ดร.ไตรรงค์กับป๋าเปรม


เพิ่มเพื่อน    

             ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี เป็นหนึ่งในคนที่ได้ทำงานใกล้ชิดกับพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในการไว้อาลัยการจากไปของท่านอดีตประธานองคมนตรี, อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษ ผมได้ขอสนทนากับ ดร.ไตรรงค์ผ่าน Suthichai Live วันก่อน ขอถอดบางตอนมาให้ได้อ่านกันครับ

                สุทธิชัย : ดร.ไตรรงค์คิดถึงพลเอกเปรม อะไรเป็นเรื่องเด่นๆ ที่ปรากฏในความคิดทันทีครับ?

                ดร.ไตรรงค์ : ท่านทำงานให้ประเทศ ทำงานให้ชาติ ไม่ได้ทำงานให้ตัวเองเลย นี่คือสิ่งที่ยากที่คนจะเอาอย่างได้ ผมคิดว่าพยายามให้ใกล้เคียงกับท่านมากที่สุดก็คงจะเป็นผลประโยชน์ให้กับประเทศมากที่สุด ผมหมายถึงทั้งข้าราชการทั้งนักการเมืองนะ เพราะว่าจะทำเหมือนกับท่านทุกอย่าง ผมเองใกล้ชิดกับท่านมา 8 ปี ท่านเป็นคนที่ไม่มีความเห็นแก่ตัวเลย ภาษาทางศาสนาเค้าจะเรียกว่าเป็นอารยบุคคล คืออยู่เหนือรูป รส กลิ่น เสียง เพราะแม้แต่ทานอาหารก็ทานปิ่นโตนะครับ เหมือนกับสมัยที่ผมทานตอนอยู่หอพักเรียน ม.7 ท่านก็ทานเช่นนั้นมาตลอดชีวิต ท่านทานอย่างนั้นมาตั้งแต่ต้นอย่างไรก็ไม่ทราบ แต่เท่าที่ถามมาจากคนในก็บอกว่าท่านนั้นทานน้อย ไม่เคยเติม ตักข้าวไว้เท่าใดในจากก็ทานเท่านั้น เรียกว่ากินเพื่อรักษาชีวิตให้มันรอดตาย ไม่ได้กินเพราะความอร่อย ไม่ได้กินเพราะลุ่มหลงในรสชาติของมัน นี่คือความยาก เพราะฉะนั้นเรื่องอย่างอื่นไม่ต้องพูด เรื่องของความอยากที่จะมีทรัพย์สิน มีเงินทองมากมายก่ายกอง เรื่องนั้นพลเอกเปรมไม่เคยคิดเลย

                มีอยู่ครั้งหนึ่งนะครับ ที่บ้านสี่เสาร์เทเวศร์ เรานั่งกันอยู่ 2 คน ท่านก็เอาซองมาให้ผมดูแล้วบอกว่า นี่นะเป็นผู้ใหญ่ในสมัยรัฐบาลของถนอม-ประภาส ซึ่งท่านก็เคารพนับถืออยู่ แต่มีจดหมายมาถึงท่านว่า ขออภิสิทธิ์ เพราะเขาได้ไปร่วมจัดตั้งบริษัทกับญี่ปุ่น จึงขอให้พลเอกเปรมในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ช่วยเพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์ ยกเว้นภาษีอะไรต่างๆ ซึ่งมันมากกว่าที่ควรจะเป็น เรียกว่าเป็นประเภทที่คอยช่วยให้ได้สิทธิพิเศษ ประเภทเอ อะไรทำนองนี้ ท่านบอกว่า นี่นะมีเงินมากมายก่ายกอง ชาตินี้ก็กินไม่หมดแล้ว แล้วยังพยายามดิ้นรนอยากจะมีเพิ่มขึ้นอีก ป๋าไม่ทราบว่าคนพวกนี้เมื่อไหร่เขาจะรู้จักพอกันเสียที เขาจะเอาไปทำอะไรกันนักหนา เพราะฉะนั้นท่านก็ระบายด้วยความไม่พอใจ เพราะท่านก็ทำให้เห็น พลเอกเปรมเป็นคนที่รู้จักพอ ไม่เฉพาะเรื่องไม่เก็บสะสมสมบัติแล้ว พอแม้กระทั้งเกียรติยศชื่อเสียงและตำแหน่ง ชัดเจนมาก ในปี 2529 หลังจากทั้งรัฐสภาก็มีมติ ทุกพรรคก็เชิญให้ท่านมาเป็นนายกฯ อีก คำตอบของท่านก็คือ ผมพอแล้ว

                สุทธิชัย : ครับประโยคนี้เป็นประโยคทองที่ทิ้งเอาไว้ในคนรุ่นหลังทราบว่า พลเอกเปรมสามารถอยู่ต่อได้อย่างน้อยอีกสมัยเลย แต่ว่าท่านรู้ว่าคนเราต้องรู้จักพอ ซึ่งยาก

                ดร.ไตรรงค์ : แต่ว่านักการเมืองปัจจุบันนี่มีน้อยที่รู้สึกอย่างนั้น ที่มีคือรู้สึกหยุดไม่ได้

                สุทธิชัย : ซึ่งยากมากนะครับสำหรับปุถุชนมนุษย์ ที่ว่าอำนาจก็มีครบ คนก็มาเอาใจ อยากได้อะไรก็ได้ มีอำนาจมีตำแหน่งก็อยู่ต่อ ตอนอยู่ในตำแหน่งนายกฯ นี่ใครต่อใครก็เอาใจ ท่านอย่างนั้น ท่านอย่างนี้

                ดร.ไตรรงค์ : ใช่ครับ หลงติดในยศในคำสรรเสริญเยินยอ ในการที่อยู่ในสถานะที่สูงกว่าคนอื่น มันก็สะดวกสบาย จริงๆ ก็ไม่ใช่ความชั่วนะ ในการอยากจะมีตำแหน่งที่สูงขึ้นหรือการติดอยู่ในยศถาบรรดาศักดิ์ มันก็ไม่ใช่ความชั่ว แต่ว่าทางพระพุทธศาสนา มันก็เป็นกิเลสชนิดหนึ่ง ท่านพุทธทาสบอกว่า ทั้งหลงชั่วหลงดีอัปรีย์ทั้งคู่แหละครับ มันเป็นเหตุแห่งทุกข์ทั้งนั้นครับ

                สุทธิชัย : อันนี้จริงครับ ท่านพุทธทาสพูดไว้ดีมาก นั่นคือจุดที่สำคัญมากที่ท่านบอกว่า ท่านพอแล้ว ท่านก้าวลง ทำให้เป็นตัวอย่างในแวดวงการเมือง และแม้กระทั่ง..เราไม่พูดถึงก่อนหน้านี้ที่ท่านสร้างให้ประเทศไทยเข้าสู่ช่วงโชติช่วงชัชวาลก็ดี เรื่องที่เจอกับการประกาศสำนักนายกฯ 66/23 ก็ดี ทั้งหมดนี้คือหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของประเทศ ความอยู่รอดของประเทศไทยอยู่ในจังหวะที่ท่านเป็นผู้นำเลยนะครับ

                ดร.ไตรรงค์ : ครับคุณสุทธิชัยติดตามเรื่องนี้มาตลอด ท่านก็ทราบมาตลอด ที่ผมเป็นห่วงคือเด็กรุ่นใหม่ไม่รู้เรื่องนี้เลยครับ เขาไม่รู้หรอกว่าถ้าไม่มีพลเอกเปรมในช่วง 30-40 ปีที่แล้ว เขาจะไม่มีโอกาสได้เล่นการเมืองมาเป็น ส.ส. แล้วก็มากล่าววาจาสามหาวอย่างที่กล่าวกันในปัจจุบันนี้.

                                                (พรุ่งนี้ : เบื้องหลังคำสั่ง 66/23)

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"