หลังผลการโหวตลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่เทคะแนนให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ครองเก้าอี้นายกรัฐมนตรี เป็นสมัยที่ 2 ถึง 500 คะแนนเสียง ซึ่งล่าสุด “พล.อ.ประยุทธ์” ได้ออกมาขอบคุณทั้งสองสภาที่ให้การสนับสนุน และทำให้การประชุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
แต่ถึงแม้การลงมติในสภาจะจบลงด้วยความเรียบร้อย แต่สถานการณ์ภายนอกสภาก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องจับตาอย่างต่อเนื่อง เพราะต้องไม่ลืมว่าการลงมติเลือก พล.อ.ประยุทธ์ครั้งนี้ มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งมีทั้งคนในสภาและคนนอกสภา รวมถึงกลุ่มเคลื่อนไหวและนักกิจกรรมทางการเมืองต่างๆ ที่อาจจะก่อตัวขึ้นได้ตลอดเวลาในช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลใหม่นี้ ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลได้ประเมินและติดตามอย่างต่อเนื่องแบบเรียลไทม์
โดย “นายปณิธาน วัฒนายากร” ที่ปรึกษา “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงหลาโหม ได้ประเมินสถานการณ์ในช่วงการเปลี่ยนผ่านนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า สถานการณ์ในช่วงนี้แบ่งออกในประเด็นแรก คือ ขณะนี้สถานการณ์ทางการเมืองยังอยู่ในสภาเป็นส่วนใหญ่ ตราบใดที่การเมืองและการเคลื่อนไหวยังอยู่ในสภา เดินตามกติกา ก็ไม่มีอะไรที่น่ากังวล ประเด็นที่สอง ในบางกลุ่มที่อาจจะทำงานในสภาไม่ได้ ซึ่งก็มีหลายพรรคการเมืองที่ผิดหวัง ที่มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ ปัญหาเรื่องความไม่พร้อม ปัญหาที่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง มีปัญหามากมายหลายกลุ่ม คิดว่ากลุ่มเหล่านี้อาจจะใช้โอกาสที่มีการเปิดกว้างทางการเมืองออกมาเคลื่อนไหวนอกสภา ซึ่งนี่เป็นพัฒนาการใหม่ที่เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง
ประเด็นที่สาม หากการเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมาย เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติเรื่องการชุมนุมในที่สาธารณะ ก็ไม่เป็นปัญหาอะไร ฝ่ายความมั่นคงถือว่าเป็นสภาพปกติ ซึ่งคำสั่งของ คสช.ในการคุมเรื่องเหล่านี้ก็ลดน้อยลง บางคำสั่งอาจไม่มีแล้ว บางคำสั่งอาจไปอยู่ในเรื่องของความมั่นคง ดังนั้นก็อาจจะต้องเห็นการเคลื่อนไหวนอกสภาบ้าง และประเด็นสุดท้ายยังมีความเห็นพ้องต้องกันในหมู่ประชาชนทั่วไป ที่ไม่อยากเห็นวิกฤตการณ์แบบเดิมเกิดขึ้นนอกสภา คือการเดินบนท้องถนน การชุมนุมขนาดใหญ่ ทำให้เกิดการแปรปรวนในเรื่องของการประชุมอาเซียน ที่ในอดีตจัดที่พัทยา ประชาชนยังไม่อยากเห็นการประชุมอาเซียนในครั้งนี้เป็นเหมือนกับ 9 ปีก่อน
ที่ปรึกษารองนายกฯ กล่าวว่า เพราะฉะนั้นฝ่ายความมั่นคงยังติดตามความเคลื่อนไหวอยู่ แต่ก็มองว่าการทำการเมืองนอกสภายังเป็นเรื่องปกติตามกฎหมาย ถือว่าทำได้ แต่ความเคลื่อนไหวที่มากขึ้นและนอกกฎหมาย ฝ่ายความมั่นคงก็จะต้องดำเนินการตามขั้นตอน ซึ่งขณะนี้แนวโน้มยังไม่มี แต่หากตั้งรัฐบาลได้แล้วก็อาจจะมีการเรียกร้อง มีการชุมนุม มีปัญหาปากท้อง ความไม่เป็นธรรม ความยุติธรรมทั้งหลายเหล่านี้ก็ต้องติดตามและดูไปเป็นระยะ ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่เกิดขึ้น แต่ในภาพรวมการเมืองในสภากำลังเดิน นอกสภาก็เริ่มมีบ้าง แต่ยังอยู่ในกรอบกฎหมาย บางคนแถลงในสภา บางคนแถลงนอกสภา อาจเกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ ก็มีหลายรูปแบบ
“เมื่อได้นายกรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว ตอนนี้ต้องดูให้ดีว่า ปฏิกิริยาในการก่อตัวของการตอบรับของการต่อต้าน ของคนหลายกลุ่มเป็นอย่างไร รวมถึงปฏิกิริยาจากนานาชาติด้วย และหลังจากโปรดเกล้าฯ เป็นทางการแล้ว ก็ต้องดูปฏิกิริยาด้วยเช่นกัน แต่ ณ วันนี้ยังเรียบร้อย เราทำการประเมินเป็นรายวัน เพราะปัจจุบันกระแสโซเชียลมีเป็นรายชั่วโมง ทุกวันช่วงเช้ากับช่วงเย็นก็ไม่เหมือนกัน เช้าสถานการณ์หนึ่ง ตอนเย็นเป็นอีกสถานการณ์หนึ่ง”
ส่วนการเคลื่อนไหวในต่างประเทศช่วงนี้ นายปณิธาน ระบุว่า ขณะนี้ก็เยอะขึ้นกว่าตอนแรก เพราะมีพลวัตรใหม่ๆ มีพรรคการเมืองใหม่ๆ มีประเด็นใหม่ๆ เยอะ ทั้งการตรวจสอบคุณสมบัติ การแถลงของพรรคการเมือง การตรวจสอบพรรคการเมือง การตรวจสอบที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เป็นพลวัตรที่กลุ่มการเมืองทั้งในประเทศและต่างประเทศสนใจมากขึ้น เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่า ในยุคที่มีการเปิดกว้างทางการเมือง พลวัตรเหล่านี้ก็จะมีมากขึ้น แต่ ณ ขณะนี้ประเมินว่าอยู่ในสภา ทั้งพรรคเล็ก พรรคใหญ่ ไปอยู่ในสภาหมดก็ถือว่าดี ยังอยู่ในกรอบของกฎหมาย แต่ถ้าเริ่มออกมานอกสภาก็ต้องจับตาดู ถ้าเริ่มมีการนัดชุมนุม นัดประท้วง ก็ต้องดำเนินการ
“ในปีนี้ยังมีงานใหญ่ๆของประเทศอีกหลายครั้ง ความจำเป็นในเรื่องเสถียรภาพยังต้องมีอยู่ เพียงแต่ทางการเมืองพอเปิดตัวที ก็มีพลังของมันอยู่ ถีบกันไปถีบกันมา ลาออกกันเป็นแถว คนก็สนใจกันมาก เรื่องพลังเหล่านี้มันห้ามกันไม่ได้ เป็นสิทธิ์ของเขา ก็จะเป็นกระแสใหม่ๆ ทุกวัน ส่วนจะกระทบต่อความรู้สึกให้เกิดอะไรใหม่ๆ ขึ้นนั้น ยังไม่มี”
นายปณิธานระบุอีกว่า การทำงานของฝ่ายความมั่นคง เพื่อประเมินสถานการณ์ต่างๆ เหล่านี้ ในช่วงนี้ก็หนักขึ้น ต้องปรับการทำงานมากขึ้น วงรอบการประชุมมากขึ้น ถี่ขึ้น การวิเคราะห์ละเอียดขึ้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องปรับ ฝ่ายความมั่นคงต้องช่วยทำให้เกิดเสถียรภาพ แต่จะเข้าไปแทรกแซงหรือใช้กฎหมายอะไรเหมือนในอดีตคงไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นกรอบปกติ
ส่วนจะต้องจับตา “ตระกูลชินวัตร” ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลด้วยหรือไม่นั้น ที่ปรึกษารองนายกฯ มองว่าพลังทางการเมืองเหล่านี้ยังมีอยู่ ยังเคลื่อนไหวอยู่ แต่ถือเป็นเรื่องปกติ เพียงแต่เรามีเวทีใหม่ มีผู้นำรัฐสภาใหม่ เข้าระบบใหม่ ถึงพลังเหล่านี้ยังเคลื่อนไหวอยู่ แต่ก็จะเปิดตัวมากขึ้น เคลื่อนไหวในสภา นอกสภา ก็มีกฎหมาย ยังถือว่าดีที่ไม่เคลื่อนไหวใต้ดินเหมือนในอดีต เพราะจะมีปัญหา ซึ่งล่าสุด “พล.อ.ประวิตร” ก็ระบุว่าอยากเห็นการเมืองอยู่ในสภา แต่ถ้าบางกลุ่มเดินในสภาไม่ได้ ไม่ไหวจริงๆ เขาก็อาจจะออกมานอกสภา ซึ่งมันกำลังเริ่มต้น แต่ยังไม่มีอะไรที่น่ากังวลแต่อย่างใด!.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |