เปิดตัวมาเกือบ 10 เดือนเต็มแล้ว สำหรับ “โครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน” เมื่อวันที่ 1 มี.ค.2560 โดยโครงการนี้ “กระทรวงการคลัง” ในฐานะแม่งานวางเป้าหมายว่า จะช่วยแก้ปัญหาได้ทั้งในส่วนของลูกหนี้และเจ้าหนี้ควบคู่กันไปอย่างเป็นระบบ ครบวงจร และต่อเนื่อง ภายใต้ 5 มิติ ได้แก่ 1.การดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย โดยได้มีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ห้ามเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 ซึ่งเพิ่มโทษกับเจ้าหนี้นอกระบบ เพื่อกำจัดส่วนนี้ให้หมดไปจากประเทศไทย
2.การเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อในระบบให้กับลูกหนี้นอกระบบและประชาชนทั่วไป ผ่านโครงการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ และพิโกไฟแนนซ์ ขณะที่ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้จัดตั้งหน่วยธุรกิจเพื่อให้คำปรึกษาเรื่องการแก้ไขหนี้นอกระบบ การจัดสินเชื่อให้แก่ผู้ที่ต้องการกู้เงินฉุกเฉินเพื่อทดแทนหนี้นอกระบบ
3.การลดภาระหนี้นอกระบบ โดยการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ 4.การเพิ่มศักยภาพของลูกหนี้นอกระบบ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้ความรู้ทางการเงิน ให้ความรู้ด้านการประกอบอาชีพ และพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อให้ลูกหนี้นอกระบบมีรายได้ที่เพียงพอและไม่ต้องเป็นหนี้ซ้ำอีก และ 5.การร่วมมือกันอย่างบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โดย “กระทรวงการคลัง” ตั้งเป้าหมายว่า โครงการนี้จะช่วยขจัดหนี้นอกระบบให้เป็นศูนย์ได้ เพราะโครงการนี้เป็นการแก้ปัญหาอย่างบูรณาการและเป็นระบบ มีการวางแผน และแนวทางในการแก้ปัญหาทุกส่วน
“การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบครั้งนี้แตกต่างจากอดีตที่ผ่านมา โดยเฉพาะการทำงานของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ซึ่งอดีตเป็นเหมือนงานรอง แต่ในครั้งนี้จะให้ความสนใจมากขึ้น เพราะถือเป็นภารกิจหลัก”
ที่ผ่านมา กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้เดินหน้าโครงการ “พิโกไฟแนนซ์” ที่ดึงเจ้าหนี้นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลล่าสุดเมื่อ พ.ย.ที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการขอประกอบธุรกิจพิโกไฟแนนซ์ ตั้งแต่ ธ.ค.2559 ถึงสิ้นเดือน ต.ค.2560 มีนิติบุคคลยื่นคำขออนุญาต 384 ราย ใน 63 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตมากที่สุด ได้แก่ นครราชสีมา 41 ราย กรุงเทพมหานคร 32 ราย และร้อยเอ็ด 27 ราย
โดยในส่วนนี้มีผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจแล้ว 176 รายใน 50 จังหวัด ซึ่งในจำนวนนี้ได้เปิดดำเนินการแล้ว 95 รายใน 40 จังหวัด และมีผู้ปล่อยสินเชื่อแล้ว 74 รายใน 36 จังหวัด โดยผู้ประกอบธุรกิจสามารถปล่อยสินเชื่อได้รายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 36% ต่อปี
โดยที่ผ่านมามีสินเชื่ออนุมัติสะสม 2.92 พันบัญชี เป็นเงิน 92 ล้านบาท หรือคิดเป็นวงเงินสินเชื่ออนุมัติเฉลี่ย 3.14 หมื่นบาทต่อบัญชี
ส่วน 2 สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ อย่าง “ออมสินและ ธ.ก.ส.” ก็เดินหน้าปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า ณ สิ้นเดือน พ.ย.2560 มีการอนุมัติสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายกรณีฉุกเฉินรวม 1.8 แสนราย เป็นเงิน 8.13 พันล้านบาท คิดเป็น 81.31% ของวงเงินโครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยแบ่งเป็นสินเชื่อที่อนุมัติแก่ประชาชนทั่วไป 1.69 แสนราย เป็นเงิน 7.62 พันล้านบาท และสินเชื่อที่อนุมัติแก่ผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 จำนวน 1.15 หมื่นราย เป็นเงิน 510 ล้านบาท
ขณะที่เรื่อง “เจ้าหนี้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมาย” นั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้กวดขันจับกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบ และผู้ติดตามทวงถามหนี้โดยวิธีผิดกฎหมาย ซึ่งผลการดำเนินงานสะสมของปีงบประมาณ 2560 (สิ้น ต.ค.ที่ผ่านมา) มีการจับกุมผู้กระทำผิด 1.57 พันราย
โครงการนี้ถูกขับเคลื่อนอย่างจริงจัง และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็พอใจกับการแก้ปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบเพราะมีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก จนเรียกได้ว่านี่เป็นความสำเร็จครั้งสำคัญในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของไทย.
ครองขวัญ รอดหมวน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |