จับตาแท็กติก...สนช. รับใบสั่งยื้อลต.อีกหรือไม่?


เพิ่มเพื่อน    

            แม้จะมีคำยืนยันจากผู้มีอำนาจอย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ว่าไม่มีใบสั่งให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คว่ำบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทั้ง 7 คน ประกอบไปด้วยตัวแทน 2 คนจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จำนวน 176 คน และอีก 5 คน จากคณะกรรมการสรรหา ที่ประธานศาลฎีกาเป็นประธาน

            ขณะที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ก็ยืนยันว่าจะไม่กระทบการเลือกตั้งหรือโรดแมปดังที่นัดหมายไม่เป็นทางการช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เพราะเชื่อว่าจะสรรหา กกต.ชุดใหม่ได้เสร็จสิ้นภายใน 90 วัน หรือภายในเดือนพฤษภาคมนี้ หรือหากเกิดปัญหา กกต.ชุดเดิมที่ถูกเซตซีโร ก็สามารถทำงานแทนได้

            แต่หากไปถามนักการเมือง นักวิชาการ นักวิเคราะห์การเมือง ภาคประชาชนในกลุ่มอยากเลือกตั้ง ก็คงไม่มีใครไว้ใจท่าทีผู้มีอำนาจอีกแล้ว เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกของรัฐบาลรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นใบสั่งให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญปี 2558 ฉบับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน จนนายบวรศักดิ์เองถึงกับยอมรับว่า “คสช.ต้องการอยู่ต่อลากยาว” หรือ การแก้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ให้มีผลบังคับ 90 วัน หลังประกาศในราชกิจจานุเษกษา เพื่อเป็นการยื้อเวลาการเลือกตั้งออกไปจากเดิมคือเดือน พ.ย.61 

            นายวิรัช ร่มเย็น กรรมการบริหารพรรคและอดีต ส.ส.ระนอง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการคว่ำว่าที่ 7 กกต. ว่า แม้นายวิษณุจะบอกว่าใช้เวลาแค่ 90 วัน ตั้งแต่เริ่มกระบวนการสรรหาใหม่ แต่ในทางปฏิบัติอาจใช้เวลามากกว่านี้  เนื่องจากผู้สมัครอาจไม่กล้าลงสมัคร กกต. เพราะเกรงว่าอาจโดนคว่ำอีกก็ได้ ลงมาก็เปลืองตัวเปล่า

          “หากวิกฤติสุดคืออาจไม่มีผู้ลงสมัครเป็น กกต.เลย หรือไม่ครบ 7 คนตามกฎหมาย กกต.กำหนด เมื่อจะแข่งขัน แต่ไม่มีกรรมการกลางตามกติกา การแข่งขันก็เกิดขึ้นไม่ได้ สนช.ก็เป็นแค่ฝักถั่ว แล้วแต่ผู้มีอำนาจจะกดปุ่ม วันนี้ยิ่งอยู่ยิ่งชัด ซึ่งน่าสังเกตว่า ในโลกโซเชียลได้คำนวณพบว่าทุกเดือนที่ยืดเวลาเลือกตั้งออกไป เงินภาษีของประชาชนกว่า 28 ล้านบาท จะถูกจ่ายเป็นเงินเดือน สนช. ยังไม่รวมสิทธิพิเศษอื่นๆ และเบี้ยประชุม”

            นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยเชื่อว่า เรื่องนี้ต้องมีเบื้องหน้าเบื้องหลังอย่างใดอย่างหนึ่งแน่นอน พร้อมเป็นห่วงว่า ตอนนี้ก็มีข่าวว่า กกต.ชุดปัจจุบันที่ทำหน้าที่อยู่อาจมีบางคนลาออก เพราะอยู่ไปก็ไม่มีประโยชน์ บางคนก็จะต้องเกษียณอายุ 70 ปี (เดือน ก.ค.นี้ นายบุญส่ง น้อยโสภณ กกต.จะมีอายุครบ 70 ปี) หากองค์ประชุมไม่ครบการทำงานก็จะเกิดสุญญากาศ สิ่งที่อาจเกิดขึ้นผู้มีอำนาจอาจต้องใช้อำนาจพิเศษ เช่น มาตรา 44 แต่งตั้ง ก็จะทำให้เกิดผลกระทบต่อการทำงาน

            พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) กล่าวถึงกรณี สนช.ไม่เห็นชอบผู้สมัคร กกต. 7 คนนั้น รู้สึกตกใจ ทำให้เห็นแนวโน้มว่ามีโอกาสจะเลื่อนโรดแมปออกไปอีก อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อมั่นว่าจะต้องมีการเลือกตั้ง แต่จะเป็นช่วงเวลาใดนั้นตนยังตอบไม่ได้

            นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. แม้ยืนยันว่าจะไม่กระทบโรดแมปการเลือกตั้ง แต่การรสรรหาใหม่ต้องใช้เวลาประมาณ 5-6 เดือน กว่าจะมี กกต.ใหม่ และอาจมีผลกระทบต่อการทำงาน เพราะ 6 เดือนจากนี้เป็นช่วงเดือนกรกฎาคม ซึ่งจะล้ำเข้าไปในโซนการเลือกตั้งท้องถิ่น  

          “กกต.ชุดปัจจุบันก็อาจต้องคิดหนักว่าการเข้าไปรับผิดชอบการเลือกตั้งท้องถิ่นเหมาะสมหรือไม่ เพราะไม่ได้เป็นตัวจริง หากมีเรื่องร้องเรียนไปจนเกิดเป็นปัญหาคดีความที่ต้องไปขึ้นศาลในฐานะส่วนบุคคล เมื่อพ้นจากตำแหน่งจะรับไหวหรือไม่ เพราะไม่ใช่เรื่องสนุกที่เมื่อออกจากงานแล้วต้องไปขึ้นศาล"

            ขณะที่กระแสข่าวล่าสุด นายสมชัยอาจจะยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง เพราะไม่อยากรับภาระดังกล่าว ประกอบกับนายบุญส่งเกษียณอายุในวัย 70 ปี ก็จะส่งผลให้ กกต. ทำให้ กกต.เหลือ 3 คน จาก 5 คน ก็จะทำให้เกิดปัญหาในการทำงาน ส่อเค้าเกิดสุญญากาศก็เป็นได้   

            นอกจากเรื่องการคว่ำว่าที่ 7 กตต. ที่ถูกมองว่าจะกระทบต่อการเลือกตั้งแล้ว อีกประเด็นสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือ กฎหมายลูกที่จำเป็น 4 ฉบับ ที่ผ่านไปแล้ว 2 ฉบับ คือ กฎหมายลูกว่าด้วย กกต. และกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง ส่วนอีก 2 ฉบับสุดท้าย คือ กฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และกฎหมายลูกว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. กำลังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย สนช., กรธ. และ กกต.

             แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. และนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. จะออกมาประสานเสียงว่า สนช.จะไม่คว่ำร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ที่ สนช.จะลงมติในวาระ 4 ในวันที่ 8 มีนาคมนี้ ที่จะส่งผลให้เมื่อกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้แล้วในอีก 90 วัน หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา การเลือกตั้งก็อาจจะเกิดขึ้นในเดือนใดก็ได้ภายใน 150 วันหลังจากนั้น

            แต่ดูแล้วจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะบทบาทของสนช. ที่สนองงานคสช.เพียงสั่งแค่กดปุ่ม  จึงทำให้น้ำหนักหรือคำมั่นของของนายกฯ และประธานสนช.  ที่ระบุว่าจะไม่คว่ำ 2 กฎหมายดังกล่าว ไร้ความน่าเชื่อถือ  หรือแม้จะยอมผ่านให้  แต่ก็ไม่ทราบว่า สนช.จะใช้แท็กติกยื้อเวลาต่อไปอีกหรือไม่

            เช่น การสั่งให้ สนช.จำนวน 1 ใน 10 ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญหรือไม่ ภายหลัง สนช.เห็นชอบกฎหมายแล้ว 2 กฎหมายดังกล่าว อย่างเช่น กฎหมายลูก ผู้ตรวจการแผ่นดิน และกฎหมาย ป.ป.ช. ที่กำลังอยู่ในการพิจารณา ก็จะทำให้การบังคับใช้ 2 กฎหมายสุดท้ายยืดเวลาไปอีกหลายเดือน เพราะไม่มีเงื่อนเวลาทำงานของศาลรัฐธรรมนูญมาบังคับ และสมมุติว่าศาลให้กฎหมายทั้งฉบับตกไปหรือแก้ไขในสาระสำคัญก็จะกลายเป็นมหากาพย์อีกยาว

            ย้อนกลับมาดูสถานการณ์ปัจจุบัน บัดนี้นักการเมืองก็กำลังเดินหน้าปักหมุดสู่การเลือก เป็นไปตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 โดยวันที่ 1 มีนาคมนี้ พรรคการเมืองใหม่จะเริ่มจดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมืองได้แล้ว โดยมีความเคลื่อนไหวที่ชัดเจน อาทิ พรรคประชาชนปฏิรูป ของนายไพบูลย์ นิติตะวัน และพรรคมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศ ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ทั้งคู่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่ 1 เมษายนนี้ แต่ละพรรคการเมืองต้องยืนยันสถานะสมาชิกพรรคให้เสร็จสิ้นภายใน 1 เดือน ขณะเดียวกันก็จะทราบว่า สุดท้ายแล้วจะมีใครที่ยังภักดีต่อพรรคเดิม หรือขายตัวไปอยู่พรรคการเมืองอื่นๆ หรือไม่ โดยเฉพาะพรรคเครือข่ายทหาร

            สอดรับสอดคล้องกับภาคประชาชน ในนามกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ก็ทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างแนวร่วมไม่เอารัฐประหาร อาทิ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ จะนัดชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, วันที่ 10 มีนาคม ช่วงเย็น (ยังไม่ระบุสถานที่), วันที่ 24 มีนาคม เวลา 17.00 น. (ยังไม่ระบุสถานที่) วันที่ 19-22 พฤษภาคม ชุมนุมใหญ่ค้างคืนเนื่องในวันครบรอบ 4 ปีรัฐประหาร (ไม่ระบุสถานที่)

            ขณะที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ก็ประกาศว่า ในเดือนมิถุนายนนี้จะทราบว่ามีการปลดล็อกทางการเมืองเมื่อใด เพราะรู้วันเลือกตั้งระดับชาติและเลือกตั้งท้องถิ่นแล้ว

          ท่ามกลางบรรยากาศที่ถนนทุกสายมุ่งสู่การเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 แม้การคว่ำว่าที่ กกต. 7 คน ยังไม่ชัดเจนว่ามีเจตนาแท้จริงคืออะไรและกระทบโรดแมปจริงหรือไม่ ดังนั้นจากนี้ หาก สนช.ยังใช้อภินิหารหรือแท็กติก ตอดเล็กตอดน้อยไม่หยุดเพื่อจะอยู่ยาวอย่างชัดเจน...อาจเห็นสิ่งไม่คาดฝันเกิดขึ้นกับ คสช.ที่ยากจะรับมือ.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"