'สี จิ้นผิง' เจอ 'ปูติน' ล่าสุด ตอกย้ำโลกแบ่งเป็น 2 ขั้ว


เพิ่มเพื่อน    

         เมื่อ "สี จิ้นผิง" กับ "วลาดิเมียร์ ปูติน" พบกันทุกครั้ง สัญญาณที่ส่งออกมาชัดเจนก็คือ "โดนัลด์ ทรัมป์" ต้องหนาว

                พอทั้งสองประกาศพร้อมกันในการเจอกันครั้งล่าสุดว่า "เราต่อต้านอิทธิพลอันกว้างขวางของสหรัฐฯ" นั่นย่อมแปลว่าเรากำลังจะเห็นการแบ่งขั้วอำนาจโลกเป็นสองฝ่ายอีกรอบหนึ่ง

                จะเรียกมันว่า "สงครามเย็น" รอบใหม่ หรือ "สงครามการค้าบวกสงครามไฮเทค" ก็แล้วแต่จะตีความ

                แต่ที่ชัดเจนคือ โลกกำลังจะแบ่งเป็นสองค่ายอีกรอบหนึ่ง

                และครั้งนี้จีนกับรัสเซียมีพลังอำนาจทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงเหนียวแน่นกว่าเดิมหลายเท่านัก

                ผู้นำจีนกับรัสเซียพบกันล่าสุดที่งานเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก อีโคโนมิก ฟอรัม ซึ่งปกติรัสเซียจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี แต่ปีนี้สี จิ้นผิงกับปูตินเจอกันในบรรยากาศความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และสหรัฐฯ กับรัสเซียอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง

                สี จิ้นผิงถึงกรุงมอสโกวันที่ 5 มิถุนายน มีกำหนดเยือนรัสเซีย 3 วัน พอพบกับปูตินที่ทำเนียบเครมลิน ผู้นำจีนก็ไม่ลังเลที่จะเรียกปูตินว่า "เพื่อนซี้"

                และตั้งใจจะแสดงความสนิทสนมกลมกลืนกับผู้นำรัสเซียอย่างเปิดเผย

                เพราะรู้ว่าทรัมป์กำลังจับตาการพบปะของสองผู้นำที่มอสโกทุกฝีก้าว

                วันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมาเป็นวันสุดท้ายของการเยือน สี จิ้นผิงกับปูตินก็จูงมือกันไปไปร่วมงาน St.Petersburg Economic Forum หรือ "เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก อีโคโนมิก ฟอรัม" ที่รัฐบาลมอสโกจัดขึ้น โดยมีเป้าหมายหลักคือต้องการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจรัสเซียซึ่งก็กำลังเผชิญกับปัญหามากมายหลายด้าน

                เป็นจังหวะเหมาะเหม็งสำหรับสี จิ้นผิงที่จะได้แสดงวิสัยทัศน์ว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืนและความร่วมมือพหุภาคีที่กลายเป็น "ไฮไลต์" สำคัญของผู้นำจีนในเวทีระหว่างประเทศมาหลายปีแล้ว มีคนตั้งข้อสังเกตว่าในสัปดาห์เดียวกันที่ทรัมป์ร่วมดื่มน้ำชากับควีนเอลิซาเบธในกรุงลอนดอน ปูตินก็ต้อนรับสี จิ้นผิงที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก

                จะเป็นความบังเอิญของจังหวะเวลาหรือเป็นความจงใจของใคร ไม่สำคัญเท่ากับภาพที่ออกมาว่าโลกกำลังแบ่งเป็นสองขั้วจริงหรือไม่

                ต้องย้อนกลับไปเมื่อห้าปีก่อน ตอนที่รัสเซียบุกเข้าผนวกคาบสมุทรไครเมียของยูเครนเข้าเป็นของตนเอง อ้างว่าเป็นการเข้ารักษาความปลอดภัยให้คนรัสเซียที่นั่น

                แต่สหรัฐฯ และโลกตะวันตกไม่ยอมรับข้ออ้างนั้น เหตุการณ์ครั้งนั้นจึงกลายเป็นชนวนเหตุความขัดแย้งกับโลกตะวันตกมาถึงวันนี้

                ไม่ต้องถามว่าปักกิ่งอยู่ข้างใครในกรณีนี้

                จึงไม่ต้องสงสัยว่าทำไมความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจระหว่างจีนกับรัสเซียจึงเติบใหญ่อย่างต่อเนื่อง

                จีนรู้ว่ารัสเซียต้องการให้ปักกิ่งหาทางเพิ่มกิจกรรมด้านเศรษฐกิจในรูปแบบที่จะเพิ่มประโยชน์ให้แก่ตน เพราะจีนได้เปรียบในหลายๆ ด้านจากการคบหากับรัสเซีย

                สี จิ้นผิงไม่ได้มาจับมือถ่ายรูปกับเพื่อนซี้เฉยๆ แต่มีการเซ็นข้อตกลงการค้ากันหลายสิบฉบับ ไม่ว่าจะเป็นด้านอีคอมเมิร์ซ โทรคมนาคม ก๊าซ และอื่นๆ ที่มีความสำคัญสำหรับการต่อยอดความร่วมมือเศรษฐกิจของสองประเทศ

                 ไม่เพียงแต่มีการลงนามในข้อตกลงหลายฉบับนั้น สี จิ้นผิงยังต้องการแสดงความจริงจังเรื่องการสร้างความใกล้ชิดสนิทสนมกับรัสเซีย ด้วยการพาตัวแทนด้านธุรกิจและอื่นๆ กว่า 1,000 คนมาร่วมงานด้วย

                ไม่ต้องแปลกใจที่คนใกล้ชิดปูตินจะเรียกจีนว่าเป็น "หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของรัสเซีย"

                และสถิติทางการก็ตอกย้ำความแน่นแฟ้นที่เพิ่มขึ้นระหว่างสองชาติ เพราะตัวเลขค้าขายระหว่างกันในปี 2561 ก้าวกระโดดถึง 25% จนยอดเงินสูงเกิน 1.08 แสนล้านดอลลาร์

                ถือว่าเป็นยอดซื้อขายระหว่างกันของสองประเทศสูงสุดเป็นประวัติการณ์

                โครงการความร่วมมือหลักๆ ระหว่างรัสเซียกับจีนย่อมเน้นเรื่องทรัพยากรธรรมชาติที่รัสเซียมีและจีนต้องการ

                เช่นโครงการท่อก๊าซ Power of Siberia ที่บริษัทพลังงานแห่งชาติ Gazprom ของรัสเซียจับมือกับ  CNPC รัฐวิสาหกิจยักษ์ของจีนที่เชื่อมต่อท่อก๊าซส่งให้จีน คาดว่าจะเริ่มได้ในปีนี้

                เท่านั้นไม่พอ CNPC และ "กองทุนเส้นทางสายไหม" ของจีนยังถือหุ้น 29.9% ในโครงการก๊าซธรรมชาติเหลว "Yamal LNG" ซึ่งเป็นโครงการยักษ์ในอาร์กติกไซบีเรียที่มีบริษัท Novatech ของรัสเซียเป็นหัวหอกอยู่

                เห็นได้ชัดว่าจีนต้องการจะแสดงให้รัสเซียเห็นว่า การแสดงความรักใคร่ต่อกันทางการเมืองนั้นต้องตามมาด้วยการสร้างผลงานด้านเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรม ความสัมพันธ์จึงจะยั่งยืนและมั่นคง

                คิดง่ายๆ ครับว่าทั้งสี จิ้นผิงและปูตินยังจะอยู่ในตำแหน่งสูงสุดของประเทศอีกหลายปีดีดัก แต่ทรัมป์เหลือเวลาในเทอมแรกแค่อีก 2 ปี

                จะเกิดอะไรกับทรัมป์หลังเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2020 ก็ไม่อาจจะทราบได้

                อย่างนี้ใครน่าคบกว่าใครก็ย่อมจะชัดเจนอยู่แล้วมิใช่หรือ. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"