ในภาวะที่เศรษฐกิจทั้งในประเทศและระหว่างประเทศกำลังเผชิญกับความผันผวนเพราะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน คำถามใหญ่สำหรับรัฐบาลผสมใหม่คือ
ใครจะกำกับดูแลนโยบายเศรษฐกิจในภาพรวม เพื่อตั้งรับกับความแปรปรวนที่ท้าทายความสามารถของรัฐบาลที่จะตอบสนองความคาดหวังของประชาชนขณะนี้
คำตอบที่ดูเหมือนจะชัดขณะนี้ก็คือ เมื่อมีการแบ่งเก้าอี้ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลอย่างที่เป็นข่าวอยู่ขณะนี้ รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชาจะไม่มี "รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ" ซึ่งเป็นบทบาทที่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ดำรงมาจนถึงวันนี้
ถึงวันนี้อนาคตทางการเมืองของ "เฮียกวง" ยังมีความไม่แน่นอนสูง
ที่แน่ๆ คือแม้จะกลับมาในรัฐบาลชุดใหม่ "เฮียกวง" ก็คงจะไม่มีอำนาจบารมีดูแลกระทรวงเศรษฐกิจทั้งหลายอย่างที่เคยเป็นมา
เหตุเพราะพรรคระดับกลางสองพรรคคือ ประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยได้ยืนยันที่จะเข้าไปบริหารกระทรวงเศรษฐกิจหลัก แทนที่จะให้อยู่ใต้รองนายกฯ คนใดคนหนึ่งอย่างที่เป็นมาตลอด 5 ปี
ในด้านเศรษฐกิจ ประชาธิปัตย์ต้องการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์เป็นหลัก
ภูมิใจไทยเรียกร้องกระทรวงคมนาคมและสาธารณสุข กับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
คงเหลือกระทรวงการคลัง, พลังงาน และอุตสาหกรรมที่จะอยู่ในโควตาของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งต้องแบ่งสรรปันส่วนระหว่างกลุ่ม "สามมิตร" และก๊วนของเฮียกวงซึ่งรวมถึง "สี่กุมารทอง" ด้วย
ข่าวบอกว่าพรรคพลังประชารัฐพยายามจะขอคืนเก้าอี้กระทรวงเกษตรฯ, พาณิชย์ และคมนาคม แต่ดูเหมือนประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยจะผนึกกำลังกันต้านความพยายามขอ "แลกเก้าอี้" กันรอบใหม่ให้ได้
พลังประชารัฐดูเหมือนจะเสนอให้ประชาธิปัตย์คืนเก้าอี้กระทรวงเกษตรฯ และพาณิชย์ โดยแลกกับกระทรวงศึกษาฯ และการต่างประเทศ
ภูมิใจไทยได้รับข้อเสนอให้คืนเก้าอี้คมนาคมให้พลังประชารัฐ โดยมีข้อแลกเปลี่ยนให้รับกระทรวงพลังงานแทน
แต่เป็นที่ชัดเจนว่าทั้ง ปชป.และ ภท.ไม่ยอมให้มีการปรับเปลี่ยนไปจากข้อตกลงเดิม
ทุกพรรคต่างก็อ้างว่าได้รับปากกับประชาชนระหว่างหาเสียงไว้ว่า จะทำนโยบายที่ยกระดับรายได้และสร้างโอกาสในการทำมาหากิน จึงต้องได้บริหารกระทรวงด้าน "ปากท้อง" ที่สำคัญ
เป็นที่มาของการยื้อแย่งสิ่งที่เรียกว่า "กระทรวงเกรดเอ" ซึ่งเป็นที่เข้าใจของคนทั่วไปว่าหมายถึงกระทรวงที่มีงบประมาณมากๆ ในการทำโครงการใหญ่ๆ อันหมายถึงผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อพรรคนั้นๆ ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
ดังนั้น ระบบการบริหารนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่จะกลายเป็นการแบ่งเป็นกลุ่มก้อนหรือ clusters ที่มีรองนายกฯ ของแต่ละพรรคเป็นคนกำกับดูแล รายงานตรงต่อนายกรัฐมนตรี
หากแม้ "เฮียกวง" จะกลับมาเป็นรองนายกฯ อีกรอบ ก็คงจะดูแลได้เฉพาะกระทรวงการคลังและอุตสาหกรรมเป็นหลัก เพราะคุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และอนุทิน ชาญวีรกูลก็จะเป็นรองนายกฯ ดูแลกระทรวงเศรษฐกิจในสายงานของตน ไม่ผ่าน "เฮียกวง" เหมือนรัฐบาลที่ผ่านมาอีกต่อไป
หากเป็นเช่นนี้ การ "บูรณาการ" นโยบายเศรษฐกิจจะเป็นปัญหา เพราะแต่ละพรรคย่อมมี "ลำดับความสำคัญ" ของนโยบายใน "ดินแดน" ของตัวเอง ที่อาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับของอีกพรรคหนึ่งแม้ว่าจะเป็นประเด็นเศรษฐกิจเหมือนกันก็ตาม
แต่เมื่อปัญหาเศรษฐกิจระดับโลกและระดับชาติกำลังจะเพิ่มความผันผวนและแปรปรวนมากขึ้น คำถามสำคัญก็คือว่า รัฐบาลใหม่ที่มีเสียงปริ่มน้ำในสภาฯ และความเป็นเอกภาพของรัฐมนตรีจากพรรคต่าง ๆ ยังเป็นข้อน่าสงสัย รัฐบาลใหม่จะรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังถาโถมเข้ามาหลายๆ ด้านพร้อมกันได้อย่างไร?
เพราะปัญหาที่เกิดจากสงครามการค้าระดับโลก ประกอบกับการหดตัวของเศรษฐกิจโลก และการสลับปรับเปลี่ยนแห่ง "ดุลยภาพแห่งมหาอำนาจ" อย่างรุนแรงหนักหน่วงเกินกว่าที่กระทรวงหนึ่งกระทรวงใดจะแบกรับไว้ได้อย่างแน่นอน
มิพักต้องพูดถึงผลพวงจาก "ความป่วน" ที่เกิดจากเทคโนโลยีหรือที่เรียกว่า technological disruption ที่ประเทศไทยต้องตั้งรับและปรับตัวอย่างรุนแรงจึงจะอยู่รอดได้
น่าสงสัยว่ารัฐมนตรีกี่ท่านจะเข้าใจและมีประสบการณ์เพียงพอ ที่จะทำงานซึ่งมีความสำคัญและเร่งด่วนเช่นนี้ได้อย่างจริงจัง
คำถามต่อมาก็คือ หากเป็นเช่นนี้นายกฯ ประยุทธ์จะทำหน้าที่เป็นผู้กำกับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลผ่านรองนายกฯ จากพรรคต่างๆ ได้หรือไม่?
คำตอบวันนี้คือ...น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |