาะรถไฟฟ้าบีทีเอส ที่ไม่สนใจใครๆ
ทำให้ปัจจุบันสิ่งที่เกิดขึ้นคือ ต่างคนต่างทำบัตรกัน รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน มีบัตรโดยสาร MRT ที่ออกโดย บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM รถไฟฟ้าสายสีม่วง มีบัตรโดยสาร MRT PLUS ที่ออกโดย รฟม. ส่วนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ก็มีบัตรเติมเงินสมาร์ทพาสอีก และรถไฟฟ้าบีทีเอส มีบัตรแรบบิท
ยังไม่นับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้บอกเลิกสัญญาโครงการเช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์พร้อมอุปกรณ์ (E-Ticket) มูลค่ารวม 1,665 ล้านบาท ที่ บมจ. ช.ทวี ได้รับสัมปทานเพื่อติดตั้งในรถเมล์ ขสมก. จำนวน 2,600 คัน เพราะอุปกรณ์ไม่เสถียร ไม่สามารถใช้งานได้
ในขณะที่ระบบโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการโดยสารสาธารณะ ที่รัฐบาลกำลังเร่งเดินหน้าก่อสร้าง เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชน และลดปัญหาการจราจรที่คับคั่ง มีหลายๆ โครงการที่เดินหน้าไปจนใกล้แล้วเสร็จ และหลายๆ โครงการที่แล้วเสร็จสามารถเปิดให้บริการประชาชนได้ อย่างรถไฟฟ้า อาทิ สายสีม่วง บางใหญ่-เตาปูน, สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ที่ใกล้เสร็จแล้วอยู่ในช่วงการทดสอบการเดินรถ ช่วงหัวลำโพง-บางแค และจะเปิดให้ประชาชนใช้บริการฟรี ในวันที่ 12 ส.ค.2562 และเปิดเดินรถเชิงพาณิชย์ ในเดือน ก.ย.62 ส่วนช่วงเตาปูน-ท่าพระ จะทดลองเดินรถในวันที่ 1 ม.ค.63 และเดินรถเชิงพาณิชย์ ในเดือน มี.ค.63
นอกจากนี้ ในวันที่ 12 ส.ค.2562 นี้เช่นกันจะมีการเปิดทดลองเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ช่วงสถานีหมอชิต-ห้าแยกลาดพร้าว จำนวน 1 สถานีอีกด้วย โดยมีบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด หรือบีทีเอส เป็นผู้ให้บริการ และยังมีอีกหลายสายที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง อาทิ สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี, สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สําโรง เป็นต้น
งานนี้มีแต่ลุ้นว่าจะเป็นตั๋วเลื่อน หรือตั๋วเลื่อน เลื่อน เลื่อนไปเรื่อยๆ เพราะปัจจุบันสถานะของบัตรแมงมุมยังถือว่า “ลูกผีลูกคน” ข่าวคราวความคืบหน้าเงียบหายเข้ากลีบเมฆไปอย่างเงียบเชียบ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |