‘อภิสิทธิ์’ปัดข่าวตั้งพรรคใหม่


เพิ่มเพื่อน    

 อดีต นศ.รามคืนโล่-เงินรางวัล พร้อมมอบคำขวัญใหม่ "73 ปีประชาธิปัตย์ กัดกร่อนประชาธิปไตย ทรยศประชาชน" อภิสิทธิ์ปัดข่าวตั้งพรรคใหม่ ยันอยู่เฉยๆ "ชวน" เล็งจัดอบรม ส.ส.ยกระดับภาพลักษณ์ผู้แทนราษฎร

    ที่พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน นายวรา จันทร์มณี อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง นำโล่เกียรติยศรางวัลที่ 1 ประกวดคำขวัญฉลอง 50 ปีประชาธิปัตย์เมื่อปี 2538 พร้อมเงินรางวัล 5,000 บาท มาวางคืนหน้าลานพระแม่ธรณีบีบมวยผม หลังจากพรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ และสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมมอบคำขวัญให้ใหม่ว่า "73 ปีประชาธิปัตย์ กัดกร่อนประชาธิปไตย ทรยศประชาชน"
    "รู้สึกเสียใจที่ต้องกลับมาพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้ง หลังจากที่วันก่อนได้มาขอให้พรรครักษาคำมั่นสัญญาต่อประชาชน กรณีจะไม่สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อสืบทอดอำนาจ คสช. บัดนี้พรรคประชาธิปัตย์ได้ตระบัดสัตย์ต่อประชาชนโดยสมบูรณ์แล้ว ผมจึงต้องรักษาคำพูดด้วยการนำโล่รางวัลชนะเลิศการประกวดคำขวัญ 50 ปี พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อ พ.ศ.2538 ที่ว่า “50 ปีประชาธิปัตย์ พัฒนาประชาธิปไตย รับใช้ประชาชน” มาคืนพร้อมเงินรางวัล 5,000 บาท" นายวราระบุ
    นายวรากล่าวว่า เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ไม่ปฏิบัติตามสัญญาประชาคม ละทิ้งอุดมการณ์ โล่รางวัลที่เป็นสัญลักษณ์แห่งอุดมการณ์ก็ไร้ความหมาย หากเปรียบอุดมการณ์ดั่งรัฐธรรมนูญ วาทกรรมที่พยายามประดิษฐ์ขึ้นเพื่ออธิบายบทละครเป็นเพียงแค่กฎหมายลูก กฎหมายลูกจะมาล้มล้างรัฐธรรมนูญมิได้ นี่เป็นการเปรียบเปรยที่อาจจะไม่ตรงนัก ความจริงแท้ๆ ตรงๆ คือพรรคประชาธิปัตย์ไม่รักษาพันธสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน ละทิ้งอุดมการณ์ พัฒนาประชาธิปไตย รับใช้ประชาชน 
    มากกว่านั้นยังไม่คำนึงถึงอุดมการณ์ข้อ 2, 3, 4 ที่เขียนไว้ครั้งก่อตั้งพรรคเมื่อปี 2489 ว่า พรรคจะดำเนินการเมืองด้วยความซื่อสัตย์สุจริตต่อประชาชน โดยอาศัยหลักกฎหมายและเหตุผลเพื่อความศักดิ์สิทธิ์แห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นเยี่ยงอย่างแก่อนุชนรุ่นหลัง จะไม่สนับสนุนระบบและวิธีแห่งเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นระบบและวิธีการของรัฐบาลใดๆ การที่ผมมาในวันนี้ มิได้มาด้วยความเกลียดชังพรรคประชาธิปัตย์ แต่มาในฐานะพลเมืองที่ต้องมีส่วนร่วมทางการเมือง มีสิทธิ์ท้วงติงให้พรรคการเมืองมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อประชาชน มิใช่เอาแต่ตักตวงช่วงชิง ต่อรองผลประโยชน์ ประดิษฐ์วาทกรรมอำพรางเพื่อฉกฉวยโอกาสเข้าสู่วงจรแห่งอำนาจ พรรคการเมืองควรที่จะมุ่งมั่นทุ่มเทกายใจแก้ปัญหาบ้านเมือง เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของราษฎร
    ทั้งนี้ ประชาชนต้องการนักการเมืองที่มีคุณภาพ มีมโนธรรมสำนึกและหิริโอตตัปปะ มากกว่าพวกกำมะลอเล่นแร่แปรธาตุขายวิญญาณ เป็นทากเหลือบแร้งกาคอยสูบจิกรุมทึ้งบ้านเมือง ลักษณาการของสังคมไทยวันนี้ หนักหนากว่าที่จะเอาศรีธนญชัยมาเปรียบ บ้านเมืองเราเข้าสู่ยุคแหวนแม่นาฬิกาเพื่อน สะกดคำว่าละอายไม่เป็น ชนชั้นนำทำอะไรก็ได้ที่จะฉกฉวยเอื้อประโยชน์ เฉไฉโกหกบิดเบือนชนิดด้านได้อายอด ตลอด 5 ปีที่เผด็จการครองอำนาจ ประชาชนทุกทั่วหัวระแหงลำบากยากเข็ญ รัฐบาล คสช. ที่ไม่มีธรรมาภิบาลได้ทำให้ประเทศย่อยยับ มีการเอื้อประโยชน์และทุจริตจำนวนมหาศาล ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ย่อมรู้อยู่แก่ใจดี 
    อย่างไรก็ตาม ขอขอบคุณการแสดงความรับผิดชอบส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค และคนอื่นๆ แม้ว่านายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค ที่เคยประกาศต่อประชาชนเช่นกันว่าจะไม่สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี จะเพิกเฉยไม่รู้ร้อนรู้หนาวแต่อย่างใด สิ่งสำคัญกว่าการอ้างมติพรรคเพื่อสร้างความชอบธรรมที่จะตระบัดสัตย์เพื่อชาติ คือการรักษาพันธสัญญาที่มีต่อประชาชน พรรคประชาธิปัตย์ควรรักประชาชนมากกว่ารักตนเอง พรรคประชาธิปัตย์ไม่ควรละเลย ดูถูกเหยียดหยามความรู้สึก ไม่ให้เกียรติประชาชน     
    สำหรับประชาชนในที่นี้ มิได้หมายความแต่ผู้ที่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ แต่หมายถึงประชาชนคนไทยทั้งประเทศที่รับรู้ว่าพรรคประชาธิปัตย์พูดไว้เช่นไร และต่างมีพันธสัญญาต่อคำพูดนั้น มีการให้เหตุผลว่าพรรคประชาธิปัตย์จำเป็นต้องเลือกระหว่างพรรคคนดีอย่างพลังประชารัฐ กับพรรคฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการหลงประเด็น สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์เลือกได้มีแค่ 2 ทาง คือเลือกที่จะเป็นสัตบุรุษด้วยการรักษาวาจาสัตย์ หรือเป็นโมฆบุรุษด้วยการตระบัดสัตย์ ตนจะคอยดูว่านายจุรินทร์จะแสดงความรับผิดชอบต่อคำพูดของตนที่ยังปลิวว่อนอยู่ในสื่อสาธารณะอย่างไร จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นที่หนึ่งในหัวใจของประชาชนได้อย่างไร 
มาร์คปัดตั้งพรรคใหม่
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากนายอภิสิทธิ์ ประกาศลาออกจากตำแหน่ง ส.ส. ได้เกิดกระแสในสังคมที่สนับสนุนให้นายอภิสิทธิ์ไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ ทั้งนี้ เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามนายอภิสิทธิ์ผ่านทางไลน์ถึงเรื่องดังกล่าว ปรากฏว่านายอภิสิทธิ์ปฏิเสธว่า “ไม่มีครับ อยู่เฉยๆ เลย”
         ด้านนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ยืนยันล้านเปอร์เซ็นต์ว่าเรื่องนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะนายอภิสิทธิ์มีความผูกพันกับพรรคประชาธิปัตย์ และถือพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคสุดท้าย การที่มีคนเชียร์ให้ไปตั้งพรรคใหม่นั้น อาจเป็นอารมณ์ของสังคมยุคนี้ ที่มีความปรวนแปรง่าย แต่เชื่อมั่นว่านายอภิสิทธิ์ไม่ได้ตามกระแส แต่ยึดความถูกต้อง และเป็นเกียรติภูมิของนายอภิสิทธิ์ ที่ผูกพันกับพรรคมาตั้งแต่เด็กๆ จนมาเป็น ส.ส. เป็นหัวหน้าพรรค เป็นนายกรัฐมนตรีในนามพรรคประชาธิปัตย์ 
    "เชื่อมั่นว่านายอภิสิทธิ์จะกลับมาเป็นนักการเมืองอีก เพราะเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ เป็นบุคลากรสำคัญของพรรคและของสภาผู้แทนราษฎร การลาออกจาก ส.ส.เป็นการแสดงจุดยืนและความรับผิดชอบ แต่ยังไม่ได้ลาออกจากสมาชิกพรรค และไม่ได้หายไปไหน เชื่อว่าสักวันหนึ่งท่านจะกลับมา ซึ่งระหว่างนี้นายอภิสิทธิ์ยังไปบรรยาย สอนหนังสือ และทำกิจกรรมทางสังคม" นายเทพไทระบุ
          ทั้งนี้ ก่อนที่นายอภิสิทธิ์ตัดสินใจลาออกจากการเป็น ส.ส. ได้แจ้งให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานสภาที่ปรึกษาพรรค ทราบล่วงหน้าแล้ว รวมถึงได้กล่าวลานายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และกรรมการสภาที่ปรึกษาพรรค หลังจากยื่นหนังสือลาออก ส่วน ส.ส.ในพรรคนั้น นายอภิสิทธิ์ไม่ได้แจ้งล่วงหน้า แต่คงคาดเดาได้อยู่แล้ว
          สำหรับบรรยากาศห้องทำงานของนายอภิสิทธิ์ ที่ชั้น 2 ของอาคารมูลนิธิควง อภัยวงศ์ พรรคประชาธิปัตย์ ยังเก็บไว้ให้นายอภิสิทธิ์เหมือนเดิม ส่วนห้องทำงานของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค ที่อยู่ชั้นล่างของอาคาร 100 ปี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่ใช้มาตั้งแต่สมัยเป็นรองหัวหน้าพรรคนั้น จะมีการปรับปรุงต่อไป
    ขณะที่นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทยกล่าวหาว่ามีบุคคลภายนอกแทรกแซง ก้าวก่าย ครอบงำพรรคประชาธิปัตย์ ว่าพรรคเพื่อไทยไม่ควรมาก้าวก่ายการดำเนินกิจการของพรรคประชาธิปัตย์ การใส่ร้ายพรรคการเมืองอื่น ให้พึงระวัง พรรคประชาธิปัตย์มีกฎเกณฑ์ กติกาการทำงานชัดเจน มติที่ประชุมพรรคมอบให้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค ไปประสานกับพรรคแกนนำ มีอำนาจในการดำเนินการ ดังนั้น จึงไม่มีบุคคลภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อผลออกมาเป็นอย่างไร จะต้องนำผลดังกล่าวมารายงานพรรค เพื่อเข้าสู่กระบวนการขั้นตอนของที่ประชุมร่วมกันระหว่างกรรมการบริหารและ ส.ส.  
โต้ พท.เคยชินคนสั่งการ
    “หลักการพูดคุยคือการยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ที่จะได้นำนโยบายไปปฏิบัติให้เกิดผลกับประชาชนมากที่สุด ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ สาระสำคัญที่จะนำพาประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่มีจุดยืนในเรื่องนี้ชัดเจนที่สุด พรรคเพื่อไทยเคยชินกับการก้าวก่ายแทรกแซงสั่งการจากบุคคลภายนอก ใครเป็นคนสั่งการ ทราบกันดี ประชาธิปไตยต้องเริ่มต้นจากภายในพรรค ถ้าพรรคการเมืองใด มีคนเพียงคนเดียวมาสั่งการ ก็อย่ามาอ้างว่าเป็นพรรคที่เป็นประชาธิปไตยเลย” นายราเมศระบุ
    นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวตอบโต้คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย กล่าวหาโจมตีพรรคประชาธิปัตย์ ว่า พรรคเพื่อไทยของคุณหญิงสุดารัตน์อ้างว่าได้ ส.ส.เสียงข้างมาก แต่เหตุใดไม่ใช้วิธีการที่ถูกต้องตามกติกาไปจัดตั้งรัฐบาลเพื่อมุ่งช่วยประชาชนอย่างจริงใจ เหตุใดจึงยึดตัวตนว่าพรรคคุณจะจับมือกับพรรคพลังประชารัฐไม่ได้ เช่นนั้นแล้วเห็นแก่ตัวและใช้อารมณ์มากไปไหม ประชาธิปัตย์เป็นพรรคอันดับ 4 จะไม่เกี่ยวกับพรรคประชาธิปัตย์เลย ถ้าคิดถึงปัญหาประชาชนที่รออยู่แล้วจัดการเอง แต่นี่เล่นการเมืองเพื่อสนองอัตตาและความรู้สึกชอบไม่ชอบส่วนตัวของพวกตัวเอง โดยลืมนึกถึงความเป็นจริงที่ว่าประชาชนเดือดร้อนกำลังรอการแก้ไขปัญหาอยู่
          "ถ้าทำเพื่อประชาชนและประเทศชาติแล้วคุณไปตกลงกับคนที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาไม่ได้ คุณอ้างว่าไปจับมือกับพลังประชารัฐไม่ได้ แบบนี้ไม่ใช่การทำเพื่อประเทศชาติ ทำไมต้องโยนให้พรรคอื่นเข้ามาแก้ไขปัญหา คุณโยนภาระมาให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องทำเช่นนั้นเช่นนี้ให้ตามใจคุณ พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยไปทำสัญญาตอแ-ลดัดจริตกับพรรคคุณ อย่าใช้วิธีอันสกปรกมาทำลายพรรคที่ไม่ตามใจเหมือนแมวแม่ลูกอ่อน" นางมัลลิกากล่าว
    วันเดียวกัน นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล ว่าที่เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ได้หารือกับนายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต่อการจัดอบรม ส.ส. เพื่อให้ทราบถึงกฎ, ระเบียบ ข้อบังคับที่ต้องใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้การใช้สิทธิในที่ประชุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวมถึงหน้าที่ของสมาชิก ฐานะเป็นตัวแทนประชาชนต่อการทำงานเพื่อประชาชน และการผลักดันแนวทางแก้ปัญหาในเวทีของสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้เพื่อยกระดับภาพลักษณ์ของผู้แทนราษฎร เบื้องต้นจะมีการจัดอบรมเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เป็น ส.ส.ใหม่ หรือ ส.ส.สมัยแรก อาจใช้เวลาอบรมและทำความเข้าใจประมาณ 2 วัน และกลุ่ม ส.ส.หลายสมัย เพื่อทบทวนและพิจารณาต่อการปฏิบัติหน้าที่
        "แนวทางยกระดับภาพลักษณ์ดังกล่าวอยู่ระหว่างหารือและกำหนดการจัดอบรมที่แน่นอน นอกจากนั้นได้รับแจ้งจากเลขาธิการสภาฯ ถึงการทำหน้าที่ของส.ส. ต่อการเผยแพร่และพัฒนาประชาธิปไตยให้ประชาชน ซึ่งสภามีกลุ่มงานที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ ส.ส.จะได้เข้าไปมีส่วนร่วมด้วย" นายสมบูรณ์ระบุ.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"