คำไว้อาลัยป๋าเปรมของหลี่เสียนหลง กับดราม่าจากเวียดนามและเขมร


เพิ่มเพื่อน    

               คำว่า “รุกราน” (invasion) กับคำว่า “ปลดปล่อย” (liberation) มีความหมายกันคนละขั้ว

                แม้ว่าจะเป็นเหตุการณ์เดียวกัน แต่ก็สามารถตีความไปคนละทาง

                จนกลายเป็นกรณีพิพาทย้อนหลังของหลายประเทศ

                และอาจถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นเหตุวิวาทะในปัจจุบันก็ได้

                เช่น กรณีเวียดนามแสดงความไม่สบอารมณ์ต่อคำไว้อาลัยของนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ที่เขียนรำลึกถึง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

                ในคำไว้อาลัยนั้นหลี่เสียนหลงแสดงความชื่นชม พล.อ.เปรม ที่มีบทบาทในการร่วมมือกันของอาเซียน เพื่อต่อต้านที่เวียดนาม “บุก” กัมพูชา

                ผู้นำสิงคโปร์ใช้คำว่า “invasion” ซึ่งแปลว่า “รุกราน” ขณะที่เวียดนามยืนยันว่าการตัดสินใจส่งทหารเข้ากัมพูชาขณะนั้นเป็นการเข้าไปช่วยคนกัมพูชาและชาวเวียดนามในประเทศนั้น

                เวียดนามเรียกมันว่า liberation หรือการ “ปลดปล่อย” คนเขมรจากความโหดเหี้ยมทารุณของเขมรแดงในวันนั้น

                โฆษกกระทรวงต่างประเทศเวียดนามแถลงว่า ถ้อยคำของนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ที่เขียนไว้อาลัยพลเอกเปรมมีข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับบทบาทของเวียดนามในช่วงเขมรแดงที่ “ผิดพลาด”

                หลี่เสียนหลงโพสต์ข้อความนั้นขึ้น Facebook เมื่อวันที่ 31 พ.ค. เท้าความว่า พล.อ.เปรมเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงที่สมาชิกอาเซียน 5 ประเทศมารวมตัวกันเพื่อ “ต่อต้านที่เวียดนามบุกรุกกัมพูชาและรัฐบาลกัมพูชาที่มาแทนที่เขมรแดง”

                หลี่เสียนหลงระบุว่า “ไทยเป็นทัพหน้าในการต้านทานกองทัพเวียดนามที่ข้ามพรมแดนเข้าไปในกัมพูชา”

                ข้อความของผู้นำสิงคโปร์บอกด้วยว่า พล.อ.เปรมมีความกล้าหาญที่จะปฏิเสธการรุกรานนี้ และได้ร่วมมือกับเพื่อนสมาชิกอาเซียนในเวทีนานาชาติ จึงสามารถป้องกันไม่ให้การรุกรานและยึดอำนาจของเวียดนามกลายเป็นการกระทำที่ชอบธรรม”

                ประโยคนี้แหละที่ทำให้ฮานอยหงุดหงิดเป็นยิ่งนัก

                โฆษกกระทรวงต่างประเทศของเวียดนามบอกว่า เวียดนามรู้สึกเสียใจกับแถลงการณ์ดังกล่าวของหลี่เสียนหลง “ที่ไม่สะท้อนประวัติศาสตร์ออกมาอย่างรอบด้าน ทำให้สาธารณชนมีความเห็นเชิงลบต่อเวียดนาม”

                ว่าแล้วแถลงการณ์เวียดนามก็บอกว่ากระทรวงต่างประเทศจะเชิญผู้แทนรัฐบาลสิงคโปร์มา”ปรึกษา” ในประเด็นนี้

                คำว่า “ปรึกษา” ในภาษาการทูตระหว่างประเทศแปลว่า “ประท้วง” ครับ

                แต่ละประเทศย่อมเขียนประวัติศาสตร์จากมุมมองของตนเองเป็นธรรมดา

                เวอร์ชั่นประวัติศาสตร์ช่วงนี้สำหรับเวียดนามบอกว่า “เวียดนามสนับสนุนและอุทิศตนในการช่วยเหลือชาวกัมพูชาในการยุติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของรัฐบาลเขมรแดง ซึ่งเป็นการกระทำที่จริงใจและเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง”

                โฆษกเวียดนามบอกว่า ศาลพิเศษเพื่อพิจารณาคดีเขมรแดงของกัมพูชา หรือ ECCC ก็ตัดสินแล้วว่า ผู้นำเขมรแดงมีความผิดในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

                แถลงการณ์ของฮานอยบอกว่า ในฐานะสมาชิกอาเซียน เวียดนามจะทำงานร่วมกับเพื่อนสมาชิก เพื่อสร้างชุมชนที่เข้มแข็งและมีบทบาทสำคัญในภูมิภาคต่อไป

                อีกด้านหนึ่ง นายกฯ ฮุน เซน ของกัมพูชา ก็ออกมาต่อว่าต่อขานนายกฯ สิงคโปร์อย่างไม่เกรงอกเกรงใจเช่นกัน

                ฮุน เซน บอกว่าที่หลี่เสียนหลงเขียนข้อความอย่างนั้น แปลว่าสิงคโปร์เห็นด้วยกับการ  “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของเขมรแดง” กระนั้นหรือ

                เตีย บันห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของกัมพูชา ถึงกับเรียกร้องให้หลี่เสียนหลงแก้ไขคำแถลงการณ์ไว้อาลัย พล.อ.เปรม เพราะข้อความนั้น “ไม่เป็นความจริงและไม่สะท้อนถึงประวัติศาสตร์ที่แท้จริง”

                รัฐมนตรีกลาโหมเขมรบอกว่า กัมพูชาไม่อาจยอมรับสิ่งที่หลี่เสียนหลงกล่าวได้

                กัมพูชาได้ชี้แจงไปแล้วว่า “กองทัพเวียดนามอาสาเข้าไปปลดปล่อยประชาชนชาวเวียดนาม”

                ฮุน มณี สมาชิกพรรครัฐบาลกัมพูชา ออกมาเสริมว่า เวียดนามช่วยกัมพูชาต่อสู้กับเขมรแดง และกัมพูชาต้องการความช่วยเหลือของเวียดนามในการช่วยชีวิตประชาชนชาวกัมพูชาจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของเขมรแดง

                ประวัติศาสตร์สากลบันทึกไว้ว่า ช่วงปี ค.ศ.1975-1979 ที่รัฐบาลเขมรแดงปกครองกัมพูชาเป็นจังหวะเวลาที่ได้รับการเรียกขานว่าเป็น “ระบอบการปกครองที่กดขี่และนองเลือดที่สุดในศตวรรษที่ 20”

                ข้อสรุปของนักประวัติศาสตร์หลายสำนักประมาณว่า จากมาตรการสุดขั้วของกลุ่มเขมรแดงนั้น ประชาชนในกัมพูชาตายไปไม่น้อยกว่า 1.7 ล้านคน ซึ่งเท่ากับร้อยละ 25 ของประชากรทั่วประเทศทีเดียว

                ไม่ว่าจะเสียชีวิตเพราะโดนประหารชีวิต หรือเพราะความอดอยากหิวโหย หรือป่วยตายจากการขาดแคลนแพทย์และยารักษาโรค

                นอกจากคนเขมรเองแล้ว คนที่ตายในช่วงนั้นก็ยังมีคนจากประเทศอื่น เช่น ชาวจีน ชาวจาม และคนเชื้อสายเวียดนามอีกจำนวนมาก

                บันทึกประวัติศาสตร์ช่วงนั้นที่โยงถึงไทยในหลายๆ ด้าน มีรายละเอียดที่เหมือนและแตกต่างไปจากของเวียดนามและสิงคโปร์อยู่บ้าง

                ปีนี้ไทยเป็นประธานอาเซียน อาจจะต้องเชิญพันธมิตรสิงคโปร์, เวียดนามและกัมพูชามาจิบกาแฟแถวชายแดนกันหน่อยแล้วกระมัง!. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"