เป็นไปตามความคาดหมายของชาวบ้านชาวเมืองที่มีมานานแล้วนับแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้เมื่อ 6 เมษายน 2560 ว่าการออกแบบบทเฉพาะกาลให้ คสช.ทำหน้าที่สรรหา ส.ว. 250 คน และมีสิทธิ์โหวตนายกฯ ก็เพื่อเป็นบันไดให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.กลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัย
ในที่สุดความจริงก็ปรากฏต่อหน้าคนไทยและชาวโลกเมื่อคืนวันที่ 5 มิถุนายน 2562
หาก นายพรเพชร วิชิตชลชัย ไม่งดออกเสียงด้วยถูกตำแหน่งรองประธานวุฒิสภาในฐานะรองประธานรัฐสภาค้ำคอ คะแนนเสียงของ ส.ว.ที่โหวตเลือก พล.อ.ประยุทธ์จะต้องเต็ม 250 อย่างมิต้องสงสัย
เมื่อขาดไป 1 คะแนน บิ๊กตู่จึงได้คะแนนจาก ส.ว. 249 คะแนน
ไปรวมกับคะแนนที่ได้จาก ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคเล็กพรรคน้อยอีก 251 คะแนน ไม่มี ส.ว.แม้แต่คนเดียวที่จะงดออกเสียงหรือโหวตให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
นี่คือคะแนนที่เลือกบิ๊กตู่เป็นนายกฯ รวมเบ็ดเสร็จ 500 คะแนน
ข้อน่าพิจารณาก็คือ ส.ว.สรรหา 250 คน เกิดจากการคัดเลือกของลุงตู่และ คสช.ย่อมจะต้องอุทิศตนเพื่อค้ำบัลลังก์ให้ลุงตู่สืบทอดอำนาจในตำแหน่งนายกฯ ต่อไปอีก 5 ปี
ประการต่อมา คะแนน ส.ส. 251 เสียงที่เลือกลุงตู่ เกินกึ่งหนึ่งของ ส.ส.ทั้งหมดมาแค่ 1 แต้มเท่านั้น
ส่วน 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ 244 เสียง เป็นจำนวนที่ห่างจากฝ่ายรัฐบาลไม่ถึง 10 แต้ม ถือว่าสูสีกันมาก
เมื่อมีการประชุมสภาผู้แทนฯ ทุกวันพุธ-พฤหัสบดี เพื่อมิให้ฝ่ายรัฐบาลแพ้โหวตฝ่ายค้าน หรือสภาไม่ครบองค์ประชุมกรณีฝ่ายค้านวอล์กเอาต์หรือแกล้งไม่เข้าประชุม รองประธานคนที่ 1 และคนที่ 2 จะต้องลงจากบัลลังก์มาในที่ประชุมเพื่อช่วยโหวตสนับสนุนฝ่ายรัฐบาล
นอกจากนี้ ส.ส.บัญชีรายชื่อจากพรรคร่วมรัฐบาลเมื่อไปเป็นรองนายกฯ หรือรัฐมนตรีก็คงจะลาออกจาก ส.ส. แล้วเลื่อนอันดับถัดไปขึ้นมาแทนเพื่อจะได้มาเข้าประชุมสภาฯ และใช้สิทธิ์โหวตช่วยรัฐบาล
ขณะเดียวกัน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลที่ประชุมกรรมาธิการตามห้องต่างๆ ก็จะต้องวิ่งกระหืดกระหอบมาเข้าห้องประชุมสภาฯ ให้ทันเพื่อจะโหวตให้ฝ่ายรัฐบาลชนะฝ่ายค้าน การแพ้โหวตของรัฐบาลย่อมกระทบกระเทือนต่อเสถียรภาพรัฐบาล ซึ่งเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
นอกจากนี้ยังมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกันอันจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาลบิ๊กตู่ หรือไม่ก็คือการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีให้กับพรรคร่วมรัฐบาล
ปัจจัยที่ 1พรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นพรรคแกนหลัก มีหลายมุ้ง ผสมปนเปกันอยู่ในพรรค มุ้งสามมิตรดูจะเป็นมุ้งที่พยายามสร้างบทบาทและแสดงตัวตนว่าต้องการยึดครองกระทรวงเกษตรฯ ไว้กับตนเอง
ขณะเดียวกัน ผู้นำพรรค 4 คน ประกอบด้วย นายอุตตม สาวนายน นายสนธิรัตน์ สน ธิจิรวงศ์ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล มีเป้าหมายสำคัญคือ จะกลับไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และสนับสนุนนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ แต่จุดอ่อนคือไม่ได้เป็น ส.ส.
ปัจจัยที่ 2 พรรค ปชป.และพรรคภูมิใจไทย มี ส.ส.รวมกัน 104 คน มีมติสนับสนุน บิ๊กตู่เป็นนายกฯ ทั้ง 2 พรรคจับมือไปไหนไปด้วยกัน โดยถือเอาข้อตกลงแรกที่เคยดีลกันไว้และได้รับการตอบรับมาแต่ต้น
ที่สำคัญคือ พรรค ปชป.ขอคุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงพาณิชย์และกระทวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย
พรรคภูมิใจไทย ขอคุมกระทรวงคมนาคม, กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
แต่เมื่อ ปชป. ซึ่งมี ส.ส. 53 คน ได้คะแนนเสียงจากพรรคพลังประชารัฐ 116 เสียง และพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ แถมงูเห่าอีกจำนวนหนึ่ง ส่งผลให้นายชวน หลีกภัย ขึ้นแท่นเป็นประธานสภาฯ และเป็นประธานรัฐสภา มีสถานะเป็นประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติ
ทางพรรคพลังประชารัฐก็ถือว่าพรรค ปชป.ได้ไปมากแล้ว การแบ่งเก้าอี้ก็ควรจะคลายกระทรวงหลักๆ ลงบ้าง จึงเป็นที่มาของข่าวที่ว่า แกนนำกลุ่มสามมิตรและ ส.ส.ในพรรคพลังประชารัฐจะให้บิ๊กตู่ซึ่งได้รับเลือกเป็นนายกฯ ได้พิจารณา ถ้าให้พรรคอื่น จะทำให้นโยบายของพรรคพลังประชารัฐไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้จริง และการเลือกตั้งครั้งต่อไป พรรคจะไม่มีที่ยืน
ซึ่งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค ปชป. ได้ให้สัมภาษณ์ทำนองว่า จะไม่ยอมให้กระทรวงเกษตรฯ กับพรรคพลังประชารัฐ
การล้มดีลเงื่อนไขต่างๆ อาจเกิดปัญหาความขัดแย้ง แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าสุดท้ายก็แบ่งสรรปันส่วนผสมเก้าอี้รัฐมนตรีและอื่นๆ ได้ลงตัว
สิ่งที่จะเป็นแรงสะเทือนน่าจะอยู่ที่พรรค ปชป.ว่า การจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีจะมอบให้ใคร เพราะคนที่โหวตลับในพรรค 61 คน หนุนบิ๊กตู่คงจะมีหลายคนอยากได้ตำแหน่งรัฐมนตรี
เช่นเดียวกับในพรรคพลังประชารัฐก็หนีไม่พ้นที่จะถกเถียงกันว่า ใครสมควรจะนั่งเก้าอี้เสนาบดี
รวมไปถึงการจัดทำนโยบายรัฐบาล ที่แต่ละพรรคต้องการผลักดันในเรื่องที่เคยหาเสียงไว้ จะสามารถผสมผสานกันได้มากน้อยแค่ไหน จะใช้เงินเท่าไร หาเงินจากไหน ใช้เวลานานเท่าไร
หากรัฐบาลไร้เสถียรภาพ อายุสั้นอยู่ได้แค่ 3 เดือน หรือ 6 เดือน นโยบายไม่สัมฤทธิผล การเข้าร่วมเป็นรัฐบาลของพรรคต่างๆ ย่อมกลายเป็น “ทุกขลาภ” ถึงตอนหาเสียงเลือก ตั้งจะแก้ตัวกับชาวบ้านว่าอย่างไร
โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรค ปชป.ที่หวังจะฟื้นฟูพรรค ถึงตอนนั้นอาจทรุดไปมากกว่าเมื่อการเลือกตั้งที่ผ่านมาก็เป็นได้
ดังนั้นสิ่งที่จะเป็นตัวแปรและก่อแรงกระเพื่อมต่อการเป็นรัฐบาล “ประยุทธ์ 2” ในห้วงสถานการณ์ “เผด็จการประชาธิปไตย” นับจากนี้ไปก็คือ
ปัญหาคุณสมบัติของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยเฉพาะประเด็นหัวหน้า คสช.เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐจะได้ข้อยุติอย่างไร, ปัญหาการกระทำผิดต่อรัฐธรรมนูญของ พล.อ.ประยุทธ์ว่าด้วยกระบวนการสรรหา ส.ว. ฯลฯ
ปัญหาการถูกตรวจสอบเรื่องลักษณะต้องห้ามของ ส.ส.และ ส.ว.กรณีปมถือหุ้นสื่อที่อาจทำให้หลายคนต้องพ้นสภาพการเป็น ส.ส.และ ส.ว.ถ้าฝ่ายรัฐบาลมี ส.ส.น้อยกว่าฝ่ายค้าน ก็เป็นเรื่องใหญ่ ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือไปถึง กกต. ป.ป.ช. ผู้ตรวจการแผ่นดิน ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น
คณะรัฐมนตรีเข้าบริหารประเทศใหม่ๆ จะเป็นช่วงเวลาที่เรียกกันว่า “ฮันนีมูน พีเรียด” แต่สำหรับ “ประยุทธ์ 2” ซึ่งโดนถล่มจนสะบักสะบอมในรัฐสภาวันโหวตให้เป็นนายกฯ ราวกับถูกซักฟอก นับจากนี้ไปจะตกเป็นเป้าให้ถูกกระหน่ำแบบไม่ยั้งมือทั้งในสภาฯ และนอกสภาฯ จนทำให้ไม่มีสมาธิในการบริหารราชการแผ่นดินและสร้างผลงานไม่ได้ในเวลาสั้นๆ
รัฐบาลผสมเสียงปริ่มน้ำ “ประยุทธ์ 2” มีบาดแผลฉกรรจ์เต็มร่างกายจากปัญหาในช่วงการปกครองของ คสช.มา 5 ปีเศษ จะตะเกียกตะกายไปขึ้นฝั่งให้ได้ เป็นโจทย์หินที่น่าตื่นเต้น ระทึกใจยิ่งนัก
ทีมข่าวการเมือง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |