"บิ๊กตู่" เด้ง "ปลัด พม.-ณรงค์" เซ่นงาบเงินคนจน พร้อมสั่งตั้ง กก.สอบ "บิ๊กโย่ง" เรียกถกอธิบดีทุกกรมทบทวนเบิกจ่ายงบสงคราะห์ รัฐบาลเปิดเพจ "สายตรง ไทยนิยม" รับเรื่องร้องเรียน ปลุกประชาชนเป็นหูเป็นตาป้องโกง
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" เกี่ยวกับรายงานผลการวิเคราะห์ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (CPI) ประจำปี พ.ศ.2560 ซึ่งไทยได้ 37 คะแนน อยู่ในลำดับที่ 96 จากทั้งหมด 180 ประเทศว่า ประเทศไทยได้คะแนนดีขึ้นเล็กน้อย คำว่าดีขึ้นเล็กน้อยเพราะยาก มีหลายมิติด้วยกัน เมื่อเทียบกับภาพรวมทั่วโลกส่วนใหญ่คงที่ ไทยอยู่ประมาณกลางๆ เทียบกับปี 2559 ที่ได้ 35 คะแนน อยู่ในลำดับที่ 101 จาก 176 ประเทศที่เข้าร่วมประเมิน
ทั้งนี้ การประเมินของ CPI ได้รับความน่าเชื่อถือจากประชาคมโลก เนื่องจากมีการประเมินจากหลายแหล่ง หลากวิธีการ ทั้งจากผู้เชี่ยวชาญ นักวิเคราะห์ความเสี่ยง นักวิชาการ รวมทั้งนักธุรกิจทั้งในประเทศและทั่วโลก ที่สะท้อนข้อเท็จจริงให้เห็นในประเด็นสำคัญ อาทิ 1.การรับรู้ถึงความมุ่งมั่น จริงจัง ในการดำเนินการของประเทศไทย เกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ การต่อต้านการทุจริตติดสินบนอย่างแข็งขัน โดยเฉพาะการเร่งรัดดำเนินการตามประกาศคณะรัฐมนตรีให้ปี พ.ศ.2560 เป็นปีแห่งการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ ต่อต้านการรับสินบนทุกรูปแบบ เป็นต้น
2.ภาพลักษณ์การรับรู้ระบบราชการไทย สังคมไทย ทั้งในสายตาประชาชนไทย นักลงทุน ตลอดจนนักวิชาการนานาชาติ ว่าสังคมไทยยังคงมีกับดักในเรื่องเจ้าหน้าที่รัฐมีพฤติกรรมการใช้ตำแหน่งหน้าที่ในทางมิชอบและมีการติดสินบนเจ้าหน้าที่ ซึ่งแม้ว่าจะดีขึ้นเล็กน้อยจากปีที่แล้ว มีกติกาเพิ่มขึ้นหลายอย่าง เช่น เป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ทำคะแนนได้สูงขึ้น อยากให้มองตรงนี้ หากเราเลือกตั้งในรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลจริงย่อมจะต้องดีขึ้นกว่านี้อีกในระยะต่อไป เราต้องการยกระดับค่าดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันในส่วนนี้ให้มีคะแนนเพิ่มสูงขึ้นอีกอย่างมีนัยสำคัญ จำเป็นต้องมีแนวร่วมทุกภาคส่วน อย่าติกันอย่างเดียว ต้องติเพื่อก่อ อย่าสร้างความขัดแย้ง และจะเพิ่มกลไกให้อำนาจบทบาทแก่องค์กรอิสระภาคส่วนต่างๆ นอกภาครัฐให้สูงขึ้น
"ปัจจุบันด้านจิตสานึกของประชาชนไทยในเรื่องการต่อต้านการทุจริตมีระดับสูงขึ้นมากแล้ว ทุกคนช่วยกันทำงาน ร่วมมือกันทำงานให้ดี ในปีนี้ก็นับว่าเริ่มต้นเป็นทิศทางการพัฒนาที่ดี โดยจิตสำนึกนั้นจะเป็นเหมือนภูมิคุ้มกัน ป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตตั้งแต่ต้นทาง ช่วยให้มาตรการปราบปรามที่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุลดความสำคัญลง ซึ่งเราก็เดินทางถูกทางแล้ว ผมก็ขอให้พี่น้องประชาชนทุกคนร่วมมือกันเป็นหูเป็นตา อย่านิ่งเฉยต่อการกระทำผิด" พล.อ.ประยุทธ์ระบุ
นายกฯ กล่าวว่า วันนี้เราคิดว่าจะเปิดให้มีช่องทางร้องทุกข์กล่าวโทษ เช่น หาหลักฐานในการร้องทุกข์กล่าวโทษนำเข้ากระบวนการ โดยไม่ต้องกลัวผู้กระทำผิด รัฐบาลจะเป็นผู้ดูแลความลับความปลอดภัยให้ทุกคน ซึ่งได้สั่งการให้เพิ่มช่องทางสื่อสารโดยเปิดเว็บไซต์และเฟซบุ๊กชื่อ "สายตรง ไทยนิยม" เพื่อรับคำร้องเรียน ร้องทุกข์ ข้อเสนอแนะ แสดงความคิดเห็น และใช้ในการกระจายข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐ ข้อมูลสาธารณประโยชน์ ข้อเท็จจริงต่างๆ ที่อยู่ในความสนใจของประชาชนเป็นสำคัญ เสริมช่องทางเดิมที่มีอยู่ก่อนหน้านี้แล้วทั้งสายด่วน 1111 และ 1567 ซึ่งโทร.ฟรีทั่วไทยตลอด 24 ชั่วโมง เป็นต้น
ในช่วงเย็น พล.อ.ประยุทธ์ ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 52/2561 เรื่องให้ข้าราชการมาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีใจความว่าด้วยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้รับแจ้งข้อมูลจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน กรณีตรวจพบความผิดปกติในการเบิกจ่ายงบประมาณเงินอุดหนุนของกระทรวง ซึ่ง พม.ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อสืบสวนข้อเท็จจริงมาแล้วคณะหนึ่ง ผลการสืบสวนตรวจพบความผิดปกติจริง แต่ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ และ พม.อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อสืบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติม
โดยที่ความผิดปกติดังกล่าวอาจเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติราชการของข้าราชการระดับสูงของ พม. และอาจเกี่ยวพันกับข้าราชการในวงกว้างซึ่งจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงต่อไป ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริงดังกล่าวมีความถูกต้องและเป็นธรรม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11(4) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งให้นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ ปลัด พม. และนายณรงค์ คงคำ รองปลัด พม.มาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีโดยไม่ขาดจากอัตราเงินเดือนทางสังกัดเดิม และให้ได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่มพิเศษและสิทธิประโยชน์อื่นใดไม่ต่ำกว่าที่ได้รับอยู่เดิม โดยเบิกจ่ายจากสังกัดเดิม ในระหว่างการปฏิบัติราชการสำนักนายกฯ ให้ข้าราชการทั้งสองรายปฏิบัติหน้าที่เป็นที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ในการปฏิบัติหน้าที่ให้อยู่ในความควบคุมและกำกับดูแลของรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายให้กำกับการปฏิบัติราชการ พม. ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ลงวันที่ 23 ก.พ.61
ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้หารือกับ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พม.ที่ทำเนียบรัฐบาล พร้อมเปิดเผยว่าได้พูดคุยถึงประเด็นการทุจริตโครงการรับเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยและผู้ติดเชื้อเอดส์ ของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ โดยให้กำลังใจ พล.อ.อนันตพรว่ากระทรวงทำดีที่สุดแล้ว โดยกระทรวงต้องไปตรวจสอบให้กว้างขวางทั้งประเทศ เพราะมีการแจ้งมาเพียงไม่กี่แห่ง แต่มีการพบเพิ่มเติม ส่วนที่มีการระบุว่าข้าราชการระดับกระทรวงมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยนั้น เห็นเพียงข่าวในหนังสือพิมพ์เท่านั้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงจะต้องตรวจสอบต่อไป แต่ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าเชื่อมโยงถึงผู้บริหารกระทรวง
ด้าน พล.อ.อนันตพรกล่าวว่า ได้รับรายงานการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวจากกรมฯ ทุกวัน แต่สำหรับการตรวจสอบของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ที่ดำเนินการทุกวันนั้น ตรวจสอบแล้วไม่พบหลายจังหวัด เช่น สมุทรสงคราม สิงห์บุรี แต่ไม่แถลง ซึ่งไม่ก้าวก่าย แต่ความจริงพอ ป.ป.ท.ตรวจไม่เจอน่าจะบอกบ้างว่าตรวจไม่พบ เพื่อจะได้รู้กันว่าไม่ได้เลวร้ายไปทั้งหมด ส่วนของกรมฯ รายงานทุกวันพบบ้างไม่พบบ้าง บางทีเจอไม่ใช่ก้อนใหญ่ เช่นได้งบไป 10 ล้าน แต่ทุจริตแค่หลักหมื่น ทำกันแค่คนสองคน ดังนั้นอยากให้ตรวจที่ลายเซ็นของประชาชน เพื่อเอามาดูว่าคนที่เซ็นกับคนที่รับไปนั้น ประชาชนได้จริงหรือไม่ ทั้งนี้ พม.โดยตน กับ ป.ป.ท.โดย รมว.ยุติธรรม ได้หารือกันอยู่ตลอด เพื่อประสานเรื่องวิธีการตรวจสอบซึ่งต่างพร้อมให้การสนับสนุนกัน
"ป.ป.ท.เขาพบการทุจริตจึงแถลงข่าว ทำให้สังคมเข้าใจว่าทุจริต แต่ในข้อเท็จจริงที่ระบุว่าประชาชนไม่ได้รับเงินนั้น พม.ก็ต้องไปพิสูจน์ว่าประชาชนได้เซ็นรับเงินไปจริงหรือไม่ ถ้าอย่างนี้จะได้คลี่คลายได้ง่าย ซึ่งถ้าพบเป็นลายเซ็นปลอมก็ลงโทษทันที แต่ถ้าไม่พบก็ต้องให้ ป.ป.ท.ตรวจสอบกันว่าถูกหรือผิด ผมเองได้ไปเยี่ยมหน่วยงานต่างจังหวัด เจ้าหน้าที่ก็บอกว่ามีขั้นตอนอยู่แล้ว เจ้าหน้าที่การเงิน เจ้าหน้าที่พัสดุ เจ้าหน้าที่ที่ต้องทำเอกสารทุกคน ต่างบอกว่าเวลาทำโครงการต่างก็ต้องทำร่วมกันและมีหลักฐาน เพราะฉะนั้นเขาไม่กล้าทุจริตหรอก และยังมั่นใจว่าทำทุกอย่างตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง ดังนั้นจึงมีบางจุดที่รั่วไหลเหมือนน้ำไหลจากท่อมีรั่วเป็นจุด ไม่ได้ไหลเหมือนน้ำตก" พล.อ.อนันตพรระบุ
ส่วนที่มีข่าวว่าเป็นกระบวนการที่กระทำโดยระดับอธิบดีด้วยนั้น รมว.พม.กล่าวว่า หากซัดทอดถึง แต่ถ้าไม่ซัดทอดก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ซึ่งได้ให้เวลาสอบ 1 เดือน ถึงสิ้นเดือน มี.ค.นี้ และจะจับให้มั่น ไม่ว่ามีการซัดทอดถึงใครก็เอาให้หมด ยืนยันว่าสอบให้ถึงที่สุด อนันตพรทำงานอยู่แล้วไม่ต้องห่วง
ที่กระทรวง พม. นายณรงค์ คงคำ รองปลัด พม.เปิดเผยว่า พล.อ.อนันตพรได้เรียกตนเเละผู้บริหารระดับสูงทุกกรมเข้าพบเป็นรายบุคคล เพื่อหารือเรื่องมาตรการป้องกันเเก้ไขปัญหาการเบิกจ่ายเงินสงเคราะห์ของเเต่ละกรม โดยให้ทบทวนการใช้เงินสงเคราะห์อย่างรัดกุมเเละดำเนินการให้กระจ่างชัดเจน เเละได้เเจ้งว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงผู้บริหารที่ถูกร้องเรียนว่ามีส่วนพัวพันกับการทุจริตเงินสงเคราะห์ โดยแต่งตั้งให้บุคคลภายนอกเป็นประธานสอบ ซึ่งคาดว่าสัปดาห์หน้าจะแต่งตั้งคณะกรรมการแล้วเสร็จและใช้เวลาสอบไม่เกิน 1 เดือนจะทราบผล
ส่วนที่มีข่าวว่านายณรงค์เกี่ยวข้องกับการทุจริต ซึ่งขณะนั้นดำรงตำเเหน่งรองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมเเละสวัสดิการ รวมถึงนายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ ปลัด พม. ซึ่งเป็นอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการในขณะนั้น นายณรงค์กล่าวว่าไม่กังวลใจเเละยินดีที่จะชี้แจงต่อคณะกรรมการสอบ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |