แก้รธน.ไม่ง่าย ‘วันชัย’ดักคอ! เชื่อหาเหตุป่วน


เพิ่มเพื่อน    

 "วิษณุ" ไม่ขัดอนาคตใหม่ขอแก้รัฐธรรมนูญ ชี้นอกจากใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง 2 สภาแล้ว ต้องมี ส.ว.เห็นชอบไม่ต่ำกว่า 86 คน "วันชัย" เชื่อหาเหตุตั้งเวทีป่วนการเมืองมากกว่าล่าชื่อ ปชช. เพื่อไทยดันฉีก รธน.ทั้งฉบับ ล้มสืบทอดอำนาจ

    เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ระบุว่าพรรคเตรียมเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ บทเฉพาะกาล มาตรา 272 ที่ให้อำนาจ ส.ว.ร่วมลงมติโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และมาตรา 279 ว่าด้วยการรับรองความชอบของการออกประกาศ, คำสั่ง และการกระทำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  ว่าถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ว่า เป็นสิทธิ์ของนายปิยบุตรในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  ให้เข้าชื่อได้ตามจำนวนที่กำหนดในรัฐธรรมนูญไว้ก็แล้วกัน 
    ส่วนที่มี ส.ว.แต่งตั้งบางคนออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยนั้น คงไม่ถึงขนาดคัดค้าน แต่เป็นการตั้งข้อสังเกตว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญคงไม่ง่ายอย่างที่พูด แต่หากทำได้ก็ไม่มีปัญหาอะไร อย่างไรก็ตาม  ประชาชน 5 หมื่นคนสามารถเข้าชื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ หลังจากนั้นกระบวนการต้องเข้าสู่สภา มีการประชุมร่วมระหว่าง ส.ส.และ ส.ว. 3 วาระ และคะแนนเสียงที่จะทำให้ผ่านในแต่ละวาระก็ไม่เหมือนเมื่อก่อน เช่น การได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของทั้งสองสภารวมกันยังไม่พอ เพราะต้องได้คะแนนเสียงจาก  ส.ว.อย่างน้อย 86 คนด้วย 
    เมื่อถามว่า ความเห็นต่างของสมาชิกในรัฐสภาจะมีผลกระทบต่อฝ่ายบริหารหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า หน้าที่ของสภาต้องทำให้เกิดความเห็นต่าง ไม่อย่างนั้นก็เป็นฝ่ายเดียวพวกเดียวกันไปหมด  ต้องมีฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน สำหรับ ส.ว.ก็มีที่มา 2 ทาง แม้สุดท้ายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  (คสช.) จะเป็นคนคัดเลือกก็ตาม ดังนั้นความเห็นที่แตกต่างเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าเรารักที่จะอยู่ในระบอบปกครองแบบนี้ต้องยอมรับและอดทนต่อสิ่งเหล่านี้ 
    นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวว่า ยังไม่ถึงเวลาที่จะเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ  เพราะเพิ่งผ่านการเลือกตั้งและเพิ่งถูกใช้บังคับ ซึ่งยังไม่พบประเด็นปัญหาของการบังคับใช้ โดยเฉพาะ 2 มาตราดังกล่าว ส่วนการวิพากษ์วิจารณ์กรณี ส.ว.มีอำนาจโหวตเลือกนายกฯ เป็นกลไกสืบทอดอำนาจ คสช.นั้น มองว่าไม่มีประเด็นของการสืบทอดอำนาจ และการให้ ส.ว.มีหน้าที่ดังกล่าวในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี คือบทพิสูจน์ว่าเป็นผลดี และเป็นกลไกแก้ปัญหาของบ้านเมืองให้ออกจากวิกฤติ หรือไปในทางที่กลายเป็นเดดล็อกทางการเมืองในระยะเปลี่ยนผ่าน
    "การให้อำนาจ ส.ว.ร่วมโหวตนายกฯ ตามที่คำถามพ่วงเสนอและบัญญัติไว้ในมาตรา 272 นั้น กำหนดหน้าที่ไว้เพียงระยะเวลาสั้นๆ คือ 5 ปีเท่านั้น ซึ่งกรณีดังกล่าวไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ หากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ไม่อยากเป็นอะไรต่อก็ยุติ แต่หากอยากอยู่ยาวและอยู่เพื่อสร้างประโยชน์ให้ประชาชน ผมมองว่าไม่เห็นจะเป็นอะไร" นายวันชัยระบุ
    ส่วนข้อเสนอของพรรคอนาคตใหม่ที่เตรียมจัดเวทีทั่วประเทศเพื่อรวบรวมเสียงในการแก้รัฐธรรมนูญนั้น เป็นการกระทำที่จะสร้างปัญหาการเมืองมากกว่าใช้เวทีของรัฐสภาเพื่อแก้ปัญหาของบ้านเมือง เนื่องจากเข้าข่ายปลุกระดมประชาชน นอกจากนั้นประเด็นที่พรรคอนาคตใหม่นำเสนอ ต้องการสร้างประเด็นทางการเมืองมากกว่า ทั้งนี้ในข้อเท็จจริงของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากจะทำให้เกิดขึ้นได้ต้องได้รับความเห็นชอบร่วมกันจากฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายนิติบัญญัติ คือรัฐสภาร่วมกัน รวมถึงฝ่ายค้านด้วย ทั้งนี้ใน 2 มาตราดังกล่าวไม่ใช่สิ่งที่สร้างปัญหา เพราะมาตรา 279 ว่าด้วยการนิรโทษกรรม คสช. ถูกนิรโทษกรรมตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแล้ว
    ด้านนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ซึ่งได้รับการวางตัวให้เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า พรรคเพื่อไทยพร้อมจะทำหน้าที่พรรคฝ่ายค้านในการตรวจสอบอย่างเข้มข้น และจะผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทางการเมืองและการบริหารประเทศอย่างที่เป็นอยู่ในอนาคตต่อไป
    ร.ท.หญิง สุณิสา ทิวากรดำรง รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ถึงการเมืองจะวิปริตผิดเพี้ยน แต่ประชาชนอย่าเพิ่งหมดศรัทธากับระบอบประชาธิปไตย เพราะความผิดไม่ได้อยู่ที่ประชาธิปไตย แต่อยู่ที่รัฐธรรมนูญถูกออกแบบมาเพื่อวางกลไกสืบทอดอำนาจเผด็จการ ทางแก้คือร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างเพื่อควบคุมกิเลสของนักการเมือง ไม่ใช่แค่แก้ไขเพียงบางมาตรา เพราะแก้ยากและไม่คุ้มค่ากับพลังงานที่จะต้องใช้ในการขับเคลื่อน 
    ทั้งนี้ อย่าเข้าใจผิดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญแค่ 1-2 มาตราแล้วจะง่ายกว่าแก้ทั้งฉบับ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีกลไกป้องกันตัวเองอย่างแน่นหนา ต่อให้เสนอแก้เพียงมาตราเดียวก็ต้องมี ส.ว.อย่างน้อย 84 เสียงยกมือสนับสนุน นอกจากนี้ต้องมีเสียง ส.ส.อีกอย่างน้อย 291 เสียง รวมเป็น 375 เสียง ขึ้นไปยกมือสนับสนุน จึงจะผ่านความเห็นชอบในขั้นรับหลักการได้ แล้วลองนึกภาพตอนสภาโหวตเลือกนายกฯ ดูสิ มี ส.ว.คนไหนกล้าแตกแถวบ้าง แล้วขั้นรับหลักการนี่เพิ่งแค่ด่านแรกเท่านั้น ยังเหลืออีกหลายด่าน แล้วจะเดินถึงเป้าหมายได้อย่างไร
    "การล่ารายชื่อประชาชน 50,000 คน หรือขอลายเซ็น ส.ส. 100 คน เพื่อขอบรรจุญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 1-2 มาตราให้เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมของสภาอาจไม่ใช่เรื่องยาก แต่หลังจากนั้นจะไปแพ้โหวตในขั้นรับหลักการอยู่ดี ไม่มีทางแก้ไขสำเร็จ ยกเว้นจะแก้ในประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อเผด็จการ  ก็อาจมี ส.ว.ยอมยกมือให้ก็เป็นได้ แต่ถ้าไม่รื้อโครงสร้างอำนาจเผด็จการแล้วจะแก้ไขรัฐธรรมนูญไปเพื่ออะไร ประชาชนก็ไม่ได้รับประโยชน์ แล้วกติกาเลือกตั้งก็จะไม่เปลี่ยน ผลเลือกตั้งก็จะวิปริตแบบนี้เหมือนเดิม ดังนั้นจึงต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ อย่าแก้แค่บางมาตรา" รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ระบุ.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"