เศรษฐกิจ62เจอศึกหนัก! จ่อชงขุนคลังใหม่กระตุ้น


เพิ่มเพื่อน    

 “คลัง” รับเศรษฐกิจไทยปี 2562 เจอศึกหนัก พิษเศรษฐกิจโลกชะลอถ่วงแรง ฉุดส่งออกวิกฤติ  แจงเตรียมมาตรการพยุงเศรษฐกิจก๊อก 2 เสนอ “ขุนคลัง” คนใหม่ เอกชนคาดสถานการณ์ครึ่งปีหลัง 2562 ดีกว่าที่ผ่านมา 

    นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สศค.ได้มีการเตรียมมาตรการเพื่อพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติมไว้แล้ว โดยยังต้องรอให้ รมว.การคลังคนใหม่เข้ามาพิจารณา โดยขณะนี้ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และเริ่มทำงานได้ในไม่ช้า โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เตรียมไว้เพื่อเสนอ รมว.การคลังคนใหม่นั้น จะเป็นมาตรการที่ทำแล้วเห็นผลได้เร็ว เพราะเป็นการพยุงการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจทรุดตัวลงไปมากกว่านี้
    ยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้มีความท้าทายอย่างมาก จากปัจจัยเสี่ยงเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยกระทรวงการคลังเห็นแล้วว่าการขยายตัวเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2562 ชะลอตัวอยู่ที่ 2.8% ตอนนี้เป็นเดือนสุดท้ายของไตรมาส 2/2562ทางกระทรวงการคลังก็ได้ติดตามสถานการณ์ในภาพรวมอย่างใกล้ชิด ว่าเศรษฐกิจชะลอตัวมากกว่าที่คิด ทำให้ไทยต้องมีการเตรียมการเพื่อรับมือปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว โดย สศค.ได้เตรียมมาตรการเพื่อรองรับไว้บ้างแล้ว” นายลวรณกล่าว
    ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกสัญญาณที่ไม่ดีและเห็นได้ชัดคือการส่งออก ซึ่งมีการขยายตัวแบบติดลบ และเดือน เม.ย.ก็ยังติดลบอีก ซึ่งน่าเป็นห่วง ต้องรอดูตัวเลขในเดือน พ.ค.และ มิ.ย.2562 ว่าจะออกมาอย่างไร ซึ่งการส่งออกมีส่วนสำคัญในการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย โดยหากการส่งออกในเดือน พ.ค. และ มิ.ย.ของไตรมาส 2/2562 ไม่ดีขึ้น สศค.ก็ต้องพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มีความเข้มข้นมากขึ้น และต้องมีการทบทวนตัวเลขเศรษฐกิจใหม่จากที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.8%
    อย่างไรก็ดี ในด้านอื่นๆ การลงทุนรัฐบาลได้เร่งเบิกจ่ายเต็มที่ การลงทุนภาคเอกชนก็ต้องเร่งขับเคลื่อนโครงการอีอีซี ที่ให้สิทธิประโยชน์กับนักลงทุนจำนวนมาก
    นายศีลชัย เกียรติภาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ PICO เปิดเผยว่า ความชัดเจนทางการเมืองในตอนนี้ มองว่าจะทำให้สถานการณ์ครึ่งปีหลัง 2562 ดีกว่าที่ผ่านมา ซึ่งต้องยอมรับว่าช่วงครึ่งปีแรกค่อนข้างอึมครึม และมีผลต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการต่างๆ โดยในส่วนของบริษัทเอง อาจจะทรงตัวจากปีที่ผ่านมา ปิดรายได้ไปประมาณ 2,100 ล้านบาท แต่เชื่อว่าจากนี้น่าจะเป็นบวกมากขึ้น
    นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ไตรมาสแรกของปี 2562 หนี้สินครัวเรือนยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยพิจารณาจากยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ขยายตัว 10.1% สูงสุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ไตรมาสสองปี 2557 เป็นต้นมา
    ทั้งนี้ ซึ่งเป็นผลจาก 1.การเร่งก่อหนี้ก่อนการบังคับใช้มาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ (LTV) เมื่อวันที่ 1 เม.ย.62 ที่ผ่านมา 2.ความต้องการรถยนต์ที่เพิ่มสูงขึ้นจากคุณสมบัติของรถรุ่นใหม่ และมาตรการส่งเสริมการขายรถยนต์จากงานมหกรรมยานยนต์ (Motor Show 2019) และ 3.การส่งเสริมการขาย การโฆษณาประชาสัมพันธ์ และเงื่อนไขการผ่อนชำระที่จูงใจ
    อย่างไรก็ตาม ขณะที่คุณภาพสินเชื่อโดยรวมยังคงทรงตัว แต่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยในไตรมาสแรกของปี 2562 หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ขยายตัว 9.0% เทียบกับ 9.1% ในไตรมาสก่อน คิดเป็นสัดส่วน 2.75% ต่อสินเชื่อรวม และสัดส่วน 27.8% ต่อ NPLs รวม ซึ่งสูงสุดในรอบ 13 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2559 เป็นต้นมา และส่งผลให้มีสัดส่วนสูงสุดเมื่อเทียบกับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในประเภทธุรกิจอื่นๆ ด้านสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับยังคงมีมูลค่ารวมอยู่ในระดับสูง ขณะที่ยอดสินเชื่อผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปของสินเชื่อบัตรเครดิตปรับตัวลดลง 3.6% เทียบกับการขยายตัว 0.3% ในไตรมาสที่ผ่านมา
    ทั้งนี้ ในส่วนของหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่กลางปี 61 และภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปีที่แล้ว อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยและความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน ทำให้มีประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ 1.การก่อหนี้เพื่อที่อยู่อาศัยของครัวเรือนภายหลังการบังคับใช้มาตรการกำกับดูแลสินเชื่อใหม่ โดยคาดว่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวลง และทำให้หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัว เนื่องจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นสัดส่วนประมาณ 49.9% ของสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล และ 2.การขยายตัวของสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลอื่นๆ รวมถึงบัตรเครดิตอาจมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ภาครัฐยังควรให้ความสำคัญกับการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อกำกับดูแลและควบคุมการปล่อยสินเชื่อให้รัดกุมและมีความเหมาะสมยิ่งขึ้น
    สำหรับอัตราการว่างงานเท่ากับ 0.9% โดยเป็นการลดลงทั้งผู้ที่เคยทำงานและไม่เคยทำงานมาก่อน 32.2% และ 18.7% ตามลำดับ ค่าจ้างแรงงานที่แท้จริงภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 2.5% ขณะที่ผลิตภาพแรงงานโดยรวมยังคงเพิ่มขึ้นที่ 1.8% ตลาดแรงงานตึงตัวมากขึ้น โดยจำนวนสัดส่วนผู้สมัครงานใกล้เคียงกับจำนวนตำแหน่งงานว่างเป็น 0.98 เท่า ลดลงจาก 1.35 เท่าในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เมื่อพิจารณาตามระดับการศึกษาพบว่ามีความต้องการแรงงานในระดับประถมศึกษาและสายอาชีพสูงกว่าจำนวนผู้สมัครงานถึง 2 เท่า สะท้อนความขาดแคลนแรงงานทั้งจำนวนแรงงานและทักษะที่ไม่ตรงกับความต้องการ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"