พรรคร่วมเข้าทำเนียบ พิธีโปรดเกล้าฯนายก11มิ.ย./‘บิ๊กตู่’ชี้ขาดโผครม.


เพิ่มเพื่อน    

  สะพัด! ประยุทธ์ส่งเทียบเชิญพรรคร่วมรัฐบาลมาร่วมพิธีโปรดเกล้าฯ นายกฯ คนที่ 30 “สมคิด-บิ๊ก พปชร.” ยกลุงตู่มีอำนาจตัดสินโผ ครม.ครั้งสุดท้าย จุรินทร์ลั่นตามธรรมเนียมปฏิบัตินายกฯ มีหน้าที่แค่ตรวจสอบคุณสมบัติ ย้ำดีลจบตั้งแต่ทาบทาม “เสี่ยหนู” เดินสายออกทีวีตอบไม่มีตอนต่อไปแน่  “ธนกร” ถูกรุมดีดปาก ธรรมนัสอัดเป็นแค่เด็กอย่าปีนเกลียว “ตี๋เต้” ซวยที่ประชุม 10 พรรคเล็กอบรม  หากยังปากดีมีโอกาสถูกขับพ้นกลุ่ม

เมื่อวันจันทร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  (คสช.) ยังคงปฏิบัติภารกิจที่ทำเนียบรัฐบาลตามปกติ และเก็บตัวทำงานอยู่ที่ห้องทำงาน ตึกไทยคู่ฟ้า  ต่อมาเวลา 15.20 น. นางนราพร จันทร์โอชา ภริยา ได้เดินทางมายังตึกไทยคู่ฟ้าก่อนเดินทางออกไปพร้อม พล.อ.ประยุทธ์ในเวลา 16.17 น.โดยไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆ
    ขณะที่ในช่วงเช้า นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้เดินทางเข้ามายังทำเนียบฯ เพื่อดูสถานที่จัดพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกฯ พร้อมซักซ้อมขั้นตอนต่างๆ ส่วนสำนักโฆษกประจำสำนักนายกฯ ได้แจ้งสื่อมวลชนขอความร่วมมือทำข่าวในวันรับพระบรมราชโองการ โดยขอให้แต่งกายสุภาพตั้งแต่วันที่ 11 มิ.ย.เป็นต้นไปเพื่อเตรียมพร้อม
    มีรายงานว่า ทีมงานนายกฯ ได้ประสานไปยังพรรคการเมืองต่างๆ ที่จะร่วมรัฐบาลให้เดินทางมายังทำเนียบฯ โดยให้มายังที่ตึกภักดีบดินทร์ตั้งแต่เวลา 12.45 น.เป็นต้นไป ของวันที่ 11 มิ.ย.เพื่อร่วมพิธีการสำคัญ โดยขอให้แต่งกายปกติขาว
    ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงการจัดตั้งรัฐบาลที่ยังไม่เรียบร้อยว่าไม่ทราบ ส่วนเรื่องแย่งเก้าอี้จะทำให้ประชาชนเบื่อหน่ายหรือไม่นั้น ถ้าเบื่อก็ว่ากันไปจะให้ทำอย่างไร
    เมื่อถามว่าต้องลงไปดูเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลด้วยตัวเองหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่าไม่ทราบ  เพราะไม่ได้ดำเนินการ และยังไม่ได้คุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ให้ว่ากันไป ส่วนเมื่อไหร่การจัดตั้งรัฐบาลจะลงตัวนั้นก็ไม่ทราบ นายกฯ ไม่ได้ปรึกษาอะไร รวมถึงการแย่งชิงกระทรวงต่างๆ ของพรรคการเมืองนั้น ก็ไม่มองอะไร เพราะไม่รู้ตื้นลึกหนาบาง และคงไม่ต้องไปให้ข้อคิดกับนักการเมือง เพราะเขาก็เป็นผู้ใหญ่กันแล้ว รู้อยู่แล้วทุกเรื่อง
“ยังไม่เกิดขึ้นเลย จะไปพูดอย่างนั้นได้อย่างไร อยากให้ดูหลายๆ โพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งผลก็ออกมาไม่เหมือนกัน” พล.อ.ประวิตรกล่าวตอบเรื่องที่โพลระบุว่ารัฐบาลใหม่จะทำงานไม่ครบเทอม 
    ถามอีกว่าแค่เริ่มต้นก็ยังตีรวนกันเป็นห่วงนายกฯ หรือไม่ พล.อ.ประวิตรตอบว่าปล่อยเขาไป ไม่ต้องห่วง 
    ส่วนนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ กล่าวถึงการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าเป็นบทบาทหน้าที่ของ พล.อ.ประยุทธ์โดยตรง พรรคการเมืองมีหน้าที่เสนอชื่อบุคลากรที่คิดว่าสมควรเข้ามาร่วม ครม.ให้นายกฯ ได้พิจารณา แต่การตัดสินใจทั้งหมดเป็นหน้าที่ของนายกฯ ที่จะดูว่าทิศทางข้างหน้าเป็นอย่างไร เลือกบุคคลที่ดีที่สุดเข้ามาทำงาน โดยนายกฯ คงเรียกและเชิญทุกคนที่เกี่ยวข้องมาดูเรื่องของนโยบายร่วมกันในอนาคตข้างหน้า เพราะประเทศต้องมีการขับเคลื่อน ซึ่งวันนี้ทุกคนต่างพยายามส่งคนดีมาให้นายกฯ เลือกสรร 
    “บรรยากาศการต่อรองเก้าอี้ต่างๆ ผมไม่ทราบ เพราะไม่ได้อ่าน ไม่ได้ดู ผมคิดว่าประเทศไทยกำลังไปสู่จุดที่ดีขึ้นเรื่อยๆ จึงอยากให้สามัคคีกันไว้ รอให้นายกฯ พิจารณาฟอร์ม ครม.ให้ดีที่สุด เชื่อว่าทุกพรรคการเมืองก็มุ่งหวังสิ่งที่ดีให้แก่ประเทศทั้งสิ้น” นายสมคิดกล่าวตอบเรื่องการแย่งโควตารัฐมนตรีที่ดุเดือดในช่วงนี้
    นายสมคิดยังกล่าวถึงการฟอร์ม ครม.อีกว่าอยู่ที่นายกฯ ส่วนตัวคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพียงแต่วันนี้ควรนำคนหนุ่มคนสาวเข้ามาทำงานให้มากขึ้น ส่วนผู้ใหญ่ที่อายุมากๆ แล้วช่วยไปเป็นพี่เลี้ยงให้จะดีกว่า แต่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแต่ละคน คนที่อายุมากก็มีประสบการณ์ดี แต่ต้องดูที่สุขภาพอนามัยด้วย อย่างตนเองอยู่มาสองสมัย 10 ปีพอดี คิดว่ารับใช้บ้านเมืองมาพอสมควรแล้ว ก็ไม่ได้หวงอะไรเลย แต่ถ้าจะอยู่ก็ต้องดูว่าทำประโยชน์ให้บ้านเมืองได้หรือไม่ วันนี้ต้องยอมรับว่าสุขภาพทรุดโทรมลงทุกวัน ตอนนี้ผอมลงมาก ตัวเล็กกว่าภรรยาเสียอีก เดือนหน้าก็จะอายุ 67 ปีแล้ว จึงขอให้นายกฯ  เลือกคนที่ดีที่สุด
    ผู้สื่อข่าวถามว่า มองอย่างไรที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าโควตารัฐมนตรีในส่วนของนายสมคิดทำให้มีปัญหาอยู่ในขณะนี้ นายสมคิดสวนว่า "ฟังไว้เลยนะ เป็นคนที่ไม่มีโควตา มาทำงานแต่ละครั้ง ไม่ได้มารับใช้ใคร แต่มาทำงานให้บ้านเมืองทั้งสิ้น แล้วการที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ครั้งนี้ เพราะมองว่าท่านเป็นคนที่ช่วยดูแลประเทศไทยได้เท่านั้นเอง ทุกคนที่เข้ามาต้องดูแลประเทศชาติทั้งสิ้น นักการเมืองที่เข้ามาก็ต้องทำงานเพื่อบ้านเมือง ถ้ามาแล้วทำงานกันไม่ได้ ประเทศก็ลำบาก ถ้าเราคิดแบบนี้ ทุกคนต่างเป็นเพื่อนกันทั้งสิ้น เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องกัน ดังนั้นเดี๋ยวเขาก็ดีกันเอง ไม่มีปัญหาอะไรหรอก อย่าไปอ่านข่าวกันมากนัก"
    สำหรับกระแสความขัดแย้งในเรื่องแบ่งกระทรวงของพรรคร่วมรัฐบาลนั้น นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า ถือเป็นสีสันในทางการเมืองอยู่ในระดับหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญคือ  เราเห็นร่วมกันว่ามาขับเคลื่อนประเทศด้วยกัน เราเป็นทีมเดียวกันแล้ว ส่วนการเจรจามันมีเป็นปกติ  ส่วนผลจะออกมาเป็นอย่างไรเชื่อว่าเดี๋ยวก็มีข้อยุติ
    เมื่อถามว่าการที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ระบุว่าการเจรจาจบแล้ว ข้อเท็จจริงการเจรจายังไม่จบใช่หรือไม่ นายอุตตมกล่าวว่า เดี๋ยวก็ดูว่าเราพูดคุยกันอย่างไร บางส่วนจบแล้ว บางส่วนจะพูดคุยกันต่อ ไม่เป็นไรเรื่องพวกนี้พูดคุยกันได้ เชื่อว่าในทางการเมืองสุดท้ายก็มีข้อยุติ  พร้อมกับปฏิเสธตอบคำถามว่าการเจรจาในกระทรวงหลักจบแล้วหรือไม่
    “ในความเห็นผมไม่มี ในทางการเมืองก็มีการให้ข่าวกันบ้าง” นายอุตตมกล่าวตอบคำถามที่ว่ามีรอยร้าวเกิดขึ้นระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่
ยก 'ลุงตู่' ชี้ขาดเก้าอี้
    ถามย้ำว่า นายอนุทินระบุว่าได้รับการจัดสรรกระทรวงคมนาคม, การท่องเที่ยวและกีฬา และสาธารณสุข ยังเป็นไปตามนั้นใช่หรือไม่ นายอุตตมกล่าวว่าเดี๋ยวคุยกันต่อไป
    นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรค พปชร.กล่าวถึงเรื่องนี้ว่าอยู่ระหว่างการหารือและน่าจะลงตัวในเร็วๆ นี้ ส่วนขณะนี้ที่ดูเหมือนว่าจะเกิดความสับสนนั้นก็มองว่าเป็นเรื่องธรรมดา เป็นความคิดเห็นที่หลากหลาย อย่าไปมองว่าเป็นความขัดแย้งเพราะไม่มีอะไร ในที่สุดต้องหาข้อยุติเพราะประเทศต้องเดินหน้า อย่าไปมองว่าเรื่องนี้ทำให้รัฐบาลไม่เป็นเอกภาพ เดี๋ยวทุกอย่างก็ลงตัว เชื่อว่าทุกอย่างน่าจะใกล้จบแล้วคงจะเร็วๆ นี้
    ถามว่าแนวโน้มต้องกลับไปยึดดีลเดิมที่เคยตกลงกับพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ นายสุวิทย์กล่าวว่าไม่ทราบเพราะไม่ได้เป็นคนดีล ส่วนที่นายกฯ ยังคงเป็นคนเคาะครั้งสุดท้ายนั้น ก็ต้องให้เกียรติท่านในฐานะที่ท่านเป็นผู้นำของประเทศและผู้นำรัฐบาล น่าจะเป็นคนที่เข้ามามีส่วนในการตัดสินใจด้วย
    นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค พปชร.กล่าววว่า พันธกิจสำคัญของพรรคในการจัดตั้งรัฐบาล คือการนำนโยบายสำคัญๆ ของพรรคที่ได้สัญญาไว้กับประชาชนนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง รวมถึงการสร้างสังคมให้เกิดความสามัคคีปรองดองเพื่อให้ประเทศเดินไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน และในฐานะที่พรรคเป็นแกนนำจำเป็นต้องพิจารณาเพื่อเร่งดำเนินการในเรื่องสำคัญ คือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจโดยเฉพาะเรื่องปากท้องและรายได้ประชาชน การลดความเหลื่อมล้ำ และการสร้างอนาคตและฐานรายได้ใหม่ให้ประเทศ ทั้งนี้เพื่อสนองตอบกับความไว้วางใจและคะแนนเสียงที่พี่น้องประชาชนมอบให้พรรคมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง
    "การจะบริหารงานเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายที่สำคัญของพรรค จำเป็นต้องมีกลไกของรัฐในกระทรวงหลักทางด้านเศรษฐกิจ เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายเกิดความคล่องตัว ประสานสอดคล้องในการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงระบบเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ช่วงการชะลอตัวและเสี่ยงเพิ่มขึ้น" นายสนธิรัตน์กล่าว   
    นายสนธิรัตน์กล่าวอีกว่า ในฐานะพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล พรรคจึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการทำงานอย่างเป็นเอกภาพ และประสานสอดคล้องของกระทรวงหลักด้านเศรษฐกิจเหล่านี้ โดยจะเจรจาหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค เพื่อหาแนวทางร่วมกันให้เป็นรัฐบาลที่เข้มแข็ง บริหารงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชน ซึ่งการเจรจากับพรรคร่วมเรื่องแบ่งกระทรวงนั้น พรรคจะเน้นเรื่องนโยบายหลักของทุกพรรคเป็นสำคัญมากกว่าการจัดแบ่งโควตาตามกระทรวง เพื่อให้เกิดการบริหารงานที่ตรงกับนโยบายและแนวทางรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยคาดว่าจะเจรจาร่วมกันกับทุกพรรคร่วมให้ได้องค์ประกอบที่ลงตัวเป็นที่ยอมรับได้ของทุกฝ่ายโดยเร็ว 
    ส่วนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค ปชป.กล่าวในเรื่องโควตาว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณใดๆ ที่จะเปลี่ยนกระทรวงที่แต่ละพรรครับผิดชอบ ทุกอย่างยังเป็นไปตามที่มีข้อยุติไปแล้ว เห็นแต่จากข่าวซึ่งในข้อเท็จจริงยังไม่เคยมีการประสานงานเปลี่ยนแปลงอะไร
    “ผมไม่ขอใช้คำว่ายืนยันในข้อตกลงเดิม เพราะจะกลายเป็นเหมือนทะเลาะกันหรือขัดแย้งกันไปมา ซึ่งไม่ใช่ แต่บอกได้ว่านับตั้งแต่วันที่ตกลงกันก็ได้ข้อยุติ และไม่มีสัญญาณใดจากแกนนำตั้งรัฐบาลที่จะเปลี่ยนแปลง และไม่ขอพูดล่วงหน้าว่าหากไม่เป็นไปตามข้อตกลงเดิมแล้วพรรคจะทำอย่างไร เพราะเป็นเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น ไม่มีสัญญาณเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยได้ข้อยุติร่วมกัน” นายจุรินทร์กล่าว
    นายจุรินทร์กล่าวถึงกระแสข่าวการเจรจาไม่นิ่ง โดยย้ำว่าการประสานงานเท่าที่ทำมาตั้งแต่ต้นจนถึงขณะนี้ ได้ข้อยุติในนาทีสุดท้ายก่อนพรรคมีมติร่วมรัฐบาล ยังไม่มีการประสานมายังพรรคว่าจะเปลี่ยนแปลง ซึ่งสิ่งที่พูดก็ถือว่าชัดเจนแล้ว และยืนยันว่าพรรคนิ่งแล้ว ไม่ได้ต่อรองอะไรอีก เพราะทุกอย่างยุตินานแล้ว แต่รอขั้นตอนการโปรดเกล้าฯ นายกฯ ซึ่งนายกฯ หรือพรรคแกนนำจะแจ้งว่าต้องการให้ส่งรายชื่อตัวบุคคล เมื่อไหร่อย่างไร จากนั้นพรรคจะมีกระบวนการขั้นตอนตามข้อบังคับต่อไป
นายกฯ ห้ามแก้โผ
    นายจุรินทร์ยังกล่าวถึงกรณีพรรค พปชร.ระบุว่าคนที่เคาะรายชื่อรัฐมนตรีสุดท้ายจะเป็นนายกฯ ว่า ไม่ทราบว่าจะเปลี่ยนแปลงรายชื่อครั้งสุดท้ายตามที่มีกระแสข่าวหรือไม่ แต่ไม่อยากคาดเอาอะไร ซึ่งต้องมองด้วยความเป็นธรรมจากความเป็นจริง เพราะเราเคยเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลมาหลายครั้ง เมื่อพรรคร่วมรัฐบาลส่งรายชื่อมาแล้ว นายกฯ ก็ต้องดูอยู่แล้วว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนหรือไม่ ซึ่งเป็นการตรวจสอบคุณสมบัติถือเป็นงานประจำที่ทำเนียบฯ เมื่อทุกอย่างถูกต้องนายกฯ ก็ต้องนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เป็นขั้นตอนปกติ แม้ไม่เคยเป็นนายกฯ ก็ตาม เพราะเราเคยเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลมาก่อน
    เมื่อถามย้ำว่าตามหลักการในการตั้งรัฐบาล การตรวจสอบของนายกฯ จะอยู่แค่เรื่องคุณสมบัติ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อบุคคลที่แต่ละพรรคเสนอไปหากคุณสมบัติครบถ้วนใช่หรือไม่ หัวหน้าพรรค ปชป.กล่าวว่า เท่าที่เคยปฏิบัติเป็นแบบนั้น 
    นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรค ปชป.แถลงผลการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค ที่มีนายจุรินทร์เป็นประธานว่า ที่ประชุมไม่ได้หารือต่อการวางหลักเกณฑ์หรือกำหนดคุณสมบัติบุคคลที่จะเข้าไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในโควตาของพรรค เนื่องจากต้องรอให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งก่อน แต่ขั้นตอนทำงานของพรรคในการคัดเลือกตัวบุคคลนั้นต้องยึดระเบียบของพรรคเป็นหลัก คือให้กรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) พิจารณาเป็นเบื้องต้น ก่อนจะนำเข้าสู่ที่ประชุมร่วมกันระหว่าง ส.ส.และ กก.บห.เพื่อลงมติเห็นชอบ 
ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ภท.กล่าวในรายการเจาะลึกทั่วไทย ถึงกระแสการจัดสรรโควตาเก้าอี้รัฐมนตรีไม่ลงตัวว่า ได้พูดคุยกันในระดับพรรคเรียบร้อยแล้วจนถึงวินาทีสุดท้าย ยืนยันว่าได้พูดคุยตกลงกันเรียบร้อยแล้ว และก็พอรู้แล้วว่าขั้วรัฐบาลหรือฝ่ายค้านจะเป็นอย่างไร
"เสียงพวกผมมันพวกโตข้างถนน พูดคําไหนคํานั้นแล้วก็จบ ไม่ต้องไปทําสัญญา อย่างอาจารย์อุตตมท่านอาจหนักไปทางวิชาการ อาจจะต้องการสิ่งอะไรที่มันหนักแน่นมากกว่านั้น อย่างพวกผมก็แค่คําเดียว"
    เมื่อถามย้ำว่าตอนนี้ภูมิใจไทยตกลงที่ดีลกระทรวงเดิมใช่หรือไม่ นายอนุทินตอบสั้นๆ ว่า "ครับ ไม่ต้องติดตามตอนต่อไป"
    นายอนุทินยังให้สัมภาษณ์ช่อง 3 ในรายการเที่ยงวันนี้ เรื่องโควตา รมต.ไม่น่ามีปัญหา มันต้องจบแล้ว คนที่อยู่วงรอบไม่เกี่ยว เพราะคุยกับผู้ใหญ่มา คนไม่ได้อยู่ในวงเจรจาสร้างกระแสที่ออกมาคือคนที่กวนน้ำให้ขุ่น ผู้ใหญ่คงรักษาคำพูด
    ทั้งนี้ ความร้อนแรงของโควตารัฐมนตรีเกิดขึ้นในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะกรณีนายธนกร วังบุญคงชนะ รองโฆษกพรรค พปชร.ออกมาระบุถึงเรื่องการแบ่งโควตากระทรวงว่าไม่ใช่ที่จะทำมาหากิน ซึ่งล่าสุดนายธนกรได้โพสต์ภาพคำสอนของหลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร ว่าการยกโทษอาจดูเหมือนเราโง่ เหมือนเราแพ้ เหมือนเรายอม แล้วเขากำเริบ เราเสียเปรียบ ความจริงไม่ใช่ เรากำลังบำเพ็ญบารมีขั้นสูงคือ อภัยทาน อันเป็นทานบารมีอันสูงสุด อภัยทานคือคำสอนของพระพุทธเจ้า นอกจากนี้ยังโพสต์ข้อความพร้อมติดแฮชแท็กด้วยว่า #ไม่ตอบโต้แน่นอนครับ #ไม่ใช่วัยรุ่นคึกคะนองครับ (พูดเองเจ็บเอง) #ประเทศชาติและประชาชนต้องมาก่อนครับ
ด้าน พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ โฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวเรื่องนี้ว่า การจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีเป็นเรื่องผู้ใหญ่ของทั้ง 2 พรรคที่ได้หารือถึงความเหมาะสม ซึ่งในส่วนของพรรค ภท.โดยนายอนุทินมีความชัดเจนมาตั้งแต่ต้น ว่าต้องการเข้าไปบริหารกระทรวงที่เรามีนโยบายช่วยเหลือประชาชน และเราพร้อมเริ่มงานเพื่อประชาชนได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงคมนาคม, สาธารณสุข และการท่องเที่ยวและกีฬา และจากนี้ก็ควรให้ผู้ใหญ่จาก 2 พรรคคุยกันดีกว่า อย่าทำบรรยากาศให้ประชาชนเบื่อหน่าย
    “การออกมาตีกินทางการเมือง โจมตีกันอย่างนี้ถือว่าเสียมารยาททางการเมือง การจะทำงานร่วมกันควรไว้ใจกัน พูดคุยกันโดยตรง ไม่ใช่ออกมาพูดกดดันผ่านหน้าสื่อ การทำแบบนี้เหมือนจ้องเล่นนอกกติกา ชกใต้เข็มขัด เพื่อหวังให้จุกแล้วจะมัดมือชก อย่างนี้เล่นนอกเกมกันเกินไป” โฆษกพรรค ภท.กล่าว
พร้อมดีดปาก 'ธนกร'
    ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.บัญชีรายชื่อและแกนนำพรรค พปชร.กล่าวเช่นกันว่า มารยาททางการเมืองเพราะเราอุตส่าห์ไปเชิญเขามาร่วม เด็กก็ควรอยู่แบบเด็กไม่ควรไปเทียบชั้นหัวหน้าพรรค ดังนั้นเราต้องไปตักเตือนว่าทำอะไรต้องคิด ไม่ใช่จะพูดออกมาอย่างเดียว แต่ก็เชื่อว่าทุกอย่างจะชัดเจน ส่วนเรื่องการจัดตำแหน่งใน ครม.ต้องรอหลังโปรดเกล้าฯ ซึ่งต้องให้นายกฯ เป็นคนจัดการ ทั้งนี้พรรค พปชร.จะหารือกัน แต่ท้ายที่สุดเชื่อว่าต้องมีผู้ใหญ่มาเจรจาเพื่อยุติ เชื่อว่าปัญหาจะจบลงได้เพราะเราอุตส่าห์มีการเลือกตั้งกันมาแล้ว ดังนั้นเชื่อว่าปัญหาทุกอย่างจะแก้ไขได้ ส่วนที่มีข่าวเรื่องการดึงเก้าอี้รัฐมนตรีออกมาอย่างต่อเนื่องนั้น มันเป็นเรื่องผลประโยชน์ของคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เรื่องของมติพรรค พรรคต้องให้ความสำคัญกับผู้ที่เป็น ส.ส. และต้องสร้างกฎเกณฑ์เพื่อให้มีวินัย ไม่ใช่ว่าคิดจะพูดอะไรก็พูด โดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับบ้านเมือง
    “จริงๆ ผู้บริหารของพรรคเราคุยกันอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าบางครั้งเด็กอาจจะไม่มีข้อมูลเพียงพอ กลายเป็นวาทกรรมที่ไปโต้ตอบกับพรรคอื่น ผมเข้าใจว่าผู้ใหญ่ของพรรคคงจะมีการเรียกคุย และคงมีทิศทางเหมือนเลือกประธานสภาฯ รองประธานสภาฯ ก็จบลงด้วยดี” ร.อ.ธรรมนัสกล่าว
    วันเดียวกันมีความเคลื่อนไหวของ 10 พรรคเล็ก โดยในช่วงเช้านายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์  ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ กล่าวว่า การจัดสรรโควตารัฐมนตรีในเบื้องต้นของกลุ่มพรรคเล็กนั้นจะได้ตำแหน่งบริหาร 2 ตำแหน่ง แต่มีการปล่อยข่าวจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีใหม่ โดยในกลุ่มพรรคเล็กจะได้เพียงตำแหน่งกรรมาธิการในคณะต่างๆ เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติของ ส.ส.ทุกคนที่จะมีตำแหน่ง กมธ.อย่างน้อย 1-2 ตำแหน่ง แต่การที่เราไม่ได้ตำแหน่งบริหารในรัฐบาลนั้น ส่งผลให้เราไม่สามารถผลักดันนโยบายที่ให้ไว้กับพี่น้องประชาชนได้ ซึ่งทางนั้นก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับทั้ง 10  พรรคเล็กด้วยเช่นกัน หากบอกให้เราเสียสละ มองว่าแกนนำจัดตั้งรัฐบาลที่รวบรวมคนจากหลายพรรคมารวมกันนั้นต้องเป็นคนเสียสละมากกว่า
    “หากกลุ่มพรรคเล็กมีฝ่ายบริหาร 2 ตำแหน่ง ก็ตั้งตำแหน่งที่ปรึกษา ผู้ช่วยรัฐมนตรี หรือบอร์ดรัฐวิสาหกิจเพื่อขับเคลื่อนโยบายได้ แต่หากไม่มีตำแหน่งก็ไม่มีอะไรชี้ว่าเราเป็น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ผมก็พร้อมเป็นฝ่ายค้านร่วมกับพรรคเพื่อไทยตรวจสอบการทำหน้าที่ของรัฐบาลนี้ และตรวจสอบย้อนหลัง  รวมทั้งพร้อมเปิดเผยข้อมูลเพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์“ นายมงคลกิตติ์ระบุ
    ต่อมาในเวลา 11.30 น. ที่ร้านที.เฮาส์. ถนนวิภาวดี กลุ่ม 10 พรรคการเมืองขนาดเล็กได้นัดรวมตัว  แต่ล่าสุดกลับมาประชุมเพียง 2 พรรค คือ พรรคประชาธรรมไทยและพรรคไทยศรีวิไลย์เท่านั้น และในเวลา 16.00 น.ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลลาดพร้าว กลุ่ม 10 พรรคร่วมกันแถลงข่าว โดย  พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ หัวหน้าพรรคพลังชาติไทย กล่าวว่า กลุ่ม 10 พรรคมีมติร่วมกันยืนยันสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ร่วมจัดตั้งรัฐบาล และทุกพรรคได้เสนอนโยบายทางการเมืองให้ พปชร.ไปร่างเป็นนโยบายของรัฐบาลแล้ว ขณะเดียวกันต้องการให้ประเทศเดินหน้าต่อไปให้ได้ โดยต้องเร่งจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็วที่สุด และตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นดุลพินิจของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสม พร้อมยืนยันว่าทั้ง 10 พรรคยังเกาะกันเหนียวแน่น
    ด้านนายมงคลกิตติ์กล่าวว่า ยืนยันอยู่ในกลุ่ม 10 พรรคยังสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เหมือนเดิม แต่การจัดตั้งรัฐบาลเชื่อว่าต้องใจกว้าง รอบคอบ ส่วนที่พูดออกข่าวไปช่วงเช้าถือเป็นความเห็นส่วนตัว แต่ในช่วงเย็นเป็นมติของ 10 พรรค ซึ่งการพิจารณาตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นดุลยพินิจของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็นคนฉลาดปราดเปรื่อง ไม่เคยลืมท่านนายกฯ หวังว่านายกฯ จะไม่ลืมตนเอง เพราะดูแลนายกฯ มาตั้งแต่ปี 2557 ช่วงที่มีการชุมนุม 
สั่ง 'ตี๋เต้' ห้ามปากพล่อย
    นายธรรมนัสที่มาเข้าร่วมประชุม 10 พรรคด้วยกล่าวว่า รู้จักหัวหน้าพรรคเกือบทุกพรรคในที่นี้มานานพอสมควร ทั้งนี้เป็นความรับผิดชอบที่ประสานงาน ซึ่งสัดส่วนตำแหน่งของพรรคเล็กนั้นเชื่อว่าภายหลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พล.อ.ประยุทธ์จะเรียกทุกพรรคการเมืองหารือเพื่อหาทางออก  แต่ตอนนี้ขอให้หยุดสร้างวาทกรรมทางการเมืองเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้  
“ยืนยันว่าไม่ได้มาร่วมประชุมกับ 10 พรรคตั้งแต่แรก แต่มาให้กำลังใจและมาร่วมรับฟังเท่านั้น  ส่วนของนายมงคลกิตติ์นั้น ผมเห็นว่า ส.ส.หน้าใหม่คนนี้อนาคตจะเป็นดาวสภาและมีอนาคตไกล” ร.อ.ธรรมนัสกล่าว
มีรายงานว่าหลังหารือเกือบ 1 ชั่วโมง นายธรรมนัสได้เข้ามาร่วมประชุมด้วย โดยบางช่วงของการพูดคุยได้ตักเตือนนายมงคลกิตติ์ให้ระมัดระวังการเเสดงความเห็น และท่าทีการต่อรองเก้าอี้ ซึ่งนายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ หัวหน้าพรรคพลเมืองไทยยังยื่นคำขาดในที่ประชุมว่า หากนายมงคลกิตติ์ยังล้ำเส้น ก็อาจจะทบทวนร่วมกันว่าจะมีนายมงคลกิตติ์อยู่ร่วมในกลุ่ม 10 ต่อไปหรือไม่
    ส่วนนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย (พท.) ว่าที่ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน กล่าวถึงการต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ว่า การจัดตั้ง ครม.ครั้งนี้อยู่ภายใต้เงื่อนไขผิดปกติ แต่พรรคก็ขอให้ฝ่ายที่จะจัดตั้งรัฐบาลเจรจาผลประโยชน์ทางการเมืองให้จบโดยเร็ว และจัดตั้งได้สำเร็จ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ พรรคพร้อมทำหน้าที่พรรคฝ่ายค้านในการตรวจสอบอย่างเข้มข้น โดยพรรคจะผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทางการเมืองและการบริหารประเทศอย่างที่เป็นอยู่ในอนาคตต่อไป
    นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรค พท.กล่าวถึงการจัดตั้งรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าไม่สนใจว่าพรรคไหนได้อะไร เชิญตามสบาย สิ่งที่พรรคจะเดินหน้าคือ เตรียมข้อมูลตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนหรือไม่ ทุกพรรคที่สัญญากับชาวบ้านตอนหาเสียง พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วม 7 พรรคจะทวงถามในสภา หากทำไม่ได้ตามที่พูดอาจยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ ขอให้รีบตั้งรัฐบาลโดยเร็ว อย่ามัวโอ้เอ้กับเรื่องไม่เป็นเรื่อง เสียเวลาทำงานให้ชาติบ้านเมืองเปล่าๆ 
“เรื่องการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเราทำแน่นอน เพราะว่าช่วงนี้ประชาชนเห็นได้ชัดเจนแล้วว่า ต้นตอหนึ่งของปัญหาคือ รัฐธรรมนูญที่วางแผนร่างไว้เพื่อสืบทอดอำนาจต่อไป เพราะภายใน 5 ปีนี้จะเลือกตั้งอีกกี่ครั้ง คนพวกหนึ่ง 250 คนที่ไม่ได้มาจากประชาชนก็กำหนดคนมาเป็นนายกฯ ได้ และยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องแก้” นายสมคิดระบุ
    ร.ท.หญิง สุณิสา ทิวากรดำรง รองโฆษกพรรค พท.กล่าวว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดูหมดสภาพเละเทะซะแล้วตั้งแต่ยังไม่เริ่มตั้งไข่ เพราะเปิดศึกแย่งเก้าอี้รัฐมนตรีกันอย่างดุเดือด เห็นแล้วนึกถึงการแย่งแผงขายของในตลาดสด แต่ละคนชูนโยบายบังหน้าเพื่ออ้างความชอบธรรมในการแย่งกระทรวงเกรดเอไปบริหาร แสดงความรักชาติกันจนน้ำลายไหล.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"